เดือนร้อนจากการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม (เสาสัญญาณ) ใกล้บ้าน ทำอย่างไรดี

จากการรวบรวมข้อร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนจากการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมใกล้บ้านหรือที่ชุมชน ตั้งแต่พฤษภาคม 2554-สิงหาคม 2560  พบว่ามีจำนวน 28 กรณี ซึ่งแบ่งประเด็นตามลักษณะปัญหาดังนี้

  • ที่ตั้ง สถานีวิทยุคมนาคมตั้งอยู่บนที่ดินบริเวณใกล้บ้านหรืออาคารพาณิชย์ที่ผู้ร้องเรียนอยู่อาศัย และ/หรืออยู่ในบริเวณชุมชน ซึ่งห่างจากสถานที่ราชการ เช่น วัด โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็กเล็ก ฯลฯ ไม่เกิน 400 เมตร
  • ข้อร้องเรียน ผู้ร้องเรียนมีความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ ความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือสูญเสียทัศนียภาพ เช่น กรณีการตั้งเสาสถานีฯ ความสูงประมาณ 25-30 เมตร บนอาคารสูง 4 ชั้น อายุ 24 ปี ผู้ร้องระบุว่าทำให้อาคารทรุดและมีรอยร้าวที่อาคารติดตั้ง และมีสายไฟขนาดใหญ่พาดผ่านบนตัวอาคารโดยไม่ขออนุญาตเจ้าของอาคารและประชาชนที่พักอาศัยบริเวณดังกล่าว
  • การทำความเข้าใจกับประชาชน ผู้ร้องเรียนส่วนใหญ่ร้องเรียนว่า บริษัทฯ ไม่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชน หรือทำความเข้าใจฯ ไม่ครบถ้วน เช่น “มีการตั้งป้ายประกาศและการแสดงภาพถ่ายว่ามีการแจกเอกสารเผยแพร่ทำความเข้าใจกับประชาชนจำนวน 4 คน โดย 2 คนในจำนวนนั้นไม่ใช่บุคคลในพื้นที่” เป็นต้น

สถานีวิทยุคมนาคมปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่

ประเด็นผลกระทบสุขภาพเป็นความกังวลหลักของผู้ร้องเรียน ซึ่งปรากฎในข้อร้องเรียนทุกเรื่อง ทั้งนี้แนวทางพิจารณาเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน กสทช. ในประเด็นนี้คือ สำนักงาน กสทช. จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจวัดปริมาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสถานีที่ถูกร้องเรียนว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในประกาศหรือไม่ ซึ่งกรณีที่พบว่าปริมาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่ำกว่าค่ามาตรฐาน สำนักงาน กสทช. ก็จะให้ข้อสรุปเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองฯ และ ที่ประชุม กทค. ว่า สถานีวิทยุฯ ดังกล่าว “ปลอดภัยต่อความสุขภาพมนุษย์”

ทั้งนี้ งานศึกษาวิจัยในระดับนานาชาติยังคงไม่สามารถชี้ชัดถึงผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ชัดเจน โดยบางงานวิจัยระบุว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง ขณะที่บางงานวิจัยก็ระบุว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปเช่นนั้น ซึ่งในส่วนของ กสทช. ประวิทย์ฯ เคยมีบันทึกขอเปิดเผยความเห็นต่อกรณีท่าทีการแสดงความเห็นหรือจุดยืนในเรื่องดังกล่าวของสำนักงาน กสทช. ว่า “การยืนยันว่าสถานีวิทยุคมนาคมมีความปลอดภัยไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันเอกสารทางวิชาการ (Monograph) ขององค์การอนามัยโลกได้ระบุชัดเจนแล้วว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง อยู่ในข่ายที่ต้องเฝ้าระวังว่าก่อมะเร็ง สำนักงาน กสทช. จึงไม่ควรแสดงจุดยืนเอนเอียงในการรับรองว่าคลื่นความถี่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ควรศึกษาอ้างอิงจากเอกสารวิชาการขององค์การอนามัยโลก แล้วนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง โดยมีเป้าหมายทั้งไม่ให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่นิ่งนอนใจว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์”

