MRB ของบกองทุนทำวิจัยเรื่องเรตติ้ง, ช่อง Voice TV – ช่อง 7 – ช่อง 1TV ขัดมาตรา 37 หรือไม่, การปรับเปลี่ยนกำหนดการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลในส่วนสถานีเสริม ในกลุ่ม A1 จำนวน 37 สถานี วาระแนวทางกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ, หน่วยงานจัดอบรมหลักสูตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

จับตาวาระ กสท. MRB ของบกองทุนทำวิจัยเรื่องเรตติ้ง
ถก ช่อง Voice TV – ช่อง 7 – ช่อง 1TV ขัดมาตรา 37 หรือไม่

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 24 ส.ค. 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 28/2558 เตรียมพิจารณาวาระการขอสนับสนุนงบประมาณการจัดทำวิจัยเรตติ้งของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (MRB) ที่ก่อตั้งร่วมกันของ สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ชมรมผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย และสมาชิกจากสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ได้จัดการประมูลการจัดทำการวัดเรตติ้งที่เป็นระบบ multi – screen และได้เลือก Kantar media เป็นผู้จัดทำการวัดเรตติ้ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง จึงได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ กสท. จัดสรรเงินกองทุนส่วนหนึ่งเพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสื่อได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ และสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยในหลักการเรื่องการใช้เงินกองทุนสนับสนุนการสำรวจระบบเรตติ้งการดูทีวีครั้งใหญ่ เพราะถือว่าตรงกับวัตถุประสงค์กองทุนมากกว่าเรื่องอื่นๆที่ผ่านมา และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรมในกิจการโทรทัศน์ด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุมเตรียมพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านเนื้อหาไม่เหมาะสมตามมาตรา 37 ได้แก่ กรณีการออกอากาศรายการ Tonight Thailand ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง Voice TV กรณีการออกอากาศรายการสนามข่าว 7 สี ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และกรณีการออกอากาศรายการเส้นผมบังภูเขา และรายการแฉกระจาย ช่องรายการ 1TV ของ บ.พีแอนด์พีชาแนล จำกัด

“พักหลังเรื่องร้องเรียนด้านเนื้อหามีเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเมือง นอกจากจะพิจารณาเป็นรายกรณี กสทช. ควรเชิญทุกช่องมาหามาตรฐานกลางหรือกติกาที่ยอมรับร่วมกันได้ ว่าอะไรผิดอะไรถูก   เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าการใช้ดุลยพินิจของ กสท.ในแต่ละกรณี เกิดการเลือกปฏิบัติได้” สุภิญญา กล่าว

วาระอื่นๆ น่าจับตาได้แก่  การพิจารณา วาระการปรับเปลี่ยนกำหนดการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลในส่วนสถานีเสริม ในกลุ่ม A1 จำนวน 37 สถานี วาระแนวทางกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ วาระการพิจารณาอนุญาตหน่วยงานจัดอบรมหลักสูตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และวาระอื่นๆ ซึ่งติดตามผลการประชุมทั้งหมดวันจันทร์นี้…