จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 21/2559

as21-59

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 21/2559 วันอังคารที่ 13 กันยายน 2559 มีวาระที่น่าจับตา คือ แนวทางดำเนินการในการเรียกเก็บเงินนำส่งรายได้จากผู้ให้บริการในช่วงประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) และผลการพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้มีวาระอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ เรื่องข้อพิพาทกรณีการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ. ทีทีแอนด์ที กับ บจ. แอมเน็กซ์ เรื่องผู้ประกอบการนำโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์มาให้บริการอินเทอร์เน็ต เรื่องข้อพิพาทเรื่องการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ กับผู้ให้บริการที่เป็นเจ้าของโครงข่าย 3 บริษัท ส่วนวาระที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเรื่องร้องเรียนนั้น มีกรณีที่น่าสนใจคือเรื่องผู้ร้องเรียนประสบปัญหาคุณภาพสัญญาณ ซึ่งต้องการยกเลิกสัญญาและโอนย้ายเลขหมายไปยังผู้ให้บริการรายอื่น แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากยังคงติดสัญญาใช้บริการ 12 เดือน

วาระแนวทางดำเนินการในการเรียกเก็บเงินนำส่งรายได้จากผู้ให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ และผลการพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz
วาระเรื่องแนวทางดำเนินการในการเรียกเก็บเงินนำส่งรายได้จากผู้ให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ นั้น สืบเนื่องจากสำนักงาน กสทช. ได้เคยมอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องเป็นคดีปกครอง เรียกให้ บจ. ทรู มูฟ นำส่งเงินรายได้จากการให้บริการภายใต้ประกาศเยียวยาฯ ช่วงที่ 1 (วันที่ 16 กันยายน 2556 – 17 กรกฎาคม 2557) จำนวน 1,069.98 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระหนี้ แต่ตุลาการเจ้าของสำนวนเห็นว่า ข้อกฎหมายตามประกาศมาตรการเยียวยาไม่มีความชัดเจนว่า สำนักงาน กสทช. ซึ่งจะเป็นผู้ฟ้องคดี เป็นผู้มีอำนาจเรียกให้ บจ. ทรู มูฟ นำส่งรายได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ใช่ ศาลปกครองกลางก็อาจจะมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 20/2559 พิจารณา เพื่อแก้ไขคำฟ้องให้ กทค. เข้าเป็นผู้ฟ้องคดีร่วมกับสำนักงาน กสทช. ในคดีดังกล่าวด้วย โดยสำนักงาน กสทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในที่ประชุมว่า คดีดังกล่าวมีอายุความ 1 ปี และกำลังจะหมดอายุความลงในวันที่ 18 กันยายน 2559 นี้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 20 ก็ไม่สามารถมีมติได้ ซึ่งหากดำเนินการล่าช้า ก็อาจทำให้คดีขาดอายุความ และเกิดความเสียหายกับรัฐได้ ดังนั้นจึงคาดว่าจะมีการบรรจุเรื่องนี้ให้ กทค. พิจารณาอีกครั้งในการประชุม กทค. ครั้งที่ 21/2559 วันที่ 13 กันยายน 2559 เพื่อให้ทันนำเข้าที่ประชุม กสทช. ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันถัดไป

ส่วนวาระเรื่องผลการพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งเป็นวาระที่ได้รับการบรรจุมาตั้งแต่การประชุม กทค. ครั้งที่ 18/2559 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 แต่กระทั่งปัจจุบัน กทค. ยังไม่เคยมีการพิจารณาวาระนี้เลย โดยสาระหลักของวาระนี้ เป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินที่ศึกษาโดยคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้ฯ (ยังไม่หักค่าใช้โครงข่ายที่ต้องชำระให้กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม) ที่ บจ. ทรู มูฟ และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ทั้งหมดตลอดช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ เปรียบเทียบกับแนวทางที่รับฟังตามเอกสารหลักฐานของผู้ให้บริการ โดยสรุปตัวเลขตามแนวทางของคณะทำงานฯ บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ 13,989.24 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ 879.59 ล้านบาท รวม 14,868.83 ล้านบาท ส่วนแนวทางที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอเปรียบเทียบนั้น บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ 3,088.42 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ 879.39 ล้านบาท รวม 3,967.81 ล้านบาท ซึ่งสองแนวทางนี้มียอดแตกต่างกัน 10,901.02 ล้านบาท (อ่านรายละเอียดของวาระเพิ่มเติมได้ที่ https://nbtcrights.com/agenda/6767)

