การขอยุติการให้บริการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ระดับชาติของบริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด, ความเห็นต่อแผนเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัดแจ้งยุติการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่รับชมผ่านช่องสัญญาณจานดาวเทียมไทยคม Ku-Band

ในการประชุม กสท. ครั้งที่ ๒๖/๒๕๕๙ วันจันทร์ที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้สงวนความเห็นมติ กสท. วาระ ๔.๙ การขอยุติการให้บริการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ระดับชาติ ของบริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด กสท. ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. แจ้งต่อ ซีทีเอช เคเบิล ทีวี ให้ดำเนินการ ดังนี้

  • จัดทำแผนมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ(ลูกค้า) ภายหลังจากการยุติการให้บริการโครงข่ายกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูล ได้แก่ จำนวนลูกค้าที่ได้รับบริการในทุกประเภทการให้บริการ จำนวนช่องรายการที่ออกอากาศบนโครงข่ายของบริษัทซีทีเอชฯ นำเสนอให้ กสท. เพื่อประกอบกิจการพิจารณาเห็นชอบเยียวยา ภายใน ๗ วัน (เจ็ดวัน) นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว จะใช้มาตรการทางปกครองกำหนดโทษปรับวันละ ๒๐,๐๐๐ บาท(สองหมื่นบาทถ้วน) ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว บริษัท ซีทีเอชฯ ยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอยู่อีก จะใช้มาตรการทางปกครองที่สูงขึ้นต่อไป
  • ชี้แจงการดำเนินการ หรือแผนการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการกิจการดทรัทศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่(ช่องรายการ) กรณีที่มีการยุติการให้บริการโครงข่ายของบริษัท ซีทีเอชฯ
  • แจ้งการเปลี่ยนแปลงโครงข่ายที่ใช้ในการออกอากาศ กรณีที่บริษัท ซีทีเอชฯ ประสงค์จะประกอบกิจการ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่(ช่องรายการ) ต่อไปให้ กสท. ทราบก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง

หมายเหตุ

กสทช.สุภิญญาฯ สงวนความเห็นในประเด็นการกำหนดโทษ ดังนี้

“สืบเนื่องจากบริษัท ซีทีเอช เคเบิลทีวี จำกัด (บริษัท ซีทีเอชฯ) ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ระดับชาติ  โดยได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ จนถึงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๗๑  ผู้รับใบอนุญาตรายดังกล่าว ได้มีหนังสือมาถึงสำนักงาน กสทช. เรื่องแจ้งการยุติการให้บริการแก่ลูกค้า ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๙ เวลา ๐.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป และที่ประชุม กสท. เสียงข้างมากมอบหมาย ให้สำนักงาน กสทช.มีคำสั่งทางปกครองให้บริษัท ซีทีเอชฯ จัดทำมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้เป็นธรรมและครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบ และเสนอให้ กสท. เพื่อประกอบการพิจารณาเห็นชอบแผนเยียวยาภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว จะใช้มาตรการทางปกครองกำหนดโทษปรับวันละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะใช้มาตรการทางปกครองสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา ๗ วัน และหากยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอยู่อีก จะใช้มาตรการทางปกครองสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป นั้น

ดิฉันเห็นว่า กสท.ควรพิจารณาการยุติการให้บริการต่อเมื่อผู้รับใบอนุญาตดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๕ , เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการ และผู้รับใบอนุญาตดำเนินการจัดการเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จแล้วเท่านั้น โดยมีเหตุผลดังนี้

  • ดิฉัน เห็นชอบในการออกคำสั่งทางปกครองให้บริษัท ซีทีเอชฯ จัดทำมาตรการเยียวผู้บริโภคฯ เพื่อให้เป็นไปตามข้อ ๑๓ ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถให้บริการโครงการข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ได้ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการอนุญาต หากประสงค์จะเลิกการให้บริการดังกล่าวก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุจะต้องแจ้งเหตุแห่งการยกเลิกประกอบกิจการพร้อมทั้งมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการ อย่างไรก็ตามเนื่องจาก ระหว่างปีพ.ศ.๒๕๕๙ บริษัท ซีทีเอชฯ ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับชมช่องรายการบางช่องรายการได้ จนกระทั่งนำมาสู่การขอยุติการให้บริการในครั้งนี้ การดำเนินการของบริษัท ซีทีเอชฯมีลักษณะทยอยปิดกิจการเป็นระยะๆ  ดิฉันจึงเห็นว่า การจัดทำแผนการเยียวยาผู้บริโภคในครั้งนี้ควรเป็นแผนการเยียวยาที่ครอบคลุมจำนวนผู้ใช้บริการทุกกลุ่มในทุกประเภทการให้บริการ อาทิ ผู้ใช้บริการที่รับชมผ่านช่องสัญญาณจานดาวเทียมไทยคม Ku-Band และรวมถึงผู้ใช้บริการของบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการภายใต้การควบคุมของบริษัท ซีทีเอช เคเบิลทีวี จำกัด อันประกอบด้วยผู้ใช้บริการที่ใช้จานรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมในระบบ C-Band ซึ่งประสงค์จะรับชมต่อ แต่ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาด้วยกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมของบริษัท ซีทีเอชฯ ระบบ Ku-Band หรือได้รับกล่องรับสัญญาณแล้วแต่อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่บริษัท ซีทีเอชฯ แจ้งยุติการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่รับชมผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม Ku-Band, ผู้ใช้บริการที่แจ้งความประสงค์จะขอรับเงินค่าแพ็กเก็จคืนและส่งเอกสารหลักฐานการขอคืนเงินไปยังบริษัทฯ แล้วแต่ยังไม่ได้รับการชดเชย เป็นต้น
  • ดิฉันขอสงวนความเห็นในเรื่องการกำหนดโทษ โดยเห็นว่า ในกรณีนี้ หากผู้รับใบอนุญาตเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง กสท.ควรกำหนดโทษในอัตราขั้นสูง เนื่องจากพฤติการณ์ของผู้รับใบอนุญาตได้กระทำผิดเงื่อนไขตามประกาศ กสทช.และเงื่อนไขใบอนุญาตตลอดจนมีการกระทำที่ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในหลายกรรม ได้แก่ การยุติการให้บริการผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม ระบบ Ku-Band ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัทฯ ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร และการยุติการให้บริการดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อ ๑๓ ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตบริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ อีกทั้ง ที่ประชุม กสท.ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๙ ได้มีคำสั่งทางปกครองไปยังบริษัท ซีทีเอชฯ ในกรณีที่บริษัทฯ มีการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม ระบบ Ku-Band โดยไม่ได้แจ้งมาตรฐานทางเทคนิครวมถึงรายละเอียดอุปกรณ์โครงข่ายและลักษณะการเชื่อมต่อของอุปกรณ์โครงข่ายเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการดำเนินการผิดเงื่อนไขการอนุญาตตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสท. คำสั่งในครั้งนั้น กสท.ได้แจ้งให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการอนุญาตภายใน ๗ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง หากฝ่าฝืน จะมีโทษปรับทางปกครองในอัตราวันละ ๒๐,๐๐๐ บาท นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง
  • กรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัท ซีทีเอชฯ ในครั้งนี้ถือเป็นการยกเลิกประกอบกิจการของโครงข่ายในกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งที่ประชุม กสท.ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๘ ได้เคยมีการพิจารณาวาระเรื่องหลักการพักหรือหยุดการให้บริการหรือการยกเลิกประกอบกิจการฯ และมอบหมายให้สำนักที่เกี่ยวข้องวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนต่อการพักบริการชั่วคราว หรือหยุดให้บริการ ดิฉันเห็นว่าสำนักงานฯ ควรวางแนวทางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช.และเงื่อนไขใบอนุญาต เช่น การกำหนดระยะเวลาที่ต้องแจ้งแผนการยกเลิกประกอบกิจการและมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการก่อนพักให้บริการหรือหยุดให้บริการและการยกเลิกบริการ การนำส่งมาตรการเยียวยาก่อนการพักหรือหยุดบริการและยกเลิกบริการ ทั้งในรูปคำนวณเป็นตัวเงินและการชดเชยเป็นบริการหรืออื่น ๆ และการกำหนดระยะเวลาที่ต้องแจ้งล่วงหน้า เป็นต้น”

 

นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาวาระ ๔.๑๐ ความเห็นต่อแผนเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัดแจ้งยุติการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่รับชมผ่านช่องสัญญาณจานดาวเทียมไทยคม Ku-Band ในที่ประชุมมีมติ มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งทางปกครองให้บริษัท ซีทีเอชฯ จัดทำแผนมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้เป็นธรรมและครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบ เสนอให้ กสท. เพื่อประกอบการพิจารณาเห็นชอบแผนเยียวยา ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว จะใช้มาตรการทางปกครองกำหนดโทษปรับวันละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะใช้มาตรการทางปกครองสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา ๗ วัน และหากยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอยู่อีกจะใช้มาตรการทางปกครองสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป ทั้งนี้ กสทช. สุภิญญา ขอสงวนความเห็น ดังนี้

“๑. เนื่องจากกรณีนี้ เป็นกรณีที่บริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด แจ้งยุติการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่รับชมเฉพาะผ่านช่องสัญญาณจานดาวเทียมไทยคม  Ku-Band โดยบริษัท ซีทีเอชฯ ได้แจ้งการยุติให้
บริการฯ นี้ผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัทตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๙ และต่อมาในภายหลังบริษัทจึงได้ส่งหนังสือเรื่องแจ้งการยุติการให้บริการและการนำส่งแผนเยียวยามายังสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการผู้บริโภคฯ ครั้งที่ ๑๘/๒๕๕๙ เมื่อวันอังคารที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ได้ให้ความเห็นต่อแผนเยียวยาผู้ใช้บริการของบริษัทว่า กสท.ควรพิจารณาให้บริษัทกำหนดมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคครอบคลุมและเป็นธรรมมากขึ้นกว่าแผนการเยียวยาที่บริษัทเสนอมา ซึ่งที่ประชุม กสท.ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๙ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ มีมติไม่เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการฯ ที่บริษัทเสนอมา และได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ดำเนินการให้บริษัทเสนอแผนเยียวยาเพิ่มเติมให้ครอบคลุม โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๗ วันนับแต่วันที่รับทราบมติ กสท. ต่อมาในวันอังคารที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙  คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้แทนจากบริษัท เพื่อรับทราบมติ กสท.ดังกล่าว ต่อมาปรากฏว่า เมื่อครบกำหนด ๗ วันใน วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ บริษัทไม่ได้ดำเนินการเสนอมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมแต่อย่างใด อีกทั้งบริษัทยังได้ยุติการให้บริการผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม ระบบ Ku-Band ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ ก่อนที่จะได้รับอนุญาตจาก กสท.

  • ภายใต้การดำเนินการข้างต้น จะเห็นได้ว่า ผู้แทนของบริษัท ซีทีเอชฯ ได้รับทราบมติ กสท.
    ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๙ อย่างเป็นทางการแล้วจากการที่ กสท.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ดำเนินการ นั่นหมายความว่า บริษัทฯ ได้รับทราบมติที่ประชุม กสท.ซึ่ง ไม่เห็นชอบมาตรการเยียวยาที่บริษัทเสนอมา อีกทั้งยังรับทราบด้วยว่า ให้บริษัทดำเนินการจัดทำแผนเยียวยาเพิ่มเติม เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีเป็นธรรมครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ดังนั้น การยุติการให้บริการของบริษัทฯ ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ ก่อนที่แผนการเยียวยาจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กสท. จึงถือเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อ ๑๓ ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต อันถือเป็นความผิดในกรณีหนึ่ง
  • นอกจากนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายฯ ข้อ ๑๒ (๒๐.๖) เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคการ ดังนั้นการที่บริษัท ซีทีเอชฯ ยุติการให้บริการผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม ระบบ Ku-Band ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ ถือเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อ ๓๔ ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.๒๕๕๖ ซึ่งห้ามมิให้ผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกตามสัญญา เนื่องจากเหตุผลของการยุติการให้บริการว่าเป็นเพราะบริษัทแบกรับภาระการขาดทุนมาโดยตลอดนั้น ไม่อาจถือเป็นข้อยกเว้นว่าผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการได้ด้วยเหตุสดวิสัยได้  ทั้งนี้สถานะขาดทุนเป็นสถานะการเงินที่ผู้รับใบอนุญาตรับทราบมาก่อนแล้วดังที่ปรากฏในเอกสารงบการเงินประจำปี พ.ศ.๒๕๕๘ ของบริษัทซึ่งยื่นชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีต่อสำนักงาน กสทช. ดังนั้นการกระทำของบริษัทฯ จึงถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนในการให้บริการ ซึ่งเข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตามข้อ ๕(๗) ของประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๕  ดิฉันจึงเห็นว่า กสท. ควรพิจารณามอบหมายให้สำนักงานฯ มีคำสั่งทางปกครองไปยังบริษัท ซีทีเอชฯ ให้ระงับการดำเนินการดังกล่าวตามมาตรา ๓๑ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งนี้เห็นสมควรกำหนดค่าปรับทางปกครองในกรณีที่บริษัทฯ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในอัตราไม่เกินห้าล้านบาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกินหนึ่งแสนบาทตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง อันถือเป็นความผิดในอีกกรณีหนึ่ง
  • สำหรับ การจัดทำแผนมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติม ดิฉันไม่อาจเห็นชอบกับมติ กสท. ในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า ขั้นตอนในการพิจารณาครั้งนี้ เลยขั้นตอนของการออกคำสั่งเตือนทางปกครองแก่ผู้รับใบอนุญาตแล้ว เนื่องจากบริษัท ซีทีเอชฯ ได้รับทราบมติ กสท. ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๙ ซึ่งเสนอให้บริษัทฯ จัดส่งแผนมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมตามที่ที่ประชุม กสท.ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการ

 

ดังนั้น กสท. ควรมอบหมายให้สำนักงานฯ มีคำสั่งทางปกครองกำหนดโทษปรับวันละ ๒๐,๐๐๐ บาท นับตั้งแต่วันที่บริษัท ซีทีเอชรับทราบมติ กสท.ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๙ เป็นต้นไป”

 

ในการพิจารณา วาระที่ ๔.๑๑ ข้อเสนอต่อแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการของบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด แจ้งเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการแพ็กเกจ Z Pay TV ทางกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม GMM Z กสท. มีมติ มอบหมายให้สำนักงาน มีคำสั่งทางปกครองให้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด จัดทำแผนมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้เป็นธรรมและครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบ เสนอให้ กสท. เพื่อประกอบการพิจารณาเห็นชอบแผนเยียวยา ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจะใช้มาตรการทางปกครองกำหนดโทษปรับวันละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปกิบัติตามคำสั่ง และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วบรัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะใช้มาตรการทางปกครองสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา ๗ วัน และหากยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอยู่อีก ใช้มาตรการทางปกครองสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป

 

ทั้งนี้ กสทช.สุภิญญา ได้ขอสงวนความเห็นในประเด็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนี้

          “สืบเนื่องจากกรณีการยุติการให้บริการของบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัดและบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม และที่ผ่านมาผู้รับใบอนุญาตทั้งสองรายได้จัดส่งแผนมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ ๑๙/๒๕๕๙ เมื่อวันจันทร์
ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ และที่ประชุม กสท.รับทราบมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมของทั้งสองบริษัท อย่างไรก็ตาม ในต่อมา บริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด มีหนังสือลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ เรื่องแจ้งการยุติการให้บริการแก่ลูกค้าที่รับชมผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม ระบบ Ku-Band ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นไป สำนักงานฯ และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้รวบรวมปัญหาภาพรวมและนำเสนอแผนมาตรการชดเชยเยียวยาเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ ๒๖/๒๕๕๙ นั้น ดิฉันขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้

๑.   เนื่องจากกรณีนี้เป็นกรณีการยกเลิกบริการของผู้รับใบอนุญาตสองรายที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในวงกว้างและมีผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ผู้ใช้บริการกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMz ซึ่งมีผู้รับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องคือบริษัท จีเอ็มเอ็มแซท จำกัด ในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโครงข่าย, ผู้ใช้บริการที่ซื้อแพ็กเกจของบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการช่องรายการ ซึ่งมีบริการแพ็กเกจในหลากหลายรูปแบบ และมีทั้งกรณีที่รับชมผ่านจานสัญญาณดาวเทียมระบบ Ku-Band และ ระบบ C-Band ทั้งนี้ผู้รับใบอนุญาตทั้งสองรายยังได้ดำเนินการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่ได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร อันเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยที่ประชุม กสท.ครั้งที่ ๕/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ได้มีคำสั่งทางปกครองให้ผู้รับใบอนุญาตทั้งสองรายระงับการดำเนินการที่มิได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง และหากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กสท.จะใช้มาตรการปรับทางปกครองจำนวนสองล้านบาทและปรับอีกวันละหนึ่งแสนบาทตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง นอกจากนี้ที่ประชุม กสท.ยังเห็นว่า มาตรการเยียวยาแก่ผู้บริโภคยังไม่ครบถ้วนตามข้อ ๑๕ วรรคสองของประกาศ กสทช.เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.๒๕๕๖ จึงให้บริษัททั้งสองส่งแผนการเยียวยาเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

