แบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมของบริษัท เรียล มูฟ จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด

ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2558 วันที่ 6 มกราคม 2558 วาระที่ 4.3 เรื่อง การให้ความเห็นชอบแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมของบริษัท เรียล มูฟ จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด โดยที่ประชุม กทค. มีมติเห็นชอบแบบสัญญาดังกล่าว ส่วน กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มีความเห็นและลงมติแตกต่างกับมติที่ประชุมเสียงข้างมากโดยไม่เห็นชอบกับข้อสัญญาในบางประเด็น กล่าวคือ

ในแบบสัญญาประเด็นที่บริษัทกำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น “ผู้ใช้บริการมีสิทธิขอระงับการใช้บริการชั่วคราวได้ครั้งละไม่น้อยกว่าเจ็ด (7) วัน แต่ไม่เกินกว่าสามสิบ (30) วัน โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์ให้บริษัทฯ ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสาม (3) วัน ตามช่องทางที่บริษัทฯ กำหนด … กรณีมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการจนเป็นเหตุให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถใช้บริการได้ ผู้ให้บริการตกลงให้ผู้ใช้บริการระงับการใช้บริการชั่วคราวได้ตามระยะเวลาที่ผู้ใช้บริการร้องขอ แต่ทั้งนี้ ไม่เกินกว่าระยะเวลาที่เหตุสุดวิสัยนั้นคงอยู่” กสทช. ประวิทย์ เห็นว่า แม้ข้อ 25 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 จะให้บริษัทฯ มีสิทธิกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำหรือขั้นสูงที่ยินยอมให้ผู้ใช้บริการระงับการใช้บริการโทรคมนาคมชั่วคราวได้ แต่ก็เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการที่จะพิจารณาระยะเวลาระงับบริการชั่วคราวตามความเหมาะสมได้เช่นเดียวกัน ซึ่งโดยหลักปกติของการคิดค่าบริการในบริการโทรคมนาคมคือมีรอบบิลเป็นเดือน เช่นเดียวกับที่ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ได้ให้สิทธิผู้บริโภคสามารถระงับบริการชั่วคราวได้ไม่เกิน 6 เดือน การกำหนดสิทธิในระดับของหน่วยนับเป็นวันตามแบบสัญญาที่บริษัทฯ ขอความเห็นชอบ จึงขัดกับหลักปกติของการใช้บริการและไม่สอดคล้องกับสิทธิที่กฎหมายให้การรับรองไว้ นอกจากนี้ ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ยังถือว่ามีผลใช้บังคับอยู่ ควบคู่กับประกาศ กทช. ฉบับข้างต้น โดยที่บทกำหนดโทษของประกาศทั้ง 2 ฉบับมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ได้กำหนดโทษทางอาญาไว้สำหรับผู้ฝ่าฝืนประกาศ ขณะที่ประกาศของ กทช. จะต้องดำเนินการบังคับทางปกครอง ดังนั้น ประกาศทั้ง 2 ฉบับจึงไม่ได้ขัดแย้งกัน ดังนั้นการกำหนดระยะเวลาขั้นสูงในการระงับบริการชั่วคราว จะต้องคำนึงถึงระยะเวลาตามที่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ได้กำหนดไว้ ซึ่งแม้ลักษณะการกำหนดจะเป็นกรอบสูงสุด แต่โดยนัยกลับกันก็เป็นการรับรองว่า ผู้บริโภคสามารถมีสิทธิระงับบริการชั่วคราวได้สูงสุดถึง 6 เดือน

“คณะกรรมการควรกำหนดระยะเวลาระงับบริการชั่วคราวให้เหมาะสมตามหลักปกติของการประกอบกิจการและไม่ลดทอนสิทธิของผู้ให้บริการตามที่มีกฎหมายรับรองไว้แล้ว ส่วนการเปิดช่องด้วยการใช้คำว่า “เหตุสุดวิสัย” นั้น ผมไม่เห็นว่าเป็นช่องทางที่จะเอื้อให้สิทธิของผู้บริโภคสมบูรณ์ขึ้นได้ เนื่องจาก “เหตุสุดวิสัย” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีความหมายแคบและเฉพาะเจาะจง ในขณะที่การระงับบริการชั่วคราวตามข้อ 25 นั้น ถือเป็นสิทธิของผู้ใช้บริการที่สามารถระงับบริการได้เพียงเมื่อมี “เหตุจำเป็น” ไม่ถึงขั้นต้องเป็น “เหตุสุดวิสัย” แต่อย่างใด” กสทช. ประวิทย์กล่าว

------1003.10.0079_58-4.3----