โทรศัพท์ระบบเติมเงิน เงินในระบบถูกกำหนดวันหมดอายุได้หรือไม่/ยึดเงินยึดเบอร์ได้หรือไม่

ข้อร้องเรียนเรื่องการกำหนดวันใช้บริการในโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน (Prepaid) เป็นข้อร้องเรียนที่มีผู้ร้องเรียนจำนวนมาก จากการรวบรวมข้อมูลเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กทค. ระหว่าง พฤษภาคม 2554 – สิงหาคม 2560 มีจำนวน 79 ราย โดยข้อร้องเรียนมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ดังนี้

  • บริษัทฯ กำหนดระยะเวลาการใช้งาน
  • เมื่อไม่ได้เติมเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด จะถูกระงับการบริการและยึดเงินคงเหลือในระบบ
  • บริษัทฯ นำหมายเลขโทรศัพท์ไปจำหน่าย ก่อนกำหนดระยะเวลา 180 วัน

แนวทางหรือหลักการในการพิจารณาข้อร้องเรียนของ กทค.นั้น อิงกับประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 11 ที่ระบุว่า “จะต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด”

แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลง โดยที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 มีมติให้ผู้ให้บริการมีสิทธิกำหนดระยะเวลาของเงินเติมได้ โดยให้เติมเงินได้ทุกมูลค่า แต่ละครั้งมีระยะเวลาใช้งานไม่น้อยกว่า 30 วัน และให้นับรวมวันใช้งานที่เหลืออยู่ได้ โดยให้มีระยะเวลาสะสมสูงสุด 365 วัน และห้ามมิให้บริษัทฯ กำหนดวันใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่กับจำนวนเงินคงเหลือในระบบของผู้ใช้บริการที่มีเงินคงเหลือในระบบก่อนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 หรือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 (ซึ่งเป็นวันที่ประกาศ กทค. มีผลบังคับใช้)

จึงหมายความว่าหากข้อร้องเรียนเกิดขึ้นก่อนมติ กทค. ข้างต้นมีผลบังคับใช้ บริษัทฯ ไม่มีสิทธิกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ และหากละเมิดคำสั่งดังกล่าว ที่ประชุม กทค. จะมีความเห็นที่เป็นบรรทัดฐาน คือให้บริษัทฯ คืนหมายเลขโทรคมนาคมให้แก่ผู้ร้องเรียน พร้อมทั้งคืนเงินคงเหลือเข้าสู่ระบบโดยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และเพื่อเป็นการเยียวยาผู้บริโภคให้คืนเลขหมายโทรคมนาคมเดิม หากไม่สามารถคืนได้ ให้จัดหาหมายเลขโทรคมนาคมอื่นที่ใกล้เคียงกันให้ผู้ร้องเรียน

อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาข้อร้องเรียนพบว่า ส่วนใหญ่เหตุการณ์ขึ้นก่อน มติ กทค. ครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 มีผลบังคับใช้ แต่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของ กทค. ในภายหลัง โดยบางกรณีเข้าสู่การพิจารณา กทค. 3 ครั้ง และเรื่องยุติในปี พ.ศ. 2559 (กรณียึดเงินซิม 30 เลขหมาย) ส่วนข้อร้องเรียนภายหลัง มติ กทค. ครั้งที่ 5/2556 มีกรณีเดียวคือการพิจารณาเงื่อนไข “ซิมคงกระพัน” “ซิมม่วนซื่นทั้งปี”

ตัวอย่างข้อร้องเรียน

 

ผู้ร้องเรียน 8 ราย ถูกกำหนดวันใช้งาน/ยึดเงินในระบบ/นำเลขหมายไปจำหน่ายก่อน 180 วัน

เนื่องจากเป็นข้อร้องเรียนลักษณะเดียวกัน สำนักงาน กสทช. จึงรวบรวมเพื่อเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาในวาระเดียวกันครั้งละหลายราย เช่น ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 5/2554 มีการพิจารณาเรื่อง พิจารณาเรื่องผู้ร้องเรียน 3 วาระ จำนวน 8 ราย, 6 ราย และ 5 รายตามลำดับ โดยร้องเรียนว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กำหนดระยะเวลาการใช้งาน และเมื่อไม่ได้เติมเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ถูกยึดเงินคงเหลือในระบบ และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้นำหมายเลขโทรศัพท์ไปจำหน่าย ทั้งที่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 180 วัน

