เปิดความเห็นต่าง : รายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ

ในการประชุม กสท. ครั้งที่  ๓๖/๒๕๕๙ วันจันทร์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้สงวนและเปิดเผยความเห็นในการพิจารณาหลายวาระ ได้แก่

วาระ ๔.๗ รายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามที่ประธานอนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานและพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่ง กสท. ได้มีมติเห็นชอบผลการพิจารณา และตรวจสอบสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ และการประกอบกิจการกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยทุกหน่วยงานมีการใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียงมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง กสท. มีมติ ดังนี้

  1. เห็นชอบผลการพิจารณา และตรวจสอบสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ และการประกอบกิจการกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยทุกหน่วยงานมีการใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียงมาโดยชอบด้วยกฎหมาย
  2. กรณี บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) คลื่นความถี่ FM ๑๐๕.๕๐ MHz มีการใช้งานคลื่นความถี่ และมีการทำสัญญาสัมปทานให้กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ เป็นกรณีที่ กสท. ได้เคยมีมติว่าสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น การกำหนดระยะเวลาการถือครอง หรือใช้งานคลื่นความถี่จึงกำหนดตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. ๒๕๕๕ ยุทธศาสตร์การถือครองคลื่นความถี่ข้อ ๘.๒.๑ ซึ่งจะสิ้นสุดลงเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง
  3. กรณีกิจการกระจายเสียงที่ดำเนินการโดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน ๒๗ หน่วยงาน ๕๓๗ คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ไว้ กสท.เห็นควรกำหนดให้ระยะเวลาการถือครอง หรือใช้งานคลื่นความถี่มีระยะเวลาจนถึงระยะเวลาสูงสุดที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. ๒๕๕๕ ยุทธศาสตร์กรคืนคลื่นความถี่ข้อ ๘.๒.๓.๑
  4. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ที่ประสงค์จะคืนคลื่นความถี่ก่อนระยะเวลาในข้อ ๒ และ ๓ สามารถดำเนินการด้วยความสมัครใจ เพื่อให้ กสทช. นำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปจัดสรรใหม่
  5. นำเสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณา ต่อไป

 

ทั้งนี้ กสทช.สุภิญญา ได้สงวนความเห็น ดังนี้

“ดิฉันขอสงวนความเห็นในการพิจารณาการขอย้ายที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียง กองทัพภาคที่ ๓ จังหวัดสุโขทัย ระบบ FM ความถี่วิทยุ ๑๐๒.๒๕ MHz เนื่องจากดิฉันเห็นว่ามีเหตุผลไม่เพียงพอและไม่อาจรับฟังได้ และมีลักษณะเดียวกับมติ กสท. ครั้งที่ ๔๐/๒๕๕๘ (๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘) ซึ่ง กสท. ไม่อนุญาตให้สถานีวิทยุกระจายเสียงตำรวจภูธร ๕ จังหวัดลำปาง และสถานีวิทยุกระจายเสียงตำรวจภูธร ๕ จังหวัดเชียงราย ย้ายที่ตั้งสถานีวิทยุตามที่มีคำร้อง เนื่องจากมิได้มีผลกระทบหรือมีเหตุผลความจำเป็นเพียงพอที่จะพิจารณา
ให้ย้ายที่ตั้งสถานีได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • การอนุญาตให้ย้ายที่ตั้งสถานีของผู้ประกอบการรายเดิมในขณะนี้ จำเป็นต้องพิจารณาประกอบกับขั้นตอนในการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่ง กสท. ต้องมีมติในการประชุมคราวเดียวกันนี้ หากในการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่และมิได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวให้กับสถานี
    ย่อมเป็นกรณีที่อาจกระทบและก่อความเสียหายให้กับกองทัพบกได้
  • เมื่อพิจารณากระบวนการตรวจสอบกลั่นกรองของสำนักงาน กสทช. โดยละเอียดแล้ว ดิฉันเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ให้ความสำคัญเฉพาะด้านเทคนิค เพราะหากพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงตามที่กองทัพบกได้แจ้งรายละเอียดคลื่นความถี่และความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ไว้กับ สำนักงาน กสทช. ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และระยะเวลาการแจ้งรายละเอียดการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่และเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นั้น กองทัพบกมีคลื่นความถี่ในครอบครองทั้งสิ้น ๑๓๘ คลื่นความถี่ ในระบบ AM จำนวน ๗๘ คลื่นความถี่ และในระบบ FM จำนวน ๔๙ คลื่นความถี่ โดยมีการใช้คลื่นความถี่ FM ๑๐๑.๗๕ MHz ในสถานีวิทยุกระจายเสียง ทภ. ๓ สุโขทัย ซึ่งอ้างอิงได้จากเอกสารการประชุม กสท. ครั้งที่ ๓๖/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ (เอกสารแนบวาระ ๔.๗, กลุ่ม ๑๔ กลุ่มที่มีลักษณะการประกอบกิจการกระจายเสียงไม่สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานบางส่วน, น.๖๖๑) และการประชุม กสท. ครั้งที่ ๕๒/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ (เอกสารแนบวาระ ๔.๕, บทวิเคราะห์ว่าด้วยความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงทหารบก (กองทัพบก กระทรวงกลาโหม), น.๔) จึงเป็นกรณีที่สำนักงาน กสทช. ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะหากเป็นการใช้งานคลื่นความถี่ตามที่กองทัพบกแจ้งฯ ไว้ กระบวนการตรวจสอบผลการรบกวนคลื่นความถี่ที่ ๑๐๒.๒๕ MHz ย่อมเป็นการรายงานข้อมูลข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนต่อที่ประชุม กสท.
  • นอกจากนี้ดิฉันมีข้อสังเกตว่า ตามที่กล่าวอ้างในการขอย้ายที่ตั้งสถานีเป็นการเร่งด่วนโดยระบุเหตุผลว่าเป็นกรณีที่สิ้นสุดสัญญาเช่าที่ดินในการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง โดยรายละเอียดสัญญามีระยะเวลาเช่าที่ดิน ตั้งแต่ ๑ มกราคม – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ หรือมีอายุสัญญา ๑ ปี นั้น ดิฉันพิจารณาว่า เนื่องด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงของหน่วยงานที่ได้รับการคุ้มครองตามบทเฉพาะกาลของกฎหมาย ย่อมเป็นการประกอบกิจการต่อเนื่องตลอดมา ประกอบกับระยะเวลา ๕ ปี ที่ผ่านมา กสท. มิได้พิจารณากรณีการขอย้ายที่ตั้งหรือคลื่นความถี่ของสถานีนี้แต่อย่างใด ดังนั้นการนำกรณีการสิ้นสุดของสัญญาเช่าที่ดินในปีเดียวกันนี้มาอ้างเป็นเหตุในการขอย้ายที่ตั้งสถานีจึงไม่อาจรับฟังได้

และวาระอื่นๆ รายละเอียด ดังนี้

Comment-NBC-36-59