สารพันปัญหาการโอนย้ายเครือข่าย (ย้ายค่ายเบอร์เดิม)

ในอดีตหากผู้ใช้บริการต้องการจะเปลี่ยนผู้ให้บริการเครือข่าย นั่นหมายถึงต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ด้วย ซึ่งทำให้เกิดความไม่สะดวกในการติดต่อสื่อสารมากมาย อีกทั้งต้องซื้อ SIM เพิ่มทำให้เกิดความยุ่งยาก และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย กระทั่งในยุค กทช. ได้มีการออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยสาระสำคัญกำหนดให้การคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเป็นสิทธิโดยแท้ของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการจะกระทำการใดๆ อันเป็นการกีดกันขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวการโอนย้ายมิได้ หรือจะปฎิเสธคำขอโอนย้ายของผู้ใช้บริการโดยหลักนั้นก็มิอาจกระทำได้

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ยังคงมีประเด็นปัญหาการโอนย้ายเครือข่าย (ย้ายค่ายเบอร์เดิม) หรือการใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องการถูกปฏิเสธโอนย้ายเครือข่าย โอนย้ายล่าช้า เงินในระบบสูญหาย หรือการคืนเงินในระบบของเครือข่ายเดิมล่าช้า การถูกโอนย้ายโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและไม่สมัครใจ และเงื่อนไขการบริการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นต้น

 

ถูกปฏิเสธคืนเงินคงเหลือในระบบ เมื่อย้ายไปเครือข่ายอื่น

กรณีนี้เป็นการร้องเรียนบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าปฏิเสธการคืนเงินคงเหลือในระบบจำนวน จำนวน 1,582.84 บาท ภายหลังการโอนย้ายเลขหมายไปใช้บริการค่ายอื่น จึงมีคำขอให้บริษัทฯ คืนเงินคงเหลือในระบบทั้งหมด โดยนำส่งเข้าบัญชีธนาคารของผู้ร้องเรียน

กรณีนี้ กทค. มีมติว่า บริษัทฯ ไม่ได้คืนเงินคงเหลือในระบบให้แก่ผู้ร้องเรียนภายใน 30 วัน นับแต่วันเลิกสัญญา โดยคืนเงินจำนวน 1,582.84 บาทให้กับผู้ใช้บริการล่าช้า ดังนั้นบริษัทฯ จึงต้องชำระค่าเสียประโยชน์ในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ให้บริการคิดจากผู้ใช้บริการกรณีผู้ใช้บริการผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการแก่ผู้ให้บริการ ตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

 

รู้สิทธิ

เมื่อผู้บริโภคยกเลิกใช้บริการหรือโอนย้ายเลขหมายไปยังเครือข่ายอื่น บริษัทฯ ต้องคืนเงินคงเหลือในระบบให้แก่ผู้ร้องเรียนภายใน 30 วัน นับแต่วันเลิกสัญญา

 

ถูกลอบโอนย้ายจาก 2G ไป 3G โดยไม่แจ้งล่วงหน้า แถมใช้งานไม่ได้ แต่ถูกเรียกเก็บค่าบริการนานเป็นปี

กรณีถูกโอนย้ายเครือข่ายโดยไม่สมัครใจนี้เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัททรู มูฟ โอนย้ายเลขหมายของผู้บริโภคไปใช้บริการยังคลื่นความถี่ใหม่ หรือพูดง่ายๆ จากระบบ 2G เป็น 3G  ภายใต้ชื่อบริษัททรู มูฟ เอช ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้บริโภคไม่สามารถใช้บริการได้ และเงินในระบบสูญหาย