กรณีนี้ที่ประชุม กทค.  พิจารณาตามหลักกฎหมายเรื่องห้ามมีข้อกำหนดให้ผู้ใช้บริการภายในเวลาที่กำหนด และมีมติให้ผู้ถูกร้องเรียนคืนหมายเลขโทรคมนาคมให้แก่ผู้ร้องเรียน พร้อมทั้งคืนเงินคงเหลือเข้าสู่ระบบ หากไม่สามารถคืนเลขหมายโทรคมนาคมเดิมได้ ให้จัดหาหมายเลขโทรคมนาคมอื่นที่ใกล้เคียงกันให้ผู้ร้องเรียน

 

รู้สิทธิ

การให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการล่วงหน้า ถ้าจะมีข้อกำหนดลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งในการอนุญาต กสทช. มีข้อกำหนดว่า ในการเติมเงินเข้าสู่ระบบของผู้ให้บริการในปัจจุบันทุกมูลค่า ผู้ใช้บริการจะต้องได้รับระยะเวลาใช้งานไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยมีระยะเวลาการสะสมวันสูงสุดอย่างน้อย 365 วัน

ทั้งนี้หมายถึงว่า ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานได้อย่างน้อย 30 วัน ด้วยการเติมเงินในจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จะเติมได้ ซึ่งแตกต่างจากแบบแผนเดิมที่ผู้ให้บริการเคยกำหนดอัตราไว้ที่ประมาณ 30 วันต่อ 300 บาท หรือประมาณ 10 บาทสำหรับการได้รับวันใช้งาน 1 วัน ซึ่งทำให้เกิดสภาพของการบังคับให้เร่งรัดการใช้งานเพื่อให้เงินหมดในเวลาที่กำหนด

 

ถูกยึดเงินในระบบ 300 บาท ใช้เวลาร้องเรียน 3 ปี จึงได้เงินคืน

ผู้ร้องเรียนที่ใช้โทรศัพท์ระบบเติมเงินรายหนึ่ง ถูกยึดเงินคงเหลือในระบบจำนวน 300 บาท  โดยยื่นข้อร้องเรียนจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกร้องเรียนต่อสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2552 ซึ่งต่อมาบริษัทฯ ได้แจ้งแก่ผู้ร้องเรียนว่าจะคืนเงินคงค้างในระบบ จำนวน 300 บาทให้ ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ผู้บริโภคได้ร้องเรียนกับสำนักงานกสทช. ในประเด็นปัญหาเดิม เนื่องจากยังไม่ได้รับคืนเงินในระบบตามที่บริษัทฯ อ้างว่าจะคืนให้ ผู้ร้องจึงขอให้บริษัทฯ คืนเงิน 300 บาทพร้อมดอกเบี้ย 3 ปี และชดใช้ค่าเสียหายในการเดินทางมาร้องเรียนและไม่สามารถติดต่อกับผู้อื่นผ่านทางโทรศัพท์เลขหมายเดิมได้ คิดเป็นเงินจำนวน 10,390 บาท

ในขั้นตอนพิสูจน์ข้อเท็จจริง บริษัทฯ แจ้งแก่สำนักงาน กสทช. ว่า ยินดีคืนเงินจำนวน 300 บาทแก่ผู้ร้องเรียน แต่ผู้บริโภคมีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ปฏิเสธการรับเงินดังกล่าว และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 10,390 บาท ต่อมามีการประชุมไกล่เกลี่ย 3 ฝ่าย คือ ผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน และสำนักงาน กสทช. แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้

