บริษัทฯ ระงับบริการ ทั้งที่ค้างชำระค่าบริการไม่ถึง 2 เดือน แบบนี้ถือเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภค

กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 2558 และกรณีนี้ผู้บริโภคได้ร้องขอให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้

กรณีร้องเรียนนี้เป็นเรื่องที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ระงับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเจ้าหน้าที่ Call Center 1175 ให้ข้อมูลว่ามีการระงับสัญญาณเนื่องจากค้างชำระค่าบริการและไม่ได้ชำระภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ผู้ร้องเรียนเห็นว่าบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549  ข้อ 28(6) ที่ระบุว่าบริษัทฯ มีสิทธิระงับบริการ เมื่อผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าบริการสองคราวติดต่อกัน และถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงขอให้บริษัทฯ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประกาศ กทช. และ กสทช. อย่างเคร่งครัด

กรณีนี้บริษัทฯ ชี้แจงต่อสำนักงาน กสทช. ว่า เหตุที่ระงับบริการเนื่องจากมียอดค่าบริการที่เกินกำหนดเวลาชำระ และได้เปิดสัญญาณหมายเลขดังกล่าวให้ใช้งานได้แล้ว  ซึ่งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วมีมติดังนี้

  • บริษัทฯ ระงับบริการทั้งที่ผู้ร้องเรียนไม่ได้ผิดนัดชำระค่าบริการเกิน 2 รอบบิลติดต่อกัน ดังนั้นการระงับบริการของผู้ร้องเรียนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อ 28 (6) ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาฯ
  • การกระทำของบริษัทเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ ดังนั้นจึงขอให้ กสทช. กำหนดให้การระงับบริการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และมีคำสั่งห้ามมิให้บริษัทฯ กระทำการดังกล่าวอีก และหากพบว่ายังมีการกระทำเช่นนี้อีก ให้มีคำสั่งปรับทางปกครองตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะป็นการเอาเปรียบฯ ข้อ 7 และข้อ 8 ตามลำดับ
  • เนื่องจากบริษัทฯ ระงับสัญญาณผู้ร้องเรียน บริษัทฯ จึงมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการได้เท่าที่มีการให้บริการจริง

ต่อมาในประชุม กทค. ครั้งที่่ 4/2560 กทค. เสียงข้างมาก (3 ราย) ปฏิเสธที่จะฟันธงว่าการกระทำผิดของบริษัทฯ ถือเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ โดยมีมติเห็นควรมอบหมายให้ สำนักงาน กสทช. พิจารณาในประเด็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคนี้ใหม่ให้ละเอียดครบถ้วน และเสนอที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

ส่วน กสทช.ประวิทย์ฯ ซึ่งลงมติเป็นเสียงข้างน้อย ได้เปิดเผยความเห็นที่แตกต่างจากมติของตน มีสาระสำคัญว่า ประกาศ กสทช.เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ เป็นประกาศที่ กทค. ออกเอง ดังนั้นจึงสามารถวินิจฉัยได้เองว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดประกาศ ฯ หรือไม่ หรือหากต้องการความเห็นทางกฎหมายที่ชัดเจนก็เห็นควรที่จะส่งให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. พิจารณา แทนการมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาอีก ทั้งๆ ที่สำนักงาน กสทช. ระบุจุดยืนแล้วว่าเรื่องร้องเรียนนี้ไม่ครอบคลุมกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อยุติและเป็นการอำนวยการให้เกิดความยุติธรรมแก่เรื่องร้องเรียนโดยเร็ว จึงไม่ควรที่จะย้อนให้สำนักงาน กสทช. เป็นฝ่ายพิจารณาประเด็นดังกล่าวอีก

 

รู้สิทธิ

โดยกฎหมายอนุญาตให้ผู้ให้บริการสามารถระงับการให้บริการได้ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าบริการเกินกว่า 2 รอบบิลติดต่อกัน แต่ในกรณีนี้ผู้ใช้บริการค้างชำระค่าบริการไม่ถึง 2 รอบบิล การที่ผู้ให้บริการระงับบริการจึงถือเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558

ข้อ 5. ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการใด ๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้ในประกาศนี้ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้