จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 8/2560

8.60

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 8/2560 วันพุธที่ 22 มีนาคม 2560 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ ผู้ให้บริการขอขยายระยะเวลาปฏิบัติตามมติ กทค. ครั้งที่ 1/2560 เรื่องการคิดค่าบริการในหน่วยวินาทีและนาทีบนคลื่นย่าน 1800 MHz และ 900 MHz, ข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ กับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม 3 ราย, พิจารณาร่างประกาศเรื่องมาตรฐานของคุณภาพให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง, การกำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด, แนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม, และเรื่องรายงานผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมรอบ 6 เดือน

วาระผู้ให้บริการขอขยายระยะเวลาปฏิบัติตามมติ กทค. ครั้งที่ 1/2560 เรื่องการคิดค่าบริการในหน่วยวินาทีและนาทีบนคลื่นย่าน 1800 MHz และ 900 MHz
วาระนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 โดยเสียงส่วนใหญ่มีมติให้ทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 จากเดิมที่ได้มีการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ต้องคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที โดยเปลี่ยนแปลงเป็นการกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีจำนวนรายการส่งเสริมการขายไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ของรายการส่งเสริมการขายทั้งหมดที่คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที และในส่วนที่เหลือเป็นรายการส่งเสริมการขายที่สามารถคิดค่าบริการในหน่วยนาที ซึ่งนั่นหมายความว่าอนุญาตให้สามารถปัดเศษการใช้งานได้

อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ กทค. เปลี่ยนแปลงมติ สำนักงาน กสทช. ก็ได้มีหนังสือแจ้งให้ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ในฐานะผู้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ทราบถึงมติ กทค. ครั้งที่ 1/2560 และให้ดำเนินการตามมติโดยเคร่งครัด พร้อมทั้งให้นำส่งข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องสัดส่วนจำนวนผู้ใช้บริการรายการส่งเสริมการขายที่คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีและที่คิดค่าบริการในหน่วยนาที โดยให้ส่งข้อมูลเป็นประจำทุกสิ้นเดือน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบริษัทได้มีหนังสือตอบกลับเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 โดยขอระยะเวลาปรับเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขายเป็นระยะอีก 3 เดือน ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงจัดทำวาระเพื่อนำข้อเสนอดังกล่าวของผู้ให้บริการเสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณา

วาระนี้นับเป็นเรื่องที่น่าจับตา เพราะเดิมที มติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 กำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ต้องคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามได้ ต่อเมื่อมีการทบทวนมติในการประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีเพียงร้อยละ 50 ของรายการส่งเสริมการขายได้ แต่ก็ดูยังไม่มีทีวี่แววที่ กทค. และสำนักงาน กสทช. จะสามารถบังคับให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามได้เช่นเดิม ขณะเดียวกันในการประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 นั้น กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้ลงมติเป็นกรรมการเสียงข้างน้อย มีความเห็นคัดค้านการทบทวนมติ กทค. เรื่องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเนื้อหาของมติ กทค. ครั้ง 1/2560 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดกับประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz และ 900 MHz รวมทั้งเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz

——————————

วาระข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ กับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม 3 ราย
วาระนี้สืบเนื่องจาก บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ มีคำร้องขอนำข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับผู้ให้บริการโครงข่ายจำนวนสามราย คือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ บจ. ดีแทค ไตรเน็ต เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท เนื่องจากไม่สามารถเจรจาตกลงกับผู้ถูกร้องเพื่อแก้ไขสัญญาเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้สามารถให้บริการส่งข้อความสั้น (SMS) ได้ ซึ่งเป็นบริการข้อความสั้นในลักษณะ Person to Person (P2P) และ Application to Person (A2P) โดยในเรื่องนี้ทางฝ่ายผู้ถูกร้องให้เหตุผลว่า ในทางธุรกิจเป็นที่รู้จักกันดีว่าการให้บริการจัดส่งข้อความสั้นในรูปแบบ A2P ให้แก่องค์กรขนาดใหญ่คราวละมากๆ นี้ เป็นการทำธุรกิจแบบ SMS Aggregator หรือ SMS Gateway ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการให้บริการของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพราะเป็นการติดต่อฝ่ายเดียว ไม่ใช่การโทรคมนาคมระหว่างผู้รับและผู้ส่ง จึงไม่อยู่ในข่ายบังคับตามประกาศ กสทช. เรื่องการใช้และเชื่อมต่อโครงข่าย พ.ศ. 2556 อีกทั้งการจัดส่งข้อความสั้นคราวละมากๆ ผู้ถูกร้องก็ต้องมีการปรับปรุง ลงทุนอุปกรณ์ และพัฒนาระบบเพิ่มเติม ดังนั้นอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายตามข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายที่กำหนดอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่ใช่อัตราที่จะนำมาใช้สำหรับบริการส่งข้อความสั้นคราวละมากๆ ในลักษณะ A2P ได้

อย่างไรก็ดี ข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่องการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม กำหนดว่า เพื่อให้การเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อได้รับการร้องขอโดยผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมรายอื่น ผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมมีหน้าที่ต้องจัดให้มีบริการ ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจากที่สำนักงาน กสทช. นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า บริการข้อความสั้นถือเป็นการส่งทราฟฟิคประเภทข้อมูลชนิดหนึ่ง ซึ่งตามข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมได้กล่าวถึงบริการดังกล่าวไว้โดยไม่ได้จำแนกแยกย่อยว่าเป็นบริการในลักษณะ P2P หรือ A2P แต่อย่างใด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดจึงถือเป็นบริการการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามประกาศ กสทช. เรื่องการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ยิ่งไปกว่านั้นคุณลักษณะทางเทคนิคก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดสำหรับการเชื่อมต่อโครงข่าย ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติเสนอ กทค. มีคำวินิจฉัยชี้ขาดโดยสั่งการให้คู่กรณีแก้ไขสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมให้กับผู้ร้องโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ให้สามารถให้บริการส่งข้อความสั้นทั้งในแบบ P2P และ A2P โดยจะต้องไม่มีข้อกำหนดเงื่อนไขการคิดค่าเชื่อมต่อขั้นต่ำ และให้ใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการใช้อยู่ในปัจจุบันไปพลางก่อน จนกว่าผู้ร้องและผู้ถูกร้องจะสามารถพิสูจน์อัตราที่เหมาะสมที่สะท้อนต้นทุน หรือ กสทช. จะได้ประกาศกำหนดอัตราอ้างอิงสำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมประเภทข้อมูลแล้วเสร็จ เพื่อนำมาใช้เป็นอัตราที่แท้จริงในการนำมาบังคับใช้กับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมต่อไป โดยในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตรา ให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่มีการแก้ไขสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมดังกล่าวด้วย

แน่นอนว่าคงต้องจับตาดูว่า กทค. จะวินิจฉัยชี้ขาดสอดคล้องตามความเห็นคณะอนุกรรมการฯ หรือไม่

——————————

วาระร่างประกาศเรื่องมาตรฐานของคุณภาพให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง
วาระนี้สืบเนื่องจากในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 พิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียงเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป แต่เนื่องจากก่อนหน้าการประชุม มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวน 4 ราย ได้มีหนังสือขอให้ทบทวนมติที่ประชุม กทค. ที่เห็นชอบร่างประกาศฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมชั้น กสทช. จึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อมูลในประเด็นที่มีการคัดค้านและวิเคราะห์เพิ่มเติม