เมื่อเรื่องร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณาของ กทค. ในประชุมครั้งที่ 7/2557 กทค. ได้มีมติ ว่าเงินจำนวน 300 บาทเป็นการเก็บค่าบริการล่วงหน้า และบริษัทฯ ไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า ให้บริษัทฯ คืนเงิน จำนวน 300 บาท พร้อมดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยคำนวณนับจากวันที่ผู้ร้องเรียนได้ชำระค่าบริการเมื่อเดือนธันวาคม 2552 ให้แก่บริษัทฯ ไปจนถึงวันที่บริษัทฯ ได้ชำระต้นเงินค่าบริการคืนแก่ผู้ร้องเรียน ส่วนคำขอให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 10,390 บาท กทค. ไม่มีอำนาจสั่งการ

 

รู้สิทธิ

เมื่อสัญญาเลิกกัน ในกรณีที่บริษัทฯ มีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ บริษัทต้องคืนเงินนั้นให้แก่ผู้ใช้บริการ การคืนเงินอาจคืนเป็นเงินสด เช็ค นำเข้าบัญชีเงินฝาก หรือถ่ายโอนมูลค่าที่เหลืออยู่ไปยังเลขหมายใหม่ได้ในกรณีที่เป็นผู้ให้บริการรายเดิม

กรณีบริษัทไม่สามารถคืนเงินค้างชำระให้แก่ผู้ใช้บริการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดผู้ให้บริการต้องชำระค่าเสียประโยชน์ในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ให้บริการคิดจากผู้ใช้บริการกรณีผู้ใช้บริการผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการแก่ผู้ให้บริการ แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ใช้บริการที่จะเรียกค่าเสียหายอย่างอื่น อย่างไรก็ตาม กสทช. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องการชดใช้ค่าเสียหาย

 

ผู้ขายซิมถูกยึดเงินในระบบจำนวน 30 หมายเลข รวม 11,615 บาท แต่บริษัทอ้างมีแค่ 135 บาท

กรณีร้องเรียนนี้ต่างจากข้อร้องเรียนถูกยึดเงินในระบบและยกเลิกบริการอื่น ๆ เนื่องจากผู้ร้องรายเดียวครอบครองหมายเลขโทรศัพท์จำนวน 30 หมายเลข และเป็นผู้ขายเบอร์โทรศัพท์ ดังนั้นจึงไม่มีการลงทะเบียนเป็นเจ้าของหมายเลข โดยผู้ร้องแจ้งว่ามีเงินคงเหลือในระบบ 11,615 บาท ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลของบริษัทที่มีเงินคงเหลือ 135 บาท

หลักฐานสำคัญในการพิจารณาเรื่องนี้คือประวัติการการใช้งานและการเติมเงินของโทรศัพท์แต่ละเลขหมาย แต่พบว่าแม้ข้อร้องเรียนนี้จะเข้าสู่ที่ประชุม กทค. 3 ครั้ง (ครั้งที่ 36/2556, 23/2557, 8/2559) รวมระยะเวลา 3 ปี ในการประชุม กทค. แต่ละครั้ง บริษัทชี้แจงหลักฐานเพียงว่าเลขหมายของผู้ร้องเรียนอยู่ในระบบชำระค่าบริการล่วงหน้า ซึ่งผู้ใช้บริการไม่ได้ลงทะเบียนแสดงตนและมียอดค่าบริการคงเหลือไม่ตรงกับที่ผู้ร้องเรียนแจ้ง โดยมีตัวเลขเงินคงเหลือสุดท้ายคือ 135 บาท

ดังนั้นเมื่อเรื่องเข้าสู่ที่ที่ประชุม กทค. ครั้งหลังสุด ที่ประชุม กทค.จึงก็มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ให้ส่งเอกสารหลักฐานรายละเอียดการเติมเงินและการใช้งานของ 30 เลขหมาย ภายใน 60 วัน หากไม่มีข้อเท็จจริงปรากฎ ให้บริษัททรู มูฟ จำกัด คืนเงินตามจำนวนที่ผู้ร้องร้องขอ เนื่องด้วยตามประกาศ กสทช. กำหนดไว้ชัดเจนให้ภาระพิสูจน์ค่าบริการเป็นของบริษัทฯ

เราสามารถดูวิธีการจัดการกับข้อร้องเรียนของบริษัทฯ ได้ผ่านบันทึกเสนอความคิดเห็นของ กสทช. ประวิทย์ ในการประชุม กทค.ครั้งที่ 23/2557 ดังนี้

