เปิดคำสงวน : ร่างประกาศ เรื่องแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. และร่างประกาศ มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม

ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 37/2559 วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2559 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้สงวนความเห็นในการพิจารณาวาระ 4.12 เรื่อง ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม ตามที่สำนักงานได้เสนอเพื่อให้การใช้งานคลื่นความถี่ภายหลังการสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน สัญญา และภายหลังระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ 5 ปี ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงควรมีแผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการกระจายเสียง ซึ่งปัจจุบันสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. ที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่อยู่ในวันที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ใช้บังคับมีจำนวน 313 สถานี โดยการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุ เอฟ.เอ็ม ดังกล่าวเป็นไปตามแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. ของประเทศ(ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2528) และหนังสืออนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ของกรมไปรษณีย์โทรเลข ทั้งนี้ มติที่ประชุม กสท. ได้เห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. โดยให้เพิ่มเติมข้อความในแผนความถี่วิทยุฯ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับปรุงแก้ไขในอนาคต พร้อมทั้งเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. และเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุม กทช. เพื่อขออนุมัติให้นำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. ไปสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยมอบหมายให้ กสท. ดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจนแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา ได้สงวนความเห็นในการพิจารณาวาระดังกล่าว ดังนี้

“ดิฉันสงวนความเห็นในการพิจารณาเรื่อง ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง
ระบบ เอฟ.เอ็ม เนื่องจากเห็นว่าสาระของร่างประกาศดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกระบวนการประกอบหลักการเหตุผลในการจัดทำแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. ของประเทศ (ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2528) ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนมีข้อกังวลต่อแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้อนุญาตใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียงในระบบ เอฟ.เอ็ม ในอนาคต ในประเด็นดังนี้

  • หลักการจัดทำแผนความถี่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งมุ่งปฏิรูปการถือครองคลื่นความถี่

ร่างประกาศฯ ทั้งสองฉบับ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำขึ้นโดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานและลักษณะ
ทางเทคนิคของเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม ของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงรายเดิม จำนวน 313 สถานี และดำเนินการปรับปรุงทางเทคนิคโดยคำนึงถึงปัญหาการรบกวนในการใช้งานคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงในระบบ เอฟ.เอ็ม กำลังส่งที่ใช้ในการออกอากาศ ตลอดจนความครอบคลุมของสัญญาณในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งมุ่งหมายให้เป็นการรองรับการใช้งานอย่างต่อเนื่องและลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และผู้ได้รับอนุญาต   ให้ใช้คลื่นความถี่โดยชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ตามกรอบเวลาของแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 ที่กำหนดระยะเวลาสูงสุดในการถือครองไว้ไม่เกินห้าปี ซึ่งต้องสิ้นสุดการใช้คลื่นความถี่ภายในวันที่ 3 เมษายน 2560 นี้

ดังนั้นจึงพิจารณาได้ว่าภายใต้กระบวนการขั้นตอนและหลักการเหตุผลในการจัดทำแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. ตลอดจนมาตรฐานทางเทคนิคในครั้งนี้เป็นการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเทคนิคเพียงบางส่วน โดยคำนึงถึงสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่อย่างต่อเนื่องของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และละเลยที่จะนำแนวทางรองรับการจัดสรรคลื่นความถี่ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553  ประกอบกับมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติ      การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งได้จำแนกใบอนุญาต ประเภท และระดับของบริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ไว้อย่างชัดเจนแล้วมาพิจารณาประกอบการจัดทำ

ร่างแผนความถี่ฉบับนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นการวางแผนความถี่เพื่อมุ่งไปสู่การจัดสรรทรัพยากร คลื่นความถี่ใหม่ตามกฎหมาย แต่มีลักษณะเป็นการกำหนดทางเทคนิคเพื่อรองรับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงรายเดิมในระบบ เอฟ.เอ็ม ทั้ง 313 คลื่นความถี่ ซึ่งอาจทำให้สาธารณะมีความเข้าใจได้ว่า เป็นการดำเนินการเพื่อต่ออายุให้กับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ 22 แห่ง ได้ถือครองและใช้งานคลื่นความถี่ต่อไปแม้ว่าจะสิ้นสุดสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วก็ตาม

