จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 29/2559

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 29/2559 วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2559 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz และแนวทางบังคับผู้ให้บริการคิดค่าบริการเสียงตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที, เรื่องการทบทวนค่าธรรมเนียมในกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลกิจการ, เรื่องรายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคมประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2559, เรื่องการกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่, เรื่องเกณฑ์การกำหนดอัตราลดค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก และเรื่องคำพิพากษาศาลปกครองกลางยกฟ้องกรณี บจ. ทรูมูฟ ฟ้องเรื่องคำสั่งห้ามกำหนดวันหมดอายุพรีเพด

วาระแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz และแนวทางบังคับผู้ให้บริการคิดค่าบริการเสียงตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. ได้เคยบรรจุเข้าที่ประชุม กทค. ครั้งที่ผ่านมา (28/2559) แต่ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณา โดยเรื่องนี้สืบเนื่องจากเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตจากการประมูลคลื่น 2100 MHz กำหนดว่า ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต ส่วนกรณีคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ระบุว่า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการต่ำกว่า อัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่น 2100 MHz รวมทั้งต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที แต่ที่ผ่านมาเรื่องนี้ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดตั้งแต่ครั้งให้ใบอนุญาต 3G หรือคลื่น 2100 MHz ว่า ทั้งที่มีเงื่อนไขกำกับราคาค่าบริการให้ลดลง แต่จากการใช้งานจริงของผู้ใช้บริการจำนวนมาก ต่างสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เห็นว่าอัตราค่าบริการลดลงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ส่วนเรื่องการคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษนั้น สำนักงาน กสทช. ให้ข่าวตั้งแต่ต้นปี 2558 ว่าได้ดำเนินการแล้ว และมีการกำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูล สุดท้ายจนแล้วจนรอดก็ไม่เห็นผลเป็นจริงในทางปฏิบัติเสียที

อย่างไรก็ดี เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นแรงกดดันที่ทำให้ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 กทค. ได้มีมติให้ผู้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการตรวจสอบการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2100 MHz คลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz เพื่อหาแนวทางกำกับดูแลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ซึ่งในเวลาต่อมา สำนักงาน กสทช. ก็ได้นำเสนอแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการตามที่คณะทำงานฯ ได้ศึกษา ให้ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2559 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ได้พิจารณา

ภาพรวมของแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอในการประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2559 นั้น นับว่าดีทีเดียว เพราะเป็นแนวทางที่มีความชัดเจนและสามารถแก้ไขข้อจำกัดในการตรวจสอบอัตราค่าบริการแบบเดิม ซึ่งวิธีการเดิมเป็นการกำกับดูแลโดยตรวจสอบค่าบริการเฉลี่ยรวมทั้งตลาดว่าต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด แต่วิธีการที่เสนอใหม่คือให้ตรวจสอบอัตราค่าบริการเป็นรายโปรโมชั่นว่าต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด รวมไปถึงค่าบริการในส่วนที่เกินจากโปรโมชั่นและค่าบริการประเภท on-top ก็ต้องไม่เกินด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ให้บริการจะต้องระบุคลื่นความถี่ที่ให้บริการควบคู่กับอัตราค่าบริการให้สำนักงาน กสทช. สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งแจ้งผู้ใช้บริการให้รับรู้เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้บริการ แต่หากผู้ให้บริการไม่ระบุย่านคลื่นความถี่ที่ให้บริการ สำนักงาน กสทช. ก็จะนำอัตราค่าบริการที่ใช้กำกับดูแลการให้บริการบนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz มาใช้ในการตรวจสอบค่าบริการ โดยอัตราค่าบริการที่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงคือ ในส่วนอัตราค่าบริการบนคลื่น 2100 MHz ค่าบริการเสียงต้องไม่เกิน 0.82 บาท/นาที, SMS ไม่เกิน 1.33 บาท/ข้อความ, MMS ไม่เกิน 3.32 บาท/ข้อความ, ค่าบริการอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 0.28 บาท/MB ส่วนอัตราค่าบริการบนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ค่าบริการเสียงต้องไม่เกิน 0.69 บาท/นาที, SMS ไม่เกิน 1.15 บาท/ข้อความ, MMS ไม่เกิน 3.11 บาท/ข้อความ, ค่าบริการอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 0.26 บาท/MB สำหรับแนวทางการกำกับดูแลเรื่องการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที โดยไม่มีการปัดเศษนั้น ก็กำหนดให้บังคับใช้ทั้งระบบ ทั้งบนคลื่น 2100 MHz คลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ผลการพิจารณาวาระนี้ ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2559 มีมติเห็นชอบตามแนวทางที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอ แต่ก็มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำแนวทางกำกับดูแลอัตราค่าบริการไปจัดประชุมหารือและทำความเข้าใจกับผู้รับใบอนุญาต โดยมติ กทค. ที่ออกมา ปรากฏว่าได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ใช้บริการและกลุ่มองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค แต่ว่าภายหลังที่สำนักงาน กสทช. นำแนวทางดังกล่าวไปหารือและทำความเข้าใจกับผู้รับใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาตต่างไม่เห็นด้วย เหตุผลหลักๆ คือ แนวทางการควบคุมอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามกฎเกณฑ์นี้จะเป็นการลดทอนการแข่งขันในการพัฒนาโปรโมชั่นหรือรายการส่งเสริมการขายต่างๆ ที่ออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่หลากหลาย และอาจทำให้ผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ

ขณะเดียวกันในส่วนของการบังคับผู้ให้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขายนั้น ปรากฏว่าสำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการตามมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 โดยเคร่งครัดถึง 4 ครั้ง แต่ก็ได้รับการโต้แย้งจาก บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) โดยอ้างว่า ในขณะที่เข้าร่วมประมูล ผู้ให้บริการทุกรายคิดค่าบริการตามการใช้งานเป็นหน่วยนาที และได้ใช้อัตราดังกล่าวมาเป็นฐานในการคิดคำนวณแผนการลงทุน ดังนั้นมติ กทค. ดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดสิทธิผู้รับใบอนุญาตเกินสมควร อีกทั้งตามประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ก็กำหนดบังคับให้มีรายการส่งเสริมการขายอย่างน้อย 1 รายการเท่านั้น ไม่ใช่ทุกรายการ ซึ่งหากจะบังคับใช้มติ กทค. ดังกล่าว ก็จะต้องมีมาตรการบรรเทาความเสียหายหรือชดเชยให้แก่บริษัทฯ ในกรณีนี้จึงยังไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน

สำหรับการประชุม กทค. ครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งหากพิจารณาโดยผิวเผินแล้ว อาจคล้ายกับแนวทางเดิม คือ ยึดอัตราค่าบริการที่เป็นอัตราอ้างอิงตามแนวทางเดิม และผู้ให้บริการจะต้องระบุคลื่นความถี่ที่ให้บริการควบคู่กับอัตราค่าบริการแจ้งให้สำนักงาน กสทช. และผู้ใช้บริการทราบ แต่สิ่งที่แตกต่างคือเปลี่ยนแนวทางการตรวจสอบอัตราค่าบริการเป็นลักษณะเฉลี่ยแบบเดิม กล่าวคืออัตราค่าบริการเฉลี่ยต่อหน่วยรวมทุกรายการส่งเสริมต้องไม่เกินอัตราอ้างอิง เพียงแต่มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าให้มีรายการส่งเสริมการขายไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่อัตราค่าบริการเฉลี่ยต่อหน่วยของแต่ละบริการต้องไม่เกินอัตราอ้างอิง ส่วนแนวทางการกำกับดูแลเรื่องการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที โดยไม่มีการปัดเศษนั้น ก็กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ครึ่งๆ กลางๆ เช่นกัน คือให้ผู้รับใบอนุญาตต้องมีรายการส่งเสริมการขายและบริการเสริมไม่น้อยกว่าครึ่งที่คิดค่าบริการประเภทเสียงเป็นวินาทีและบริการอินเทอร์เน็ตเป็น KB

ส่วนเรื่องการบังคับผู้ให้บริการคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีตามมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 นั้น สำนักงาน กสทช. เสนอทางเลือกให้ กทค. พิจารณาเปลี่ยนแปลงมติตามข้อเสนอใหม่ที่บังคับใช้กับรายการส่งเสริมการขายและบริการเสริมว่าไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเท่านั้น

