จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 7/2560

Untitle7.60

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 7/2560 วันพุธที่ 15 มีนาคม 2560 มีวาระสำคัญที่น่าจับตาจำนวนมาก ทั้งวาระที่สำนักงาน กสทช. เสนอ กทค. เพื่อพิจารณา และวาระที่เสนอเป็นเรื่องเพื่อทราบ โดยในส่วนของวาระเพื่อพิจารณา มีวาระที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่อง บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส อุทธรณ์คำสั่งเรื่องนำส่งรายได้เยียวยาจากการให้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz, ข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ กับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม 3 ราย, บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หารือเรื่องการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการพื้นที่เช่าเสาโทรคมนาคมและสายไฟเบอร์, เรื่องพิจารณาร่างประกาศเรื่องมาตรฐานของคุณภาพให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง, การกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ และเรื่องพิจารณาร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2

ส่วนวาระเรื่องเพื่อทราบที่น่าสนใจในการประชุม กทค. ครั้งนี้ คือ เรื่อง บจ. ดีแทค ไตรเน็ท สนับสนุนการจัดประมูลคลื่นล่วงหน้า, เรื่องรายงานการตรวจสอบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือนของ บจ. 168 คอมมูนิเคชั่น, เรื่องรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายประจำไตรมาส 4 ปี 2559 และเรื่องการจัดประมูลเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวยครั้งที่ 1/2560

นอกจากนี้ยังมีวาระสำคัญๆ ที่สำนักงาน กสทช. บรรจุเพิ่มในภายหลังในเย็นวันก่อนประชุม ได้แก่ ผลการพิจารณาความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง และ สตง. ต่อหลักเกณฑ์การพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่นความถี่ ๑๘๐๐ MHz และเรื่องผลการศึกษาเพื่อกำหนดจำนวนคลื่นความถี่ย่าน ๒๓๑๐ – ๒๓๗๐ MHz ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ใช้ในการให้บริการ

วาระ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส อุทธรณ์คำสั่งเรื่องนำส่งรายได้เยียวยาจากการให้บริการบนคลื่น 900
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เสนอ กทค. พิจารณาว่าจะรับอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือไม่ ในกรณีที่สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งให้บริษัทฯ นำส่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 เป็นจำนวนเงิน 7,221.00 ล้านบาท พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้น เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป และหากยังคงมีรายได้ที่ต้องนำส่งเพิ่มเติม กทค. ก็จะพิจารณาเรียกเก็บต่อไป ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมติ กทค. ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560

ทั้งนี้ หนังสือขออุทธรณ์ของบริษัทฯ ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ระบุว่า มติ กทค. และคำสั่งทางปกครองดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม เหตุผลหลักๆ ที่ทางบริษัทฯ กล่าวอ้างคือ คำสั่งแจ้งให้บริษัทสามารถโต้แย้งโดยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันรับทราบคำสั่ง ซึ่งถือเป็นการตัดสิทธิของบริษัทฯ ในการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวไม่มีการระบุข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนการใช้ดุลยพินิจ รวมถึงไม่มีการเปิดโอกาสให้บริษัทฯ และผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทฯ ได้รับทราบและเข้าชี้แจงต่อผลการพิจารณาของคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังทักท้วงในประเด็นเรื่องการพิจารณารายได้จากการให้บริการบนคลื่น 1800 MHz ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งหากผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวออกมามีความแตกต่างจากกรณีของบริษัทฯ แล้ว ก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมแก่บริษัทฯ

