บมจ. ทีโอที ขอขยายระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์ประจำที่นอกข่ายสายระบบ GSM 900

ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2558 วันที่ 6 มกราคม 2558 วาระที่ 4.1 เรื่อง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ขออนุญาตขยายระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์ประจำที่นอกข่ายสายระบบ GSM 900 MHz เป็นเรื่องสืบเนื่อง บมจ. ทีโอที ได้เคยขออนุญาตติดตั้งให้บริการโทรศัพท์ประจำที่แบบไร้สาย โดยใช้บริการโครงข่ายระบบ GSM 900 MHz เพื่อใช้ทดแทนระบบเดิมในการให้บริการโทรศัพท์ทางไกลชนบทระบบ Wireless Local Loop (WLL) เป็นการชั่วคราว จนกว่าระบบ CDMA 470 MHz จะสามารถพร้อมให้บริการ โดยที่ประชุม กทช. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552 อนุญาตให้ บมจ. ทีโอที ให้บริการโทรศัพท์ประจำที่แบบไร้สายโดยใช้บริการโครงข่ายระบบ GSM 900 MHz เป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 12 เดือน

ต่อมา บมจ. ทีโอที มีกรณีโต้แย้งกับบริษัท Consortium Starcomm ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน จึงเป็นเหตุให้หยุดดำเนินการหลังจากที่ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีฐานไปแล้ว 128 สถานี หลังจากนั้น บมจ. ทีโอที ได้ขอขยายระยะเวลาเพื่อให้บริการโทรศัพท์ทางไกลชนบท โดยที่ประชุม กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 เห็นว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลแผนการลงทุน และแผนการดำเนินงาน รวมทั้งทำการวิเคราะห์ความเห็นในเชิงกฎหมายกรณีการใช้อำนาจเพื่อพิจารณาอนุญาตด้วย ดังนั้นสำนักงาน กสทช. จึงมีหนังสือถึง บมจ. ทีโอที ให้ดำเนินการจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาขยายระยะการใช้บริการโครงข่ายระบบ GSM 900 MHz โดย บมจ. ทีโอทีได้มีหนังสือตอบกลับในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ บมจ. ทีโอที ชี้แจงว่าการให้บริการโทรศัพท์ประจำที่นอกข่ายสายด้วยระบบ GSM 900 HMz เป็นการติดตั้งทดแทนให้กับลูกค้ากลุ่มเดิมจำนวน 40,000 เลขหมายที่ใช้บริการโทรศัพท์ระบบ WLL ซึ่งสิ้นสุดสัญญา เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการโทรศัพท์ได้อย่างต่อเนื่อง มิใช่เป็นการให้บริการลูกค้ารายใหม่ โดยในระหว่างนี้บริษัทได้เร่งรัดการดำเนินการจัดหาโครงข่ายสายโทรศัพท์พื้นฐานและทยอยติดตั้งเลขหมายทดแทนให้ลูกค้า ซึ่ง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 ยังคงมีลูกค้าเหลือ 22,001 เลขหมาย

สำหรับประเด็นพิจารณาในวาระการประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2558 นั้น เนื่องจากยังคงเหลือเลขหมายผู้ใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่นอกข่ายสายระบบ 900 MHz ที่ บมจ. ทีโอที ยังไม่สามารถนำอุปกรณ์ใดๆ ไปทดแทนได้จำนวน 11,332 เลขหมาย จึงมีหนังสือลงวันที่ 24 เมษายน 2557 ขอขยายระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์ประจำที่นอกข่ายสายระบบ GSM 900 MHz เพิ่มเติมออกไปอีกอย่างน้อย 12 เดือน

ภายหลังการพิจารณา ที่ประชุม กทค. มีมติอนุมัติ บมจ. ทีโอที ให้บริการโทรศัพท์ประจำที่นอกข่ายระบบ GSM 900 MHz โดยให้มีระยะเวลาสิ้นสุด 30 กันยายน 2558 และให้บริษัทจัดทำแผนการลงทุนและแผนการดำเนินการโดยละเอียดมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อทราบต่อไป ในขณะที่ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้แสดงความเห็นและลงมติแตกต่างจากมติที่ประชุมเสียงข้างมาก โดย กสทช. ประวิทย์ เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องที่ กทช. เคยมีมติอนุมัติให้ บมจ. ทีโอที ติดตั้งให้บริการโทรศัพท์ประจำที่แบบไร้สายโดยใช้บริการโครงข่ายระบบ GSM 900 MHz เพื่อให้บริการโทรศัพท์ทางไกลชนบทระบบ WLL ชั่วคราว เป็นระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาอนุญาตวันที่ 21 เมษายน 2553 และปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ มิได้เร่งรัดตามที่มีแผนงานเดิมที่ขออนุญาตไว้ตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งดังกล่าว จนกระทั่งปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าเนื้อหาเป็นเรื่องการขออนุญาตขยายระยะเวลาให้บริการ แต่ตามพฤติการณ์ของบริษัทแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ มิได้มีความประสงค์จะให้บริการดังกล่าวเป็นการชั่วคราวตามมติ กทช. เดิม อีกทั้งผลของการอนุญาตขยายระยะเวลาย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการอนุญาต ดังนั้นการเสนอคำขอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาอนุญาต จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและตามข้อ 21 ของประกาศ กทช. เรื่องเงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้ถูกต้อง คือ ต้องมีคำขอและรายละเอียดต่างๆ เช่น แผนการลงทุน และแผนการดำเนินการ โดยที่สำนักงาน กสทช. ต้องทำการวิเคราะห์ความเห็นในเชิงกฎหมายกรณีการใช้อำนาจเพื่อพิจารณาอนุญาตด้วย ซึ่งที่ประชุม กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ก็เคยมีมติขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยให้สำนักงาน กสทช. ไปจัดทำรายละเอียดข้อมูลแล้วนำเสนอที่ประชุมอีกครั้งหนึ่งมาก่อนแล้วด้วย

ส่วนประเด็นที่มติที่ประชุมกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของการอนุญาตใช้บริการบนโครงข่ายระบบ GSM 900 MHz เพื่อให้บริการโทรศัพท์ทางไกลชนบทสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2558 นั้น กสทช. ประวิทย์ เห็นด้วยกับการกำหนดเงื่อนเวลาดังกล่าว เพราะเป็นเวลาที่สัญญาสัมปทานของระบบ GSM 900 MHz สิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน แต่ก็มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรต้องพิจารณากำหนดให้บริษัทต้องจัดทำแผนการรองรับเพื่อมิให้บริการโทรศัพท์ทางไกลชนบทต้องสะดุดหยุดลงด้วย ในกรณีที่ยังไม่สามารถจัดหาโครงข่ายสายโทรศัพท์พื้นฐานและทยอยติดตั้งเลขหมายทดแทนให้ลูกค้าได้ครบถ้วนทั้งหมด เพราะการพักหรือหยุดบริการเป็นเรื่องที่ไม่อาจกระทำได้ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2554

------1003.10.0082_58-4.1