 

แค่ไหน/อย่างไร คือ “การทำความเข้าใจ”

สืบเนื่องจากประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม มีผลบังคับใช้กับสถานีวิทยุคมนาคมที่ติดตั้งตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นไป ดังนั้นเมื่อมีข้อร้องเรียน สำนักงาน กสทช. จะสืบหาข้อเท็จจริงโดยพิจารณาว่าสถานีฯ ดังกล่าวได้รับใบอนุญาตเมื่อใด หากได้รับใบอนุญาตหลังประกาศฯ  มีผลบังคับใช้ จึงพิจารณาขั้นต่อไปว่าบริษัทฯ ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนบริเวณรอบพื้นที่ตามที่ประกาศฯ กำหนดหรือไม่

ทั้งนี้ ตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.5 กำหนดว่า “เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะติดตั้งและบริเวณใกล้เคียง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและป้องกันความวิตกกังวลของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในบริเวณที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น สถานพยาบาล โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ทั้งนี้ คณะกรรมการอาจร้องขอให้มีการแสดงหลักฐานการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้น ในกรณีที่จำเป็น”

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา บริษัทฯ ผู้ได้รับใบอนุญาตมักแสดงหลักฐานการทำความเข้าใจกับประชาชน ประกอบด้วยภาพถ่ายชื่อบริษัทและสถานที่ติดต่อ และรูปถ่ายกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมกระบวนการทำความเข้าใจ ณ บริเวณที่ตั้งสถานีฯ แต่ผู้ร้องเรียนส่วนใหญ่ระบุว่าบริษัทฯ ไม่ได้ทำความเข้าใจกับผู้ร้องเรียนและชุมชนโดยรอบ ส่วนกลุ่มคนที่ปรากฎในภาพถ่ายการทำความเข้าใจกับประชาชนไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง กลายเป็นปัญหาความขัดแย้ง และเป็นประเด็นที่ร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. โดยหลายกรณีที่ประชุม กทค. ก็จะมีมติให้ผู้รับใบอนุญาตไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ใหม่ ดังเช่นกรณีที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 25/2557 มีมติให้สำนักงาน กสทช. แจ้งบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จัดส่งหลักฐานแสดงว่าได้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่บริเวณที่ติดตั้งสถานีวิทยุก่อนที่จะดำเนินการมาให้ กสทช. พิจารณาภายใน 30 วัน เนื่องจากหลักฐานภาพถ่ายการทำความเข้าใจกับประชาชน และจัดทำข้อมูลการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสถานีโดยติดป้ายประกาศ ไม่สามารถระบุได้ว่าวันเวลาที่ดำเนินการเกิดขึ้นก่อนได้รับใบอนุญาตให้ติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมหรือไม่ ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตตามขั้นตอนของประกาศ กทช. เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาการทำความเข้าใจกับประชาชนนับเป็นปัญหาใหญ่และขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กสทช. ได้กำหนดแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมขึ้นแล้ว โดยประกาศบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ถึงกระนั้นคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคสำรวจยังคงสำรวจพบปัญหาผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัดเพียงพอ โดยในเวลาต่อมาทางสำนักงาน กสทช. ก็ได้มีการแก้ไขแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนฯ และประกาศบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561

แนวทางการทำความเข้าใจเสา.61

 

บ้านทรุด-ตึกพัง ร้องเรียน กสทช. ได้หรือไม่

มีข้อร้องเรียนที่อ้างถึงผลกระทบจากการติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมต่อที่ดินหรืออาคารของผู้ร้องเรียนหลายกรณี ซึ่งที่ประชุม กทค. มักมีมติว่าความเสียหายดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของ กสทช.  และสำนักงาน กสทช. และให้สำนักงาน กสทช. แจ้งให้ผู้ร้องเรียนร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีข้อร้องเรียน บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ติดตั้งเสาส่งสัญญาณฯ ความสูง 40 เมตร บริเวณอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ผู้ร้องเรียนอ้างว่าการตั้งเสาเป็นเหตุให้ฟ้าฝ่าทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านผู้ร้องเรียนเสียหาย ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 10/2559 มีมติว่า “กรณีผู้ร้องเรียนได้รับความเสียหายจากเหตุฟ้าผ่า ให้ฝ่ายเลขานุการแจ้งผู้ร้องเรียนให้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างเสาสัญญาณนั้น”  หรือที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ครั้งที่ 2/2559 ระบุว่า “การก่อสร้างอาคารโครงสร้างสถานีวิทยุคมนาคมเป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้แจ้งผู้ร้องเรียนให้ร้องเรียนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นต้น

 

สถานีวิทยุฯ ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ร้องเรียนได้หรือไม่

กรณีข้อร้องเรียนการตั้งเสาสถานีวิทยุโทรคมนาคมที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นวาระพิจารณาในที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 11/2557 และสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่ามีการก่อสร้างเสาสถานีฯ จริง แต่ยังไม่มีการให้บริการอันจะทำให้ผู้ร้องเรียนเดือดร้อน จึงมีความเห็นเสนอ ต่อ กทค. ว่า กสทช. ไม่สามารถรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณา

กรณีนี้ กสทช. ประวิทย์มีความเห็นแย้งและทำบันทึกเสนอความเห็นไว้ว่า “ผู้ร้องเรียนมีสิทธิร้องเรียนโดยไม่ต้องรอให้มีการแพร่คลื่นวิทยุก่อน เนื่องจากวัตถุประสงค์การก่อสร้างก็เพื่อทำการแพร่คลื่นออกจากสถานีนั่นเอง และดังนั้นหากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เช่น ไม่ทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง หรือไม่ติดตั้งป้ายแสดงสัญลักษณ์ ก็เป็นการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความปลอดภัยตามประกาศ กทช.  ทั้งนี้มิได้ทำเพื่อให้เกิดความล่าช้า แต่เพื่อให้อุตสาหกรรมเดินหน้าไปได้โดยไม่ต้องเผชิญอุปสรรคจากความขัดแย้งหรือการต่อต้านจากชุมชน

 

ห้ามออกใบอนุญาตสถานีวิทยุฯ ที่อยู่ระหว่างการร้องเรียน

ตั้งแต่สมัยที่ กสทช. ยังไม่เกิดขึ้น กทช. หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้เคยมีมติวางแนวทางเรื่องการพิจารณาออกใบอนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคมไว้ ตั้งแต่ในการประชุม กทช. ครั้งที่ 1/2553 ระบุว่า “ … การพิจารณาออกใบอนุญาต (ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม) ให้แก่ผู้ยื่นนั้น สำนักงาน กทช. จะต้องดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนด้วยความละเอียดรอบคอบอย่างเคร่งครัด หากผู้ขอรับใบอนุญาตยังมีปัญหาการร้องเรียนในเรื่องนั้นอยู่ จะออกใบอนุญาตให้มิได้”  

จะเห็นได้ว่าหากยึดตามมติข้างต้น ไม่ควรมีการออกใบอนุญาตติดติดตั้งสถานีวิทยุฯ ที่มีการยื่นร้องเรียนต่อสำนักงาน กสทช. แล้ว แต่ก็ยังเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นบ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่นกรณีบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ซึ่งกรณีนี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ครั้งที่ 9/2558 เสนอที่ประชุม กทค. ให้ยึดมติ กทช. ครั้งที่ 1/2553 เป็นบรรทัดฐานหรือแนวทางปฏิบัติ ดังนี้ “เรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นสถานีวิทยุคมนาคม โดยที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ให้หน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนแจ้งสำนักการอนุญาตและกำกับวิทยุคมนาคม (คท.) ระงับการพิจารณาออกใบอนุญาตไว้ก่อน และให้สำนักงาน กสทช. แจ้งให้ผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนไปดำเนินการทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณที่จะติดตั้งและบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ที่จะต้องสถานีวิทยุคมนาคม และให้นำหลักฐานการทำความเข้าใจดังกล่าวมาแสดงต่อสำนักงาน กสทช. เพื่อประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตตั้งสถานวิทยุคมนาคมต่อไป

 

รู้สิทธิ

ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะติดตั้งและบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะเมื่อสถานีฯ ตั้งอยู่ใกล้สถานพยาบาล โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก

สำนักงาน กสทช. ต้องจัดให้มีมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของเครื่องวิทยุคมนาคม โดยต้องได้รับการประเมินระดับความแรงของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าว่าสอดคล้องว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย, ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำรายงานข้อมูลการประเมินระดับการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสถานีวิทยุคมนาคมนั้นส่งให้สำนักงาน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม, ผู้ประกอบการจะต้องติดป้ายคำเตือนในบริเวณที่มีความเสี่ยงในการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือมีมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เป็นรูปธรรมชัดเจนตามควรแก่กรณี

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498

มาตรา 11 ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ได้รับใบอนุญาตสถานีวิทยุคมนาคมต้องใช้ความถี่คลื่นให้ถูกต้องตามข้อบังคับว่าด้วยวิทยุคมนาคมตามภาคผนวกต่อท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยโทรคมนาคมเพื่อให้การเป็นไปตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และให้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจควบคุม และกำหนดการใช้ความถี่คลื่นของสถานีวิทยุคมนาคมต่างๆในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงให้สถานีวิทยุคมนาคมที่ใช้ในกิจการบางประเภทได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอุนญาตตามวรรคหนึ่ง

 

ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม

ข้อ  3 ประกาศนี้ใช้บังคับสำหรับการกำกับดูแลเครื่องวิทยุคมนาคม  ประเภท 3 ตามมาตรฐานความปลอดภัยดังนี้

ประเภทที่  3 เครื่องวิทยุคมนาคมซึงติดตั้งอยู่กับที่ถาวร และมีการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าครอบคลุมบริเวณกว้าง (ตัวอย่างเครื่องวิทยุคมนาคมประเภทที่  ตามภาคผนวก ก เช่น สถานีฐาน (base station) ของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ

ข้อ 12 การแสดงความสอดคล้องตามมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีวิทยุคมนาคมที่ตั้งใหม่

ข้อ 12.4 ผู้ประกอบการต้องเก็บรักษาเอกสารหลักฐานการประเมินระดับความแรงของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบยืนบยันการปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลภายหลังการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ซึ่งรวมถึงการติดป้ายแสดงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบการค้าของผู้ประกอบการ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับผิดชอบที่สามารถติดต่อได้โดยสะดวก ไว้ในบริเวณที่ตั้งของสถานีวิทยุคมนาคม

ข้อ 12.5 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะติดตั้งและบริเวณใกล้เคียง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและป้องกันความวิตกกังวลของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในบริเวณที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น สถานพยาบาล โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ทั้งนี้ คณะกรรมการอาจร้องขอให้มีการแสดงหลักฐานการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้น ในกรณีที่จำเป็น

ข้อ 14 ให้สำนักงานจัดให้มีมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของเครื่องวิทยุคมนาคม ภายหลังการจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมหรือตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยใช้วิธีการหนึ่งวิธีการใด หรือหลากหลายวิธีรวมกัน ซึ่งอาจแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องวิทยคมนาคม ดังต่อไปนี้

14.4 การรับข้อร้องเรียนของผู้ใช้บริการหรือผู้ประกอบการรายอื่นถึงความไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

ข้อ 15 หากพบว่ามีการฝ่าในหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ให้เลขาธิการดำเนินการตามความเหมาะสมและสภาพของความผิดนั้นดังต่อไปนี้

15.1 แจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร

15.2 สั่งให้มีการแก้ไข ปรับปรุง หรือระงับการจำหน่ายหรือใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

15.3 เปรียบเทียบปรับหรือดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

 

หมายเหตุ: การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคทางด้านกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงาน กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ถอดบทเรียนตั้งแต่การประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2554 จนถึงการประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2560