จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 30/2559

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 30/2559 วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2559 มีวาระที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องการกำหนดอัตราลดค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก และเรื่องศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องกรณี บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ฟ้องเรื่องห้ามกำหนดวันหมดอายุพรีเพด

วาระกำหนดอัตราลดค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก

วาระนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องซึ่ง กทค. พิจารณามาตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 27/2559 โดยที่ยังไม่สามารถกำหนดเกณฑ์อัตราลดค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลักได้ แม้ว่าประกาศ กสทช. เรื่อง การลดหรือยกเว้นค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 แจ้งขอลดค่าบริการในการใช้หมายเลข 1663 ครั้งละ 1 บาท

สำหรับในการประชุมครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอเกณฑ์การลดค่าบริการในเบื้องต้นให้ที่ประชุมพิจารณาคือ ในกรณีที่โทรจากโทรศัพท์ประจำที่มายังเลขหมายสั้น จะคิดอัตราค่าบริการ 1 บาท/ครั้ง แต่หากโทรจากโทรศัพท์เคลื่อนที่มายังเลขหมายสั้น จะคิดอัตราค่าบริการ 1 บาทใน 5 นาทีแรก หลังจากนั้นนาทีที่ 6 เป็นต้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการตามอัตราที่ใช้งานจริงตามรายการส่งเสริมการขาย โดยเงื่อนไขนี้จะใช้กับหน่วยงานรัฐหรือนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรที่ยื่นขอลดค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายแบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก ตามประกาศฯ และต้องเป็นหน่วยงานที่มีคุณสมบัติและประวัติการดำเนินงาน คือ มีสายเรียกเข้ามากกว่า 50,000 สาย/ปี รายจ่ายการดำเนินการของหน่วยงานมากกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี และจำนวนปีในการดำเนินงานของหน่วยงานต้องมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ส่วนหน่วยงานที่ไม่เข้าเงื่อนไขคุณสมบัติข้างต้น สำนักงาน กสทช. จะพิจารณากำหนดอัตราลดค่าบริการที่เหมาะสมเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาต่อไปในภายหลัง

อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่า เกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช. เสนอให้ที่ประชุม กทค. ในครั้งนี้ หากเป็นการโทรจากโทรศัพท์ประจำที่หรือโทรจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 5 นาที อัตราค่าบริการที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอนับว่าช่วยลดภาระผู้ใช้บริการได้พอสมควรทีเดียว แต่ถ้าเป็นการโทรจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้เวลาเกินกว่า 5 นาที เช่นการโทรที่ไม่ใช่ลักษณะของการสอบถามหรือแจ้งเหตุ แต่เป็นการโทรที่มีลักษณะเป็นการขอคำปรึกษาหารือ ซึ่งคาดว่าน่าที่จะใช้เวลานานกว่า 5 นาทีอย่างแน่นอน ในกรณีนี้เช่นนี้ก็แทบไม่เป็นการช่วยลดภาระผู้ใช้บริการแต่อย่างใด ยกตัวอย่างการขอลดค่าบริการในการใช้หมายเลข 1663 ของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าผู้ใช้บริการจำนวนมากน่าที่จะเป็นผู้ที่ต้องการขอคำปรึกษา และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการโทรเนื่องจากต้องการความเป็นส่วนตัวในการพูดคุย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ในการกำหนดเกณฑ์อัตราลดค่าบริการจึงควรมีความละเอียดอ่อนและพิจารณาถึงภาพรวมการใช้งานของหน่วยงานต่างๆ ด้วย

—————————–

วาระศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องกรณี บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ฟ้องเรื่องห้ามกำหนดวันหมดอายุพรีเพด
วาระนี้เป็นเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานให้ที่ประชุมรับทราบผลคำพิพากษาศาลปกครองกลางยกฟ้องกรณี บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ฟ้อง กสทช. เลขาธิการ กสทช. และ กทค. เรื่องเกี่ยวกับการออกประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 รวมทั้งคำสั่งเลขาธิการ กสทช. ที่ให้บริษัทฯ แก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า (Pre-paid) มิให้มีเงื่อนไขในลักษณะโดยบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในกำหนด และมติ กทค. ที่วินิจฉัยยืนคำสั่งของเลขาธิการ กสทช.

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางมีเหตุผลในการยกฟ้องลักษณะเดียวกันกับกรณี บจ. ทรู มูฟ ฟ้อง ซึ่งศาลเพิ่งพิพากษายกฟ้องเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มติและคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ ศาลเห็นว่า ร่างข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการของผู้ฟ้องคดีมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีล่วงหน้า และผู้ฟ้องคดีได้กำหนดรายการส่งเสริมการขายในลักษณะที่เป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดีระงับการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนได้