จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 13/2559

eeeee13.59

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 13/2559 วันพุธที่ 22 มิถุนายน 2559 มีวาระที่น่าจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ เรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2100 MHz คลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz , การปรับปรุงเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการ, แนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคมสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่, การเรียกเก็บเงินรายได้เบื้องต้นขั้นต่ำจากการให้บริการของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ภายใต้ประกาศเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ, และเรื่อง บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ขอเพิ่มบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและบริการเสริม นอกจากนี้ ยังมีวาระที่น่าสนใจซึ่งเลื่อนพิจารณามาจากการประชุมครั้งที่แล้ว คือเรื่องการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองกรณี บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค, บจ. ดีแทค ไตรเน็ต และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ไม่ปฏิบัติตามประกาศหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่

วาระแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
วาระนี้น่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสังคมว่า ทั้งที่มีเงื่อนไขกำกับราคาค่าบริการให้ลดลง แต่จากการใช้งานของผู้ใช้บริการจำนวนมากกลับพบว่าอัตราค่าบริการไม่ได้ลดลงจริงตามเงื่อนไขที่ได้มีการกำหนดไว้ โดยในส่วนของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตจากการประมูลคลื่น 2100 MHz กำหนดว่าผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต ส่วนกรณีคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ระบุว่า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ 2100 MHz รวมทั้งต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง

ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 กทค. จึงได้มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการตรวจสอบการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2100 MHz คลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต โดยในจัดทำวาระนี้ขึ้นมาเสนอ กทค. เพื่อพิจารณา สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอแนวทางการกำกับดูแลไว้ 3 แนวทาง ดังนี้

1) ปรับเปลี่ยนการกำกับดูแลอัตราค่าบริการจากเดิมที่ตรวจสอบค่าบริการเฉลี่ยรวมทั้งตลาดต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด มาเป็นการตรวจสอบค่าบริการเป็นรายโปรโมชั่น นั่นคือทุกโปรโมชั่นต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด ซึ่งรวมไปถึงค่าบริการส่วนเกินจากโปรโมชั่น และค่าบริการประเภท on-top ด้วย

2) ผู้ให้บริการต้องระบุคลื่นความถี่ที่ให้บริการควบคู่กับอัตราค่าบริการให้สำนักงาน กสทช. สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งแจ้งผู้ใช้บริการ เหมือนกับกรณีที่ธนาคารระบุอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ลูกค้าธนาคารรับรู้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีข้อมูลที่ชัดเจนในการตัดสินใจเลือกใช้บริการ หากผู้ให้บริการไม่ระบุ สำนักงาน กสทช. ก็จะนำอัตราค่าบริการที่ใช้กำกับดูแลการให้บริการบนคลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz มาใช้ในการตรวจสอบค่าบริการ

3) ส่วนแนวทางการกำกับดูแลเรื่องการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที โดยไม่มีการปัดเศษนั้น กำหนดให้คิดตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีทั้งการให้บริการบนคลื่น 2100 MHz คลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า ในประเด็นการกำกับดูแลเรื่องการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงนี้ มิได้กำหนดเงื่อนไขรวมไปถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย ทั้งที่ทราบกันดีกว่าทิศทางการใช้บริการมีแนวโน้มการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งผู้ให้บริการก็มีวัตถุประสงค์นำคลื่นความถี่ย่านต่างๆ เหล่านี้ไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ดังนั้นเพื่อความรัดกุม ก็ควรมีการกำหนดเงื่อนไขกำกับเพิ่มเติมในส่วนนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี แนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่สำนักงานนำเสนอในวาระนี้ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สามารถแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดในการตรวจสอบอัตราค่าบริการแบบเดิม รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ เหลือเพียงว่า กทค. จะมีมติเห็นชอบกับแนวทางที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอหรือไม่ และภายหลังจะมีการนำแนวทางทั้งสามนี้ไปกำกับดูแลอย่างเข้มข้นเพียงใด

