จุดอ่อนของการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ปัญหา

ในการร้องเรียนเรื่องคุณภาพสัญญาณ ขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนแรกคือการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณว่าเป็นไปตามข้อร้องเรียนหรือไม่ ทั้งนี้มีข้อร้องเรียนที่กล่าวถึงผลกระทบและผลสืบเนื่องจากตรวจสอบคุณภาพสัญญาณ และที่ประชุม กทค. เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณไว้หลายกรณี

กรณีนี้ผู้บริโภคร้องเรียนบริษัท แอดวานซ์ อินเทอร์เน็ต เรโวลูชั่น จำกัด ว่าผู้ร้องใช้บริการ Airnet และไม่สามารถดาวน์โหลดและอัพโหลดข้อมูลด้วยความเร็ว 7 Mbps ตามที่แจ้งไว้ในสัญญาการให้บริการ จึงขอให้บริษัทฯ ลดหย่อนค่าบริการจำนวน 12 รอบบิล และขอให้ กสทช. มีคำสั่งให้บริษัทฯ ปรับปรุงบริการ โดยต้องสามารถดาวน์โหลดและอัพโหลดข้อมูลได้ทุกรูปแบบของข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 2 Mbps ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

จุดที่น่าสนใจอยู่ที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีความเห็นว่า การตรวจสอบสัญญาณของ สำนักงาน กสทช. ที่ระบุว่าคุณภาพสัญญาณไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นคนละช่วงเวลากับที่ร้องเรียน และไม่มีการแจ้งผู้ให้บริการรับทราบพร้อมทั้งเข้าร่วมตรวจสอบด้วย ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากในทางปฏิบัติผู้ให้บริการสามารถเพิ่มสัญญาณมากขึ้นในช่วงที่มีการตรวจสัญญาณ ทำให้ผลการตรวจสอบที่ได้ไม่ตรงกับข้อร้องเรียน

เมื่อเข้าสู่ที่ประชุม กทค. กสทช. รศ. ประเสริฐฯ แสดงความเห็นว่าการวัดสัญญาณต้องเป็นค่าเฉลี่ย ต้องวัดหลายครั้งเพื่อหาค่าเฉลี่ย ส่วน กสทช. ประวิทย์ฯ แสดงความเห็นว่า ทางสำนักงาน กสทช. ดำเนินการวัดสัญญาณหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จึงย่อมพบว่าสัญญาณเป็นปกติ แต่ตามคำร้อง ผู้ร้องได้ติดต่อกับทางบริษัทฯ และบริษัทฯ ตอบมาแล้วว่าบริษัทฯ มีการจำกัดความเร็วดาวน์โหลดไม่เกิน 1 Mbps สำนักงาน กสทช. จึงควรต้องตรวจสอบว่า มีการจำกัดความเร็วอินเทอร์เน็ตตามที่ผู้ร้องอ้างหรือไม่ หากเกิดเหตุดังกล่าวจริง ก็ถือว่าผิดสัญญา

ข้อพิพาทนี้ ท้ายที่สุดบริษัทฯ ยินยอมเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องด้วยการลดหย่อนค่าบริการ จำนวน 12 รอบบิล