หมายเหตุ วาระนี้ได้รับการพิจารณาในการประชุม กทค. ครั้งที่ 22/2559 โดยสำนักงาน กสทช. เสนอว่า การคำนวณรายได้ของคณะทำงานฯ ไม่ได้ยึดตามหลักเกณฑ์ที่ กทค. เคยมีมติไว้ จึงนำเสนอผลการตรวจสอบรายได้นำส่งรัฐที่คำนวณใหม่ให้ กทค. พิจารณา โดย บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ ต้องนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จำนวน 2,153.24 ล้านบาท ค่าใช้โครงข่ายที่ต้องจ่ายให้กับ บมจ. กสท จำนวน 645.97 ล้านบาท สรุปยอดเงินที่ต้องนำส่งรัฐ จำนวน 1,507.27 ล้านบาท ส่วน บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ ต้องนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จำนวน 1,049.17 ล้านบาท ค่าใช้โครงข่ายที่ต้องจ่ายให้กับ บมจ. กสท จำนวน 314.75 ล้านบาท สรุปยอดเงินที่ต้องนำส่งรัฐ จำนวน 734.42 ล้านบาท โดยการประชุม กทค. มีมติเห็นชอบตามผลตรวจสอบรายได้ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอใหม่นี้ แต่มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำเสนอให้กระทรวงการคลังและ สตง. พิจารณาให้ความเห็นประกอบ

—————————————————-

วาระข้อพิพาทกรณีการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ. ทีทีแอนด์ที กับ บจ. แอมเน็กซ์
วาระนี้สืบเนื่องจาก บมจ. ทีโอที มีหนังสือลงวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ขอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 31/2556 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 ที่เห็นชอบให้มีการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ. ทีทีแอนด์ที กับ บจ. แอมเน็กซ์ ซึ่งในเวลาต่อมา กทค. ได้มีมติครั้งที่ 29/2557 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 อนุญาตให้ บจ. แอมเน็กซ์ เพิ่มบริการโทรศัพท์ประจำที่ ขณะที่ บมจ. ทีทีแอนด์ที เป็นผู้รับสัมปทานจาก บมจ. ทีโอที ตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายกิจการโทรศัพท์พื้นฐานอยู่ก่อน ด้วยเหตุนี้ บมจ. ทีโอที จึงเห็นว่า การควบรวมดังกล่าวอาจมีการนำทรัพยากรด้านโครงข่ายของบริษัทซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐไปใช้งาน โดยที่ทางบริษัทไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

คำร้องของ บมจ. ทีโอที นับว่ามีน้ำหนักและเป็นประเด็นที่น่าขบคิด เพราะการอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการระหว่างสองบริษัทในครั้งนั้น ก็ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนอยู่แล้วว่า บจ. แอมเน็กซ์ มี บมจ. ทีทีแอนด์ที ถือหุ้นอยู่ถึงร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียน ในขณะที่การอนุญาตให้ บจ. แอมเน็กซ์ เพิ่มบริการโทรศัพท์ประจำที่ ก็มีประเด็นน่าสงสัยว่าขัดต่อหลักกฎหมายหรือไม่ และอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิตามสัญญาสัมปทานของ บมจ. ทีโอที เพราะตามสัญญาร่วมการงานระหว่าง บมจ. ทีทีแอนด์ที กับ บมจ. ทีโอที มีการเปิดให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานแก่ประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว อีกทั้งพื้นที่การให้บริการก็มีความทับซ้อนกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บมจ. ทีทีแอนด์ที มีผลให้ห้ามทำธุรกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ดังนั้นคำร้องของ บมจ. ทีโอที เรื่องการควบรวมกิจการจึงเป็นประเด็นน่าสนใจที่ กทค. ควรนำมาพิจารณาทบทวน รวมทั้งในประเด็นที่หากศาลมีคำพิพากษาให้ บมจ. ทีทีแอนด์ที ล้มละลาย ซึ่งจะมีผลทั้งต่อสถานะของ บมจ. ทีทีแอนด์ที และใบอนุญาตของ บจ. แอมเน็กซ์ ในเรื่องนี้ก็ควรมีการหามาตรการป้องกันผลกระทบในการให้บริการของทั้งสองบริษัทที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย

—————————————————-

วาระผู้ประกอบการนำโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์มาให้บริการอินเทอร์เน็ต
วาระนี้เป็นเรื่องของผู้ประกอบการรายหนึ่งที่นำโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาตของอีกบริษัทหนึ่งมาให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งสองบริษัทมีผู้บริหารและสถานประกอบการเป็นชุดเดียวกัน โดยบริษัทชี้แจงว่า เข้าใจว่า สามารถดำเนินการให้บริการอินเทอร์เน็ตได้เนื่องจากดำเนินการโดยผู้บริหารชุดเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่สำนักงาน กสทช. แจ้งให้บริษัททราบว่าการดำเนินการดังกล่าวผิดกฎหมาย เพราะหากบริษัทประสงค์นำโครงข่ายไปให้บริการอินเทอร์เน็ต ก็จำเป็นต้องขออนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย เนื่องจากในการกำกับดูแลเป็นคณะกรรมการคนละชุดกัน และใช้กฎหมายในการออกใบอนุญาตต่างฉบับกัน ดังนั้นในเวลาต่อมา บริษัทจึงดำเนินการยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามเข้ามา ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้จัดทำเป็นวาระเตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในครั้งนี้

เรื่องนี้หากจะว่าไป การออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับเอกชนรายใหม่ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของอุตสาหกรรม แต่ก็ควรสางปัญหาเก่าให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดจากการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการเปรียบเทียบปรับ หลังจากนั้นจึงค่อยพิจารณาให้ใบอนุญาต

—————————————————-

วาระข้อพิพาทเรื่องการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์
วาระนี้เป็นวาระเพื่อทราบ โดยเป็นเรื่องสืบเนื่องจาก บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ประสงค์ขอแก้ไขสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้สามารถให้บริการส่งข้อความสั้นได้ แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้กับผู้ให้บริการโครงข่ายทั้งสามราย คือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ บจ. ดีแทค ไตรเน็ต จนกลายเป็นข้อพิพาทเกิดขึ้น ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว และเป็นเรื่องที่รับรู้ปัญหากันดีในคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม แต่ก็ไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาและนำเสนอความเห็นให้ กทค. พิจารณาเป็นมติ ทั้งที่โดยหลักการแล้วเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ควรนำเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมในกิจการโทรคมนาคม อย่างไรก็ดี สำหรับวาระนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานให้ที่ประชุม กทค. ทราบว่า ข้อพิพาทระหว่าง บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ กับอีกสามบริษัท ได้รับการนำเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทแล้ว ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น โดยหวังว่ากระบวนการระงับข้อพิพาทจะไม่ถูกถ่วงเวลาให้ล่าช้าในลักษณะเดียวกับที่ผ่านมาอีก

—————————————————-

วาระแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีประสบปัญหาใช้งานอินเทอร์เน็ตและต้องการยกเลิกสัญญา
วาระนี้เป็นเรื่องของผู้ใช้บริการรายหนึ่งที่ซื้อเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมเลขหมาย ติดสัญญา 12 เดือน ครั้นเมื่อเริ่มเปิดใช้งาน ก็ประสบปัญหาไม่สามารถใช้งานด้วยความเร็วอินเทอร์เน็ตตามที่ผู้ให้บริการได้โฆษณาไว้ ภายหลังผู้ใช้บริการแจ้งปัญหาผ่าน Call Center ของบริษัท ก็ไม่ได้รับการแก้ไข แต่ยังคงต้องจ่ายค่าบริการเต็มจำนวนทุกเดือน ในที่สุดจึงตัดสินใจร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. โดยขอให้พิจารณาว่า หากบริษัทยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็จะขอย้ายไปใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของค่ายอื่น

ในกรณีนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพสัญญาณ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสัญญาณเข้าถึงบ้าง ขาดหายบ้าง และมีปัญหาด้านการรับส่งข้อมูลดาต้า จึงแจ้งให้บริษัทปรับปรุงด้วยการเพิ่มกำลังส่งให้ครอบคลุม เพื่อลดปัญหาสัญญาณขาดหาย และตั้งสถานีฐานเพิ่มเติมเพื่อช่วยรองรับการรับส่งข้อมูลดาต้าให้เพียงพอ อย่างไรก็ดี ในส่วนของการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้บริการรายนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมเห็นว่า ผู้ใช้บริการเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตตามคุณภาพสัญญาณที่ผู้ให้บริการโฆษณาไว้ แต่ยังคงต้องจ่ายค่าบริการ จึงขีดเส้นตายไว้ว่า หากบริษัทไม่เร่งติดตั้งเสาสัญญาณภายในเดือนกันยายน 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพสัญญาณ ผู้ใช้บริการก็มีสิทธิยกเลิกสัญญาและโอนย้ายเลขหมายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้