วาระนี้น่าสนใจที่ร่างประกาศฉบับนี้เคยผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาตั้งแต่ปลายปี 2557 หลังจากนั้นมีการตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาปรับปรุงร่างประกาศ ซึ่งมีการจัดประชุมกันถึง 9 ครั้ง และจัดประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอีก 2 ครั้ง รวมทั้งได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด กทค. ในการประชุมครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ยิ่งไปกว่านั้นในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 6/2559 สำนักงาน กสทช. ก็ยืนยันกับที่ประชุมแล้วว่า เนื้อหาที่ผู้ประกอบกิจการโต้แย้งมาล้วนเป็นประเด็นที่คณะทำงานได้พิจารณาและศึกษามาหมดแล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี เมื่อ กสทช. มีมติให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบและวิเคราะห์เพิ่มเติม สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบกิจการอีก 2 ครั้ง ซึ่งยังคงมีประเด็นที่ไม่ได้ข้อสรุปอยู่อีก 4 เรื่อง ได้แก่ 1) เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลผลการวัดคุณภาพสัญญาณผ่านทางเว็บไซต์ของผู้รับใบอนุญาต ซึ่งตามร่างประกาศกำหนดว่านอกจากระบุว่าผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ ให้แสดงผลเป็นตัวเลขด้วย 2) ระยะเวลาที่ต้องรอสายเพื่อคุยกับพนักงานในการขอรับบริการ ซึ่งตามร่างประกาศกำหนดค่าเป้าหมายไว้ 60 วินาที นับจากตอนที่ผู้ใช้บริการกดหมายเลขเพื่อเลือกคุยกับพนักงานรับโทรศัพท์ โดยให้กำหนดไว้เป็นเมนูที่สองต่อจากเมนูการเลือกภาษาซึ่งเป็นเมนูแรก 3) เรื่องจำนวนครั้งที่สถานีฐานไม่สามารถให้บริการได้ติดต่อกัน และ 4) เรื่องร้อยละของจำนวนสถานีที่หยุดทำงานสะสมเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่ผู้ประกอบกิจการโต้แย้ง คือไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์ได้ ส่วนในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลผลการวัดนั้น ผู้ประกอบกิจการเห็นว่าหากมีการเปิดเผยเป็นตัวเลขด้วยก็จะสร้างสภาวะตลาดที่กดดันเกินไป จึงขอเปิดเผยเพียงผลว่า “ผ่านหรือไม่ผ่าน” เท่านั้น แต่เรื่องโต้แย้งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่กรรมการ กทค. ได้พิจารณาและอภิปรายกันในที่ประชุมครั้งที่ 7/2559 มาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลผลการวัด ซึ่งกรรมการเห็นว่าการแสดงผลเป็นตัวเลขนั้นจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบกิจการพัฒนาคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการระบุว่า “ผ่านหรือไม่ผ่าน” นั้น ก็เพื่อป้องกันความสับสนของผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นรูปแบบการเผยแพร่ข้อมูลที่เหมาะสมดีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องระยะเวลารอสายเพื่อคุยกับพนักงานในการขอรับบริการนั้น ก็เป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ล้วนเคยประสบว่าต้องถือสายรอเป็นระยะเวลานาน การกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง

อย่างไรก็ตาม วาระนี้มีประเด็นที่น่าจับตา นอกเหนือจากการพิจารณาข้อโต้แย้งของผู้ประกอบการ นั่นคือเจตนาซ่อนเร้นของสำนักงาน กสทช. ที่เสนอทางเลือกให้ กทค. พิจารณาควบรวมร่างประกาศนี้เข้ากับ (ร่าง) ประกาศเรื่องคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูล ซึ่งปัจจุบันยังไม่รู้แน่ว่าเริ่มต้นกระบวนการยกร่างแล้วหรือยัง และทางเลือกให้นำร่างประกาศฉบับนี้ที่ได้รับการปรับปรุงแล้วย้อนกลับไปสู่ขั้นตอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะใหม่ ทั้งที่กระบวนการยกร่างประกาศฉบับนี้ใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 4 ปีมาแล้ว และผ่านการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาเรียบร้อยแล้ว ผ่านการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาแล้ว และผ่านการหารือกับผู้ประกอบการมาครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใดในสองทางเลือกนี้ นั่นหมายถึงความล่าช้าในการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้อย่างไร้กำหนดเวลา