วาระปรับปรุงเงื่อนไขการคงสิทธิเลขหมาย (MNP)
เนื่องจากการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) หรือการเปลี่ยนเครือข่ายผู้ให้บริการใหม่โดยที่ยังคงใช้เลขหมายเดิมนั้น ประสบอุปสรรคและมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติหลายอย่าง สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดทำร่างเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการฉบับปรับปรุงขึ้น เพื่อเสนอ กทค. พิจารณา

สำหรับร่างเงื่อนไขฉบับใหม่นี้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในหลายประเด็น เงื่อนไขใหม่ที่น่าสนใจ เช่น มีการเพิ่มช่องทางการโอนย้ายเลขหมายมากขึ้น ซึ่งช่องทางที่เพิ่มเติมนี้ครอบคลุมถึงจุดให้บริการที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้ให้บริการรายใหม่เพื่อให้บริการจัดจำหน่ายสินค้าและทำการตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่นั้นๆ เพียงผู้เดียว และจุดให้บริการอื่นๆ ที่ กทค. เห็นชอบโดยให้บริการสำหรับกรณีที่ผู้ใช้บริการดำเนินการโอนย้ายด้วยตนเองเท่านั้น

ในส่วนของขั้นตอนการโอนย้าย นอกจากที่กำหนดให้ผู้ให้บริการรายใหม่ต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานตามที่เงื่อนไขกำหนดแล้ว ในการตรวจสอบเรื่องการค้างชำระค่าบริการนั้น ก็กำหนดให้ผู้ให้บริการรายเดิมต้องแจ้งกลับด้วยการจัดส่งข้อความสั้น (SMS) ภายใน 10 นาที เพื่อให้ผู้ใช้บริการรู้ผลในทันที และหากไม่ติดขัดปัญหาใดหรือผู้ใช้บริการยังคงมียอดค้างชำระค่าบริการ ก็กำหนดให้ระยะเวลาในการโอนย้ายต้องเสร็จสิ้นภายใน 2 วัน ซึ่งลดระยะเวลาลงจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ 3 วัน

นอกจากนี้ ร่างเงื่อนไขใหม่ยังกำหนดด้วยว่า ผู้ให้บริการรายใหม่ ผู้ให้บริการรายเดิม และผู้ให้บริการระบบกลาง มีหน้าที่ต้องจัดเก็บข้อมูลตามรูปแบบที่กำหนดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สำนักงาน กสทช. สามารถตรวจสอบและกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติเดิมไม่ได้กำหนดภาระหน้าที่นี้เอาไว้

หากพิจารณาภาพรวมในการปรับปรุงเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการให้บริการคงสิทธิเลขหมายนี้ นับว่ามีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นที่จะช่วยให้การให้บริการคงสิทธิเลขหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสอดรับกับบรรยากาศการแข่งขันกันทางการตลาดของผู้ให้บริการรายต่างๆ ส่วนผู้ใช้บริการเองก็ได้รับประโยชน์จากบริการที่จะสะดวกและรวดเร็วขึ้น

วาระแนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม
วาระนี้เป็นวาระที่สำนักงาน กสทช. เสนอ กทค. พิจารณาเห็นชอบแนวทางปฏิบัติใหม่โดยมีข้อเสนอหลักคือการแยกกระบวนการออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมหรือเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมออกจากกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน นั่นคือ สำนักงาน กสทช. จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมแก่ผู้ประกอบการได้ทันทีที่มีการยื่นคำขอและแนบเอกสารหลักฐานมาครบถ้วน โดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบว่ามีการร้องเรียนหรือไม่ แต่หากพบว่าภายหลังจากการออกใบอนุญาตแล้วมีผู้ร้องเรียน ก็จึงค่อยให้ดำเนินการทำความเข้าใจกับประชาชน หรือเพิกถอนและพักใช้ใบอนุญาต แต่ทั้งนี้ในการจัดประชุมทำความเข้าใจกับประชาชน ให้กำหนดสัดส่วนผู้เข้าร่วมประชุม โดยใช้หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ คือชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์มหาชนกับประโยชน์ของเอกชนที่เสียไป