เรื่องนี้ ผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 บริษัทฯ ทรู มูฟ จำกัด ได้ตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ร้อง ทั้งที่ไม่มีค่าบริการค้างชำระ และ Call Center แจ้งว่า บริษัทฯ ได้โอนย้ายเลขหมายโทรศัพท์ของผู้ร้องเรียนไปยังคลื่นความถี่ใหม่ โดยที่ผู้ร้องเรียนไม่ทราบล่วงหน้า เมื่อแจ้งความประสงค์ว่าขอใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่านความถี่ 1800 MHz จนถึงเดือนกันยายน 2557 ตามที่สำนักงาน กสทช. ออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ (มาตรการเยียวยาฯ) บริษัทฯ ก็ไม่ดำเนินการตามคำขอ ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้โทรศัพท์ติดต่อผู้ร้องเรียนเป็นระยะๆ เป็นเวลา 1 ปี พบว่าโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวยังใช้ไม่ได้ แต่ผู้ร้องยังคงจ่ายการบริการทุกเดือนเพื่อรักษาหมายเลขไว้ จนในที่สุดได้ยกเลิกเลขหมายเมื่อมีนาคม 2558 แต่ต่อมาบริษัทชี้แจงเมื่อ 14 พฤษภาคม 2558 ว่า หมายเลขที่ร้องเรียนมีสถานะใช้งานได้ปกติ พร้อมเสนอส่วนลดค่าบริการ 50 % เป็นเวลา 3 เดือน แต่ผู้ร้องปฏิเสธ รวมทั้งเห็นว่าแม้บริษัทฯ จะคืนเงินค่าบริการที่ผู้ร้องเรียนจ่ายเพื่อรักษาหมายเลขทั้งหมดตั้งแต่ 8 พฤศจิกายน 2556 – มีนาคม 2558 นั้น ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เป็นธรรม และอยากให้ กสทช. ลงโทษทางปกครองมากกว่าการทำหนังสือแจ้งเตือนหรือภาคทัณฑ์บริษัทเท่านั้น

กรณีนี้ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 3/2559 เห็นชอบกับมติของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ว่าบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ไม่มีสิทธิโอนย้ายโทรศัพท์ของผู้ร้องเรียนไปยังผู้ให้บริการรายอื่น โดยผู้ร้องเรียนไม่สมัครใจ และให้บริษัท ทรู มูฟ จำกัด คืนค่าบริการที่ผู้ร้องเรียนชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการในกรณีผิดนัดชำระค่าบริการ เนื่องจากผู้ร้องเรียนไม่สามารถใช้บริการได้ โดยให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบจำนวนเงินตามข้อเท็จจริง

 

ย้ายค่ายผู้ให้บริการในเครือข่ายบริษัทเดียวกัน แต่รายใหม่ไม่มีโปรแบบเดิม ทำอย่างไร

ปัญหานี้มีข้อร้องเรียนมา 2 ราย ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการย้ายเลขหมายจากบริษัททรู มูฟ จำกัด ไปบริษัททรู มูฟ เอช ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ในเครือเดียวกัน แต่บริษัทใหม่ไม่มีโปรโมชั่นที่ผู้ร้องเรียนใช้อยู่เดิม ในเชิงการเยียวยาพบว่า กรณีหนึ่ง บริษัทฯ เพิ่มเงินและเพิ่มวันให้ตรงกับโปรเดิม ส่วนอีกกรณีหนึ่ง กทค. มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ประสานกับผู้ให้บริการเพื่อหารายการส่งเสริมการขายใหม่ที่มีความสมเหตุสมผลและใกล้เคียงกับรายการส่งเสริมการขายเดิมให้ผู้ร้องเรียนเลือกใช้บริการ

 

ย้ายค่ายเบอร์เดิม ถูกเปลี่ยนโปรฯ จากเติมเงินได้รับวัน 1 ปี เหลือ 30 วัน

เป็นข้อร้องเรียนบริษัท เรียล มูฟ จำกัด ว่า ผู้ร้องเรียนถูกเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่น จากเดิมเติมเงินเท่าไรได้รับวัน 1 ปี เหลือ 30 วัน ผู้ร้องเรียนจึงมีคำขอให้บริษัทฯ ดำเนินการเปลี่ยนโปรโมชั่นตามเดิมให้แก่ผู้ร้องเรียน

บริษัทฯ ชี้แจงว่า เดิมผู้ร้องใช้บริการของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด และเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 ได้ส่งความความสั้นแจ้งผู้ร้องเรียน 4 ครั้ง ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2558 เลขหมายของผู้ร้องได้รับการคงสิทธิหมายเลข ด้วยรายการส่งเสริมการขาย “หวานทั้งวัน” ซึ่งบริษัทไม่มีรายการส่งเสริมการขายตามที่บริษัททรูมูฟให้บริการ เพื่อยุติข้อร้องเรียนจึงเสนอสิทธิการใช้บริการมูลค่า 100 บาท และระยะเวลาการใช้บริการ 365 วัน