หากจะว่าไปแล้ว เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สามารถทำความเข้าใจได้ว่า ผู้รับใบอนุญาตก็อยากทำธุรกิจให้ได้กำไรมาก ผู้บริโภคก็อยากใช้บริการราคาถูก ส่วนองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. คงต้องกำกับดูแลอัตราค่าบริการให้ราคาเป็นธรรม มีความชัดเจน ไม่ให้มีการเอารัดเปรียบผู้ใช้บริการ ซึ่งแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการในแบบครึ่งๆ กลางๆ ที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอต่อที่ประชุมนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่จะยิ่งสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้บริการ และไม่เป็นไปตามคำโฆษณาของสำนักงาน กสทช. ที่ทุ่มงบประมาณจำนวนมากซื้อพื้นที่สื่อหลังจากที่มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ทั้งสามย่าน แล้วประการสำคัญคือสุดท้ายอาจไม่สามารถกำกับดูแลอัตราค่าบริการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ส่วนเสียงชื่นชมที่ผู้ใช้บริการและกลุ่มองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคเคยมอบให้สำนักงาน กสทช. ในเรื่องนี้ เชื่อว่าคงต้องทวงคืน

———————————

วาระการทบทวนค่าธรรมเนียมในกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลกิจการ
วาระนี้สืบเนื่องจากสำนักงาน กสทช. ว่าจ้าง บจ. ไทม์ คอนซัลติ้ง ดำเนินการศึกษาต้นทุนในการกำกับดูแลและหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมโทรคมนาคมเพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม โดยแบ่งค่าธรรมเนียมเป็น 3 ประเภท คือ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมรายปี ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายปี

สำนักงาน กสทช. จึงได้อ้างอิงผลการศึกษาแนวทางปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าว และเสนอปรับปรุงในส่วนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมรายปี คือ ผู้รับใบอนุญาตที่มีรายได้ 0 – 100 ล้านบาท ให้มีการเก็บค่าธรรมเนียม 0.25%, ผู้รับใบอนุญาตที่มีรายได้เกิน 100 – 1,000 ล้านบาท ให้มีการเก็บค่าธรรมเนียม 0.50%, ผู้รับใบอนุญาตที่มีรายได้เกิน 1,000 – 5,000 ล้านบาท ให้มีการเก็บค่าธรรมเนียม 0.75%, ผู้รับใบอนุญาตที่มีรายได้เกิน 5,000 – 20,000 ล้านบาท ให้มีการเก็บค่าธรรมเนียม 1.00%, ผู้รับใบอนุญาตที่มีรายได้ 20,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้มีการเก็บค่าธรรมเนียม 1.25% ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีอัตราค่าธรรมเนียมต่อรายได้ผู้ประกอบการเฉลี่ยลดลงจาก 1.42% ในปัจจุบันเป็น 1.03% ในอนาคต

ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมรายปี
อัตราปัจจุบัน

0 – 100 ล้านบาท เก็บ 0.25%
เกิน 100 – 500 ล้านบาท เก็บ 0.50%
เกิน 500 – 1,000 ล้านบาท เก็บ 1.00%
เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เก็บ 1.50%
อัตราที่นำเสนอ
0 – 100 ล้านบาท เก็บ 0.25%
เกิน 100 – 1,000 ล้านบาท เก็บ 0.50%
เกิน 1,000 – 5,000 ล้านบาท เก็บ 0.75%
เกิน 5,000 – 20,000 ล้านบาท เก็บ 1.00%
เกิน 20,000 ล้านบาทขึ้นไป เก็บ 1.25%

ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. เสนอปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์ประจำที่เป็น 1 บาท และ 1.50 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน ตามลำดับ จากในปัจจุบันที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์ประจำที่สำหรับผู้รับใบอนุญาตที่มีการขอจัดสรรเลขหมายครั้งแรกในอัตรา 1 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน และผู้รับใบอนุญาตที่รับการจัดสรรเลขหมายเพิ่มเติมในอัตรา 2 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายปี สำนักงาน กสทช. เสนอปรับปรุงสูตรคำนวณ ซึ่งคาดว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้เพิ่มขึ้น และครอบคลุมต้นทุนการกำกับดูแลกิจการในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม วาระนี้มีประเด็นน่าสังเกตว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงการปรับปรุงการจัดเก็บอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับขนาดงบประมาณของสำนักงาน กสทช. ในปัจจุบัน ซึ่งเกินดุลในปริมาณที่ค่อนข้างสูง แต่ไม่ได้สะท้อนว่ามาจากการคำนวณต้นทุนการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผลการศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายของสำนักงาน กสทช. เมื่อเทียบกับขนาดอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลอยู่นั้นมีสัดส่วนที่สูงอย่างมาก โดยมีอัตราส่วนสูงถึง 0.89% ในปี 2556 และเพิ่มเป็น 0.93% ในปี 2557 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ หน่วยงานกำกับดูแลอื่นในประเทศ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่า มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายเทียบกับขนาดของอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลในปี 2556 เท่ากับร้อยละ 0.01%, 0.06%, 0.15% และ 0.14% ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สำนักงาน กสทช. ควรต้องมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาและกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลนั้นสะท้อนต้นทุนที่มีประสิทธิภาพโดยแท้จริง

