เรื่องร้องเรียนกรณีเดือดร้อนจากการตั้งเสาวิทยุคมนาคมที่ชุมชนบึงพระจันทร์ พิษณุโลก

icon-06

ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 29/2557 วันที่ 23 ธันวาคม 2557 วาระที่ 4.46 กรณีผู้ร้องเรียนประสบปัญหาได้รับความเดือดร้อนจากการติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เรื่องนี้ผู้ร้องเรียนระบุว่า ในการตั้งเสาส่งสัญญาณ บริษัทไม่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้ผู้ร้องเรียนและประชาชนในพื้นที่เกิดความวิตกกังวลเรื่องผลเสียต่อสุขภาพและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน จึงร้องขอให้บริษัทถอนเสาส่งสัญญาณออกจากชุมชนภายใน 2 เดือน

จากการตรวจสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวพบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เกินมาตรฐาน ขณะที่บริษัทได้ชี้แจงว่ามีการติดป้ายประกาศและแจกเอกสารเผยแพร่ข้อมูลเรื่องการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน โดยได้แนบภาพถ่ายในขณะที่มีการแจกเอกสารมาด้วย แต่ทางด้านของผู้ร้องเรียนกลับยืนยันว่าไม่เคยเห็นป้ายความทำเข้าใจตามที่บริษัทกล่าวอ้าง รวมทั้งไม่เคยทราบเลยว่ามีการแจกเอกสารเผยแพร่ใดๆ พร้อมกันนั้นได้รวบรวมรายชื่อประชาชนในชุมชนบริเวณสถานที่ตั้งเสาส่งสัญญาณแนบมาด้วย

ผลจากการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ที่ประชุม กทค. มีมติชี้ว่า บริษัทได้ปฏิบัติถูกต้องตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคมแล้ว เนื่องจากเห็นว่าผลการตรวจความแรงของคลื่นอยู่ในระดับต่ำกว่าขีดจำกัดมาตรฐาน และบริษัทได้แสดงหลักฐานภาพถ่ายการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตาม กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้ลงมติแตกต่างจากเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม โดยขอสงวนความเห็นว่า “ปัจจุบัน กสทช. ยังไม่มีแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนที่ชัดเจน โดยสิ่งที่ผู้ให้บริการทำอยู่ในปัจจุบันคือการถ่ายรูปว่าได้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่แล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ร้องเรียนและผู้ที่คัดค้านการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมอื่นๆ ในชุมชนยืนยันว่าไม่เคยเห็นป้ายประกาศฯ และไม่เคยรับทราบการแจกเอกสารเผยแพร่ทำความเข้าใจดังที่บริษัทฯ กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าบริษัทฯ ได้มีการทำความเข้าใจจริง นอกจากนี้ในกรณีข้อร้องเรียนอื่น ยังพบว่ามีการถ่ายรูปบุคคลอื่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นหรือถ่ายรูปคนที่ไปรับของที่ระลึกด้วย”

กสทช. ประวิทย์ ยังมีความเห็นด้วยว่า “การไม่มีแนวทางที่ชัดเจนนี้ ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มหากมีการร้องเรียนและต้องย้ายสถานีวิทยุคมนาคมออกจากพื้นที่ โดยเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยธรรมชาติ ดังนั้น ผมมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขระยะยาวว่า กสทช. จะต้องกำหนดแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนที่ชัดเจน โดยเป็นแนวทางที่ยอมรับจากนักวิชาการ ชุมชน ผู้ประกอบการ เป็นต้น”

1------1003.10.0064_58-4.46