——————————

วาระการกำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ กทค. พิจารณากำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดในระบบของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน (พรีเพด) โดยเรื่องนี้สืบเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำแนวทางการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการชำระเงินโดยอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและใช้เป็นช่องทางการก่อการร้ายและการทุจริตต่างๆ และเห็นว่าเนื่องจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินหรือการเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้ามีลักษณะโดยรวมคล้ายกับการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ คือเป็นระบบที่มีการเติมเงินเข้าไปล่วงหน้า แล้วสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้ ซึ่งในปัจจุบันการเติมเงินเข้าไปล่วงหน้าในระบบโทรศัพท์ก็สามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้กว้างขวางขึ้น ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการเคลื่อนย้ายเงินที่ผิดกฎหมายได้ เช่น การฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้มีข้อหารือมายังสำนักงาน กสทช. ในเรื่องการกำกับดูแล

ต่อประเด็นดังกล่าว สำนักงาน กสทช. ได้หารือกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งแบบที่มีโครงข่ายและไม่มีโครงข่ายรวม 8 ราย และจัดทำแนวทางการกำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดในการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พร้อมทั้งนำเสนอ กทค. เพื่อพิจารณาในวาระนี้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวกำหนดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดของผู้ใช้บริการสำหรับผู้ให้บริการทุกรายไว้เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 5,000 บาท โดยเกณฑ์ดังกล่าวบังคับใช้กับการเติมเงินระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการทั่วไปเท่านั้น และในกรณีที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินล่วงหน้าที่มีจำนวนเงินสะสมคงเหลือในระบบเกินกว่าวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุด ผู้ใช้บริการยังสามารถคงเหลือเงินไว้ได้ แต่ไม่สามารถเติมเงินเพิ่มได้จนกว่าจะมียอดเงินคงเหลือสะสมไม่เกินกว่าวงเงินที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แนวทางปฏิบัติดังกล่าว ดูจะยังมีช่องโหว่ในทางที่อาจเป็นผลเสียต่อผู้ใช้บริการ เช่น ในกรณีที่ผู้ใช้บริการบางรายที่มีจำนวนเงินคงเหลือสะสมในระบบครบหรือเต็มวงเงิน 5,000 บาท แต่จำนวนวันใช้งานหมด แล้วไม่สามารถเติมเงินเพื่อเพิ่มวันใช้งานได้ ก็จะประสบปัญหาไม่สามารถใช้บริการได้เนื่องจากจำนวนวันใช้งานหมด ดังนั้นจึงควรมีมาตรการรองรับผลกระทบในด้านนี้ด้วย

อันที่จริงปัจจุบันในตลาดโทรคมนาคมก็พอมีทางออกของปัญหานี้อยู่บ้าง แต่ไม่ใช่มาตรฐานเดียวกันในผู้ให้บริการแต่ละราย นั่นคือ การใช้เงินที่มีในระบบแลกวันใช้งาน โดยมีผู้ให้บริการ 2 รายที่คิดค่าบริการ 2 บาทเพื่อแลกวันใช้งานได้ 30 วัน แต่บางรายก็คิดค่าบริการสูงถึง 30 บาท สำหรับวันใช้งานเพิ่ม 30 วัน พร้อมทั้งได้สิทธิโทรฟรี 30 นาที ซึ่งในชั้นกลั่นกรองวาระนี้ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นปัญหานี้เอาไว้ แต่ว่าสำนักงาน กสทช. ก็ไม่ได้ตอบข้อสังเกตดังกล่าว เป็นเพียงแค่รายงานข้อเท็จจริงถึงวิธีการเพิ่มจำนวนวันใช้งานของผู้ให้บริการแต่ละรายมาให้ทราบเท่านั้น สำหรับประเด็นปัญหานี้จึงยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นทางออกที่ชัดเจนแต่อย่างใด