ก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ได้เคยนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ กทค. พิจารณามาแล้วในการประชุมครั้งที่ 8/2559 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 แต่ติดขัดในประเด็นข้อกฎหมาย เนื่องจากเดิมสมัย กทช. เคยมีมติที่ประชุมครั้ง 1/2553 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2553 กำหนดว่า หากผู้ขอรับใบอนุญาต ยังมีปัญหาเรื่องการร้องเรียนอยู่ จะออกใบอนุญาตให้มิได้ ดังนั้น กทค. จึงจำเป็นต้องพิจารณาใหม่ในเรื่องที่เคยมีมติ ซึ่งก็ไม่มีความชัดเจนว่า ในการพิจารณาใหม่นั้น จะต้องมีสัดส่วนคณะกรรมการในการพิจารณาเท่าไร ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุม กทค. จึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ไปแสวงหาความชัดเจนในประเด็นนี้เสียก่อน

สำหรับในการประชุม กทค. ครั้งนี้ แม้สำนักงาน กสทช. ได้เตรียมคำตอบในเรื่องหลักเกณฑ์การขอพิจารณาเรื่องใหม่ไว้แล้วก็ตาม แต่สาระที่สำคัญมากยิ่งกว่า คือการพิจารณาเนื้อหาของแนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมฉบับใหม่ เพราะอาจเป็นการผูกปมปัญหาในกระบวนการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมให้ขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหากออกใบอนุญาตให้ไปก่อนทั้งที่มีปัญหาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน แล้วหากภายหลังปรากฏว่าประชาชนยังคงลงมติไม่ยอมให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ก็จะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นว่าสำนักงาน กสทช. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะเลือกฝืนมติประชาชนในพื้นที่ หรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ให้บริการ แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด ย่อมส่งผลเสียหายหรือสร้างความขัดแย้งตามมามากขึ้น

นอกจากนี้ แนวทางการจัดประชุมทำความเข้าใจกับประชาชนที่ให้กำหนดสัดส่วนผู้เข้าร่วมประชุมโดยใช้หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบนั้น ก็คลุมเครือว่าจะเป็นการจัดประชุมในลักษณะใด มีการกำหนดสัดส่วนผู้เข้าร่วมประชุมอย่างไร สุดท้ายประชาชนในฐานะผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่จะมีส่วนร่วมตัดสินใจมากน้อยเพียงใด

ยิ่งไปกว่านั้น โดยข้อเท็จจริงที่ผ่านมา พบว่าการร้องเรียนของประชาชนส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายหลังการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมไปแล้ว แม้ว่าผู้รับใบอนุญาตจะไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแนวทางปฏิบัติโดยครบถ้วนก็ตาม แต่สำนักงาน กสทช. ก็ไม่เคยเพิกถอนใบอนุญาตการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมในกรณีใดเลย ดังนั้นภายใต้แนวทางเช่นนี้ หากไม่ให้การร้องเรียนมีผลต่อการออกใบอนุญาตตั้งแต่ต้น ก็ย่อมจะทำให้การร้องเรียนกรณีการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมไม่ว่าในขั้นตอนใดไม่ก่อประโยชน์หรือไม่มีความหมายใดๆ เลย และดูเหมือนเป็นการกีดกันเสียงของประชาชนออกจากกระบวนการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม

วาระเรียกเก็บเงินรายได้เบื้องต้นจากการให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ จากเอไอเอส
วาระนี้เป็นเพียงวาระเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานความคืบหน้าถึงเรื่องการเรียกเก็บเงินรายได้เบื้องต้นขั้นต่ำจากการให้บริการของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ภายใต้ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือประกาศมาตรการเยียวยาฯ ฉบับที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ได้มีมติให้ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส นำส่งรายได้เบื้องต้นขั้นต่ำในช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 31 มีนาคม 2559 จำนวน 125,105,505.28 บาท โดยคิดเทียบเท่ากับอัตราร้อยละของส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัทฯ เคยนำส่งให้กับรัฐวิสาหกิจภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 บริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งกลับมายังสำนักงาน กสทช. ว่าข้อกำหนดของประกาศฉบับดังกล่าวมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม และได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางไปแล้วตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2558 ซึ่งบริษัทฯ ระบุว่า จะนำส่งรายได้จากการให้บริการที่มีการคำนวณหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ก็ต่อเมื่อมาตรการเยียวยาฯ ได้สิ้นสุดและมีข้อยุติในประเด็นการนำส่งรายได้ขั้นต่ำแล้ว
ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงได้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุม กทค. พร้อมกับเสนอความเห็นว่า ควรหาข้อยุติในการคิดคำนวณเรื่องการเรียกเก็บรายได้นำส่งรัฐให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะหากมีการฟ้องคดีเรียกเก็บเงินรายได้จากบริษัทฯ ไปแล้ว ภายหลังหากเงินจำนวนที่ฟ้องร้องน้อยกว่าเงินที่คำนวณ ก็อาจเกิดความยุ่งยากตามมาได้

