จับตาวาระ กสทช. ครั้งที่ 16/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 16/2560 วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2560 มีวาระที่น่าจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ ผลสำรวจข้อเท็จจริงเรื่องการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที และเรื่องการกำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดในการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องผลตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการให้บริการไลน์โมบาย และเรื่องบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ขอให้พิจารณาลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของผู้ประกอบกิจการที่มีรายได้ 5,000 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ซึ่งทั้งสองเรื่องหลังนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคม พิจารณาในช่วงเช้าของวันเดียวกัน หลังจากนั้นคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาต่อในทันที

วาระสำรวจข้อเท็จจริงเรื่องการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที
วาระนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 โดยเสียงส่วนใหญ่มีมติให้ทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 จากเดิมที่ได้มีการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ต้องคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที โดยเปลี่ยนแปลงเป็นการกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีจำนวนรายการส่งเสริมการขายไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ของรายการส่งเสริมการขายทั้งหมดที่คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที และในส่วนที่เหลือเป็นรายการส่งเสริมการขายที่สามารถคิดค่าบริการในหน่วยนาทีได้ แล้วให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการสำรวจข้อเท็จจริงในระยะเวลา 6 เดือน ว่าประชาชนมีทิศทางหรือแนวโน้มในการเลือกใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามรายการส่งเสริมการขายในแบบใด เพื่อให้มีการพิจารณากำกับดูแลการคิดอัตราค่าบริการให้เป็นไปตามความประสงค์ของประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อเท็จจริงของสำนักงาน กสทช. ปรากฏผลว่า

ประเด็นสัดส่วนรายการส่งเสริมการขาย พบว่า สัดส่วนจำนวนรายการส่งเสริมการขายที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีของผู้ประกอบการ 2 รายที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในเรื่องนี้ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทรู มูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ณ วันที่ 11 เมษายน 2560 มีจำนวนเกินร้อยละ 50 ของรายการส่งเสริมการขายทั้งหมดที่เสนอขายในตลาด แต่ในส่วนข้อมูลของ AWN ที่รายงานมา พบว่ารายการส่งเสริมการขายบางส่วนจะเสนอขายผ่านช่องทางการเสนอขายโดยตรงต่อลูกค้า ซึ่งสำนักงาน กสทช. ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ารายการส่งเสริมการขายดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่ แม้ในเวลาต่อมา AWN จะไม่นำรายการส่งเสริมการขายเหล่านี้มานับรวมแล้วก็ตาม

ประเด็นแนวโน้มการเลือกใช้รายการส่งเสริมการขาย กรณีของ AWN พบว่า ข้อมูลประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีผู้ใช้บริการจำนวน 5.53 ล้านรายจากจำนวน 7 ล้านรายที่เลือกใช้รายการส่งเสริมการขายที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที คิดเป็นร้อยละ 79 ส่วนอัตราค่าบริการเฉลี่ยของรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีของไตรมาสที่ 1 และ 2 บริษัทฯ กำหนดไว้สูงกว่ารายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการเป็นนาที โดยมีอัตราค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 0.67 บาท/นาที และ 0.70 บาท/นาที ตามลำดับ ขณะที่อัตราค่าบริการเฉลี่ยของรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการเป็นนาทีมีค่าเท่ากับ 0.56 บาท/นาที และ 0.51 บาท/นาที ตามลำดับ

ส่วนกรณี TUC พบว่า ในเดือนเมษายนและมิถุนายน มีจำนวนผู้ใช้บริการที่เลือกใช้รายการส่งเสริมการที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีจำนวน 9.58 และ 9.90 ล้านราย ตามลำดับ ส่วนอัตราค่าบริการเฉลี่ยของรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที พบว่าบริษัทฯ กำหนดไว้ที่ 0.95 บาท/นาที สูงกว่ารายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการเป็นนาที ซึ่งมีอัตราค่าบริการเฉลี่ยเท่ากับ 0.67 บาท/นาที

ประเด็นพฤติกรรมผู้บริโภค จากการสำรวจความเห็นผู้ใช้บริการโทรคมนาคมจำนวน 4,000 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 70.15 ใช้รายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการเป็นนาที มีเพียงร้อยละ 2.86 ที่ใช้รายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที โดยอีกร้อยละ 26.99 ไม่ทราบว่าหมายเลขที่ตนเองใช้งานมีการคิดค่าบริการในลักษณะใด อย่างไรก็ดี พบว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีการกำกับดูแลเรื่องการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง ซึ่งสำหรับผู้ใช้บริการที่ทราบ ปรากฏว่ามีระดับความพึงพอใจเฉลี่ยที่ 3.88 จากสูงสุด 5 คะแนน ซึ่งถือเป็นระดับความพึงพอใจที่ค่อนข้างสูง

ประเด็นความเห็นจากผู้ให้บริการ พบว่า ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ยังคงแสดงความเห็นเดิมที่ไม่เห็นด้วยกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีทั้งระบบ เพราะจะส่งผลให้ความหลากหลายของรายการส่งเสริมการขายลดลง และอาจต้องปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นกรณีบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ที่ปัจจุบันได้คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีอยู่แล้ว

จากผลสำรวจดังกล่าว สำนักงาน กสทช. ตั้งข้อสังเกตไว้ชัดเจนว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ในภาพรวมของตลาดยังมีผู้ใช้บริการรายการส่งเสริมการที่คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีจำนวนไม่สูงมากนักนั้น เนื่องจากผู้ให้บริการมีการประชาสัมพันธ์รายการส่งเสริมการขายที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีน้อย และช่องทางในการเข้าถึงรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่แพร่หลายและเข้าถึงยาก รวมถึงการดำเนินการตามมติดังกล่าวมีระยะเวลาที่สั้น นอกจากนี้ อัตราค่าบริการเฉลี่ยของรายการส่งเสริมการขายที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีก็มีราคาสูงกว่ารายการส่งเสริมการขายที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นนาทีด้วย ซึ่งประเด็นเรื่องอัตราค่าบริการนั้นมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการของผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ กสทช. ควรที่จะต้องพิจารณาข้อมูลดังกล่าว และกำหนดแนวทางการกำกับดูแลต่อไป

————————

วาระการกำหนดวงเงินคงเหลือสูงสุดของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด

วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอร่างประกาศเรื่อง การกำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดในการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณา ก่อนนำไปประกาศบังคับใช้ โดยสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้คือ ให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดของผู้ใช้บริการแบบพรีเพดไว้ไม่เกิน 10,000 บาท และภายหลังเมื่อประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ผู้ให้บริการต้องไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการที่มีวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดเกินกว่า 10,000 บาทเติมเงินเพิ่มอีก จนกว่าวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดของผู้ใช้บริการไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ ในกรณีผู้ใช้บริการบางรายที่มีจำนวนเงินคงเหลือสะสมในระบบเต็มวงเงิน แต่จำนวนวันใช้งานหมด แล้วไม่สามารถเติมเงินเพื่อเพิ่มวันใช้งานได้ ผู้ใช้บริการก็สามารถแลกเปลี่ยนวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดในส่วนที่เกินกว่า 10,000 บาท เป็นจำนวนวันใช้งานในอัตราไม่เกิน 2 บาท แลกเปลี่ยนวันใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 30 วันต่อการแลกเปลี่ยน 1 ครั้ง ส่วนกรณีที่ผู้ใช้บริการมีวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดไม่ถึง 10,000 บาท ก็ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนวงเงินคงเหลือสะสมเดิมตามที่ค่ายมือถือได้เคยกำหนดไว้

————————

วาระผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการให้บริการไลน์โมบาย

วาระนี้สืบเนื่องจากมีหนังสือเรียกร้องให้ กสทช. ตรวจสอบการให้บริการไลน์โมบายว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แต่ดำเนินการเหมือนผู้ได้รับใบอนุญาต โดยใช้ความถี่ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐได้