กรณีนี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีมติว่า เมื่อผู้ร้องเรียนได้รับการคงสิทธิเลขหมายมายังบริษัทฯ ใหม่ และบริษัทฯ ไม่มีรายการส่งเสริมการขายเดิมตามที่ผู้ร้องเรียนเคยใช้บริการกับบริษัทเดิม บริษัทใหม่จึงไม่สามารถให้บริการรายการส่งเสริมการขายเดิมให้แก่ผู้ร้องเรียนได้ และบริษัทฯ ได้เสนอสิทธิการใช้บริการคิดเป็นมูลค่า 100 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมระยะเวลาการใช้บริการ 365 วัน ถือว่าบริษัทฯ ได้เสนอการเยียวยาที่เหมาะสมแล้ว  ซึ่งที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 28/2559 เห็นชอบตามมติดังกล่าว

 

รู้สิทธิ

การลักลอบโอนย้ายผู้ใช้บริการเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่เพียงเท่านั้น กรณีนี้ยังสะท้อนให้เห็นปัญหาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นตามมา กล่าวคือผู้ใช้บริการไม่ได้เป็นฝ่ายเลือกโปรโมชั่น ขณะเดียวกันผู้ให้บริการรายใหม่ไม่มีโปรโมชั่นเดิม จึงไม่สามารถเสนอสิทธิตามโปรโมชั่นเดิมได้ ซึ่งเรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยหากผู้ใช้บริการเป็นฝ่ายเลือกโอนย้ายเลขหมายและเลือกโปรโมชั่นด้วยตนเอง

ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย

 

โอนย้ายเครือข่ายล่าช้าเกินกว่า 45 วัน

ผู้บริโภคร้องเรียนบริษัทดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ว่าไม่สามารถโอนย้ายเครือข่ายไปยังบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์คได้ เนื่องจากบริษัทอ้างว่ามีการค้างชำระค่าบริการรายเดือน ซึ่งผู้ร้องได้ชำระแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ แจ้งว่าไม่สามารถโอนย้ายได้ เนื่องจากยังค้างชำระค่าบริการอีกหนึ่งเดือน ผู้ร้องจึงไปชำระค่าบริการอีก 300 บาท แต่ก็ยังไม่สามารถโอนย้ายได้ จึงขอให้โอนย้ายหมายเลขไปยังบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และเนื่องจากการโอนย้ายดำเนินการล่าช้า จึงขอให้คืนเงินค่าบริการจำนวน 300 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 (วันยื่นเรื่อง)

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงาน กสทช. พบว่า บริษัทได้ดำเนินการโอนย้ายเลขหมายไปยังบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ให้แก่ผู้ร้องเรียนแล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 และบริษัทฯ มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการอีก 300 บาทตามข้อร้องเรียน เนื่องจากเป็นค่าบริการก่อนที่จะโอนย้ายเครือข่ายสำเร็จ

กรณีนี้กสทช. ประวิทย์ฯ ตั้งข้อสังเกตในที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 21/2559  ว่าการโอนย้ายกรณีนี้ใช้เวลามากกว่า 45 วัน จึงเห็นควรให้สำนักงาน กสทช. เร่งรัดทุกบริษัทให้ดำเนินการตามกฎเกณฑ์ ซึ่งกำหนดไว้ 3 วันทำการ

 

รู้สิทธิ

ปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกค่ายปรับปรุงระบบการให้บริการ “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” โดยระบบใหม่นี้จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการได้มากขึ้น และยังใช้เวลาย้ายค่ายลดลงจากเดิม 3 วันทำการ เป็น 2 วันทำการ โดยผู้ใช้บริการที่ประสงค์จะย้ายค่ายเช็คหรือตรวจสอบสิทธิของตัวเองได้ฟรีก่อนย้ายค่าย เพียงกด *151* เลขบัตรประชาชน 13 หลัก (หรือเลขบัตรที่เคยใช้ลงทะเบียนซิม) # โทรออก หากไม่ติดเงื่อนไขใดๆ เช่น เป็นบุคคลเดียวกับที่เคยลงทะเบียนซิมไว้ และไม่มียอดค้างชำระกับค่ายมือถือที่ใช้งานอยู่ ก็จะได้รับรหัสแสดงตน 8 หลัก ทาง SMS ภายใน 10 นาที เพื่อนำไปสมัครย้ายค่าย ณ จุดบริการของค่ายใหม่ โดยจะย้ายไปใช้งานกับค่ายใหม่ได้ภายใน 2 วันทำการ ส่วนชาวต่างชาติก็เช็คสิทธิได้ฟรี และสมัครย้ายค่ายได้เช่นเดียวกัน ผ่านวิธีส่งเลขหนังสือเดินทาง หรือเลขประจำตัวคนต่างด้าวทาง SMS หมายเลข 4444151