“หลักฐานของบริษัทฯ ที่เสนอมาใหม่นั้นไม่แตกต่างจากที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอต่อที่ประชุม กทค. เมื่อ 2 ปีก่อน สิ่งที่ กทค. ต้องการคือหลักฐานการใช้งานหรือรายละเอียดการเติมเงิน เพื่อจะดูว่าเงินคงเหลือถูกต้องหรือไม่ แต่บริษัทฯ ส่งมาเพียงยอดคงเหลือสุดท้ายเช่นเดิม ในขณะที่ผู้ร้องรายนี้มีความแตกต่างจากผู้ร้องรายอื่น สันนิษฐานว่ามีอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจซิม และข้อมูลการเติมเงินจะถูกส่งมาเป็น USSD แล้วข้อความก็จะหายไป ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีหลักฐาน แต่มีบัญชีซิมที่จดเงินคงเหลือ และมีข้อสังเกตดังนี้

  1. ผู้ร้องมีการบันทึกเงินคงเหลือของทุกซิมที่ถืออยู่ และข้อมูลตรงกับทางบริษัทฯ 45 เลขหมาย เศษสตางค์ก็ตรง แสดงว่าผู้ร้องเก็บหลักฐานจริง
  2. การที่ผู้ร้องไม่แสดงหลักฐานเพิ่มเติม เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีระบบให้ผู้ใช้บริการเก็บบันทึกได้ เช่น ไม่มี SMS แจ้ง ดังนั้นการที่บริษัทฯ บอกว่าผู้ร้องไม่มีหลักฐานนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ฟังไม่ขึ้น แต่จากลักษณะบัญชีของผู้ร้องแสดงให้เห็นว่าเป็นการทำบัญชีอย่างรอบคอบ ดังนั้นน้ำหนักข้อมูลของผู้ร้องมีความน่าเชื่อถือ และมติ กทค. เดิมที่ว่าให้คืนเงินแก่ผู้ร้องยังคงอยู่”

 

รู้สิทธิ

ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงและแจ้งข้อมูลให้ผู้ใช้บริการทราบไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำขอ หากผู้ให้บริการไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือว่าสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าบริการนั้น

 

“ซิมคงกระพัน” “ซิมม่วนซื่นทั้งปี” กำหนดวันใช้สูงสุด 42 วัน ถือว่าผิด เพราะกฎหมายกำหนด  365 วัน

นอกเหนือจากการพิจารณาว่าผู้ให้บริการทำตามหลักการการไม่กำหนดวันใช้บริการในรายการส่งเสริมการขายที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว กสทช. ยังมีหน้าที่พิจารณาเงื่อนไขโปรโมชั่นใหม่ สำหรับใช้ในโทรศัพท์ระบบ Prepaid ก่อนออกสู่ตลาดด้วย ว่าผิดกฏหมายเรื่องการกำหนดวันใช้บริการหรือไม่ เช่น กรณีบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เสนอเงื่อนไขซิมการ์ด “ซิมคงกระพัน” และ “ซิมม่วนซื่นทั้งปี” โดยให้ระยะเวลาใช้งาน 42 วัน ทุกครั้งที่มีการเติมเงินเข้าสู่ระบบและทุกมูลค่าการเติมเงิน และบริษัทจะนับระยะเวลาการใช้งานที่ผู้ใช้บริการได้รับรวมกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ รวมระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 42 วัน ซึ่งกรณีนี้ประชุม กทค. ครั้งที่ 19/2557 มีมติไม่เห็นชอบ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่กำหนดให้ผู้ใช้บริการสะสมวันได้สูงสุดไม่เกิน 365 วัน

 

รู้สิทธิ

การเติมเงินเข้าสู่ระบบของผู้ให้บริการในทุกมูลค่า จะต้องได้รับระยะเวลางานไม่น้อยกว่า 30 วัน และมีระยะเวลาสะสมสูงสุด 365 วัน

 

โปร “ใจดีแจกวัน” ตั้งเงื่อนไขแลกวันใช้งาน ทำได้หรือไม่?

