เรื่องร้องเรียนกรณีถูกคิดค่าบริการโทรทางไกลระหว่างประเทศผิดพลาด

ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 28/2557 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 วาระที่ 4.9 กรณีผู้ร้องเรียนประสบปัญหาถูกคิดค่าบริการระหว่างประเทศผิดพลาด โดยเหตุเกิดจากบริษัทแห่งหนึ่งในฐานะผู้ใช้บริการถูกเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศเป็นเงินกว่า 7,383 บาท ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ให้บริการได้มีการพิสูจน์เชิงเทคนิคแล้วพบว่ามีการส่งทราฟฟิคการเรียกเข้าจากโทรศัพท์มายังชุมสาย และมีการส่งทราฟฟิคไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องเรียนก็ได้พิสูจน์ด้วยการแสดงหลักฐานข้อมูลจากกล้องวงจรปิดว่าไม่พบบุคคลใดใช้บริการโทรศัพท์ในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บริษัทปิดทำการ

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ผู้ให้บริการจึงสันนิษฐานว่า อาจมีการ hack โทรศัพท์จากระบบอินเทอร์เน็ตมายังตู้ชุมสาย PABX ของผู้ร้องเรียน ซึ่งหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานและตู้ชุมสายดังกล่าวอยู่ในความดูแลของผู้ร้องเรียน ผู้ร้องเรียนจึงควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าบริการที่เกิดขึ้น แต่ผู้ร้องเรียนก็ยืนยันว่า ตู้ชุมสาย PABX ที่ว่า ไม่ได้เปิด Port เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่มีการใช้งานและขอปฏิเสธการชำระค่าบริการทั้งจำนวน

การพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีนี้ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในที่ประชุม โดยผลที่ประชุมมีมติให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบและหาข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของที่ประชุม ซึ่งในเรื่องนี้ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้เสนอแนะและเปิดเผยความเห็นต่อที่ประชุมว่า กรณีนี้มีประเด็นที่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงหลายระดับ โดยประเด็นเบื้องต้นที่ยังไม่ชัดเจนคือ การเรียกเก็บค่าบริการนี้เกิดจากที่มีการใช้งานจริงหรือไม่ ซึ่งผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแสดงพยานหลักฐานว่ามีการโทรออกจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ร้องเรียนจริง ในขณะที่หากพบว่ามีการใช้บริการจริง ก็มีประเด็นต้องพิจารณาว่าเป็นการใช้บริการโดยผู้ร้องเรียนหรือไม่ หรืออยู่ในส่วนที่ผู้ร้องเรียนควรต้องรับผิดชอบหรือไม่ เพียงใด เพราะลำพังเพียงการพิสูจน์ว่ามีการใช้บริการผ่านเลขหมายของผู้ร้องเรียนจริงอาจยังไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การชี้ว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ร้องเรียน

ส่วนกรณีหากว่ามีการ hack โทรศัพท์เพื่อใช้งานจริง กสทช. ประวิทย์ เปิดเผยว่า ยิ่งต้องมีความละเอียดรอบคอบในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการ hack นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ณ จุดใด เนื่องจากประเด็นข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นเครื่องชี้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นควรต้องตกเป็นความรับผิดชอบของใคร เพราะโดยหลักการ หากการ hack เกิดขึ้นในจุดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจหรือบทบาทหน้าที่ที่จะป้องกันได้ ผู้นั้นก็ควรต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ แต่ถ้าเกิดขึ้นในจุดที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจหรือบทบาทหน้าที่ที่จะป้องกันได้เลย ก็ควรพิจารณากำหนดเกณฑ์การรับผิดชอบร่วมกันบนฐานของความเสียหายจริง นั่นคือเฉพาะค่าบริการระหว่างประเทศในส่วนที่ต่างประเทศเรียกเก็บมา แต่ไม่ใช่ยอดเงินที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บ เนื่องจากยอดดังกล่าวเป็นต้นทุนที่บวกเพิ่มกำไรแล้ว

------1003.10.0900_57-4.9