อย่างไรก็ดี ในการนำเสนอวาระนี้เข้าที่ประชุม กทค. สำนักงาน กสทช. ได้แนบความเห็นประกอบวาระในประเด็นที่บริษัทฯ โต้แย้งคำสั่งทางปกครองโดยยืนยันว่า คำสั่งทางปกครองของ กทค. ซึ่งปฏิบัติการแทน กสทช. ถือเป็นที่สุด หากบริษัทฯ ไม่พอใจในคำสั่งทางปกครองตามมติ กทค. บริษัทฯ ต้องโต้แย้งโดยการฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 รวมถึงในการพิจารณารายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการนั้น คณะทำงานได้มีการขอเอกสารที่เกี่ยวข้องจากบริษัทฯ และเชิญบริษัทฯ มาชี้แจงข้อมูลประกอบการพิจารณามาโดยตลอด ส่วนข้อทักท้วงเรื่องการพิจารณารายได้จากการให้บริการบนคลื่น 1800 MHz ที่ยังไม่ได้ข้อยุตินั้น สำนักงาน กสทช. เห็นว่า มติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 ได้ระบุว่า ให้นำแนวทางการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ บนคลื่นความถี่ 1800 MHz มาใช้กับการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ บนคลื่น 900 MHz ด้วย และหากยังคงมีรายได้นำส่งแผ่นดินที่บริษัทฯ ต้องนำส่งเพิ่มเติม ก็จะมีการเรียกเก็บต่อไป ดังนั้น การดำเนินการจึงไม่ได้ผิดลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง และไม่ได้เป็นการเร่งรัดเฉพาะกรณีตามที่บริษัทฯ กล่าวอ้าง

คงต้องจับตาดูว่า กทค. จะพิจารณาหนังสือขออุทธรณ์คำสั่งของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส นี้อย่างไร เนื่องจากประเด็นนี้เป็นเรื่องการนำส่งรายได้แผ่นดินและมีความเกี่ยวพันกับการฟ้องร้องคดีต่อศาล ซึ่งคดีนี้จะหมดอายุความในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 นี้

————————————–

วาระข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ กับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม 3 ราย
วาระนี้สืบเนื่องจาก บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ มีคำร้องขอนำข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับผู้ให้บริการโครงข่ายทั้งสามราย คือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ บจ. ดีแทค ไตรเน็ต เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท เนื่องจากไม่สามารถเจรจาตกลงกับผู้ถูกร้องเพื่อแก้ไขสัญญาเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้สามารถให้บริการส่งข้อความสั้น (SMS) ได้ ซึ่งเป็นบริการข้อความสั้นในลักษณะ Person to Person (P2P) และ Application to Person (A2P) โดยในเรื่องนี้ทางฝ่ายผู้ถูกร้องให้เหตุผลว่า ในทางธุรกิจเป็นที่รู้จักกันดีว่าการให้บริการจัดส่งข้อความสั้นในรูปแบบ A2P ให้แก่องค์กรขนาดใหญ่คราวละมากๆ นี้ เป็นการทำธุรกิจแบบ SMS Aggregator หรือ SMS Gateway ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการให้บริการของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพราะเป็นการติดต่อฝ่ายเดียว ไม่ใช่การโทรคมนาคมระหว่างผู้รับและผู้ส่ง จึงไม่อยู่ในข่ายบังคับตามประกาศ กสทช. เรื่องการใช้และเชื่อมต่อโครงข่าย พ.ศ. 2556 อีกทั้งการจัดส่งข้อความสั้นคราวละมากๆ ผู้ถูกร้องก็ต้องมีการปรับปรุง ลงทุนอุปกรณ์ และพัฒนาระบบเพิ่มเติม ดังนั้นอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายตามข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายที่กำหนดอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่ใช่อัตราที่จะนำมาใช้สำหรับบริการส่งข้อความสั้นคราวละมากๆ ในลักษณะ A2P