——————————

วาระแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอร่างแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมภายหลังผ่านการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อให้ที่ประชุม กทค. พิจารณา
สาระหลักของร่างแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนฯ ฉบับนี้ กำหนดให้เสาส่งสัญญาณที่มีกำลังส่งมากกว่า 30 วัตต์ หรือที่ติดตั้งใกล้สถานพยาบาล โรงเรียน และสถานรับเลี้ยงเด็ก จะต้องมีการจัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งจำนวน 1 ครั้ง รวมทั้งติดป้ายเพื่อแสดงข้อมูลและแจกเอกสารเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชนในรัศมี 500 เมตร ส่วนกรณีเสาส่งสัญญาณที่มีกำลังส่งน้อยกว่า 30 วัตต์ ให้ผู้ประกอบการดำเนินการเพียงติดป้ายและแจกเอกสารเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชน โดยระยะเวลาในการทำความเข้าใจต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน และหากกรณีมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบจากการแผ่คลื่นก่อนการยื่นคำขอรับใบอนุญาต ให้ผู้ประกอบการทำความเข้าใจกับผู้ร้องเรียนโดยตรงก่อน และหากยังไม่ได้ข้อยุติ ก็ให้แจ้งผู้นำชุมชนเพื่อเชิญประชาชนมาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจอีก 1 ครั้ง โดยให้จัดทำบันทึกการประชุมไว้เป็นหลักฐาน และจัดส่งให้สำนักงาน กสทช. แต่หากเกิดการร้องเรียนภายหลังจากที่มีการจัดประชุมแล้ว ก็ให้ยึดตามบันทึกการประชุมที่ได้ดำเนินการจัดขึ้นไปแล้ว

อันที่จริงการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมเป็นเรื่องสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง อีกทั้งเป็นประเด็นที่มีข้อพิพาทและคัดค้านในหลายพื้นที่เนื่องจากหวาดกลัวถึงผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ การกำหนดแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนฯ จึงจำเป็นต้องมีความชัดเจน และเน้นการทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมีโดยรอบอย่างแท้จริง ไม่ใช่ดำเนินการลักษณะพิธีกรรมเพื่อให้ครบกระบวนการ ดังนั้นการที่ร่างแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนฯ ดังกล่าว ระบุไว้สำหรับกรณีเสาส่งสัญญาณมีกำลังส่งเกิน 30 วัตต์ หรือติดตั้งใกล้สถานพยาบาล โรงเรียน และสถานรับเลี้ยงเด็ก รวมทั้งในกรณีที่มีการร้องเรียนภายใน 30 วัน ให้มีการจัดประชุมเพียงครั้งเดียวนั้น ดูจะไม่มีความยืดหยุ่นและน่าจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ หากไม่มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่รัดกุม เช่นการแจกเอกสารเผยแพร่ข้อมูลและเชิญประชุมก็ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องแจกเอกสารให้กับทุกครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 500 เมตร และการแจกเอกสารเผยแพร่ของบริษัทฯ ก็ควรแจกหนังสือเชิญประชุมไปพร้อมกันด้วยเลย ขณะที่รายละเอียดของข้อมูลที่ใช้ทำความเข้าใจ ก็ควรเป็นข้อมูลที่แสดงให้ทราบถึงระดับความแรงของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะแผ่ออกจากสถานี และถ้าเป็นพื้นที่ที่มีเสาส่งสัญญาณอื่นที่แพร่คลื่นอยู่แล้ว ก็ควรมีการคำนวณผลรวมของระดับความแรงของคลื่นที่จะถูกปล่อยออกมาพร้อมกันด้วย
ส่วนในกรณีที่มีการร้องเรียนภายหลังจากที่มีการจัดประชุมทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว การที่กำหนดแนวทางปฏิบัติว่าให้ยึดตามบันทึกการประชุมเดิมที่ได้ดำเนินการจัดขึ้นไปแล้ว นั่นเท่ากับว่าจะไม่ทำอะไรเลย ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะอย่างน้อยก็ควรที่จะมีกระบวนการทำความเข้าใจกับผู้ร้องเรียนด้วยอีกครั้ง