นอกจากนี้ ในส่วนของแนวทางปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมระหว่างผู้ขอรับการจัดสรรเลขหมายรายเก่าและรายใหม่ให้มีลักษณะเท่ากัน วิธีการนี้จะทำให้สำนักงาน กสทช. สูญเสียเครื่องมือในการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ในการเข้าสู่ตลาดโทรคมนาคม ซึ่งควรจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายในครั้งแรกที่ต่ำกว่า ในทางตรงกันข้าม สำนักงาน กสทช. ควรต้องมีมาตรการในการบังคับให้ผู้รับจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมมีการใช้งานเลขหมายอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการกำหนดค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม เช่น ผู้รับจัดสรรเลขหมายควรต้องถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมายเป็น 2 หรือ 4 เท่าจากอัตราปกติ หากพบว่ามีการเปิดใช้เลขหมายที่ได้รับจัดสรรต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น

ขณะที่แนวทางปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายปี ก็มีข้อน่าสังเกตเช่นกันว่า ที่ผ่านมามีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้คลื่นความถี่จากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถือครองคลื่นความถี่สูงถึง 35% ของคลื่นความถี่ทั้งหมด การที่ไม่มีการเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้คลื่นความถี่นี้ นอกจากทำให้บริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีภาระจ่ายค่าธรรมเนียมต้องกลายเป็นผู้แบกรับต้นทุนการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ใช้คลื่นความถี่แล้ว ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้งานคลื่นความถี่ของหน่วยงานรัฐ ตลอดจนลดทอนแรงจูงใจในการคืนคลื่นความถี่ที่มิได้ใช้งานของหน่วยงานรัฐเพื่อนำมาจัดสรรใหม่อีกด้วย

———————————

วาระรายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคมประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2559
วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอรายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคม ประจำไตรมาสที่ 2/2559 ให้ที่ประชุม กทค. รับทราบ โดยภาพรวมของเนื้อหารายงานฉบับนี้ พบว่า จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่สัดส่วนระหว่างผู้ใช้บริการประเภทเติมเงินและประเภทชำระค่าบริการรายเดือนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยผู้ใช้บริการในระบบเติมเงินเปลี่ยนไปใช้งานในระบบชำระค่าบริการรายเดือนเพิ่มขึ้น

สำหรับอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เฉลี่ยรวมทั้งตลาด) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งบริการประเภทเสียงและบริการที่ไม่ใช่เสียง ได้แก่ บริการประเภทข้อมูล บริการ SMS และบริการ MMS ซึ่งเมื่อพิจารณาอัตราค่าบริการแยกเป็นรายคลื่นความถี่ที่สำนักงาน กสทช. กำกับดูแลแล้ว พบว่า ผู้ให้บริการยังกำหนดอัตราค่าบริการไม่เกินกว่าอัตราที่มีการกำกับดูแล เว้นแต่อัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตบนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ของค่าย TRUE ที่มีอัตราค่าบริการเฉลี่ยเท่ากับอัตราที่กำหนดไว้ที่ 0.28 บาท/MB และสูงกว่าค่าย AIS และ DTAC

ส่วนตลาดโทรคมนาคมอื่นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยจำนวนเลขหมายและค่าตอบแทนต่อเลขหมายของบริการโทรศัพท์ประจำที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราค่าบริการเฉลี่ยของโทรศัพท์ระหว่างประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนตลาดอินเทอร์เน็ตประจำที่ พบว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นและอัตราค่าบริการมีแนวโน้มลดลง

———————————

วาระการกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุม กทค. พิจารณากำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่ คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริการคลื่นความถี่มาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553