จากเหตุเรื่องร้องเรียนนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการให้บริการไลน์โมบาย โดยเมื่อคณะทำงานพิจารณาข้อเท็จจริงจากสัญญาระหว่างบริษัทไลน์ฯ กับบริษัทดีแทคฯ ที่มีข้อกำหนดในสัญญาว่าเป็นการใช้ตราสัญลักษณ์และมีการจ่ายค่าตอบแทนระหว่างกันในลักษณะค่าสิทธิกำหนดให้บริษัทดีแทคฯ คือผู้ให้บริการโทรคมนาคมและมีหน้าที่ต้องดูแลลูกค้าและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนต่างๆ ของผู้บริโภค ประกอบกับสัญญาการใช้บริการปรากฏชื่อคู่สัญญาเป็นบริษัทดีแทคฯ ใบแจ้งหนี้/ใบเสร็จรับเงินซึ่งปรากฏเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ตลอดจนโครงข่ายที่ให้บริการเป็นของบริษัทดีแทคฯ รวมทั้งคำชี้แจงของบริษัทดีแทคฯ และบริษัทไลน์ฯ ที่ยืนยันว่าเป็นการให้บริการของบริษัทดีแทคฯ ในลักษณะแบรนด์ที่สอง และแม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีข้อตกลงอื่นนอกเหนือจากสัญญาระหว่างบริษัทไลน์ฯ กับบริษัทดีแทคฯ ที่ได้นำส่งและ/หรือที่มีการปกปิดข้อความในสัญญาไว้ แต่คณะทำงานก็ไม่อาจตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในชั้นนี้คณะทำงานฯ จึงเชื่อว่าการให้บริการไลน์โมบายเป็นการให้บริการโดยบริษัทดีแทคฯ ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามของบริษัทดีแทคฯ มิใช่เป็นการให้บริการโดยบุคคลอื่นในลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง หรือ MVNO แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานเห็นว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ของบริการไลน์โมบายที่ผ่านมา มีพฤติกรรมที่แสดงให้เข้าใจเสมือนว่าเป็นบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกรายหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความสับสนว่าใครคือผู้ให้บริการ รวมถึงกระบวนการลงทะเบียนซิมการ์ด ก็พบว่าบริษัทดีแทคฯ ได้กำหนดให้ผู้ใช้บริการไลน์โมบายดำเนินการโดยการถ่ายภาพตนเองพร้อมกับบัตรประชาชน และส่งข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งเมื่อระบบได้รับข้อมูลดังกล่าวแล้วก็จะสามารถเปิดใช้บริการซิมการ์ดและใช้งานได้ทันทีนั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์และข้อกำหนดตามมาตรฐานกระบวนการพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้บริการที่ กสทช. ได้เคยกำหนด

ส่วนประเด็นเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียม คณะทำงานเห็นว่า หากรายได้จากบริการไลน์โมบายเป็นรายได้ของบริษัทดีแทคฯ ทั้งหมด ค่าธรรมเนียมที่ชำระให้แก่สำนักงาน กสทช. ก็อาจไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญกับกรณีที่ไลน์โมบายมีการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่ามิได้ส่งผลกระทบในด้านการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของสำนักงาน กสทช.

————————

วาระเอไอเอสและทรูขอลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
วาระนี้สืบเนื่องจากบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้ส่งหนังสือมายังสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เรื่องขอให้พิจารณาทบทวนมติที่ประชุมอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคม ในประเด็นที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติยืนยันการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ สำหรับรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคมตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยไม่ได้ปรับลดตามความเห็นที่บริษัทฯ ได้เสนอในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

ทั้งนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้เคยมีมติเห็นชอบแนวทางการทบทวนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 11/2560 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 โดยในส่วนผู้รับใบอนุญาตที่มีรายได้ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1.5 ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ สำนักงาน กสทช. ได้นำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้รวบรวมความคิดเห็นต่างๆ จัดทำสรุปพร้อมกับยกร่างประกาศ กสทช. เรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ซึ่งในประเด็นเรื่องอัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมนั้น คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ก็ได้พิจารณาและเห็นชอบตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ ดังนั้นความประสงค์และเนื้อหาที่ผู้รับใบอนุญาตทั้งสองรายมีหนังสือมายังสำนักงาน กสทช. จึงล้วนแต่เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ได้พิจารณาแล้วทั้งสิ้น วาระนี้จึงน่าจับตาว่าที่ประชุม กสทช. จะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

อนึ่ง อัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใหม่ที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นชอบภายหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะคือ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีรายได้ 0 – 100 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.125, รายได้เกิน 100 ล้านบาท – 500 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.25, รายได้เกิน 500 ล้านบาท – 1,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.5, รายได้เกิน 1,000 ล้านบาท – 5,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.75 และรายได้เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมรายปีที่จัดเก็บในปัจจุบันที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีรายได้ 0 – 100 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.25, รายได้เกิน 100 ล้านบาท – 500 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.5, รายได้เกิน 500 ล้านบาท – 1,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 1.0, และรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บร้อยละ 1.5 ขณะที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ต้องการให้ปรับลดการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีรายได้ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป เป็นในอัตราร้อยละ 0.75 ส่วนบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ต้องการให้ลดเหลืออัตราร้อยละ 1.00