อย่างไรก็ดี ข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่องการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม กำหนดว่า เพื่อให้การเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อได้รับการร้องขอโดยผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมรายอื่น ผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมมีหน้าที่ต้องจัดให้มีบริการ ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจากที่สำนักงาน กสทช. นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า บริการข้อความสั้นถือเป็นการส่งทราฟฟิคประเภทข้อมูลชนิดหนึ่ง ซึ่งตามข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมได้กล่าวถึงบริการดังกล่าวไว้โดยไม่ได้จำแนกแยกย่อยว่าเป็นบริการในลักษณะ P2P หรือ A2P ไว้แต่อย่างใด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดจึงถือเป็นบริการการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามประกาศ กสทช. เรื่องการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ยิ่งไปกว่านั้นคุณลักษณะทางเทคนิคก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดสำหรับการเชื่อมต่อโครงข่าย ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติเสนอ กทค. มีคำวินิจฉัยชี้ขาดโดยสั่งการให้คู่กรณีแก้ไขสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมให้กับผู้ร้องโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ให้สามารถให้บริการส่งข้อความสั้นทั้งในแบบ P2P และ A2P โดยจะต้องไม่มีข้อกำหนดเงื่อนไขการคิดค่าเชื่อมต่อขั้นต่ำ และให้ใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการใช้อยู่ในปัจจุบันไปพลางก่อน จนกว่าผู้ร้องและผู้ถูกร้องจะสามารถพิสูจน์อัตราที่เหมาะสมที่สะท้อนต้นทุน หรือ กสทช. จะได้ประกาศกำหนดอัตราอ้างอิงสำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมประเภทข้อมูลแล้วเสร็จ เพื่อนำมาใช้เป็นอัตราที่แท้จริงในการนำมาบังคับใช้กับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมต่อไป โดยในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตรา ให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่มีการแก้ไขสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมดังกล่าวด้วย แน่นอนว่าคงต้องจับตาดูว่า กทค. จะวินิจฉัยชี้ขาดสอดคล้องตามความเห็นคณะอนุกรรมการฯ หรือไม่

————————————–

วาระดีแทคหารือเรื่องการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการพื้นที่เช่าเสาโทรคมนาคมและสายไฟเบอร์
วาระนี้สืบเนื่องจาก บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) มีหนังสือขอหารือว่าการประกอบธุรกิจของบริษัทร่วมทุนเสาโทรคมนาคมและบริษัทร่วมทุนสายไฟเบอร์ด้วยการให้บริการพื้นที่บนเสาโทรคมนาคมและให้เช่าสายไฟเบอร์แก่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และบริษัทในเครือว่าต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 หรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ รูปแบบการประกอบธุรกิจนั้น บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และ บมจ. กสท โทรคมนาคม จะร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 2 บริษัท คือ บริษัทร่วมทุนเสาโทรคมนาคม และบริษัทร่วมทุนสายไฟเบอร์ เพื่อเข้าทำสัญญาซื้อขายเสาโทรคมนาคมและสายไฟเบอร์ แล้วให้บริการแก่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และบริษัทในเครือ รวมทั้งมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นด้วย โดยการประกอบกิจการจะมีลักษณะคล้ายกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (DIF) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจัสมิน (JASIF) ซึ่งประกอบกิจการอยู่โดยไม่ได้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม

อย่างไรก็ตาม มติ กทค. ครั้งที่ 34/2556 เคยวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของ บจ. บีเอฟเคที กรณีการทำสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 800 MHz กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม โดยได้วางแนวไว้ว่า หากมีการจัดตั้งกองทุนรวมฯ แล้วการดำเนินการกิจการของกองทุนรวมฯ มีลักษณะที่มีการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมด้วยการให้เช่าทรัพย์สินโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไป อันเป็นลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นการประกอบกิจการที่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการแก่บุคคลอื่นทั่วไป จะต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงเสนอความเห็นให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาว่า ลักษณะการประกอบกิจการตามข้อหารือของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตด้วย ซึ่งในชั้นกลั่นกรองวาระของ กทค. ทุกท่านมีความเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. เว้นเพียงประธาน กทค. ที่เห็นว่าสมควรนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณา อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจคือในส่วนของ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มีความเห็นเพิ่มเติม โดยขอให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบด้วยว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบกิจการในลักษณะเดียวกันได้มีการปฏิบัติตามแนวของมติ กทค. ครั้งที่ 34/2556 แล้วหรือไม่ กล่าวคือมีการยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ และมีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใดเช่าใช้เสาหรือทรัพย์สินโทรคมนาคม โครงข่ายโทรคมนาคมจากองทุนรวมดังกล่าวบ้าง โดยขอให้มีการรายงานผลการดำเนินการตรวจสอบให้ทราบด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันผู้ประกอบกิจการหลบเลี่ยงการกำกับดูแลและหลีกเลี่ยงการชำระค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย รวมถึงเพื่อปฏิบัติอย่างเป็นธรรมกับผู้ประกอบกิจการทุกรายอย่างเท่าเทียม

วาระนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการวินิจฉัยของ กทค. จะเป็นบรรทัดฐานในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในลักษณะกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และการร่วมทุนเสาโทรคมนาคมและสายไฟเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

