การสนับสนุนให้เกิดการกระจายตัวในการรับบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล

ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 15/2557 วันที่ 22 เม.ย. 57 นางสางสุภิญญา กลางณรงค์  ได้ลงมติและสงวนความเห็นไว้ในการพิจารณา วาระที่ 4.1 เรื่อง การสนับสนุนให้เกิดการกระจายตัวในการรับบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล จึงขอเปิดเผยมติและความเห็นของดิฉัน  เพื่อบันทึกในรายงานการประชุม กสท. ครั้งดังกล่าว ดังนี้

“สืบเนื่องจากที่ดิฉันได้ตั้งข้อสังเกตในการพิจารณาวาระนี้ต่อเนื่องจากการประชุม กสท.
ครั้งที่ 13/2557  เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ซึ่งดิฉันเห็นว่า นโยบายการกำหนดให้กล่องรับสัญญาณ
ที่เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ในส่วนที่สนับสนุนให้
กล่องรับสัญญาณในระบบดาวเทียม (DVB-S2) และระบบเคเบิล (DVB-C) เข้าร่วมโครงการนั้น ควรจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับกล่องรับสัญญาณ DVB-T2  กล่าวคือ สามารถรับชมทีวีประเภทบริการสาธารณะได้
ในช่องที่ 1-12 รับชมทีวีดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจได้จากช่อง 13-36 และ รับชมช่องทีวีประเภทบริการชุมชนได้ระหว่างช่อง 37-48 ดังนั้นในชั้นการพิจารณาของที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 15 /2557 ดิฉันจึงขอสงวนความเห็นโดยมีเหตุผล ดังนี้

  1. หากกล่องรับสัญญาณประเภท DVB-S2 และ DVB-C สามารถรับชมช่องรายการโทรทัศน์ดิจิตอลได้เพียง 36 ช่อง โดยไม่สามารถรับชมช่องทีวีประเภทบริการชุมชนในระหว่างช่อง 37-48 นั้น จะขัดต่อวัตถุประสงค์ในเรื่องการให้ประชาชนสามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้อย่างทั่วถึง เนื่องจาก
    ที่ผ่านมา กสทช. ได้มีประกาศและมติที่ประชุม ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว ดังนี้

1.1 แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555)  ตามข้อ 8.5 ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนการเปลี่ยน
ไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลไว้ โดยมีมติในการประชุมครั้งที่ 13/2555
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เห็นชอบให้ประกาศแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์
เป็นระบบดิจิตอล ตามความในข้อ 8.5 ของแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555)
และข้อ 5.6 ของแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 – 2559)
ดังนั้น กสท. และสำนักงานฯ จึงควรยึดกรอบการดำเนินการดังกล่าวเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกรอบเวลาการให้อนุญาตกิจการในแต่ละลักษณะและประเภทตามที่ได้กำหนด  นอกจากนี้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 ตามข้อ 5.6 ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียง
และวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล นั้นมุ่งเปลี่ยนไปสู่การรับส่งสัญญาณในระบบดิจิตอลเพื่อให้การใช้คลื่นความถี่
เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์มาตรา 27 (5) ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับ
การประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2553 และภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายร่วมกัน
ดังที่ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภท
ที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล พ.ศ. 2556 กำหนดในข้อ 8 ให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลมีหน้าที่ตาม (4) คือ ต้องจัดให้มีค่าความจุไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ที่ให้บริการ สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ประเภทบริการชุมชน

1.2 ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์
เป็นระบบดิจิตอล ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 21 ธันวาคม 2555 ประกาศดังกล่าวกำหนดกรอบเวลาการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล โดยจะอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวย
ความสะดวก และโครงข่ายกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมถึงใบอนุญาตให้บริการกิจการบริการสาธารณะ ภายในปี 2555  และจะให้ใบอนุญาตกิจการบริการธุรกิจและใบอนุญาตให้บริการกิจการบริการชุมชน
ภายในปี 2556   อีกทั้งในเวลาต่อมายังมีการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วาระที่ 4.6 เรื่องจำนวน
ช่องรายการในแต่ละประเภทกิจการในการประชุม กสท. ครั้งที่ 40/2555  และวาระที่ 4.7 เรื่อง แนวทาง
การอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 12/2556  จากแผนการดำเนินงานข้างต้น ได้สร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนในการเข้าถึงการรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอล 48 ช่องรายการตามแผนที่กำหนดไว้

ดังนั้น การสนับสนุนเครื่องรับสัญญาณบางประเภทที่ไม่สามารถรับชมทีวีชุมชนได้จึงขัดต่อวัตถุประสงค์ในเรื่องการให้ประชาชนสามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้อย่างทั่วถึงตามที่ปรากฏไว้ในนโยบายข้างต้น

  1. ในเรื่องหลักการกำหนดมูลค่าคูปองและการสนับสนุนเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลในรูปแบบที่เข้าร่วมโครงการตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ดิฉันเห็นว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นที่สนใจและถกเถียง
    จากสาธารณชนถึงเหตุผลและแนวคิดอันนำมาสู่ซึ่งมูลค่าคูปองตลอดจนประเภทของกล่องรับสัญญาณ
    จึงใคร่ขอเสนอแนะว่าสำนักงานเปิดเผยรายงานการศึกษาและบทวิเคราะห์อันนำมาสู่หลักการกำหนดมูลค่าคูปองและประเภทของกล่องรับสัญญาณที่เข้าร่วมโครงการผ่านทางระบบเครือข่ายสารสนเทศหรือเว็บไซต์ของสำนักงาน เพื่อให้สาธารณะได้รับทราบถึงที่มาของแนวคิดและการวิเคราะห์การกำหนดมูลค่าดังกล่าว เนื่องจากงบประมาณ
    ที่ใช้ในการสนับสนุนคูปองสำหรับการสนับสนุนประชาชนเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล
  2. ในเรื่องกระบวนการบริหารจัดการ อันประกอบด้วย การจัดทำคูปอง การจัดส่งคูปอง การลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้นำเข้า ร้านค้า การจ่ายเงินคูปอง การจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ
    การจัดหน่วยตรวจสอบและขึ้นเงินคูปอง ตลอดจนการดำเนินการจัดศูนย์บริการเพื่อตอบข้อปัญหากับประชาชน และการดำเนินงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำนักงานฯ ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบ รัดกุม โปร่งใสและเปิดเผยขั้นตอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณะสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการ”
Comment-NBC-15-57