ทำประชาพิจารณ์คูปอง,เตรียมปล่อยช่องดาวเทียมพร้อมเตือนหากทำผิดกม.โฆษณาอาหาร – ยา, ผังรายการ, ช่องเด็ก

ประกอบ 1
ลุ้น ! ทำประชาพิจารณ์คูปอง/เตรียมปล่อยช่องดาวเทียมพร้อมเตือนหากทำผิดกม.โฆษณาอาหาร – ยา

จับตาบอร์ด กสทช.ประชุม 23 มิย. นี้ // เช้าบอร์ดกสท. เตรียมปล่อยช่องดาวเทียมที่เหลือ พร้อมเตือน!หากเจอการทำผิดกฎหมายโฆษณาอาหาร – ยา โทษหนักขึ้น //บ่าย กสทช.นัดพิเศษ ลุ้นทำประชาพิจารณ์ และพิจารณาโครงการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลประเทศไทย//สุภิญญา เสนอ เปิดราคาต้นทุนและค่าบริหารจัดการ พร้อม ข้อดี – ข้อเสียกล่องแต่ละประเภทให้สาธารณะก่อนตัดสินใจ

วันจันทร์ 23 มิ.ย. 57 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 27/57 มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ การพิจารณาแจ้งยืนยันการประกอบกิจการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ หรือ ทีวีดาวเทียมที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ภายหลังการอนุญาตตามประกาศ คสช. ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า “เมื่อวันศุกร์ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด ได้แก่ ชุดไม่ใช้คลื่นความถี่ ชุดผังรายการและเนื้อหารายการ และชุดคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณาข้อมูลสถานีโทรทัศน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกฎหมาย เพื่อประกอบการพิจารณายืนยันเป็นช่องรายการแบบบอกรับสมาชิก ในการตรวจเทปย้อนหลัง ของสำนักงานได้มีเจ้าหน้าที่จาก อย. กระทรวงสาธารณสุข และ อาจารย์จากคณะเภสัช จุฬาฯ มาร่วมตรวจสอบ พบเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มที่ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และกลุ่มที่มีการกระทำที่เข้าข่าย แต่ไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรง เบื้องต้นคณะอนุกรรมการเห็นว่าควรให้โอกาสในการปรับตัวให้มีการดำเนินการได้อย่างถูกต้องภายใต้เงื่อนไขโดยทั่วไป 58 ช่อง กลุ่มที่ 2 พบการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจน เห็นควรมีมาตรการให้สำนักงาน กสทช. หารือ ตักเตือนช่องรายการดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดแนวทางการปรับตัวให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง จำนวน 42 ช่อง และกลุ่มที่ 3 ช่องที่ขอยกเลิกการประกอบกิจการ จำนวน 1 ช่อง นอกจากนี้ยังมีช่องรายการอื่นๆ ที่ส่งเอกสาร หลักฐาน ไม่ถูกต้อง จึงได้ประสานเพื่อให้จัดส่งใหม่ อีก 19 ช่อง และช่องที่อยู่ระหว่างการส่งเอกสาร หลักฐาน เพื่อการพิจารณา 21 ช่อง ซึ่งหากช่องดาวเทียมช่องไหนที่ไม่มีการกระทำผิดเรื่องโฆษณาอาหารและยา หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ คาดว่าวันจันทร์นี้จะได้รับการพิจารณาให้สามารถกลับมาออกอากาศได้อีก ส่วนช่องไหนยังไม่ได้รับการพิจารณา สำนักงานมีแผนจะเชิญผู้ประกอบการมาทำความเข้าใจ และทำข้อตกลงปรับผังรายการให้ถูกกฎหมายต่อไป ส่วนช่องที่เคยทำผิดกม.มาก่อนจะถูกหมายเหตุไว้ในเงื่อนไขการคืนสิทธิ์ด้วย เพราะหลังการได้รับสิทธิไปแล้วหากพบการโฆษณา หรือรายการที่ทำผิดอีกจะมีมาตรการดำเนินการทางปกครองที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งสาธารณะสามารถช่วยเฝ้าระวังและร้องเรียนเข้ามาได้ รวมทั้งช่องทีวีการเมืองอย่าง T News แม้ได้รับการปลดล็อกแล้ว แต่เนื่องจากเคยพบเรื่องร้องเรียนโฆษณาที่ผิดกฎหมาย อย. ก็จะมีหมายเหตุห้ามทำผิดอีก เช่นกัน ส่วนช่องจอสีการเมืองที่ถูกสั่งระงับ อย่างไรต้องรอ สำนักงาน กสทช. หารือกับ คสช.ก่อนเพราะติดประกาศฉบับที่ 15…”

ส่วนวาระอื่น กสท. น่าจับตา ได้แก่ การอนุมัติผังรายการทีวีดิจิตอลเพิ่มเติม 2 ช่อง วาระการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. … วาระสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและแนวทางดาเนินการต่อร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วย หลักเกณฑ์กำกับดูแลการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จานวน 2 ฉบับ และวาระการตรวจสอบแบบสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 …ผลเป็นอย่างไร ชวนจับตา

และช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีการประชุมบอร์ด กสทช.นัดพิเศษ จะมีการพิจารณาเรื่อง โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ(กทปส.) ดังนี้ หนังสือถึงประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ในการขอความอนุเคราะห์ข้อมูลและเอกสารประกอบโครงการฯเพิ่มเติม รายงานการประเมินราคากล่อง Set Top Box และสายอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของคณะทำงานฯ รวมถึงข้อสังเกตต่างๆจากการประชุมกลุ่มย่อยฯ หนังสือถึงคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ในการขอความอนุเคราะห์ข้อมูลราคากล่องแปลงสัญญาณทีวีระบบดิจิตอล พร้อมทั้งหนังสือชี้แจงข้อมูลของคณะกรรมการฯภาคประชาชน มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. ในการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายของโครงการฯ นอกจากนี้พิจารณาการดำเนินการที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามมติคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. หรือไม่

ซึ่ง นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า “การพิจารณาครั้งนี้มีการรวบรวมความคิดเห็นข้อมูลในหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ รายงานการประเมินราคากล่อง Set Top Box และสายอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของคณะทำงานฯ ตามมติคณะกรรมการกองทุน ซึ่งตนเอง ได้เสนอว่าควรมีการเปิดเผยราคาต้นทุน ค่าบริการ และภาระต่างๆที่เกิดขึ้นจากการจัดการต่างๆ ต่อสาธารณะ เพื่อจะได้นำมาประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ได้มีความเห็นเอกฉันท์ว่า การดำเนินโครงการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลนี้เป็นการใช้อำนาจในเชิงของการกำกับดูแลที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและของประชาชนจึงต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นสาธารณะ ตามมาตรา 28 แห่ง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 รวมทั้งการกำหนดราคากลางของอุปกรณ์เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดมูลค่าคูปองให้เหมาะสม ในประเด็นข้อกฎหมายที่อยู่ในการดูแลและบังคับใช้ ซึ่งสำนักงานควรหารือจากคณะกรรมการ ปปช. ต่อไป และประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง…”

“…การจัดทำประชาพิจารณ์จะเป็นโอกาสในการนำข้อมูลสำคัญ เช่นต้นทุนราคา และ ข้อดีข้อเสียของกล่องภาคพื้นดิน ดาวเทียมมาถกเถียงกัน รวมทั้งวิธีการแจกที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ให้ชาวบ้านช่วยเสนอแนะ ใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการสร้างความตื่นตัวของผู้บริโภค และยังช่วยแก้ความเข้าใจผิดเรื่องมิจฉาชีพลวงด้วย…” สุภิญญา กล่าว