ดิฉันได้สงวนความเห็นในการพิจารณาวาระดังกล่าวในการประชุม กสท. ครั้งที่ ๕/๒๕๕๙ ตามบันทึกข้อความที่ สทช.๑๐๐๓.๙/๐๒๙ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ โดยดิฉันมีความเห็นว่า การออกคำสั่งทางปกครองของ กสท.ครั้งที่ ๕/๒๕๕๙ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้รับใบอนุญาตคือ บริษัท จีเอ็มเอ็ม บีฯ ได้ยุติการให้บริการบนโครงข่ายของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซทฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าและส่งผลต่อการลงโทษได้เพียงการออกคำสั่งเตือนซึ่งไม่เป็นผลต่อการลงโทษในทางปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่ผลกระทบและความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้สำเร็จลงแล้วเช่นเดียวกับที่เอกชนได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการจัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณและการบริการไปแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ ดิฉันยังได้สงวนความเห็นในเรื่องการพิจารณาการกำหนดค่าปรับทางปกครอง เนื่องจากระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคมีจำนวนมาก จากการชี้แจงข้อเท็จจริงของตัวแทนบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ได้ความว่า ที่ผ่านมาบริษัทดำเนินการขายกล่องรับสัญญาณราว ๔ ล้านกล่อง ซึ่งเป็นกล่องที่สามารถรับบริการ Pay TV ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม บีฯ ประมาณ ๑ ล้านกล่อง โดยข้อมูลฐานลูกค้าทาง GMM Grammy ได้โอนฐานข้อมูลลูกค้าให้กับบริษัท จีเอ็มเอ็ม บีฯ แล้วนับตั้งแต่เมื่อมีการซื้อขายบริษัท ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงสงวนความเห็นในการพิจารณาการกำหนดค่าปรับทางปกครอง เนื่องจากเห็นว่า ระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคมีจำนวนมากประกอบกับผู้กระทำผิดได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการขายกล่องที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งความผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำ จึงเห็นว่า การกำหนดค่าปรับทางปกครองที่ ๕ ล้านบาทและปรับรายวันอีกวันละหนึ่งแสนบาทตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติ จึงจะสอดคล้องกับหลักความสมเหตุสมผลของการบังคับทางปกครอง

๒.   ในเรื่องแผนมาตรการเยียวยาแก่ผู้บริโภค ซึ่งผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ในการจัดให้มีมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการภายหลังการสิ้นสุดการอนุญาตให้ประกอบกิจการตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๕ ดิฉันมีความเห็นว่า มาตรการเยียวยาของบริษัท จีเอ็มเอ็มแซทฯ ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายฯ ที่เสนอมาในการประชุม กสท.ครั้งที่ ๑๙/๒๕๕๙ ยังไม่ครอบคลุมผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ดังนั้น กสท.จึงควรมอบหมายให้ บริษัท จีเอ็มเอ็มแซทฯ นำเสนอแผนมาตรการเยียวยาภายใน ๗ วันหลังจากรับทราบมติ กสท.โดยมาตรการเยียวยาดังกล่าวควรครอบคลุมไม่น้อยกว่าแผนมาตรการเยียวยาที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้นำเสนอต่อที่ประชุม กสท.ครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๙ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๙ และมติที่ประชุม กสท.ในครั้งนั้นได้ให้ความเห็นชอบ ดังนั้น ดิฉันจึงเห็นว่า ที่ประชุมกสท. ควรมีคำสั่งทางปกครองให้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซทฯ ระงับการดำเนินการที่มิได้เสนอมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุมและเป็นธรรม ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ ๑๕ วรรคสองของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.๒๕๕๖และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัทฯ ได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร หากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซทฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง  กสท.ควรกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราสูงสุดและปรับรายวันอีกวันละไม่หนึ่งแสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ซึ่งเป็นไปตามข้อ ๙ ของประกาศ กสทช.เรื่องการกระทำที่เป็นเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๕