————————————–

วาระร่างประกาศเรื่องมาตรฐานของคุณภาพให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง
วาระนี้สืบเนื่องจากในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 พิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียงเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป แต่เนื่องจากก่อนหน้าการประชุม มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวน 4 ราย ได้มีหนังสือขอให้ทบทวนมติที่ประชุม กทค. ที่เห็นชอบร่างประกาศฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมชั้น กสทช. จึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อมูลในประเด็นที่มีการคัดค้านและวิเคราะห์เพิ่มเติม

วาระนี้น่าสนใจที่ร่างประกาศฉบับนี้เคยผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาตั้งแต่ปลายปี 2557 หลังจากนั้นมีการตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาปรับปรุงร่างประกาศ ซึ่งมีการจัดประชุมกันถึง 9 ครั้ง และจัดประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอีก 2 ครั้ง รวมทั้งได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด กทค. ในการประชุมครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ยิ่งไปกว่านั้นในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 6/2559 สำนักงาน กสทช. ก็ยืนยันกับที่ประชุมแล้วว่า เนื้อหาที่ผู้ประกอบกิจการโต้แย้งมาล้วนเป็นประเด็นที่คณะทำงานได้พิจารณาและศึกษามาหมดแล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี เมื่อ กสทช. มีมติให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบและวิเคราะห์เพิ่มเติม สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบกิจการอีก 2 ครั้ง ซึ่งยังคงมีประเด็นที่ไม่ได้ข้อสรุปอยู่อีก 4 เรื่อง ได้แก่ 1) เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลผลการวัดคุณภาพสัญญาณผ่านทางเว็บไซต์ของผู้รับใบอนุญาต ซึ่งตามร่างประกาศกำหนดว่านอกจากระบุว่าผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ ให้แสดงผลเป็นตัวเลขด้วย 2) ระยะเวลาที่ต้องรอสายเพื่อคุยกับพนักงานในการขอรับบริการ ซึ่งตามร่างประกาศกำหนดค่าเป้าหมายไว้ 60 วินาที นับจากตอนที่ผู้ใช้บริการกดหมายเลขเพื่อเลือกคุยกับพนักงานรับโทรศัพท์ โดยให้กำหนดไว้เป็นเมนูที่สองต่อจากเมนูการเลือกภาษาซึ่งเป็นเมนูแรก 3) เรื่องจำนวนครั้งที่สถานีฐานไม่สามารถให้บริการได้ติดต่อกัน และ 4) เรื่องร้อยละของจำนวนสถานีที่หยุดทำงานสะสมเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่ผู้ประกอบกิจการโต้แย้ง คือไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์ได้ ส่วนในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลผลการวัดนั้น ผู้ประกอบกิจการเห็นว่าหากมีการเปิดเผยเป็นตัวเลขด้วยก็จะสร้างสภาวะตลาดที่กดดันเกินไป จึงขอเปิดเผยเพียงผลว่า “ผ่านหรือไม่ผ่าน” เท่านั้น แต่เรื่องโต้แย้งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่กรรมการ กทค. ได้พิจารณาและอภิปรายกันในที่ประชุมครั้งที่ 7/2559 มาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลผลการวัด ซึ่งกรรมการเห็นว่าการแสดงผลเป็นตัวเลขนั้นจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบกิจการพัฒนาคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการระบุว่า “ผ่านหรือไม่ผ่าน” นั้น ก็เพื่อป้องกันความสับสนของผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นรูปแบบการเผยแพร่ข้อมูลที่เหมาะสมดีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องระยะเวลารอสายเพื่อคุยกับพนักงานในการขอรับบริการนั้น ก็เป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ล้วนเคยประสบว่าต้องถือสายรอเป็นระยะเวลานาน การกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง

อย่างไรก็ตาม วาระนี้มีประเด็นที่น่าจับตา นอกเหนือจากการพิจารณาข้อโต้แย้งของผู้ประกอบการ นั่นคือเจตนาซ่อนเร้นของสำนักงาน กสทช. ที่เสนอทางเลือกให้ กทค. พิจารณาควบรวมร่างประกาศนี้เข้ากับ (ร่าง) ประกาศเรื่องคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูล ซึ่งปัจจุบันยังไม่รู้แน่ว่าเริ่มต้นกระบวนการยกร่างแล้วหรือยัง และทางเลือกให้นำร่างประกาศฉบับนี้ที่ได้รับการปรับปรุงแล้วย้อนกลับไปสู่ขั้นตอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะใหม่ ทั้งที่กระบวนการยกร่างประกาศฉบับนี้ใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 4 ปีมาแล้ว และผ่านการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาเรียบร้อยแล้ว ผ่านการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาแล้ว และผ่านการหารือกับผู้ประกอบการมาครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใดในสองทางเลือกนี้ นั่นหมายถึงความล่าช้าในการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้อย่างไร้กำหนดเวลา

————————————–

วาระการกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุม กทค. พิจารณากำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่ คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ มาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553

สาระสำคัญของมาตราดังกล่าว กำหนดหน้าที่ของ กสทช. ให้ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ โดยผู้ที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ ก็ให้ยังสามารถใช้คลื่นต่อไปได้จนถึงกำหนดที่ต้องคืนคลื่นความถี่ โดย กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่น เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 15 ปี นับตั้งแต่วันที่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ใช้บังคับ และไม่เกินกว่าระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นสำคัญสำหรับวาระนี้ก็คือ กทค. จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาก่อน เพื่อเป็นฐานในการกำหนดระยะเวลาที่ต้องคืนคลื่นความถี่ในส่วนของกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 84 ได้ แต่หากยังไม่เคยพิจารณาประเด็นความชอบด้วยกฎหมาย แล้วมากำหนดเรื่องอายุการถือครองคลื่นความถี่ก็จะมีปัญหาตามมาในภายหลังได้ ซึ่งถึงแม้ กทค. จะมีมติเห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบรายละเอียดการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ ความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ และความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรายงานผลการตรวจสอบรายละเอียดการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ หรือใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ ความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ และความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา ฉบับที่ 2 และ ฉบับที่ 3 ของคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบรายละเอียดการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทว่ารายละเอียดของรายงานทั้งสามฉบับก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาต่างๆ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงแต่ระบุว่าถ้าสัญญายังไม่ยกเลิก ก็มีผลผูกพันตามกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเนื้อหาของรายงานไม่ได้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย แม้ กทค. จะมีมติเห็นชอบรายงานไปแล้ว ก็ยังคงมีประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น ที่อาจทำให้ กทค. ไม่อาจดำเนินการกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ได้

————————————–

วาระพิจารณาร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2
วาระนี้เป็นเรื่องที่คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมตามคำสั่งของสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการยกร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) ขึ้น เพื่อเสนอ กทค. พิจารณา ก่อนนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

ทั้งนี้ ในการยกร่างแผนแม่บท ควรมีการนำประสบการณ์การกำกับดูแล ปัญหาและอุปสรรค มาเป็นแนวทางในการยกร่างแผนแม่บทด้วย เช่น การจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเชิงนโยบาย เพื่อป้องกันปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดซ้ำๆ และการเพิ่มบทบาทการกำกับดูแลในเชิงสอบสวนหรือตรวจสอบหาความจริงเพื่อสามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ กรณีการลักลอบขายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ เป็นต้น รวมทั้งในภาพรวมของการยกร่างแผนแม่บท ควรมีการประสานงานร่วมกันระหว่างกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้โครงสร้างแผนที่มีลักษณะเดียวกันและครอบคลุมครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในขณะนี้กำลังมีการแก้ไข พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

นอกจากนี้ ในอดีตที่ผ่านมานั้น แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมทั้ง 2 ฉบับในสมัย กทช. และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 ในสมัย กสทช. ปรากฏว่าไม่เคยมีการกำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายบางอย่างไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดหรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผน เช่น ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ ซึ่งตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 กำหนดให้ต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 ปี แต่ว่ากว่าประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ก็ใช้เวลายกร่างถึงกว่า 4 ปี ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงควรเพิ่มเติมเนื้อหาที่มีลักษณะเร่งรัดและติดตามอย่างมีประสิทธิภาพไว้ในส่วนแนวทางการปฏิบัติและประเมินผลด้วย