เรื่องนี้จึงมีข้อน่าสังเกตว่า การให้บริการโทรคมนาคมภายใต้การบังคับใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ ไม่ว่าบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หรือย่าน 900 MHz ที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้ให้บริการรายใดเลยที่นำส่งรายได้ให้กับสำนักงาน กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

วาระ บจ. ทรูมูฟเอชฯ ขอเพิ่มการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้กับ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) ตามที่ได้มีการขออนุญาตเพิ่มบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและบริการเสริม อย่างไรก็ตาม วาระนี้มีประเด็นที่น่าจับตาเนื่องจาก บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ถือหุ้นใน บจ. ทรู มูฟ เอชฯ จำนวนร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ถือหุ้นใน บจ. ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น จำนวนร้อยละ 99.43 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ซึ่งดำเนินการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศเช่นเดียวกันกับที่ บจ. ทรู มูฟ เอชฯ ร้องขอเพิ่มบริการ ดังนั้นจึงเข้าข่ายถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้ ประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 กำหนดว่า การให้บริการประเภทเดียวกันที่อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม จะกระทำไม่ได้ ไม่ว่าจะกระทำการโดยทางตรง หรือทางอ้อม หรือผ่านตัวแทนก็ตาม

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุใดทั้ง บจ. ทรู มูฟ เอชฯ และ บจ. ทรู อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ที่มีเจ้าของเดียวกัน แต่กลับดำเนินการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศเช่นเดียวกันและซ้ำซ้อนกัน รวมถึงการที่ บจ. ทรู มูฟ เอชฯ ระบุว่า อัตราผลตอบแทนการลงทุนของโครงการระยะ 10 ปี เท่ากับร้อยละ 307 และใช้ระยะเวลาคืนทุนเพียง 1 ปี 5 เดือนนั้น สะท้อนว่าอัตราผลตอบแทนโครงการนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นเพราะมีการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของบริษัทที่มีอยู่แล้วหรือไม่ อีกทั้งในการขอเลขหมายในการเข้าถึงบริการ ก็มีได้มีการเอ่ยถึงการใช้เลขหมายเทคนิคสำหรับการให้บริการแต่อย่างใด ยิ่งทำให้ชวนสงสัยว่าอาจจะเป็นการให้บริการภายใต้โครงข่ายเดียวกันกับบริษัทในเครือ ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องมีการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้รับใบอนุญาตให้ชัดเจนเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้การพิจารณามีความรอบคอบและเป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อไป

วาระ “เอไอเอส, ดีแทค, ทรู” อุทธรณ์คำสั่งกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองกรณีฝ่าฝืนหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมาย
วาระนี้มีเหตุจาก บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค, บจ. ดีแทค ไตรเน็ต และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น มีหนังสืออุทธรณ์คำสั่งกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองมายังสำนักงาน กสทช. กรณีที่ก่อนหน้านี้ เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองทั้งสามบริษัท เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่าไม่ปฏิบัติตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการ โดยมีการโอนย้ายผู้ใช้บริการทั้งที่ผู้ใช้บริการไม่ได้แสดงความประสงค์ขอโอนย้าย

