เรื่องสืบเนื่องจากการประกาศใช้มาตรการเยียวยาบนย่านความถี่ 1800 MHz

simmmm1800

ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 29/2557 วันที่ 23 ธันวาคม 2557 มีเรื่องเพื่อพิจารณาที่สืบเนื่องจากการประกาศใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 1800 MHz (มาตรการเยียวยาฯ) ซึ่งในระหว่างนี้ มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ชะลอการประมูลคลื่นความถี่ออกไปก่อน โดยวาระที่เกี่ยวเนื่องมีทั้งสิ้น 4 วาระด้วยกัน คือ 1) การดำเนินการเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยา 2) ผลการพิจารณารายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ 3) ขอหารือแนวทางในการปรับปรุงมาตรการเยียวยา และ 4) แนวทางการพิจารณาค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. กสท โทรคมนาคม

กรณีวาระที่ 4.50 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยา โดยผู้ให้บริการมีหนังสือแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 MHz และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดย บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดีพีซี เสนอให้ปรับปรุงประกาศให้ผู้ให้บริการสามารถรับผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ รวมถึงผลการดำเนินการที่ผ่านมาในเรื่องการให้บริการและการแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทาน ส่วน บมจ. กสท โทรคมนาคม มีข้อเสนอเพื่อให้พิจารณาประเด็นผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพย์สิน โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. กสทฯ

สำหรับมติที่ประชุม กทค. ได้รับทราบข้อเสนอและรายงานผลการดำเนินการของผู้ให้บริการทั้งสามราย และเห็นชอบ ในการปรับปรุงแผนการดำเนินการของผู้ให้บริการ โดยนำแนวทางปฏิบัติในปี 2556 มาปฏิบัติในปี 2557 – 2558 ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ

ด้าน กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มีความเห็นสอดคล้องกับสำนักงาน กสทช. ว่า “ผู้ให้บริการทั้งสามรายมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการเดิมที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม กทค. ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาที่ขยายออกไปตามคำสั่ง คสช. ต่อไป และเห็นชอบด้วยกับมาตรการต่างๆ ที่สำนักงาน กสทช. เสนอให้ผู้ให้บริการทั้งสามรายต้องดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการโอนย้าย เพื่อไม่ต้องมีผู้เผชิญปัญหาซิมดับหรือบริการสิ้นสุดจำนวนมากภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครอง” อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นที่แตกต่าง และขอเปิดเผยความเห็นว่า “ข้อเสนอของผู้ให้บริการทั้งสามบริษัทที่ส่งเข้ามานั้นมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการโดยตรง แต่ประกอบไปด้วยข้อเสนอให้ปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ พ.ศ. 2556 การรายงานผลการดำเนินการ สภาพปัญหาและอุปสรรค อีกทั้งเป็นการขอให้พิจารณาประเด็นผลประโยชน์และรับผิดต่อค่าใช้จ่าย” ดังนั้น “ข้อเสนอของผู้ให้บริการทั้งสามบริษัทมิใช่เป็นการจัดทำแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการเสนอต่อ กสทช. ที่ กสทช. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบว่ามีความเหมาะสมแล้วได้”

------1003.10.0063_58-4.50

กรณีวาระที่ 4.51 เรื่องผลการพิจารณารายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยผลการตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาของคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาความคุ้มครองผู้ใช้บริการ พบว่า ตั้งแต่ประกาศใช้มาตรการเยียวยาจนถึงเดือนสิงหาคม 2557 รวมทั้งสิ้น 11 เดือน 15 วัน บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน มีรายได้ที่จะนำส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจำนวนรวม 2,299,988,822.70 บาท แบ่งเป็นรายได้จากการให้บริการของ บจ. ทรูมูฟ จำนวน 1,666,178,746.89 บาท และ บจ. ดิจิตอลโฟน จำนวน 633,810,075.80 บาท อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่ได้รวมถึงค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. กสท โทรคมนาคม ไว้ด้วย ซึ่งผู้ให้บริการทั้งสองรายอ้างว่าไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ บมจ. กสท โทรคมนาคม ในฐานะเจ้าของโครงข่ายแจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงถึง 14,141,147,163 บาท และเรียกเก็บค่าใช้โครงข่ายมายังสำนักงาน กสทช.

วาระนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการพิจารณารายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการตามที่คณะทำงานฯ เสนอ โดยระบุให้ บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน ต้องนำส่งรายได้และรายจ่ายในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการต่อรัฐ และคณะทำงานฯต้องดำเนินการตรวจสอบและชี้แจงข้อมูลในแต่ละรายการต่อ กทค. เพื่อพิจารณาในรายละเอียดต่อไป

ขณะที่ กสทช. ประวิทย์ ได้เปิดเผยความเห็นเพิ่มเติม โดยตั้งข้อสังเกตในสองประเด็น คือ ๑) ผลการตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายของ บจ. ทรูมูฟนั้น พบว่ามีข้อพิรุธในส่วนของรายรับที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมที่มีการเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่ กทค. มีการเห็นชอบหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายแล้ว ๒) ประเด็นเรื่องค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. กสท โทรคมนาคม มีความเห็นว่า ประกาศมาตรการเยียวยากำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการว่า “จะต้องแยกบัญชีการรับเงินไว้เป็นการเฉพาะ แล้วรายงานจำนวนเงินรายได้และดอกผลที่เกิดขึ้นซึ่งได้หักต้นทุนค่าใช้โครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการบริการแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่งสำนักงานเพื่อตรวจสอบก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป” ดังนั้น หาก บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน นำส่งเงินรายได้มาโดยไม่ได้ดำเนินการหักต้นทุนค่าใช้โครงข่ายให้กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ก็ถือเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อประกาศมาตรการเยียวยา และคณะทำงานไม่อาจที่จะรับเงินรายได้ส่วนที่ยังหักค่าใช้จ่ายไม่ครบถ้วนดังกล่าวเอาไว้ได้ ตลอดจนเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของคณะทำงานหรือ กสทช. ที่จะเป็นฝ่ายนำส่งค่าใช้โครงข่ายแก่ บมจ. กสท โทรคมนาคม ขณะเดียวกัน ในกรณีนี้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ก็ได้มีหนังสือแจ้งเก็บค่าใช้โครงข่ายต่อ กสทช. อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น หากคณะทำงานดำเนินการผิดจากขั้นตอนตามประกาศ ก็ยังทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องและแพ้คดีจนสร้างความเสียหายตามมาได้ นอกจากนี้ กสทช. ประวิทย์ฯ ยังเสนอว่า คณะทำงานอาจนำเอาหลักเกณฑ์การคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายมาปรับใช้ในการกำหนดหลักเณฑ์ในการพิจารณาค่าใช้โครงข่ายที่เหมาะสมได้

------1003.10.0062_58-4.51

กรณีวาระที่ 4.52 เรื่องขอหารือแนวทางในการปรับปรุงประกาศมาตรการเยียวยา วาระนี้สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอประเด็นในการหารือเพื่อปรับปรุงประกาศดังกล่าว ภายหลังจากที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งสามรายได้ส่งหนังสือแจ้งปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินการตามประกาศมาตรการเยียวยา และแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีประเด็นหลักๆ ดังนี้

ประเด็นรายได้จากการให้บริการ เนื่องจากประกาศฯ กำหนดห้ามมิให้ผู้ให้บริการรับผู้ใช้บริการรายใหม่ ในขณะที่ผู้ใช้บริการเดิมลดลง ส่งผลให้ผู้ให้บริการมีรายได้ลดลง แต่ต้นทุนในการให้บริการยังคงเท่าเดิม ผู้ให้บริการจึงเสนอให้ปรับปรุงประกาศให้สามารถรับผู้ขอใช้บริการรายใหม่ได้ และเพื่อให้เกิดการใช้คลื่นความถี่ได้เต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ประเด็นรายได้ส่งรัฐจากการให้บริการในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ คณะทำงานฯ เสนอให้กำหนดจำนวนเงินรายได้ที่ชัดเจนที่ผู้ให้บริการจะต้องนำส่ง โดยกำหนดในอัตราร้อยละ 30 ของรายได้จากการให้บริการ ซึ่งอ้างอิงจากระบบสัญญาสัมปทานเดิม และหากหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วมีรายได้ส่วนที่เหลือ ก็ให้นำรายได้ส่วนนี้ส่งรัฐ

ประเด็นการโอนย้ายเครือข่าย คณะทำงานฯ เสนอว่า ในกรณีที่ผู้ใช้บริการยังไม่ได้โอนย้าย หากผู้ให้บริการแจ้งเตือนอย่างน้อย 3 ครั้ง รวมเวลาทั้งสิ้น 75 วัน ถ้ายังไม่มีการโอนย้าย ผู้ให้บริการก็สามารถยกเลิกการให้บริการได้

ประเด็นค่าธรรมเนียมเลขหมาย ผู้ให้บริการขอให้ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์ในการคืนเลขหมายแบบไม่เต็มกลุ่ม รวมทั้งทบทวนประกาศ โดยกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการเพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมการกำกับดูแลต่างๆ อันจะเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ

ประเด็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่ง กสทช. ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศข้อ 7 ของประกาศฯ ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการเป็นผู้รับชำระเงินรายได้จากการให้บริการแทนรัฐโดยต้องแยกบัญชีการรับเงินไว้เป็นการเฉพาะ แล้วรายงานจำนวนเงินรายได้พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นซึ่งได้หักต้นทุนค่าใช้โครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริการจัดการและต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการให้บริการแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งจากการตรวจสอบปรากฏว่าผู้ให้บริการไม่ได้ปฏิบัติตามข้อ 7 ของประกาศฯ แต่อย่างใด สำนักงาน กสทช. จึงเสนอที่ประชุมพิจารณาว่าควรมีการกำหนดบทลงโทษไว้ในประกาศหรือไม่จำเป็นต้องมีบทลงโทษเป็นการเฉพาะ แต่ใช้บทลงโทษตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายกลาง

วาระนี้ กสทช. ประวิทย์ เปิดเผยความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการออกประกาศฯ นี้มาตั้งแต่ต้นเนื่องจาก กสทช. ไม่มีฐานอำนาจในการออกประกาศ และจะทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ ซึ่งในที่สุดก็มีปัญหาเกิดขึ้นจริงตามมา เช่น ปัญหาความไม่ชัดเจนในค่าใช้โครงข่าย ปัญหาความไม่ร่วมมือกันระหว่างผู้ให้บริการ และปัญหาคดีความที่ บมจ. กสท โทรคมนาคม ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมากจากการออกประกาศฯ ดังนั้นในเมื่อประกาศฯ จะต้องมีผลบังคับใช้ต่อไป จึงเห็นชอบในหลักการที่จะต้องแก้ไขประกาศฯ เพื่อขจัดปัญหา และเห็นควรดำเนินการโดยเร็ว โดยคำนึงด้วยว่าจะมีผลกระทบต่อคดีความต่างๆ เพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมรับมือด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนข้อเสนอเรื่องการแก้ไขปรับปรุงประกาศฯ กสทช. ประวิทย์ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่จะอนุญาตให้ผู้ให้บริการรับผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ เนื่องจากเสี่ยงต่อการขัดกับมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ส่วนในประเด็นเรื่องรายได้นำส่งรัฐ เห็นสอดคล้องกับสำนักงาน กสทช. และคณะทำงานที่เสนอมาว่าควรมีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อเป็นการรับประกันรายได้ที่นำส่งรัฐ อย่างไรก็ตาม ก็ควรต้องพิจารณารายได้ที่แท้จริงของการประกอบกิจการเพื่อหาอัตราที่เหมาะสม ส่วนเรื่องการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการให้โอนย้าย หากมีการกำหนดระยะเวลา 75 วันในการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการให้มีการโอนย้ายก่อนระงับการให้บริการ ระยะเวลาสิ้นสุด 75 วัน ก็ควรเป็นวันเดียวกับวันที่ระยะเวลาคุ้มครองสิ้นสุดพอดี อย่างไรก็ตาม ควรมีการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านั้นด้วย มิใช่แจ้งเตือนเพียงใกล้สิ้นสุดระยะเวลา ส่วนประเด็นเรื่องเลขหมาย เห็นว่าสำนักงาน กสทช. ควรเร่งดำเนินการเรื่องการลงทะเบียนซิม เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความเป็นเจ้าของเลขหมาย ซึ่งจะพัวพันกับเรื่องของการคืนเงินเมื่อถึงเวลาสิ้นสุดการให้บริการ และสุดท้ายคือเห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการนำ พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางมาบังคับเพื่อให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามประกาศฯ อย่างไรก็ตาม เห็นว่ามาตรการบังคับทางปกครองนั้นเป็นคนละส่วนกับการลงโทษ การแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฯ ในประเด็นนี้จึงมิใช่การเพิ่มบทลงโทษแต่อย่างใด

------1003.10.0065_58-4.52

กรณีวาระที่ 4.53 เรื่องแนวทางการพิจารณาค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่ง บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามเพื่อให้ กสทช. ชำระหนี้ค่าใช้โครงข่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามประกาศเป็นจำนวนเงิน 14,141,147,163 บาท กสทช. ประวิทย์ เปิดเผยความเห็นในวาระนี้ว่า ตามประกาศฯ ข้อ 7 ต้องมีการหักต้นทุนค่าใช้โครงข่ายจากจำนวนเงินรายได้และดอกผลที่เกิดจากการให้บริการในช่วงระยะเวลาคุ้มครอง ดังนั้น บมจ. กสท โทรคมนาคม จึงไม่อาจมาเรียกร้องให้ กสทช. ชำระหนี้ค่าใช้โครงข่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามประกาศฯ ได้ สำหรับแนวทางการพิจารณาค่าใช้โครงข่ายนั้น สำนักงาน กสทช. ควรต้องสั่งให้ผู้ให้บริการทั้งสามรายเจรจากันให้ได้ข้อยุติ โดยต้องแจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น รวมทั้งหักต้นทุนโครงข่ายจากจำนวนรายได้ที่ได้รับจากการให้บริการ แล้วจึงนำรายได้ส่วนที่เหลือส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ซึ่งในเบื้องต้น กสทช. ประวิทย์ เห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่ บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน จะต้องชำระให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม นั้น สามารถอ้างอิงได้ตามสัญญาการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างผู้ให้บริการกับคู่สัญญาอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม

------1003.10.0066_58-4.53