————————————–

วาระดีแทคสนับสนุนจัดประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ที่ประชุม กทค. รับทราบกรณี บจ. ดีแทค ไตรเน็ท มีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 27 มกราคม 2560 เพื่อสนับสนุนการจัดประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าและเรียกคืนคลื่นความถี่ ทั้งนี้ บจ. ดีแทคฯ อ้างถึงข่าวจากสื่อมวลชนว่า สำนักงาน กสทช. ได้มีแนวนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่ล่วงหน้า ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz และย่าน 1800 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ในย่านที่บริษัทฯ ใช้ในการให้บริการอยู่ในปัจจุบันและกำลังจะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2561 รวมทั้งคลื่นย่าน 2600 MHz ที่สำนักงาน กสทช. มีแนวทางที่จะเรียกคืนจาก บมจ. อสมท. เพื่อนำมาจัดสรรใช้งานในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยในส่วนของคลื่นย่าน 850 MHz และ 1800 MHz บจ. ดีแทคฯ เสนอให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาออกประกาศแผนการประมูลคลื่นความถี่ทั้งสองย่านภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 เพื่อให้สามารถจัดการประมูลล่วงหน้าได้ทันภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 เพราะจากการประมูลคลื่นที่ผ่านมา จะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 6 เดือน ส่วนกรณีของคลื่นย่าน 2600 MHz ที่ บมจ. อสมท. ให้บริการด้านกิจการโทรทัศน์นั้น บจ. ดีแทคฯ มีความเห็นว่า ในกรณีที่ กสทช. เรียกคืนคลื่นเพื่อนำมาจัดสรรใหม่สำหรับให้บริการโทรคมนาคม ทางบริษัทก็มีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลเช่นกัน และจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทุกรายหาก กสทช. จะกำหนดแผนชั่วคราวสำหรับการประมูลคลื่นย่านนี้ พร้อมรายละเอียดปริมาณคลื่นความถี่และกรอบเวลาในการดำเนินการต่อไป

————————————–

วาระรายงานการตรวจสอบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือนของบริษัท 168
วาระนี้เป็นวาระเสนอเพื่อทราบ รายงานการตรวจสอบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือนของ บจ. 168 คอมมูนิเคชั่น ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ติดตามตรวจสอบการให้บริการของบริษัทฯ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 ปรากฏว่าไม่พบการจำหน่ายซิมการ์ดของบริษัทผ่านช่องทางการจำหน่ายตามที่ได้มีการประชาสัมพันธ์ไว้แต่อย่างใด ต่อมาสำนักงาน กสทช. จึงได้เชิญ บจ. 168 คอมมูนิเคชั่น และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าโครงข่าย มาชี้แจงข้อเท็จจริง โดยผลการชี้แจงสรุปได้ว่า ปัญหาข้างต้นเกิดขึ้นเนื่องจาก บจ. 365 คอมมูนิเคชั่น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมมีปัญหาการร่วมลงทุนกับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ ซึ่งได้แก่ บจ. 168 คอมมูนิเคชั่น รวมทั้งมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องหนี้ค้างชำระกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้มเดิมขอถอนตัว ส่งผลให้ บจ. 168 คอมมูนิเคชั่น ไม่สามารถใช้ระบบ Intelligence Network (IN) ที่เป็นระบบดูแลลูกค้าที่กลุ่มผู้ถือหุ้มเดิมเป็นผู้ดูแลได้ จึงต้องระงับการจำหน่ายซิมการ์ดให้แก่ผู้ใช้บริการรายใหม่เป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงาน กสทช. พบว่าในปัจจุบัน บจ. 168 คอมมูนิเคชั่น เริ่มเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้ใช้บริการตามปกติแล้ว โดยเน้นการให้บริการรูปแบบซิมเติมเงิน และสามารถเติมเงินผ่านช่องทางเติมเงินคือตู้เติมเงินบุญเติมและร้านสะดวกซื้อ 7-11 ส่วนเรื่องหนี้สินค้างชำระ บจ. 168 คอมมูนิเคชั่น และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้มีการเจรจาร่วมกันเพื่อทำการระงับข้อพิพาท โดย บจ. 168 คอมมูนิเคชั่น จะดำเนินการผ่อนชำระหนี้และขอเข้าใช้งานระบบ Mobile Virtual Network Enabler จาก บมจ. กสท โทรคมนาคม

