ช่อง 3 และช่องดาวเทียม JKN โฆษณาเกินระยะเวลากว่าที่กฎหมายกำหนด, Z PAY TV ในกล่องจีเอ็มเอ็มแซท, อนุกรรมการเนื้อหาและผังรายการ ชงเรื่องการนำเสนอเนื้อหาเปิดโปงขบวนการล้มเจ้า ของช่องรายการทีนิวส์ ทีวี, Color Bar ในช่องที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตและที่ถูกเพิกถอนในทีวีระบบดิจิตอล

เตรียมถกกรณีช่อง 3  และ JKN โฆษณาเกินเวลา และพิจารณาแผนการเยียวยากรณียุติ Z PAY TV ในกล่อง GMMZ จันทร์นี้

จับตาวาระ  กสท.จันทร์นี้ติดตามผลการพิจารณาของ กสท.  กรณีช่อง 3 และช่องดาวเทียม JKN  โฆษณาเกินระยะเวลากว่าที่กฎหมายกำหนด  และผลการพิจารณาแผนการเยียวยากรณียุติ Z PAY TV ในกล่องจีเอ็มเอ็มแซท  พร้อมอนุกรรมการเนื้อหาและผังรายการ ชงเรื่องการนำเสนอเนื้อหาเปิดโปงขบวนการล้มเจ้า ของช่องรายการทีนิวส์ ทีวี  และข้อเสนอให้ยกเลิก Color Bar ในช่องที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตและที่ถูกเพิกถอนในทีวีระบบดิจิตอล

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 11 /2559  วันจันทร์ที่  28 มีนาคมนี้ มีวาระประชุมสำคัญที่ กสท. ต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ขอให้ตรวจสอบระยะเวลาการออกอากาศโฆษณาของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์จำกัด  (ช่อง 3 ในระบบแอนะล็อก) และบริษัท เจเคเอ็น ลิฟวิ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด  (ช่องรายการ JKN)  ซึ่งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พิจารณาแล้วว่ามีการโฆษณาบริการและสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดจริง  ถือว่าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และผิดตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 5(8)  ด้วย   ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ กสท. จันทร์นี้ว่าจะมีมติอย่างไร    อาจมีคำสั่งทางปกครองให้ระงับการกระทำในลักษณะดังกล่าว หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับถึง 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ กสท. เคยกำหนดไว้แล้ว

อีกวาระที่น่าจับตา คือ แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการของบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด  หลังจากที่มีการยกเลิกระบบบริการแพ็กเกจ Z PAY TV ทางกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม GMMZ   เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ซึ่งอนุกรรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ  มีความเห็นต่อมาตรการเยียวยาของทั้งสองบริษัทยังไม่ครอบคลุม และยังไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุติครั้งนี้  เพราะการที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซทฯ อ้างว่าการให้ผู้ใช้บริการสามารถรับชมช่องรายการ Nat Geo Wild และ Fox Thai แบบ Free to box จนถึงเดือนธันวาคม 2558  แล้วนั้นไม่ถือเป็นการเยียวยา หรือการยกเว้นค่าบริการ ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาฯ พ.ศ. 2556 แต่อย่างใด  ซึ่งตามหลักการเยียวยาจะต้องดำเนินการให้มากขึ้นกว่าที่ได้ชดเชยให้แก่ผู้ใช้บริการ   หากพ้นวิสัยที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซทฯ จะดำเนินการได้จะต้องให้โอกาสผู้ใช้บริการบอกเลิกสัญญาได้  ส่วนแผนการเยียวยาของบริษัทจีเอ็มเอ็ม บีฯ  ยังไม่ครอบคลุมถึงกรณีผู้ใช้บริการได้รับกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมหลังวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2559    และกรณีผู้ใช้บริการซื้อแพ็กเกจแล้วแต่ได้รับชดเชยเป็นระยะเวลาน้อยกว่าแพ็กเกจเดิม หรือระยะเวลาน้อยกว่าเดิม  รวมทั้งยังไม่มีมาตรการเยียวยาในกรณีที่ผู้ใช้บริการที่ใช้จานรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมในระบบ    Ku-Band ไม่ต้องการจะรับการชดเชยด้วยกล่องรับสัญญาณฯ ของบริษัท ซีทีเอชฯ

นอกจากนี้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ  ได้ส่งผลการพิจารณาการนำเสนอเนื้อหารายการ “ทีนิวส์ สด ลึก จริง” ช่วง “ เปิดโปงขบวนการล้มเจ้า”  ของช่องรายการทีนิวส์ ทีวี  ซึ่งนำเสนอเนื้อหาที่มาจากโชเชียลมีเดียของบุคคลที่มีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเผยแพร่ซ้ำทางโทรทัศน์มาให้ กสท. พิจารณาด้วย

ส่วนความคืบหน้าคดีไทยทีวีฟ้องให้คุ้มครองชั่วคราว คาดว่าน่าจะได้รับคำสั่งศาลสัปดาห์นี้ ถ้าศาลไม่คุ้มครอง  สำนักงาน กสทช. จะแจ้งให้ทางธนาคารกรุงเทพมาชำระหนี้แทนต่อไป” นางสาวสุภิญญากล่าวเพิ่มเติม

ยังมีวาระอื่นๆ ที่น่าติดตาม  ได้แก่  มีข้อเสนอให้ยกเลิกการออกอากาศแถบสี (Color bar) บนหมายเลขช่องรายการที่ยังไม่ได้มีการอนุญาต และช่องที่คืนใบอนุญาต  พร้อมทั้งให้ระบุชื่อโครงข่ายบนโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เพื่อประโยชน์ต่อผู้รับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลในการเปลี่ยนช่องรายการ  ผลการพิจารณาวาระที่สำคัญต่างๆ เหล่านี้จะเป็นอย่างไรติดตามภายหลังจากการประชุม กสท. จันทร์นี้