 

ไม่ให้ย้ายเครือข่าย อ้างเหตุใช้บริการไม่ครบ 90 วัน ถือว่าผิดกฎหมาย

กรณีผู้บริโภคค้างชำระค่าบริการ ผู้ให้บริการจึงไม่ยอมย้ายเครือข่ายเกิดขึ้นหลายประเด็น กรณีนี้มีการจับโกหกว่าเหตุใดเกิดก่อนกัน ดังเช่นกรณีผู้บริโภคร้องเรียนบริษัท เรียล มูฟ จำกัด ว่าบริษัทฯ ไม่ยอมย้ายเครือข่ายให้ โดยบอกว่าต้องใช้บริการให้ครบ 90 วัน ผู้ร้องจึงมาร้องเรียนต่อ กสทช. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 เพื่อขอให้ย้ายเครือข่ายให้โดยเร็ว

เมื่อเรื่องมาถึงชั้นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยสำนักงาน กสทช. บริษัทฯ ชี้แจงว่า ผู้ร้องค้างชำระค่าบริการระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 – 3 ธันวาคม 2556 จำนวน 2,926.91 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และผู้ร้องเรียนไม่ดำเนินการยื่นเรื่องคำร้องตามขั้นตอนการโอนย้ายเลขหมาย ประกอบกับบริษัทฯ ได้ระงับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เนื่องจากผู้ร้องเรียนค้างชำระค่าบริการสองคราวติดต่อกัน

ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 28/2559  กสทช. ประวิทย์ได้ทำบันทึกความเห็นต่อเรื่องนี้ มีสาระสำคัญว่า มีการร้องเรียนกรณีนี้ต่อสำนักงาน กสทช. เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 แต่หนังสือชี้แจงของบริษัท ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ระบุว่าหนี้ที่ค้างชำระนั้นเป็นค่าบริการระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 25567 ถึง 21 มิถุนายน 2557 จำนวน 319.93 บาท รวมยอดหนี้ทั้งสิ้นจำนวน 639.79 บาท ซึ่งค่าบริการทั้งสองรอบดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ณ เวลาที่ผู้ใช้บริการมาร้องเรียนกับสำนักงาน กสทช. ดังนั้นข้อชี้แจงของบริษัทฯ ถึงเหตุที่ไม่ดำเนินการย้ายเครือข่ายให้ผู้ร้องเรียน ว่ามีค่าบริการค้างชำระ จึงเป็นเหตุที่ฟังไม่ขึ้น ส่วนกรณีที่บริษัทฯ อ้างว่าผู้ร้องเรียนมิได้ดำเนินการขอโอนย้ายเครือข่าย เป็นแต่เพียงการสอบถามข้อมูล สำนักงาน กสทช. จึงควรตรวจสอบข้อมูลกับผู้ร้องเรียน และบริษัท Clearing House ว่าผู้ร้องเรียนมีการทำเรื่องของโอนย้ายเครือข่ายหรือไม่ ขอโอนย้ายไปยังเครือข่ายใด และถูกปฏิเสธคำขอโอนย้ายด้วยสาเหตุใด

กรณีนี้ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 28/2559 จึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รับข้อสังเกตของที่ประชุม กทค. ไปตรวจสอบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากข้อมูลประกอบการพิจารณาไม่เพียงพอ ต่อมาบริษัทฯ ชี้แจงเป็นหนังสือว่า “ไม่พบประวัติการยื่นคำขอโอนย้ายการใช้บริการต่อผู้ใช้บริการรายใหม่ ณ จุดที่ผู้ให้บริการรายใหม่กำหนด และไม่พบประวัติการปฏิเสธคำขอโอนย้ายการใช้บริการจากบริษัทแต่อย่างใด”

