จับตาวาระ กสทช. ครั้งที่ 9/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 9/2560 วันพุธที่ 9 สิงหาคม 2560 สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาหลักการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ก่อนที่จะนำไปจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและจัดทำเป็นร่างประกาศ กสทช. ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งกระบวนการหลังจากนั้น ก็จะนำร่างประกาศดังกล่าวเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำไปรับฟังความเห็นสาธารณะตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของหลักการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ฯ นั้น กำหนดให้การให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ในรูปแบบ OTT ทั้งการให้บริการโครงข่าย (OTT Platform) และการส่งข่าวสารหรือรายการที่เป็นเสียงหรือภาพและเสียงไปสู่สาธารณะ (OTT Service) เป็นรูปแบบหนึ่งภายใต้ลักษณะการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ โดยขั้นตอนการเป็นผู้รับอนุญาต กำหนดให้ผู้ให้บริการในรูปแบบ OTT ต้องแจ้งการให้บริการต่อ กสทช. ส่วนแนวทางที่จะใช้กำกับดูแล กำหนดให้ยกเว้นไม่นำเอาหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเรื่องการหารายได้ ค่าธรรมเนียม การโฆษณา การเผยแพร่รายการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป การเผยแพร่รายการโทรทัศน์ที่สำคัญ การจัดลำดับช่องรายการ การจัดทำผังรายการ และการจัดระดับความเหมาะสม มาบังคับใช้

นอกจากนี้ ยังมีวาระที่น่าสนใจที่สำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานให้ที่ประชุมทราบ คือเรื่องรายงานสภาพตลาดกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยในส่วนของสภาพตลาดกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ณ เดือนมิถุนายน 2560 พบว่าผู้ชมส่วนใหญ่ร้อยละ 86.8 รับชมโทรทัศน์ผ่านระบบภาคพื้นดิน มีเพียงร้อยละ 13.2 ที่รับชมผ่านระบบเคเบิ้ลและดาวเทียม สำหรับสัดส่วนผู้ชมช่องรายการดิจิตอลที่เป็นช่องรายการใหม่เมื่อเทียบกับช่องรายการเดิม พบสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 57.1 ต่อ 42.9 โดยช่องรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด ยังคงเป็นช่อง 7 ตามมาด้วยช่อง 3 ช่อง Workpoint TV และช่อง MONO29 ตามลำดับ ส่วนมูลค่าการโฆษณาในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน พบว่าในเดือนมิถุนายน 2560 มียอดรวมประมาณ 5,087 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 517 ล้านบาท และลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2559 ประมาณ 1,202 ล้านบาท

ขณะที่สภาพตลาดกิจการกระจายเสียงของไทย จากการสำรวจข้อมูลผู้รับฟังวิทยุในระบบเอฟ.เอ็ม. จำนวน 40 สถานี ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าในเดือนมิถุนายน 2560 มีผู้รับฟังวิทยุจำนวนประมาณ 10.474 ล้านคน โดยคนส่วนใหญ่ร้อยละ 57 รับฟังวิทยุที่บ้าน รองลงมาร้อยละ 32 ฟังวิทยุในรถ และร้อยละ 18 รับฟังวิทยุในที่ทำงาน ซึ่งก็พบว่าประชาชนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังนิยมรับฟังผ่านทางเครื่องรับวิทยุถึงกว่าร้อยละ 74 ตามมาด้วยการฟังผ่านทางโทรศัพท์มือถือร้อยละ 25 และผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 1 สำหรับข้อมูลในเรื่องมูลค่าโฆษณา พบว่าในเดือนมิถุนายน 2560 มีมูลค่าโฆษณารวมประมาณ 379.2 ล้านบาท แม้ว่าจะมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้านั้นประมาณ 11 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงของเดือนเดียวกันในปี 2559 กลับพบว่ามีมูลค่าลดลงถึงกว่า 79 ล้านบาท

อนึ่ง สำนักงาน กสทช. ได้บรรจุวาระเพิ่มเติมในเช้าวันประชุมเพื่อให้ กสทช. พิจารณาจำนวน 47 วาระ ตามเอกสารวาระเล่มที่ 4, 5 และ 6