กรณีนี้ผู้บริโภคร้องเรียนบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งเงื่อนไขการใช้บริการเสริม “บริการใจดีแจกวัน” ว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในการโทร ส่ง SMS-MMS บริการอินเทอร์เน็ต รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 200 บาท ในรอบเดือนนั้น จึงจะได้รับแจกวันใช้บริการเพิ่ม ผู้ร้องเรียนเห็นว่าเป็นเงื่อนไขการใช้บริการไม่เป็นธรรม จึงมีคำขอให้บริษัทฯ ยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว

บริษัทฯ ชี้แจงยืนยันว่าบริการใจดีแจกวันเป็นบริการที่ซื้อวันใช้งานเพิ่มเพื่อขยายระยะเวลาการใช้บริการ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมียอดใช้งานสะสมตั้งแต่เปิดใช้บริการเลขหมายตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป  และเกิดจากยอดการใช้งานสะสมจากกระเป๋าหลักเท่านั้น และต้องมียอดเงินคงเหลือต่อบริการตามอัตรค่าบริการที่จะขอใช้บริการ เช่น 2 บาทต่อการใช้บริการ 30 วัน

กรณีนี้ทั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 31/2559 มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ผู้ร้องเรียนสมัครใช้บริการตามรายการส่งเสริมการขาย ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้บริการตามเงื่อนไขการให้บริการ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องเรียนจะต้องผูกพันตามเงื่อนไขการให้บริการ ตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2559  ตามข้อ 8 ดังนั้น จึงไม่อาจพิจารณาขอให้ยกเลิกเงื่อนไขตามคำขอของผู้ร้องเรียนได้

 

รู้สิทธิ

สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ

การเติมเงินเข้าสู่ระบบของผู้ให้บริการในทุกมูลค่า ผู้ใช้บริการจะต้องได้รับระยะเวลาใช้งานไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยมีระยะเวลาการสะสมวันสูงสุดอย่างน้อย 365 วัน

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

ข้อ 11 การให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเป็นการล่วงหน้าจะต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ผู้ให้บริการจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า ทั้งนี้คณะกรรมการอาจกำหนดเงื่อนไขการให้บริการประกอบด้วยก็ได้ เช่น การถ่ายโอนมูลค่าที่เหลืออยู่ การคืนเงินค่าบริการในส่วนที่ไม่ได้ใช้บริการ การกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการใช้บริการ การขึ้นทะเบียน ชื่อที่อยู่ของผู้ใช้บริการ เป็นต้น ในการนี้คณะกรรมการอาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะหรือรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคด้วยก็ได้

 

มติที่ประชุมกทค. ครั้งที่ 5/2556 วันที่ 29 มกราคม 2556 เห็นชอบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคมในลักษระที่เป็นการเรียกเก็บค่าบริการเป็นการล่วงหน้าตามข้อ 11 ของกสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ดังนี้

  • การเติมเงินเข้าสู่ระบบของผู้ให้บริการในทุกมุลค่าที่เคยให้บริการอยู่ก่อน และ/หรือที่จะให้บริการ ผู้ใช้บริการจะต้องได้รับระยะเวลางานไม่น้อยกว่า 30 วัน
  • การเติมเงินเข้าสู่ระบบของผู้ให้บริการทุกครั้ง ให้นับรวมระยะเวบาการใช้งานที่ได้รับกับระยะเวลาที่ยังคงเหลืออยู่ ญาตภายใต้สัญญาสัมปทาน ระยะเวลาการสะสมวันจะต้องไม่เกินระยะเวลาของอายุของสัญญาสัมปทานที่เหลืออยู่
  • กรณีที่ผู้ให้บริการมีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการเมื่อสัญญาเลิกกัน ให้เป็นไปตามข้อ 34 ของประกาศกทช. เรื่องมาตรฐานชองสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ทั้งนี้ผูให้บริการอาจกำหนดเงื่อนไขให้สามารถโอนเงินค่าบริการที่ชำระล่วงหน้าไว้ไปยังเลขหมายอื่นที่อยู่ภายในโครงข่ายเดียวกันด้วยก็ได้

หมายเหตุ: การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคทางด้านกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงาน กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ถอดบทเรียนตั้งแต่การประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2554 จนถึงการประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2560