ดิฉันเห็นว่าแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ตามกรอบของกฎหมายได้พิจารณาและให้สิทธิ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงไว้แล้ว ตามเงื่อนไขของประเภทและวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการ หากแผนความถี่จัดทำขึ้นโดยตอบสนองการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ใหม่ให้แก่ทุกภาคส่วนได้อย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับกฎหมาย ย่อมทำให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งมีความประสงค์และมีความจำเป็นในการประกอบกิจการกระจายเสียงสามารถได้รับอนุญาตใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง  โดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป

อีกทั้งหากพิจารณารายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 36/2559 (17 ตุลาคม 2559) มีมติเห็นชอบกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐคืนคลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อนำไปจัดสรรใหม่ ตามมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 โดยกำหนดระยะเวลาสูงสุด ตามกรอบเวลาของแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 ที่กำหนดระยะเวลาสูงสุดในการถือครองไว้ไม่เกินห้าปี หรือภายในวันที่ 3 เมษายน 2560 นี้แล้ว เห็นได้ว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานและพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้แจกแจงถึงรายละเอียดการใช้คลื่นความถี่ในระบบ เอฟ.เอ็ม. เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐไว้ได้อย่างชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพิจารณาประกอบการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ กล่าวคือ ในภาพรวมมีส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 27 หน่วยงาน ถือครองคลื่นความถี่ในระบบ เอฟ.เอ็ม. เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง ทั้งสิ้น 313 คลื่นความถี่ โดยจำแนกเป็น 1)กลุ่มหน่วยงานที่การประกอบกิจการกระจายเสียงสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน 88 คลื่นความถี่ หรือร้อยละ 28.12 และ 2)กลุ่มหน่วยงานที่การประกอบกิจการกระจายเสียงไม่สอดคล้องต่อภารกิจบางส่วน จำนวน 225 คลื่นความถี่ หรือร้อยละ 71.88 ดิฉันจึงเห็นว่ารายละเอียดผลการพิจารณาข้างต้นสามารถนำมาประกอบการพิจารณาให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้รับอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงอย่างถูกต้อง      ตามกฎหมายได้โดยเร็ว หากแต่ต้องจัดทำแผนความถี่ขึ้นโดยคำนึงถึงการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ใหม่ให้แก่ทุกภาคส่วนได้อย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในกระบวนการให้อนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงในระบบ เอฟ.เอ็ม. ต่อไปในอนาคต

 

  • สาระของร่างประกาศฯ ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและแผนแม่บท

สาระสำคัญของร่างประกาศ ฯ ทั้งสองฉบับ แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องมุ่งพิจารณาสาระในด้านเทคนิค    เป็นสำคัญแต่ขณะเดียวกันจำเป็นต้องพิจารณาหลักการและแนวทางในการจัดสรรคลื่นความถี่ตลอดจนเงื่อนไขของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำไปพร้อมกัน เพื่อให้รองรับการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการประกอบกิจการกระจายเสียงตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันเห็นว่าร่างประกาศทั้งสองฉบับนี้ยังสะท้อนว่าไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของกฎหมาย ตลอดจนยุทธศาสตร์ตามที่แผนแม่บทกำหนดไว้ ดังนี้

           2.1 ไม่มีการจัดแผนคลื่นความถี่สำหรับบริการชุมชน ตามมาตรา 49 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติให้ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ในส่วนกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้กับภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจในการประกอบกิจการบริการชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของคลื่นความถี่ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการ แต่หากพิจารณาสาระของร่างแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. ตลอดจนมาตรฐานทางเทคนิคในครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีสาระของการจัดสรรย่านความถี่หรือสัดส่วนของคลื่นความถี่เพื่อรองรับไว้ตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งมาตรฐานทางเทคนิคที่กำหนดโดยอ้างอิง        พื้นที่ออกอากาศและกำลังส่งสถานีวิทยุกระจายเสียงรายเดิมของ 313 หน่วยงานดังกล่าวย่อมไม่สะท้อน  หรือสนองตอบต่อการอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงประเภทบริการชุมชนแต่อย่างใด จึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าจะจัดสรรคลื่นความถี่ตามมาตรฐานเทคนิคข้างต้นให้กับภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดได้ และกรณีนี้จึงส่งผลให้ไม่เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 (8.6) ยุทธศาสตร์การจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งกำหนดแนวทางส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ที่กำหนดให้ใช้ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ไว้ และโดยที่ข้อ 8.6.1 กำหนดให้ กสทช. ต้องจัดให้มีประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ภาคประชาชนใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ภายใน 4 ปี นับแต่วันที่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ใช้บังคับ อันเป็นกรณีที่ระยะเวลาล่วงมาแล้ว