ทั้งนี้ สาระสำคัญของมาตราดังกล่าว กำหนดหน้าที่ของ กสทช. ให้ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ โดยผู้ที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ ก็ให้ยังสามารถใช้คลื่นต่อไปได้จนถึงกำหนดที่ต้องคืนคลื่นความถี่ โดย กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่น เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 15 ปี นับตั้งแต่วันที่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ใช้บังคับ และไม่เกินกว่าระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญของเรื่องการถือครองคลื่นความถี่นั้น พบว่ามีหลายกรณีที่กระบวนการแก้ไขเงื่อนไขของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา ไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยที่ยังไม่มีการชี้ชัดถึงความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาสัมปทาน หรือความความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ จึงทำให้การกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นอาจไม่ถูกต้องและไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เช่น กรณีการถือครองคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมของบริษัท ทีที แอนด์ ที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือกรณีที่พบว่ามีกระบวนการแก้ไขเงื่อนไขของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่นกรณีการให้บริการสื่อสารดาวเทียมของ บมจ. ไทยคม กับกระทรวงคมนาคม และบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เคยวินิจฉัยว่า วัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารของดาวเทียมไทยคม 4 (IPSTAR) ไม่สอดคล้องกับสัญญาสัมปทาน การแก้ไขสัญญาจึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น

ดังนั้นในการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ ที่ประชุม กทค. จึงต้องพิจารณาในกรณีเหล่านี้ด้วยความรอบคอบด้วย รวมทั้งควรมีการเผยแพร่รายงานภาพรวมการถือครองคลื่นความถี่เป็นการทั่วไป เพื่อให้สาธารณชนรับทราบและตรวจสอบได้ต่อไป

———————————

วาระเกณฑ์การกำหนดอัตราลดค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก
วาระนี้เป็นวาระที่เลื่อนการพิจารณามาจากการประชุม กทค. ครั้งที่แล้ว โดยสืบเนื่องจากการยกร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การลดหรือยกเว้นค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก ซึ่งปัจจุบันมีผลบังคับใช้โดยประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่ว่ายังคงไม่มีความชัดเจนในประเด็นเกณฑ์การลดอัตราค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก และ 4 หลัก โดยแนวทางที่สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาในครั้งนี้คือ ควรกำหนดเป็นอัตราสะท้อนต้นทุนส่วนเพิ่มที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องจ่าย (Marginal Cost) ให้แก่ผู้ให้บริการโครงข่ายอื่นกรณีใช้หรือโทรข้ามไปยังโครงข่ายอื่น ซึ่งสำนักงาน กสทช. เสนอให้กำหนดอัตราค่าบริการจากอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้สามารถเรียกถึงจุดปลายทาง (Call Termination Rate) โดยจะมีผลใช้บังคับกับทั้งกรณีการโทรออกจากโครงข่ายศัพท์เคลื่อนที่และการโทรออกจากโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ และทั้งที่เป็นการโทรในโครงข่ายเดียวกัน (on net call) และการโทรข้ามโครงข่าย (off net call) เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ให้บริการ ดังนั้นในกรณีหากเป็นการโทรออกจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะคิดอัตราค่าบริการ 0.31 บาท/นาที ซึ่งอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ 0.61 บาท/นาที ส่วนถ้าเป็นการโทรออกจากโทรศัพท์ประจำที่ จะคิดอัตราค่าบริการ 0.83 บาท/ครั้ง ซึ่งอัตราค่าบริการโทรศัพท์ประจำที่ปัจจุบันอยู่ที่ 3 บาท/ครั้ง โดยแนวทางนี้ สำนักงาน กสทช. เสนอว่าให้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เนื่องจากจะติดตามและประเมินผลกระทบโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการให้บริการและการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช. เสนอมา ดูจะมีช่องโหว่และไม่สะท้อนสถานการณ์จริงในทางปฏิบัติของผู้ใช้บริการ เช่น หากผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้รายการส่งเสริมการขายที่มีสิทธิพิเศษโทรฟรีทั้งในและนอกเครือข่าย เมื่อโทรเข้าเลขหมายสั้น 3 หลัก 4 หลัก ระบบจะทำการหักในส่วนโทรฟรีหรือคิดค่าบริการตามอัตรา 0.31 บาท/นาที โดยหากว่าเป็นการหักออกจากสิทธิโทรฟรี นั่นเท่ากับว่าผู้ใช้บริการรายดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนตามแนวทางของประกาศนี้แต่อย่างใด หรือในกรณีที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เลือกใช้รายการส่งเสริมการขายที่มีอัตราค่าบริการต่ำกว่าอัตราที่กำหนด ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนตามประกาศด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ หากเป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่โทรจากต้นทางถึงปลายทางที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน เช่นการใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานของเครือข่ายทีโอทีโทรเข้าเลขหมายสั้น 3 หลัก 4 หลักที่ฝากอยู่บนเครือข่ายของทีโอทีเหมือนกัน อัตราค่าบริการก็ควรต้องกำหนดให้ต่ำกว่า 0.83 บาท/ครั้ง ด้วยหรือไม่ เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เป็นการเชื่อมต่อข้ามโครงข่าย และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้โครงข่ายของตนเองนั้นเป็นต้นทุนที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว จึงไม่มีภาระ