๓.   กรณี บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตช่องรายการ ดิฉันเห็นว่า กสท.ควรมีคำสั่งทางปกครองให้บริษัทฯ เสนอมาตรการเยียวยาใหม่แทนแผนการชดเชยเยียวยาเดิม เนื่องจาก บริษัท จีเอ็มเอ็มบีฯ ได้วางแนวทางการชดเชยแก่สมาชิกผู้ใช้บริการจำนวนหนึ่งด้วยการชดเชยเป็นกล่องรับสัญญาณดาวเทียมพร้อมแพ็กเกจต่าง ๆ ของบริษัท ซีทีเอช เคเบิลทีวี จำกัด โดยระบุว่า กล่องรับสัญญาณดังกล่าวใช้ได้เฉพาะกับจานรับสัญญาณดาวเทียมไทยคมระบบ Ku-Band ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกค้าจำนวนหนึ่งมีภาระเพิ่มขึ้นจากการกระทำของบริษัท โดยเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงระบบ และต่อมาปรากฏว่า บริษัท ซีทีเอชฯ ได้ยุติการให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมระบบ Ku-Band เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ แล้ว จึงเป็นการขยายผลกระทบต่อกลุ่มผู้บริโภคที่ทำการเปลี่ยนแปลงจากการใช้จานรับสัญญาณดาวเทียม ดิฉันจึงเห็นว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม บีฯ ควรเสนอมาตรการเยียวยาใหม่ที่ครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรมภายใน ๗ วันหลังจากรับทราบมติ กสท. และหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเห็นสมควรกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราสูงสุดและปรับรายวันอีกวันละไม่หนึ่งแสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ซึ่งเป็นไปตามข้อ ๙
ของประกาศ กสทช.เรื่องการกระทำที่เป็นเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๕

๔.   ภายหลังจากที่ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการตามมาตรการเยียวยาหลังยกเลิกบริการ ดิฉันยังได้รับเรื่องร้องเรียนที่ผู้รับใบอนุญาตทั้งสองบริษัทดำเนินการชดเชยให้กับผู้ใช้บริการอย่างล่าช้า และมีผู้ใช้บริการบางส่วนอยู่นอกเหนือจากแผนการชดเชยเยียวยา  ทั้งๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีเช่นเดียวกัน  อาทิ   กรณีที่ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับชมช่องรายการ Nat Geo Wild และ Fox Thai แบบ Free to Box ได้  ,กรณีไม่สามารถรับชมช่องรายการแบบ Pay TV ได้อีกต่อไป ดิฉันจึงเห็นว่า ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ควรต้องสามารถบอกเลิกสัญญาด้วยการคืนกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม และขอรับเงินคืนตามส่วนได้จากบริษัท จีเอ็มเอ็มแซทฯ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายฯ      ส่วนผู้ใช้บริการที่ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาด้วยกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมของบริษัท ซีทีเอชฯ ระบบ  Ku-Band  ซึ่งบัดนี้ได้ยกเลิกการให้บริการไปแล้วนั้น  ผู้รับใบอนุญาตควรต้องมีมาตรการชดเชยที่เป็นธรรมให้กับผู้ใช้บริการกลุ่มนี้   รวมถึงกลุ่มผู้ใช้บริการกล่องรับสัญญาณที่รับชมผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมระบบ C-band ไม่สามารถใช้ทดแทนกล่องรับสัญญาณที่ต้องเชื่อมต่อกับจานรับสัญญาณดาวเทียมระบบKu-band ที่บริษัทนำมาทดแทนให้ และแก้ปัญหากรณีที่ผู้ใช้บริการจะขอรับเงินค่าแพ็กเก็จคืน และส่งเอกสารหลักฐานการขอคืนเงินไปยังบริษัทฯ หลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการชดเชย ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาตามข้อ ๓๕ ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาฯ พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่กำหนดไว้ว่า ให้ผู้ให้บริการคืนเงินภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเลิกสัญญาตาม เป็นต้น ดิฉันเห็นว่า การดำเนินการเยียวยาหลังการยกเลิกบริการเหล่านี้ล้วนถือเป็นความรับผิดชอบของผู้รับใบอนุญาตที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งในแง่แผนมาตรการเยียวยาที่ครบถ้วนครอบคลุมและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง”

 

 

26-59