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่เลขาธิการ กสทช. จะมีคำสั่งกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองในเรื่องดังกล่าว สำนักงาน กสทช. ได้เคยมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนและปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการโอนย้ายผู้ใช้บริการมาแล้วหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 หลังจากนั้น สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งเตือนอีกเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ให้ทั้งสามบริษัทปฏิบัติตามประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการโอนย้ายผู้ใช้บริการโดยเคร่งครัด กล่าวคือต้องจัดให้มีการแสดงเจตนายืนยันความประสงค์ที่จะขอโอนย้ายเลขหมายต่อผู้ให้บริการรายใหม่ พร้อมทั้งได้ดำเนินการให้ผู้ใช้บริการโอนย้ายกลับสู่ผู้ให้บริการรายเดิมในกรณีที่เป็นการโอนย้ายโดยไม่สมัครใจ และจัดส่งสำเนาสัญญาให้บริการโทรคมนาคมให้แก่ผู้ใช้บริการ ทั้งยังมีหนังสือแจ้งเตือนอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 ให้บริษัทเร่งแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ดำเนินการ ก็จะมีการกำหนดให้ชำระค่าปรับทางปกครอง

อย่างไรก็ดี เมื่อครบกำหนด ผู้ประกอบการทั้งสามรายก็ไม่สามารถพิสูจน์หลักฐานการโอนย้ายผู้ใช้บริการที่ถูกต้องกับสำนักงาน กสทช. ได้ (แม้ในภายหลังทั้งสามบริษัทจะสามารถพิสูจน์หลักฐานให้สำนักงาน กสทช. ยอมรับได้แล้วก็ตาม) ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาที่เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 โดยกำหนดให้ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 11,801,567 บาท นับแต่วันที่พ้นกำหนดวันแจ้งเตือนจนถึงช่วงเวลาสิ้นสุดการกระทำฝ่าฝืน จำนวน 41 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 483,864,247 บาท ส่วน บจ. ดีแทค ไตรเน็ต คำสั่งกำหนดให้ต้องชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 6,156,184 บาท จำนวน 17 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 104,655,128 บาท และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น กำหนดให้ต้องชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 169,244 บาท จำนวน 44 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,446,736 บาท

สำหรับคำอุทธรณ์ของทั้งสามบริษัทที่โต้แย้งเข้ามา บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ระบุว่า ที่ผ่านมาคำสั่งสำนักงาน กสทช. ไม่มีความชัดเจนว่าต้องการให้บริษัทดำเนินการอย่างไร ว่าต้องการให้แก้ไขปรับปรุงการให้บริการคงสิทธิเลขหมายในปัจจุบัน หรือแสดงหลักฐานความประสงค์ขอโอนย้ายเลขหมายของผู้ใช้บริการกันแน่ ส่วนเรื่องการกำหนดค่าปรับทางปกครองนั้น โดยหลักการควรมีลักษณะเป็นการกำหนดเพื่อบังคับให้กระทำการหรือไม่กระทำการ มิใช่ค่าปรับในเชิงลงโทษ ซึ่งกรณีนี้เหตุแห่งการบังคับให้กระทำการหรือไม่กระทำการนั้น ถือว่าได้ล่วงพ้นไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองอีก

ส่วน บจ. ดีแทค ไตรเน็ต โต้แย้งว่า เลขาธิการ กสทช. ไม่มีอำนาจออกคำสั่งได้ เนื่องจากประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายฯ เป็นการออกโดยอำนาจตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2543 ประกอบ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่
ขณะที่ทาง บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น อ้างว่า ได้ใช้วิธีการส่งข้อความสั้นให้ผู้ใช้บริการแสดงความประสงค์จะขอใช้สิทธิโอนย้ายเลขหมาย พร้อมทั้งให้พนักงานโทรศัพท์หาผู้ใช้บริการเพื่อยืนยันความประสงค์ขอโอนย้ายแล้ว จึงมิได้เป็นการฝ่าฝืนประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายฯ แต่อย่างใด

เรื่องการโอนย้ายผู้ใช้บริการโดยที่ผู้ใช้บริการไม่ได้แสดงความประสงค์ขอโอนย้าย เป็นปัญหาที่รับรู้กันมานาน โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เคยมีหนังสือทวงถามให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบในเรื่องนี้เมื่อต้นปี 2558 เนื่องจากไปกระทบสิทธิของคู่สัญญาร่วมการงานที่เป็นหน่วยงานรัฐ นั่นก็คือ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม วาระนี้จึงเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมและน่าจับตาว่าจะมีการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างไร ขณะเดียวกันเหตุผลของผู้ประกอบการทั้งสามรายมีน้ำหนักรับฟังได้มากน้อย