อันที่จริงเจตนารมณ์หลักของการออกประกาศฉบับนี้ตามมาตรา 57 วรรคสองของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 นั้น ก็เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโอกาสในการเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสารและความรู้ที่มีประโยชน์ผ่านบริการโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการตามหลักกฎหมายนี้ที่จะต้องเป็นฝ่ายแบกรับและแบ่งเบาภาระของผู้ใช้บริการ มิใช่แนวคิดเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการในตลาดที่จะต้องพิจารณาว่าจะไม่ก่อให้เกิดภาระเกินสมควรแก่ผู้ให้บริการแต่อย่างใด ดังนั้นในการยกร่างประกาศของสำนักงาน กสทช. และการพิจารณาวาระนี้ของ กทค. อาจจำเป็นต้องตั้งหลักคิดให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงก่อนด้วย

———————————

วาระคำพิพากษาศาลปกครองกลางยกฟ้องกรณี บจ. ทรูมูฟ ฟ้องเรื่องคำสั่งห้ามกำหนดวันหมดอายุพรีเพด
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานให้ที่ ประชุม กทค. รับทราบผลคำพิพากษาของศาลปกครองกลางจำนวน 2 คดี กรณี บจ. ทรู มูฟ ฟ้องเลขาธิการ กสทช. และ กทค. ขอให้เพิกถอนคำสั่งเรื่องการห้ามผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้ากำหนดรายการส่งเสริมการขายในลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด (การกำหนดวันหมดอายุบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเติมเงินหรือพรีเพด) และกรณี บจ. ทรู มูฟ ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองที่เรียกเก็บค่าปรับวันละ 1 แสนบาท เนื่องจากฝ่าฝืนประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ที่ระบุว่า การให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเป็นการล่วงหน้า (บริการแบบพรีเพด) จะต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ผู้ให้บริการจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า โดยทั้งสองคดีนี้ ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง กล่าวคือ

ในคดีแรกเรื่องการออกคำสั่งห้ามผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กำหนดวันหมดอายุบริการในระบบพรีเพดนั้น ศาลวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 51 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ให้อำนาจ กทช. ในการออกประกาศกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของสัญญาและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคม ในการออกประกาศดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ให้บริการไม่อาจกำหนดข้อสัญญาให้บริการอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องเร่งรีบใช้บริการภายในกำหนดเวลาอันอาจทำให้ต้องใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เกินความจำเป็น ซึ่งเป็นมาตรการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมที่เป็นอำนาจหน้าที่หนึ่งของ กทช. ประกอบกับเจตนารมณ์ให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่จะต้องมีการกำกับดูแลโดยองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ จึงเป็นการออกประกาศโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคำสั่งดังกล่าวกำหนดตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 จึงถือเป็นการออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

สำหรับอีกคดีหนึ่งที่เป็นเรื่องคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครอง ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจในการกำหนดค่าปรับทางทางปกครอง ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ สำหรับการกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 1 แสนบาทนั้น เนื่องจากการประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่มีผลประโยชน์ในอัตราที่สูง การที่มาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะกำหนดอัตราค่าปรับทางปกครองไว้ว่า ต้องไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อวัน จึงถือเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง อันมีลักษณะที่จะเกิดผลหรือมีประสิทธิภาพมากกว่ามาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 58(2) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่กำหนดอัตราค่าปรับทางปกครองไว้เพียงไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อวัน ประกอบกับศาลเห็นว่า ดุลพินิจในการกำหนดค่าปรับเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนค่าปรับกับประมาณการรายได้ของผู้ฟ้องคดีที่ได้รับจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะดังกล่าวแล้ว ถือเป็นมาตรการที่ไม่กระทบต่อผู้ฟ้องคดีจนเกินไป จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนแต่อย่างใด