ในการประชุม กทค. ครั้งต่อมา ที่ประชุมจึงมีมติว่า เหตุผลตามหนังสือชี้แจงของบริษัทฯ ในกรณีที่ไม่สามารถโอนย้ายของผู้ร้องรายนี้ไม่สอดคล้องและไม่เป็นไปตาม ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่เนื่องจากเลขหมายนี้ไม่ได้อยู่ในครอบครองของผู้ร้องแล้ว จึงไม่สามารถคงสิทธิเลขหมายได้

 

 รู้สิทธิ

เหตุที่ผู้ให้บริการอาจปฏิเสธคำขอโอนย้ายของผู้ใช้บริการคือ เมื่อพบว่าเลขหมายที่จะขอโอนย้ายนั้นได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของชาติหรือเป็นกรณีของเลขหมายที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี

ส่วนในกรณีที่ผู้ให้บริการมักปฏิเสธการโอนย้ายผู้ใช้บริการโดยอ้างเรื่องการค้างชำระค่าบริการนั้น หากเป็นการขอโอนย้ายในระหว่างรอบบิล คือยังไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการ ถือว่าไม่ใช่กรณีการค้างชำระค่าบริการ ซึ่งบริษัทไม่สิทธิปฏิเสธคำขอโอนย้ายค่ายของผู้ใช้บริการได้ ส่วนค่าบริการที่ยังไม่ได้ชำระ ก็เป็นหน้าที่ที่ผู้ใช้บริการต้องไปชำระในภายหลังเมื่อได้รับบิลเรียกเก็บค่าบริการแล้ว

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2552

ข้อ 6 การคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสิทธิของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการจะกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุในการกีดกันขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวการโอนย้านผู้ให้บริการมิได้

ข้อ 10 ผู้ให้บริการรายใหม่และผู้ให้บริการรายเดิมต้องร่วมกันตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของผู้ใช้บริการที่ขอโอนย้าย เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของเลขหมาย ตรวจสอบยืนยันสถานภาพและเงื่อนไขอื่นใด ที่ผูกพันกับเลขหมายดังกล่าว่าถูกต้องตามแนวปฏิบัติการโอนย้ายได้

หากผู้ให้บริการรายใหม่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น และตรวจสอบยืนยันสถานภาพและเงื่อนไขอื่นใดกับผู้ให้บริการรายเดิม ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องแจ้งเหตุผลและระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จให้ผู้ใช้บริการทราบ

ข้อ 17 ผู้ให้บริการอาจปฏิเสธคำขอโอนย้ายผู้ให้บริการของผู้ใช้บริการได้ หากมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • เลขหมายที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของชาติ
  • เลขหมายที่จะขอโอนย้ายการใช้บริการอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี หรืออยู่ในระหว่างอายัด หรือห้ามการเปลี่ยนแปลงตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • เหตุอื่นๆ ตามแนวทางการปฏิบัติการโอนย้ายข้อ 13 และ/หรือที่เพิ่มเติมในภายหลัง

ทั้งนี้ ให้ผู้ให้บริการรายใหม่มีภาระในการพิสูจน์เหตุในการปฏิเสธคำขอโอนย้ายดังกล่าวจนเป็นที่พอใจแก่คณะกรรมการว่าการปฏิเสธสิทธิของผู้ใช้บริการมีเหตุจำเป็น หรือมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถโอนย้ายเลขหมายโทรศัพท์ได้ พร้อมทั้งต้องแจ้งเหตุผลของการปฏิเสธเป็นหนังสือให้ผู้ใช้บริการทราบโดยพลัน

 

ประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ฉบับที่ 2)

ข้อ 11 การโอนย้ายผู้ให้บริการต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามวันทำการ นับแต่วันที่ยื่นคำขอ สำหรับกรณีที่มีการยื่นคภขอโดยผู้ใช้บริการรายเดียวกันตั้งแต่ยี่สิบห้าหมายเลขขึ้นไปในคราวเดียวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในยี่สิบวันทำการนับแต่วันที่ยื่นขอ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันควรเฉพาะกรณีเอกสารและหลักฐานข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือไม่ตรงกับข้อมูลผู้ใช้บริการที่แท้จริงในระบบ โดยผู้ให้บริการรายเดิมมีภาระในการพิสูจน์เหตุจำเป็นอันควรดังกล่าว