จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 14/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 14/2560 บ่ายวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2560 มีวาระที่น่าจับตาหลายเรื่อง โดยเฉพาะวาระเพื่อพิจารณาเรื่องแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2560 – 2564) หรือแผน USO ภายใต้กรอบวงเงิน 45,456.63 ล้านบาท และการพิจารณาปรับลดการจัดเก็บอัตราค่าธรรมเนียม USO จากที่ในปัจจุบันจัดเก็บจากรายได้ของผู้รับใบอนุญาตร้อยละ 3.75 ต่อปี เหลือร้อยละ 2.25 ต่อปี

ส่วนวาระเรื่องเพื่อทราบ มีวาระที่น่าสนใจ ได้แก่ แนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77, รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2559, รายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม ประจำเดือนเมษายน 2560, และรายงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ประจำเดือนมีนาคม 2560

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการเสนอเรื่องคำขออนุญาตควบรวมกิจการระหว่าง บจ. ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น (TICC) กับ บจ. ทรู อินเทอร์เน็ต (TI) ให้ กทค. พิจารณาด้วย ซึ่ง TICC เป็นผู้ประกอบกิจการในตลาดค้าส่งบริการเข้าถึงบรอดแบนด์ ขณะที่ TI เป็นผู้ประกอบกิจการในตลาดค้าปลีกบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ ดังนั้นการควบรวมกิจการแนวตั้งของบริษัทในเครือนี้ ย่อมทำให้ผู้รับใบอนุญาตมีต้นทุนการให้บริการที่ต่ำลง และมีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น จึงต้องจับตาดูว่า หากภายหลังมีการควบรวมกิจการแล้ว โครงสร้างตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รวมไปถึงมีการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญด้วยหรือไม่

วาระพิจารณาแผน USO (พ.ศ. 2560 – 2564) และอัตราจัดเก็บค่า USO

สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กทค. พิจารณาแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2560 – 2564) หรือแผน USO ภายใต้กรอบวงเงิน 45,456.63 ล้านบาท ประกอบด้วย การขยายโครงข่ายและบริการโทรคมนาคมเพื่อให้ประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 ของประเทศสามารถเข้าถึงสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 661.13 ล้านบาท, สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทุกหมู่บ้าน จำนวน 8,274.85 ล้านบาท, จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วไม่ต่ำกว่า 30/10 Mbps เข้าถึงโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และหน่วยงานรัฐที่ขาดแคลนบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน 11,045.34 ล้านบาท, จัดให้มีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะประจำโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานที่ให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายทางสังคม รวมทั้งยกระดับการให้บริการให้มีมาตรฐานความเร็วไม่ต่ำกว่า 30/10 Mbps จำนวน 12,669.69 ล้านบาท, พัฒนาระบบโทรคมนาคมเฉพาะทางเพื่อคนพิการ จำนวน 1,000 ล้านบาท, สนับสนุนการดำเนินงานเลขหมายพิเศษเพื่อประโยชน์สาธารณะ 10,385.62 ล้านบาท, พัฒนาและสร้างทักษะการใช้งาน ICT และการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต 1,120 ล้านบาท และส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่ออินเทอร์เน็ตแก่นักเรียนและเยาวชน 300 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กทค. พิจารณาปรับลดอัตราจัดเก็บค่า USO จากผู้รับใบอนุญาต ที่ปัจจุบันกำหนดเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่อัตราร้อยละ 3.75 ต่อปีของรายได้ เหลือร้อยละ 2.25 ต่อปีของรายได้ ทั้งนี้เพื่อให้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวสอดคล้องกับแผนดำเนินการ USO และไม่เป็นภาระกับผู้ประกอบการมากจนเกินไป

อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่า ในส่วนของการกำหนดกรอบวงเงินของแต่ละแผนงาน สำนักงาน กสทช. ไม่ได้แจกแจงถึงที่มากรอบวงเงินของแต่ละแผนงานว่าคิดคำนวณขึ้นจากอะไร สัมพันธ์กับเป้าหมายการดำเนินงานและมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างไร ขณะที่ประเด็นการปรับลดอัตราจัดเก็บค่า USO นั้น ก็มีข้อสังเกตว่า ในการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมก่อนนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนั้น กทค. ได้เคยมีมติให้กำหนดเก็บอัตราดังกล่าวที่ร้อยละ 2.5 และไม่นำเงินคงเหลือค่า USO จากแผน USO (พ.ศ. 2555 – 2559) มาสมทบ แต่ปรากฏว่าในการนำแผน USO และอัตราจัดเก็บค่า USO ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ มีการนำยอดเงินคงเหลือจากแผน USO (พ.ศ. 2555 – 2559) จำนวน 13,424.68 ล้านบาทมาสมทบด้วย อีกทั้งภายหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ สำนักงาน กสทช. ก็เสนอ กทค. พิจารณาปรับลดอัตราจัดเก็บค่า USO ลงเหลือเพียงร้อยละ 2.25 แม้จะมีการตัดแผนงานออก 1 โครงการก็ตาม ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แน่ชัดว่าอัตราจัดเก็บค่า USO ที่สำนักงาน กสทช. เสนอ กทค. เพื่อพิจารณาในครั้งนี้เป็นอัตราที่มีความเหมาะสมเพียงใด และจะเพียงพอต่อการดำเนินงานตามภารกิจหรือไม่

—————————-

วาระแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ สืบเนื่องจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 5 เมษายน 2560 ถึงสำนักงาน กสทช . เพื่อแจ้งให้ทราบถึงแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกันปรับปรุงขึ้น ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 และขอให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป

ทั้งนี้ แนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีนั้น กำหนดว่าร่างกฎหมายจะต้องสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงต้องพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558

ส่วนเรื่องการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายนั้น กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ อย่างน้อยต้องรับฟังผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานรัฐไม่น้อยกว่า 15 วัน และในกรณีที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นหรือวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายเพิ่มเติม ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำหนดไว้ตามแนวทางดังกล่าวดำเนินการต่อไป เป็นต้น

อนึ่ง สาระสำคัญของมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า

รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมทั้งยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพของประชาชน นอกจากนี้ ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย นอกจากนี้ รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

—————————-

วาระรายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2559

วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอรายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ให้ที่ประชุม กทค. รับทราบ โดยพอจะสรุปได้ดังนี้

ตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์ประจำที่ภายในประเทศ มีผู้ให้บริการ 3 ราย คือ บมจ. ทีโอที, บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น, และ บมจ. ทีทีแอนด์ที ซึ่ง บมจ. ทีโอที มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด คือร้อยละ 64.4 อย่างไรก็ดี รายได้จากการให้บริการในตลาดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้จากการให้บริการในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 อยู่ที่ 2,904.2 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ร้อยละ 5

ตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งประเภทผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายของตนเอง และผู้ให้บริการบนโครงข่ายเสมือน (MVNOs) โดยกลุ่มบริษัท AIS มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 44.7 รองลงมาเป็นกลุ่มบริษัท DTAC และ TRUE คิดเป็นร้อยละ 26.6 และร้อยละ 26.7 ตามลำดับ โดยกลุ่มบริษัท TRUE มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่กลุ่มบริษัท AIS ลดลงร้อยละ 0.3 และกลุ่มบริษัท DTAC ลดลงร้อยละ 4.4 สำหรับรายรับจากการให้บริการเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมาย ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2559 อยู่ที่ 231 บาท โดยบริการประเภท Prepaid มีค่ารายรับเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมาย 155 บาท ส่วน Postpaid อยู่ที่ 547 บาท หากพิจารณารายได้จากภาพรวมทั้งหมดของตลาด พบว่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.1 โดยรายได้จากการให้บริการรวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2559 อยู่ที่ 66,800 ล้านบาท

ตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีรูปแบบการให้บริการ 3 ลักษณะใหญ่ ได้แก่ ระบบต่อตรง (International Direct Dialing) ระบบการสื่อสารทางเสียงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol) และระบบบัตรโทรศัพท์ (International calling Card) โดยหากคำนวณส่วนแบ่งตลาดจากรายได้ ณ สิ้นไตรมาส พบว่าผู้ให้บริการในเครือ AIN/AWN มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 52.9 ตามด้วย DTN และ CAT อยู่ที่ร้อยละ 27.1 และ 13.2 ตามลำดับ สำหรับรายได้จากการให้บริการ ณ สิ้นไตรมาสนี้ มีจำนวน 1,011.44 ล้านบาท ส่วนอัตราค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศเฉลี่ยอยู่ที่นาทีละ 21.90 บาท แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า แม้อัตราค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศเฉลี่ยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก ทว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยในกลุ่มประเทศอาเซียนกลับสูงขึ้นกว่าเดิมถึงร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

ตลาดค้าปลีกบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ ในตลาดนี้พบว่ามีผู้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตประจำที่ทั้งสิ้น 7.22 ล้านราย อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส มีอัตราการเข้าถึงอยู่ที่ร้อยละ 33.85 ของครัวเรือน ทั้งนี้ ตลาดค้าปลีกบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีผู้ให้บริการรายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ บจ. ทรู อินเทอร์เน็ต, บมจ. ทีโอที, และ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ โดย บจ. ทรู อินเทอร์เน็ต มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 38.4 เมื่อพิจารณารายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งหมด พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 มีรายได้รวม 15,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณร้อยละ 9.5 ส่วนรายรับเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายประมาณ 654 บาท และค่าบริการเฉลี่ยต่อ kbps อยู่ที่ 0.04 บาท

ตลาดบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ ตลาดอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่มีโครงสร้างคล้ายกับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากผู้ให้บริการเสียงในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็จะมีการให้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ควบคู่ไปด้วย ผู้ให้บริการในกลุ่ม AIS จึงครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 47.8 รองลงมาคือ ผู้ให้บริการในกลุ่ม DTAC และกลุ่ม TRUE มีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 26.3 และ 25.9 ตามลำดับ สำหรับรายได้จากการให้บริการของตลาดอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้รวมของผู้ประกอบการอยู่ที่ 25,439 ล้านบาท อัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ต ณ สิ้นไตรมาส อยู่ที่ 0.19 บาทต่อ MB

ตลาดบริการเกตเวย์อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตและดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น 12 ราย ปริมาณแบนด์วิธที่ใช้เชื่อมต่อในการให้บริการเกตเวย์อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย CAT ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการรายแรก ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดในแง่ปริมาณแบนด์วิธสูงสุดที่ร้อยละ 18.88

ตลาดบริการเกตเวย์โทรศัพท์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตให้บริการเกตเวย์โทรศัพท์ระหว่างประเทศรวม 5 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ให้บริการค้าปลีกโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และเกือบทั้งหมดเป็นผู้ให้บริการในตลาดค้าปลีกโทรศัพท์ประจำที่และโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศด้วย สำหรับจำนวนนาทีบริการเกตเวย์โทรศัพท์ระหว่างประเทศในไตรมาสนี้มีปริมาณการใช้งานทั้งสิ้น 298.1 ล้านนาที โดย CAT มีปริมาณการโทรถึง 178.4 ล้านนาที คิดเป็นร้อยละ 59.84 ของจำนวนนาทีทั้งหมด

ตลาดบริการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่เพื่อให้สามารถเรียกถึงจุดปลายทาง ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่เพื่อให้สามารถเรียกถึงจุดปลายทาง (Fixed Call Termination) จำนวน 9 ราย โดยไตรมาสนี้มีจำนวนทราฟฟิกการใช้งานทั้งสิ้น 237.4 ล้านครั้ง แบ่งเป็นการรับสายจากโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 180 ล้านครั้ง และรับสายจากโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน 57.4 ล้านครั้ง ซึ่งปัจจุบัน พบว่าบริการ Fixed Call Termination มีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณการใช้งานบริการประเภทเสียงลดลง

ตลาดบริการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้สามารถเรียกถึงจุดปลายทาง มีผู้ให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งประเภทผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายของตนเองและผู้ให้บริการบนโครงข่ายเสมือน โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนทราฟฟิกการใช้งานบริการ Mobile Call Termination ทั้งสิ้น 5,472.5 ล้านครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย โดยแบ่งเป็นการรับสายจากโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5,340 ล้านครั้ง และรับสายจากโครงข่ายพื้นฐาน 132.5 ล้านครั้ง

ตลาดบริการเข้าถึงบรอดแบนด์ ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการเข้าถึงบรอดแบนด์ด้วยรูปแบบโครงข่ายที่หลากหลาย พบว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองและได้รับอนุญาตให้บริการเข้าถึงบรอดแบนด์จำนวนทั้งสิ้น 32 ราย โดยปริมาณการใช้บริการเข้าถึงบรอดแบนด์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการเข้าถึงบรอดแบนด์โดยใช้เทคโนโลยี Fiber Optic มากกว่าเทคโนโลยีอื่น รองลงมาเป็นการเข้าถึงบรอดแบนด์ด้วยเทคโนโลยี xDSL สำหรับรายได้จากบริการก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยรายได้ของไตรมาสนี้อยู่ที่ 21,374.3 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่ขายให้แก่บริษัทอื่น 13,195.6 ล้านบาท และรายได้จากการใช้เองและให้บริการบริษัทในกลุ่ม 8,178.7 ล้านบาท

ตลาดบริการวงจรเช่า สามารถจำแนกผู้ให้บริการในตลาดค้าส่งวงจรเช่าได้ 3 กลุ่ม คือ ผู้ให้บริการเฉพาะค้าส่ง ผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายขนาดใหญ่และประกอบการค้าปลีกและส่ง และผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายเล็กและประกอบการค้าปลีกและส่ง ทั้งนี้ ปริมาณการใช้บริการวงจรเช่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้บริการโดยใช้เทคโนโลยี Ethernet Leased Line มีปริมาณทราฟฟิกมากกว่าเทคโนโลยีอื่น สำหรับรายได้จากบริการวงจรเช่าก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 2,281.2 ล้านบาท โดยพบว่า บจ. ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นท์ มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 27.9

—————————-

วาระรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม ประจำเดือนเมษายน 2560

สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม ประจำเดือนเมษายน 2560 ให้ กทค. รับทราบ โดยพบว่าในเดือนนี้ไม่มีเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเลย และหากย้อนดูสถิติตั้งแต่ต้นปี 2560 พบว่า มีเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเพียงเรื่องเดียว สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมดังกล่าวเป็นกระบวนการที่แทบไม่มีประโยชน์อันใดแล้ว และ กทค. อาจต้องคิดหาแนวทางที่จะปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว

—————————-

วาระรายงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ประจำเดือนมีนาคม 2560

วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กทค. รับทราบรายงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ประจำเดือนมีนาคม 2560 โดยในปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560) มีจำนวนผู้รับใบอนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 492 ใบอนุญาต แบ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 288 ใบอนุญาต และผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต 204 ใบอนุญาต ทั้งนี้ บริการที่มีผู้ให้บริการสูงสุด 5 บริการแรก ได้แก่ บริการอินเทอร์เน็ต จำนวน 200 ราย บริการ GPS Tracking จำนวน 139 ราย บริการ Resale วงจรเช่า จำนวน 61 ราย บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ Reseller และ MVNO จำนวน 46 ราย และบริการ ICC จำนวน 39 ราย