ใช้อินเตอร์เน็ตบ้านรายเดือน ถูกเก็บค่าบริการล่วงหน้า ผิดกฎหมายหรือไม่ ข้อถกเถียงที่ไม่จบ

กรณีนี้ผู้บริโภคร้องเรียนบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัส จำกัด ว่าผู้ร้องใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสัญญาณโทรศัพท์พื้นฐาน สัญญา 1 ปี ระหว่าง 22 มกราคม 2555 ถึง 21 มกราคม 2556 และบอกเลิกสัญญาแล้ว และเปิดใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบใหม่ เป็นแบบ Cable Modem  ต่อมาบริษัทเรียกเก็บค่าบริการอินเตอร์เน็ตสัญญาเดิมในรอบเดือนมกราคม 2556 (ระหว่างวันที่ 22 มกราคม ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556) จำนวน 640.93 บาท ซึ่งถือว่าเป็นค่าบริการล่วงหน้า จึงขอให้บริษัทฯ ยกเลิกการเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เนตใหม่ในรอบเดือนถัดไป

เมื่อเข้าสู่ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 20/2557 ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติว่า บริษัท ทรู ไลฟ์ พลัส จำกัด ไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ต จำนวน 640.93 บาท หลังจากผู้ใช้บริการขอระงับบริการแล้ว ซึ่งเมื่อบริษัทฯ ได้ดำเนินการคืนค่าบริการแล้ว เรื่องร้องนี้จึงยุติ นอกจากนี้ เห็นชอบให้ บริษัทฯ มีสิทธิเก็บค่าบริการซึ่งเป็นตามสัญญาการใช้บริการรายการส่งเสริมการขาย ระบบ Postpaid และให้บริษัทฯ ชี้แจงให้ผู้ร้องเข้าใจถึงการกำหนดรอบบิลด้วย และผู้ร้องมีหน้าที่ชำระค่าบริการตามใบเรียกเก็บค่าบริการ

ด้าน กสทช. เสียงข้างน้อย (กสทช.ประวิทย์ฯ) ขอสงวนความเห็นต่างจากมติเสียงข้างมากในประเด็นการเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าว่า แม้บริษัทฯ มีสิทธิกำหนดรอบค่าใช้บริการได้ แต่ตามหลักการให้บริการโทรคมนาคม หากเป็นระบบการชำระค่าบริการรายเดือน (post-paid) การเรียกเก็บค่าบริการจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการใช้บริการครบเดือนแล้ว ดังนั้นการกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องชำระค่าบริการก่อนครบกำหนดรอบ ย่อมถือเป็นระบบการชำระค่าบริการเป็นการล่วงหน้า (pre-paid) โดยไม่เกี่ยวว่าอัตราค่าบริการเป็นแบบเหมาจ่ายหรือไม่

 

รู้สิทธิ

สาระสำคัญของประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 11 กำหนดว่า การให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเป็นการล่วงหน้าจะต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ผู้ให้บริการจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า แต่ในกรณีนี้ มติ กทค. เสียงส่วนใหญ่ เห็นว่าเป็นลักษณะรายการส่งเสริมการขายที่มีลักษณะเหมาจ่ายรายเดือนนับจากวันจ่ายไป มีเพียง กทค. เสียงข้างน้อยที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง ขณะที่หากมองเรื่องนี้ในแง่ผู้ใช้บริการ จะพบว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา เพราะพอจะไปปิดบริการ ก็ต้องชำระเงินล่วงหน้าตามรอบบิล แล้วค่อยไปทำเรื่องขอคืนเงินทีหลัง ซึ่งผู้ใช้บริการบางรายก็ไม่ได้ไปตามเอาเงินคืน บางรายที่ไปตามเอาเงินคืน ก็ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม กรณีการพิจารณาแก้ไขเรื่องนี้ของ กทค. จึงไม่ตอบโจทย์ปัญหาของผู้บริโภค

 

หมายเหตุ: การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคทางด้านกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงาน กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ถอดบทเรียนตั้งแต่การประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2554 จนถึงการประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2560