————————————–

วาระรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายประจำไตรมาส 4 ปี 2559

สำนักงาน กสทช. รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประจำไตรมาส 4 ปี 2559 ว่า ไตรมาสนี้มีการให้บริการคงสิทธิเลขหมายทั้งสิ้น 2,954,199 เลขหมาย คิดเป็น 10.94% ของขีดความสามารถการให้บริการ 300,000 เลขหมายต่อวัน โดยข้อที่น่าสังเกตคือ ไตรมาสที่ 4 มีการโอนย้ายเลขหมายสูงกว่าไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 มากกว่า 100 เท่า ซึ่งไตรมาสที่ 3 มีปริมาณการโอนย้ายอยู่ที่ 274,586 เลขหมาย นอกจากนี้ Real Move ในกลุ่มบริษัท TRUE ยังเป็นบริษัทที่มีการใช้งานการคงสิทธิเลขหมายสูงสุดในไตรมาสนี้ เป็นจำนวน 28,698 เลขหมายต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนแล้วมากกว่า 80% ของปริมาณการโอนย้ายทั้งหมด อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. ไม่ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ Real Move มีการคงสิทธิเลขหมายในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น

สำหรับภาพรวมของอัตราการโอนย้ายเลขหมายสำเร็จต่อวันในปี 2559 มีอัตราสำเร็จลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2558 โดยในปี 2559 มีอัตราการโอนย้ายสำเร็จของทั้งอุตสาหกรรมจำนวน 56.98% ซึ่งน้อยกว่าที่เคยเป็นในปี 2558 ที่มีอัตราการโอนย้ายสำเร็จอยู่ที่ 77.05% และเมื่อพิจารณาแยกตามรายผู้ให้บริการ พบว่ามีเพียงผู้ให้บริการ 2 รายเท่านั้นที่มีอัตราการสำเร็จมากกว่า 50% คือ กลุ่มบริษัท DTN และกลุ่มบริษัท AWN คืออยู่ที่อัตรา 82.10% และ 63.15% ตามลำดับ ซึ่งในประเด็นนี้ สำนักงาน กสทช. วิเคราะห์ว่าสาเหตุหลักที่ทำให้การโอนย้ายเลขหมายในปี 2559 ไม่สำเร็จคือ ชื่อผู้ใช้บริการไม่ตรงกันระห่างชื่อผู้จดทะเบียนกับชื่อผู้ยื่นคำขอโอนย้าย คิดเป็นสัดส่วนถึง 43.71% ส่วนสาเหตุอื่นๆ รองลงมา คือ เอกสารไม่ครบถ้วน เลขหมายอยู่ระหว่างระงับการใช้งาน ติดหนี้และติดสัญญาบริการ

————————————–

วาระประมูลเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวยครั้งที่ 1/2560

วาระนี้เป็นเรื่องเพื่อทราบ เกี่ยวกับกรณีที่สำนักงาน กสทช. เตรียมจัดประมูลเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวย ครั้งที่ 1/2560 ในระหว่างวันที่ 18 – 19 มีนาคม 2560 ซึ่งการประมูลครั้งนี้จะเป็นการประมูลในห้องประชุมผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความเป็นส่วนตัว กล่าวคือ ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนหากเป็นผู้ชนะการประมูล

สำหรับเลขหมายสวยที่จะนำมาประมูลครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 200 เลขหมาย แบ่งเป็นเลขหมาย 7 ตัวเหมือนติดกันจำนวน 50 เลขหมาย ราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่ 3 ล้านบาท หลักประกันต่อเลขหมาย 3 แสนบาท และเลขหมาย 6 ตัวเหมือนติดกันจำนวน 150 เลขหมาย ราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่ 5 แสนบาท หลักประกันต่อเลขหมาย 5 หมื่นบาท โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลสามารถติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อเข้าร่วมประมูลได้ที่ http://auction.nbtc.go.th หรือจะลงทะเบียนในวันจัดประมูลก็ได้