ยกเลิกบริการ ผ่านไป 6 ปี บริษัททวงหนี้ตามเก็บซ้ำ

กรณีนี้ผู้บริโภคร้องเรียนบริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมูนิเคชั่น จำกัด ว่าตนเปิดใช้บริการโทรศัพท์รายเดือนกับ true move และได้โทรแจ้งยกเลิกบริการรายเดือน เมื่อปี 2551 ซึ่งพนักงานของบริษัทฯ แจ้งกลับมายืนยันว่ายกเลิกเรียบร้อยแล้วและไม่มีใบทวงหนี้จากบริษัทอีกเลย จนกระทั่งปี 2554 ได้มีหนังสือทวงหนี้จากบริษัทฯ ว่าผู้ร้องเรียนมียอดค้างชำระ จำนวน 7,399 บาท ซึ่งได้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 ตามที่บริษัททวงหนี้แนะนำเรียบร้อยแล้ว ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2558 มีหนังสือทวงหนี้จากบริษัท จุลจุฬาพัฒนาสิน จำกัด แจ้งว่าผู้ร้องเรียนค้างชำระหนี้ 9,474.42 บาท จึงขอร้องเรียนให้บริษัทฯ ตรวจสอบและยกเลิกการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม มีมติว่า เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว ไม่สามารถสรุปได้ว่า ผู้ร้องเรียนค้างชำระค่าบริการ แม้ผู้ร้องเรียนจะไม่มีหลักฐานการชำระเงินมายืนยัน เพราะหนี้ดังกล่าวขาดอายุความแล้ว ผู้ร้องเรียนจึงไม่มีความจำเป็นต้องเก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ หากบริษัทฯ ต้องการเรียกค่าบริการตามข้อร้องเรียนก็สามารถใช้สิทธิทางศาลได้

เมื่อมาถึงการประชุม กทค. ครั้งที่ 25/2559 กทค. มีมติรับทราบข้อร้องเรียนนี้ แต่ไม่ได้ชี้ขาด โดยอ้างว่าเนื่องจากสำนักงาน กสทช. ได้ส่งผลการชี้แจงการเรียกเก็บค่าบริการและรายละเอียดการใช้งาน (CDR) จากบริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ไปให้ผู้ร้องเรียนทราบแล้ว และไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเรียนมีการคัดค้าน จึงถือว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวได้ยุติแล้ว

ด้าน กสทช. ประวิทย์ฯ มีความเห็นแตกต่างจากมติที่ประชุม โดยเห็นสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ โดยเห็นว่า หนี้ค่าบริการมีอายุความเพียง 2 ปี หากเจ้าหนี้ไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องภายในอายุความ ลูกหนี้ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้โดยยกเรื่องหนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ได้

 

รู้สิทธิ

หนี้ค่าบริการมีอายุความเพียง 2 ปี หากเจ้าหนี้ไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องภายในอายุความ ลูกหนี้ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้โดยยกเรื่องหนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ได้