——————————

วาระรายงานผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมรอบ 6 เดือน
วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ กทค. ทราบผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมรอบ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 31 สิงหาคม 2559 ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 2,612 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึง 2,035 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 77.91 ของเรื่องทั้งหมด รองลงมาคือปัญหาจากการใช้บริการอินเทอรเน็ต ร้อยละ 17.61 และปัญหาการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ร้อยละ 1.72

สำหรับปัญหาร้องเรียนประเภทบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พบว่าส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับบริการคงสิทธิเลขหมาย ซึ่งสูงถึงร้อยละ 71.29 ขณะที่ปัญหาร้องเรียนประเภทบริการอินเทอร์เน็ตนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งสูงถึงร้อยละ 58.16

ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนตามประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ พ.ศ. 2549 ที่กำหนดให้ดำเนินการแก้ไขเรื่องร้องเรียนภายใน 30 วัน ปรากฏว่ายังเป็นปัญหาสำคัญ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวมีปริมาณเรื่องร้องเรียนที่สามารถแก้ไขได้ภายใน 30 วัน จำนวน 1,847 เรื่อง หรือร้อยละ 64.83 เท่านั้น สาเหตุมาจากหลักฐานประกอบคำร้องของผู้ร้องไม่ครบถ้วน บริษัทชี้แจงล่าช้าหรือตอบไม่ตรงประเด็นคำถามที่มีการร้องเรียน และบางเรื่องต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ

ด้านข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอต่อ กทค. นั้น มีข้อเสนอแนะ 5 เรื่องด้วยกัน คือ 1) การจำกัดวงเงินใช้บริการ (Credit Limit) ควรจะต้องครอบคลุมถึงบริการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่าย เช่น Mobile Payment, International Roaming เป็นต้น และควรมีมาตรฐานที่ชัดเจนว่าการจำกัดวงเงินใช้บริการจะต้องมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายมีแนวปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2) การกำหนดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง ควรปรับหน่วยนับในการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เป็นมาตรฐานของประเทศ โดยกำหนดเป็นนโยบายให้ผู้รับใบอนุญาตทั้งคลื่น 1800 MHz, 900 MHz, และ 2100 MHz ต้องคิดค่าบริการตามจริงทั้งประเภทบริการเสียงและบริการข้อมูล 3) กรณีที่บริษัทเปลี่ยนแปลงรายการส่งเสริมการขายให้ผู้บริโภคโดยอัตโนมัติ รายการส่งเสริมการขายที่เปลี่ยนแปลงควรมีสิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้น ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วทำให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิประโยชน์ลดลง 4) เรื่อง Speed Internet ควรบังคับผู้ประกอบการเป็นการทั่วไป ให้มีการให้บริการความเร็วของอินเทอร์เน็ตให้ได้มาตรฐานตามที่โฆษณาไว้ และควรกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องให้บริการไม่ต่ำกว่า 345 กิโลบิตต่อวินาที แม้ว่าจะปรับลดความเร็วตาม Fair Usage Policy ลงมาก็ตาม 5) เรื่องแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เนื่องจากข้อมูลเรื่องความปลอดภัยจากสถานีวิทยุคมนาคมยังไม่มีความชัดเจน จึงควรศึกษาและปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคมเช่นเดียวกับในต่างประเทศโดยเร็ว รวมทั้งควรบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สถานีวิทยุคมนาคมร่วมกัน รวมทั้งควรมีการสุ่มตรวจวัดความแรงและความหนาแน่นของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ และควรเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและวิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอันตราย ให้ประชาชนรับทราบเป็นการทั่วไป