เปิดคำสงวน กรณี ทรูวิชั่นส์ยกเลิก 6 ช่อง HBO

เปิดคำสงวน กรณี ทรูวิชั่นส์ยกเลิก 6 ช่อง HBO

ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 43/59 วันจันทร์ที่ 26 ธ.ค. 59 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้สงวนความเห็นในการพิจารณา วาระขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด จำนวน 6 ช่องรายการ ซึ่งในที่ประชุม กสท. ได้มีมติ ดังนี้ 1.อนุญาตให้บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ใบใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ช่องรายการจำนวน 6 ช่องรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นไป 2.ให้ บ.ทรูฯ ดำเนินการเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจการกระจายเสียงแลกิจการโทรทัศน์ และแจ้งผลการดำเนินการมายังสำนักงาน กสทช. ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง 3. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. โดยสำนักการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์(ปส.2) มีหนังสือแจ้งเตือน กรณีที่บริษัทฯ แจ้งขอยกเลิกการประกอบกิจการฯ จำนวน 6 ช่องรายการ ดังกล่าวต่อ กสท. ล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วัน และให้สำนักงาน กสทช. บันทึกประวัติเพื่อเป้นข้อมูลในการกำกับดูแลต่อไป และ 4.ส่วนของประเด็นเรื่องแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นผลมาจากการยกเลิกใบอนุญาตฯ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์นำไปพิจารณาและนำเสนอที่ประชุม กสท. ต่อไป

ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา ได้สงวนความเห็นพร้อมมีเหตุผล ดังนี้

“สืบเนื่องจากที่บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง  หรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ช่องรายการ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hit และ RED by HBO แจ้งความประสงค์ที่จะยุติการให้บริการและขอยกเลิกใบอนุญาต ทั้ง 6 ช่องรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจกับผู้ให้บริการเนื้อหารายการช่องรายการดังกล่าวได้ โดยบริษัทจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการยุติครั้งนี้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ตัวอักษรวิ่ง(Streamer) ผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งบริษัทอยู่ในระหว่างการสรรหาช่องรายการอื่นมาเพิ่มเติมเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 รวมทั้งบริษัทมีแผนที่จะปรับปรุงคุณภาพความคมชัดของช่องรายการอีกด้วยนั้น นางสาวสุภิญญาขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้  โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้

  1. กรณีการยกเลิกการให้บริการก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ จะต้องแจ้งเหตุแห่งการเลิกการให้บริการพร้อมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ ให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าโดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการ ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า บริษัท ทรูวิชั่นฯ ในฐานะผู้รับใบอนุญาต ได้ส่งหนังสือตามเอกสารประกอบการพิจารณาวาระนี้ มายังสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559  โดยประสงค์จะยกเลิกใบอนุญาตช่องรายการในวันที่ 1 มกราคม 2560 การดำเนินการของผู้รับใบอนุญาต จึงขัดกับประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์  พ.ศ.2555 ข้อ 14 (4) และขัดกับมติ กสท. ครั้งที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งพักหรือหยุดการให้บริการว่า ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งความประสงค์ต่อ กสท. ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนวันที่เริ่มพักหรือหยุดการให้บริการตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอพร้อมทั้งระบุเหตุผลการพักหรือหยุดการให้บริการ
  2. นอกจากนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 ข้อ 15 กำหนดว่า หากผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญาหรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่นๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นนี้      ผู้รับใบอนุญาตจึงเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ประกาศ กสทช. ทั้งสองฉบับ และขัดกับมติ กสท. อีกด้วย
  3. การพิจารณาวาระนี้ ยังขาดองค์ประกอบสำคัญตามที่ประกาศ กสทช. กำหนด ได้แก่ มาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ มีเพียงการแจ้งเหตุแห่งการเลิกการให้บริการ โดยอ้างเหตุว่า ไม่สามารถบรรลุข้อตกลง   ทางธุรกิจกับผู้ให้บริการเนื้อหารายการช่องรายการดังกล่าวได้ ประกอบกับหนังสือแจ้งว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดสรรช่องรายการเพื่อนำมาทดแทนให้แก่สมาชิกผู้ใช้บริการ ดิฉันเห็นว่า การที่ กสท.พิจารณาอนุมัติให้ผู้รับใบอนุญาตยุติการให้บริการได้โดยยกเว้นการพิจารณาการกำหนดมาตรการเยียวยานั้น          อาจเข้าข่ายการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบและก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากการขอยุติการให้บริการกรณีอื่นๆ ที่ผ่านมามีการพิจารณาทั้งการขอยกเลิกบริการและการกำหนดมาตรการเยียวยา
  4. สำหรับการอ้างเหตุเกี่ยวกับอุปสรรคในเรื่องข้อตกลงทางธุรกิจนั้น ดิฉันเห็นว่า ผู้ประกอบการย่อมต้องทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่า ลิขสิทธิ์ในการนำเนื้อหารายการมาออกอากาศ มีระยะเวลาเท่าใด และจะสิ้นสุดเมื่อใด ดังนั้นกรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอในการอ้างเหตุดังกล่าวว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย

นอกจากนี้ ดิฉันยังมีความเห็นเพิ่มเติมในกรณีเรื่องลิขสิทธิ์เนื้อหารายการที่ถือเป็นหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตในการแจ้ง และรับรองข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ภาพที่ไม่มีลักษณะเป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ควรมีการเพิ่มเติมในเรื่องการแจ้งระยะเวลาที่ได้รับสิทธิ์การแพร่ภาพเนื้อหารายการหรือช่องรายการดังกล่าวด้วย”

Comment-NBC-43-59-2

และในการประชุม กสท. นัดพิเศษ ครั้งที่ 6/2559  วันพฤหัสที่ 29 ธันวาคม 2559 นางสาวสุภิญญาฯ ได้ขอเปิดเผยความเห็น ในการพิจารณาวาระแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณีบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่จำนวน 6 ช่องรายการ  ซึ่ง กสท. มีมติ 1.เห็นชอบแผนเยียวยาผู้ใช้บริการเบื้องต้น ตามที่บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด เสนอจากกรณีที่ขอยกเลิกการประกอบกิจการเพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ แบบบอกรับสมาชิก ช่องรายการ HBO ช่องรายการ HBO FAMILY ช่องรายการ HBO hit ช่องรายการ HBO Signature ช่องรายการ Cinemax และช่องรายการ RED BY HBO 2.นอกจากแผนเยียวยาผู้ใช้บริการในเบื้องต้นตามข้อ 1. ให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พิจารณาและเจรจากับ บริษัท ทรูฯ เพื่อกำหนดแผนเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรมยิ่งขึ้น 3.ให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งเตือนทางปกครอง กรณีที่บริษัททรูฯ ยื่นคำขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ แบบบอกรับสมาชิก ช่องรายการ HBO ช่องรายการ HBO FAMILY ช่องรายการ HBO hit ช่องรายการ HBO Signature ช่องรายการ Cinemax และช่องรายการ RED BY HBO ต่อ กสท. เป็นระยะเวลาน้อยกว่า 30 วัน ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่กำหนด โดยกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองหากมีการกระทำที่ฝ่าฝืนคำสั่งเตือนดังกล่าวอีกครั้งคณะกรรมการจะกำหนดโทษทางปกครองสูงขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ กสทช.สุภิญญา ได้ขอเปิดเผยความเห็นเพื่อบันทึกไว้ในรายงานการประชุม โดยมีรายละเอียดและเหตุผลประกอบ ดังนี้

“ดิฉันเห็นว่าการที่ กสท.  มีมติเห็นชอบแผนเยียวยาผู้ใช้บริการกรณีที่บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ยกเลิกช่องรายการ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hit และ RED by HBO  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ข้อ 11  ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการอนุญาต และหากประสงค์จะเลิกการให้บริการก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ จะต้องแจ้งเหตุแห่งการเลิกให้บริการพร้อมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการโดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการ   แม้ กสท. จะมีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พิจารณาและเจรจากับบริษัทฯ เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความเป็นธรรมเพิ่มขึ้น  ดิฉันเห็นว่าควรกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่าต้องแล้วเสร็จเมื่อใด  เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิ์การชดเชย  หรือการตัดสินใจที่จะเป็นสมาชิกต่อหรือไม่ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้แผนเยียวยาผู้ใช้บริการที่บริษัทฯ ส่งมายังมีความหละหลวมในหลายประเด็น ช่องรายการที่นำมาทดแทนไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่สมาชิกต้องจ่ายรายเดือนในราคาเดิม  เพราะมูลค่าของช่องรายการที่นำมาทดแทนถูกลงกว่าเดิม  รวมถึงต้องให้สิทธิ์กับผู้บริโภคที่มีความประสงค์จะยกเลิกโดยไม่คิดค่าปรับและค่าใช้จ่ายใดๆ  และอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับการยกเลิก 6 ช่องรายการดังกล่าว”

Comment-NBC-extra-6-59