จากข้อร้องเรียนถึง กสทช. สู่ศาลสถิตยุติธรรม …กรณีการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมบ้านน้ำแวน จังหวัดพะเยา

กรณีการตั้งสถานีวิทยุใกล้บ้านหรือชุมชนแล้วมีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กสทช. และในระหว่างอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ข้อร้องเรียนของ กสทช. ผู้ร้องเรียนนำเรื่องเดียวกันไปยื่นฟ้องต่อศาล อันทำให้สำนักงาน กสทช. ยุติข้อร้องเรียนเพราะขัดกับข้อกฎหมายเรื่อง กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล มี 3 กรณี  ในที่นี้ของยกตัวอย่างกรณีบ้านน้ำแวน จังหวัดพะเยา

ข้อร้องเรียนเรื่องบ้านน้ำแวนเริ่มต้นขึ้นในระหว่างการสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการประชุมสายงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กสทช. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555   ที่จังหวัดพะเยา เมื่อประชาชนบ้านน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ได้ยื่นหนังสือและจดหมายเปิดผนึกถึงประธาน กสทช. ขอให้พิจารณาให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ย้ายสถานีวิทยุคมนาคมบริเวณ บ้านน้ำแวน ออกห่างจากชุมชนอย่างน้อย 400 เมตร  เนื่องจากได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ และต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้มีหนังสือขอให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว

จากการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของ สำนักงาน กสทช. พบว่า สถานีวิทยุคมนาคมนี้ได้รับใบอนุญาตติดตั้งก่อนประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคมมีผลบังคับใช้ จึงไม่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน และผลการตรวจวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในพื้นที่พบว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม พบว่าบริษัทฯ เปิดใช้งานสถานีวิทยุก่อนได้รับใบอนุญาต ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้เปรียบเทียบปรับและบริษัทฯ จ่ายค่าปรับเรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีเหตุเพิกถอนใบอนุญาต นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ให้ข้อสังเกตว่า สถานีวิทยุฯ ดังกล่าวมีขอบเขตพื้นที่ให้บริการ (Site’s Covergage Area) ในระยะ 4.4 กิโลเมตรโดยรอบ โดยมีจำนวนผู้ใช้งานสูงสุดในหนึ่งชั่วโมงประมาณ 3,800 คน หากมีการระงับการให้บริการอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเหล่านี้ได้

เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 5/2556  ที่ประชุมมีมติให้สำนักงาน กสทช. เสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อความเข้าใจของประชาชน รวมถึงข้อกฏหมาย และพิจารณาอำนาจหน้าที่ในการชะลอการแพร่ภาพสัญญาณ และให้สำนักงาน กสทช. จัดตั้งคณะทำงานร่วม ระหว่างผู้ร้องเรียน ผู้ประกอบการ สำนักงาน กสทช. และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งภายหลังจากที่มีการตั้งคณะทำงานร่วม ก็ได้มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชน ตรวจวัดการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบของการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมถึงกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขยังได้จัดส่งรายงานสรุปการสอบสวนกรณีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าชาวบ้านมีอาการในกลุ่ม Non-Specific Health Symptoms หลายอาการ เช่น ความเครียด สมรรถภาพความจำ แต่ไม่อาจระบุชัดว่าสาเหตุเกิดจากสถานีวิทยุคมนาคมหรือไม่ แต่เห็นว่าควรมีการจัดการด้านการดูแลจิตใจของชาวบ้านในชุมชน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงไม่ปรากฏความคืบหน้าที่ชัดเจน จนกระทั่งวันที่ 20 มกราคม 2557 ชาวบ้านน้ำแวนได้ยื่นฟ้องกรณีนี้ต่อศาลปกครองเชียงใหม่

ต่อมาคณะทำงานที่ประธาน กสทช. แต่งตั้งจึงมีมติให้สำนักงาน กสทช. ยุติการรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เนื่องจากประกาศ กทช. เรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการระบุไว้ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล  ซึ่งประชุม กทค. ครั้งที่ 14/2557 วันที่ 3 มิถุนายน 2557  มีมติเห็นชอบยุติการพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ข้อร้องเรียนกรณีบ้านน้ำแวนจึงยุติลงเพียงเท่านี้

อันที่จริงมีข้อร้องเรียนหลายกรณีที่มีลักษณะคล้ายกรณีบ้านน้ำแวน เช่น กรณีผู้ร้องเรียนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาร้องเรียนให้บริษัท ทรู มูฟ จำกัด (มหาชน) ระงับการก่อสร้างเสาสถานีวิทยุคมนาคมบริเวณใกล้บ้านเป็นการชั่วคราวจนกว่าข้อพิพาทจะถึงที่สุด และต่อมาผู้ร้องเรียนได้ยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช. ต่อศาลปกครองนครราชสีมา ว่าปฏิบัติงานล่าช้าและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 11/2557 ได้มีมติไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นเรื่องร้องเรียน โดยให้เหตุผลว่ากรณีร้องเรียนดังกล่าวในการพิจารณาคดีของศาลปกครองนครราชสีมา

นอกจากนี้ยังมีกรณี ข้อร้องเรียนบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมที่บ้านห้วยน้ำขาว จังหวัดพะเยา ที่สำนักงาน กสทช. ได้รับเป็นเรื่องร้องเรียนแล้ว ต่อมาภายหลังผู้ร้องได้ฟ้องร้องบริษัทฯ ต่อศาลจังหวัดพะเยา ดังนั้นที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 32/2555 จึงมีมติให้สำนักงาน กสทช. ยุติเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เนื่องจากกรณีนี้อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดพะเยา แต่ไม่ได้มีมติในประเด็นทบทวนมาตรฐานการแพร่กระจายคลื่นสัญญาณโทรศัพท์เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอให้สำนักงาน กสทช. (รท.)  เป็นผู้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี ในกรณีจุดลงเอยของบ้านน้ำแวน พบว่าภายหลังจากไม่สามารถพึ่งพากระบวนการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานกำกับดูแลได้ สุดท้ายคู่กรณีคือบริษัทฯ และชุมชนได้มีการเจรจากัน โดยบริษัทฯ ยินยอมย้ายสถานีวิทยุคมนาคมไปยังที่ตั้งใหม่ที่ชุมชนเลือกพื้นที่ให้

 

หมายเหตุ: การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคทางด้านกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงาน กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ถอดบทเรียนตั้งแต่การประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2554 จนถึงการประชุม กทค. ครั้งที่ 16/2560