 

2.2 ไม่เป็นการส่งเสริมแนวทางการพัฒนาและการส่งเสริมแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการ ตามมาตรา 49 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติให้อย่างน้อย กสทช. ต้องจัดให้มีแนวทางการพัฒนาและการส่งเสริมแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการ และแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตให้ประกอบกิจการ ดังนั้น การอ้างเหตุผลจัดทำร่างแผนความถี่โดยนำเอากรณีการออกอากาศต่อเนื่องของผู้ประกอบการรายเดิมจึงเป็นเหตุให้ต้องกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคโดยมีที่ตั้งตลอดจนพิกัดการออกอากาศ ณ ที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียงทั้ง 313 แห่ง ซึ่งย่อมต้องเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและการส่งเสริมแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการ เพราะหากผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงประเภทบริการทางธุรกิจจำเป็นต้องเข้าใช้สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนเครื่องส่งฯ ของหน่วยงานรัฐ
ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิม ย่อมก่อให้เกิดกรณีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการเนื่องจากเป็นทรัพย์สินและสถานีของหน่วยงานราชการซึ่งมีเงื่อนไขและข้อจำกัดในการเข้าใช้ประโยชน์ของเอกชน ดังนั้นการกำหนดสาระโดยล็อคเสปคทางเทคนิคไว้กับ สถานีวิทยุกระจายเสียงรายเดิม 313 สถานี โดยไม่คำนึงประเด็นแวดล้อมอื่น กรณีจึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและการส่งเสริมแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และกระทบอุตสาหกรรมวิทยุกระจายเสียงในภาพรวมโดยตรง

2.3 ไม่สัมพันธ์กับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์อื่นของแผนแม่บทฯ ตามที่แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) ภายใต้ (5.1) ยุทธศาสตร์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กำหนดแนวทางให้ กสทช. กำหนดแผนความถี่วิทยุ มาตรฐานและลักษณะอันพึงประสงค์ด้านเทคนิคในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ไว้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแนวทางอื่นๆ ประกอบ จะเห็นได้ว่าเป็นแนวทางที่มีความสัมพันธ์ และยึดโยงเกี่ยวข้องกันในการดำเนินการตามลำดับ แต่การจัดทำแผนความถี่วิทยุมาตรฐานและลักษณะอันพึงประสงค์ด้านเทคนิคในการประกอบกิจการกระจายเสียงในระบบ เอฟ.เอ็ม นี้ ไม่ปรากฏว่ายึดโยงหรือสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์และแนวทางอื่นๆ

 

อนึ่งดิฉันมีข้อสังเกตต่อการอ้างอิงบทบัญญัติตามกฎหมายเพื่อจัดทำร่างประกาศนี้ พบว่าไม่ระบุหรือมีการอ้างอิงถึงมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นฯ พ.ศ. 2553 แต่อย่างใดทั้งที่เป็นบทบัญญัติสำคัญซึ่งต้องนำมาพิจารณาประกอบการดำเนินการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง  อีกทั้งไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานในการจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการ การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตให้ประกอบกิจการ และมาตรการจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการบริการชุมชน

 

  • ข้อสังเกตเพิ่มเติม

          ดิฉันเห็นว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา กสท. และ กสทช. ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทมาแล้วในระยะหนึ่ง โดยเฉพาะกระบวนการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ ทั้งการมีมติให้ดำเนินการในกรณีที่เกี่ยวข้อง การแต่งตั้งอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ กลั่นกรองและให้ความเห็นในการใช้อำนาจจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการตามกฎหมาย ดิฉันได้นำมาทบทวนแล้วพิจารณาเห็นว่าสำนักงาน กสทช. ยังมิได้นำมาใช้ประโยชน์ประกอบการพิจารณาจัดทำแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. ตลอดจนมาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม ฉบับนี้ รายละเอียดดังนี้

3.1 ผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตามมติ กสทช. ครั้งที่ 5/2558 (20 พฤษภาคม 2558) ซึ่งเห็นชอบให้นำแผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียง ประกอบด้วย 1)แผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียง ระบบ เอฟ.เอ็ม 2)แผนความถี่วิทยุ และมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียง ระบบ เอ.เอ็ม. 3)แผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียง ระบบดิจิตอลเพื่อการทดลอง และ 4)แผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียง ระบบดิจิตอลระดับชาติและระดับท้องถิ่น             ไปสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยมอบอำนาจให้ กสท. ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ในการจัดรับฟังความคิดเห็นจนเสร็จสิ้นกระบวนการ และที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 7/2558 (22 กรกฎาคม 2558) รับทราบผลการพิจารณาของ กสท. ที่มีต่อสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อแผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสําหรับกิจการวิทยุกระจายเสียง ระบบ เอฟ.เอ็ม. ระบบ เอ.เอ็ม. และระบบดิจิตอล แล้วนั้น

ดิฉันเห็นว่าในกระบวนการจัดทำแผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียง ระบบ เอฟ.เอ็ม นั้นได้มีการจัดทำและนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ประกอบกับดิฉันมีบันทึกที่ สทช 1003.9/122 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 เห็นว่า การพิจารณาแผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียง ระบบ เอฟ.เอ็ม ระบบ เอ.เอ็ม. และระบบดิจิตอล และผลการประชุมกลุ่มย่อยต่อร่างแผนพัฒนากิจการกระจายเสียงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมจากทุกกลุ่ม ที่เกี่ยวข้องตามเสียงสะท้อนที่เป็นข้อคำถามของทุกกลุ่มดังที่ปรากฏในสรุปผลการประชุมกลุ่มย่อย รวมทั้งเห็นว่า การศึกษาเพิ่มเติมของสำนักงาน กสทช. ควรมีการประสานงานระหว่างสำนักที่เกี่ยวข้อง  อาทิ ทส. จส. และ ปส. เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามภายใต้กระบวนการจัดทำนี้มิได้แสดงถึงการนำผลการรับฟังคิดเห็นสาธารณะตลอดจนข้อเสนอแนะของดิฉันไปเป็นแนวทางปฏิบัติแต่อย่างใด รวมถึงไม่แสดงถึงข้อแตกต่างของแผนความถี่ในฉบับที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นหรือได้รับการปรับปรุงแล้ว ซึ่งทำให้ดิฉันมีข้อกังขาต่อกระบวนการขั้นตอนการจัดประกาศฉบับนี้

 

3.2  ผลการพิจารณาแนวทางการแบ่งสัดส่วนการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง ตามที่ กสท. ครั้งที่ 5/2556 (28 มกราคม 2556) มีมติรับทราบผลการพิจารณาแนวทางการแบ่งสัดส่วนการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง ภายใต้การดำเนินการขหองคณะทำงานพิจารณาแบ่งสัดส่วนการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ภายใต้คณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นสาระอีกส่วนหนึ่งที่สำนักงาน กสทช. ที่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม ทั้งสองฉบับนี้ได้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขตามบทบัญญัติของกฎหมายดังที่กล่าวมาในข้างต้น กล่าวคือ คณะทำงานฯ ได้พิจารณาแบ่งสัดส่วนการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงจากข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และการใช้คลื่นความถี่ในแต่ละเขตพื้นที่ให้เป็นไปด้วยความเหมาะสม ซึ่งกำหนดให้มีสัดส่วนที่เป็นเกณฑ์ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความต้องการประกอบกิจการที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของประเทศ ประกอบกับเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและเพื่อที่จะทำให้กิจการกระจายเสียงแต่ละประเภทสามารถขยายฐานการประกอบกิจการได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม จึงเสนอให้ กสท. พิจารณากำหนดสัดส่วนการอนุญาตสำหรับกิจการแต่ละประเภท ดังนี้ (1) กิจการบริการชุมชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 (2) กิจการบริการสาธารณะ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และ (3) กิจการบริการทางธุรกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ทั้งนี้การกำหนดสัดส่วนสำหรับบริการกิจการสาธารณะในสัดส่วนเท่ากับธุรกิจ เนื่องจากคำนึงถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการรายใหม่ที่ประสงค์จะประกอบกิจการบริการสาธารณะซึ่งมีอยู่จำนวนมากเข้ามาประกอบกิจการได้อย่างเหมาะสม

จากข้อเสนอข้างต้นซึ่งที่ประชุม กสท. มีมติรับทราบมาแล้วตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2556 ดิฉันจึงเห็นว่าเป็นกรณีที่สำนักงาน กสทช. สามารถนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำแผนความถี่นี้ได้ หรือหากต้องการความชัดเจนควรขอรับนโยบายเกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนคลื่นความถี่นี้เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย แทนการกล่าวอ้างในฐานะฝ่ายปฏิบัติการว่า กสท. หรือ กสทช. ไม่มีนโยบายให้กับสำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการ”

Comment-NBC-37-59