จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 18/2559

ggggg18.59

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 18/2559 วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2559 มีหลายวาระที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการคลื่น 1800 ในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ เรื่องแผนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2400 MHz ของ บมจ. ทีโอที เรื่อง บมจ. ทีโอที ขอให้ทบทวนมติกรณีขอขยายระยะเวลาใช้คลื่น 470 MHz เรื่องพิจารณาความผิดผู้ประกอบการที่นำโครงข่ายกระจายเสียงและโทรทัศน์มาให้บริการอินเทอร์เน็ต เรื่อง บจ. ทรู มูฟ เอชฯ ร้องเรียนผู้ให้บริการเครือข่ายอื่นกีดกันผู้ใช้บริการโอนย้ายเลขหมาย รวมทั้งพิจารณาแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการที่ตกค้างไม่ได้พิจารณามาจากการประชุมครั้งที่แล้ว

วาระผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการคลื่น 1800 ในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ
สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอผลการตรวจสอบเงินรายได้ที่ต้องนำส่งรัฐจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 1800 MHz ของ บจ. ทรู มูฟ และ บจ. ดิจิตอล โฟน ภายใต้ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ ) ซึ่งดำเนินการศึกษาและตรวจสอบโดยคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาความคุ้มครองผู้ใช้บริการ เพื่อให้ที่ประชุม กทค. พิจารณา

เหตุที่ผู้ให้บริการทั้งสองบริษัทต้องนำส่งรายได้ให้กับรัฐ เนื่องจากภายหลังที่สัญญาสัมปทานระหว่างผู้ให้บริการทั้งสองรายกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz สิ้นสุดลง กสทช. ได้มีมติให้ทั้งสองบริษัทให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องภายใต้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ ซึ่งรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ให้นำส่ง กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

สำหรับรายงานผลการตรวจสอบเงินรายได้นั้น แบ่งการตรวจสอบเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ที่มีการบังคับใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ จนถึงวันที่ คสช. มีคำสั่งให้ชะลอการจัดประมูลคลื่นความถี่ออกไป 1 ปี คือตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ช่วงที่ 2 คือช่วงที่ให้บริการภายใต้ระยะเวลาของคำสั่ง คสช. ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 และช่วงที่ 3 เป็นช่วงที่ให้บริการภายหลังสิ้นสุดระยะคำสั่งให้ชะลอการจัดประมูลคลื่นความถี่จนถึงวันที่มีการจัดสรรคลื่นให้กับผู้ให้บริการที่ชนะการประมูล คือตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2558 – 3 ธันวาคม 2558 โดยในส่วนของผลการตรวจสอบเงินรายได้ช่วงที่ 1 นั้น ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 17/2558 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ได้มีมติเห็นชอบให้ บจ. ทรู มูฟ นำส่งรายได้จำนวนประมาณ 1,069.98 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน นำส่งรายได้ประมาณ 627.64 ล้านบาท พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้น มายังสำนักงาน กสทช. ทว่าในเวลาต่อมา ทั้งสองบริษัทมีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ปฏิเสธการนำส่งรายได้ และขอให้ทบทวนแนวทางการคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการ โดยได้มีการชี้แจง พร้อมทั้งส่งรายละเอียดเพิ่มเติมที่ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของคณะทำงานฯ

ประเด็นสำคัญที่ทั้งสองบริษัทโต้แย้งคือ การพิจารณาต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่สะท้อนความจริง เพราะต้นทุนหลักเป็นต้นทุนคงที่ ดังนั้นแม้ยอดผู้ใช้บริการมีจำนวนลดลงเนื่องจากมีการโอนย้ายเลขหมายไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ แต่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ลดลงตามจำนวนผู้ใช้บริการ รวมถึงยังมีรายได้บางส่วนที่ไม่ได้เกิดจากการให้บริการบนคลื่นความถี่ แต่เป็นรายได้ที่เกิดจากการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ออกหาประโยชน์ เช่น รายได้จากค่าเช่าพื้นที่ ค่าใช้อุปกรณ์เสาสูง ค่าใช้บริการระบบไฟฟ้า รายได้ IC และ National Roaming จึงไม่ควรนำรายได้ส่วนนี้มาคำนวณด้วย

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ มีความเห็นต่อข้อโต้แย้งของทั้งสองบริษัทว่า ในประเด็นต้นทุนหลักที่เป็นต้นทุนคงที่นั้น คณะทำงานฯ เห็นว่าผู้ให้บริการประกอบธุรกิจแบบกลุ่มบริษัท ซึ่งมีการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างบริษัทในเครือ ซึ่งไม่มีการแสดงหลักฐานว่ามีการปันส่วนค่าใช้จ่ายอย่างไร อีกทั้งค่าใช้จ่ายในบางรายการที่แม้จะไม่มีการให้บริการในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ ก็ยังคงเกิดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อาทิ เงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน เงินเดือนผู้บริหาร เป็นต้น ส่วนประเด็นเรื่องรายได้ที่เกิดจากการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ออกหาประโยชน์นั้น คณะทำงานฯ มองว่า หากผู้ให้บริการทั้งสองไม่มีอุปกรณ์โครงข่ายดังกล่าว รายได้ส่วนนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น คณะทำงานฯ ยังพบว่า เอกสารหลักฐานที่แสดงค่าใช้จ่ายบางส่วนที่บริษัทจัดส่งมีความน่าเชื่อถือน้อย เพราะเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นระหว่างกิจการภายในบริษัท ไม่มีเอกสารจากบุคคลที่สาม บางรายการที่มีจำนวนเงินสูง ก็มีเพียงสำเนาสัญญา แต่ไม่มีสำเนาใบเสร็จรับเงิน ขณะที่ค่าใช้จ่ายบางรายการก็ไม่สมเหตุสมผล เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา ค่าใช้จ่ายหลักสูตรอบรม ค่าเดินทางไปศึกษาดูงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ในกรณีของ บจ. ทรู มูฟ ที่มีการฟ้องศาลปกครองเพื่อขอเงินค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมที่ได้มีการชำระแล้วบางส่วนคืนจากสำนักงาน กสทช. โดย บจ. ทรู มูฟ อ้างว่าไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายในช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ เนื่องจากเป็นการให้บริการแทนรัฐนั้น ในประเด็นนี้คณะทำงานฯ ก็ได้ชี้แจงว่า ตามหลักเกณฑ์ของคณะทำงานฯ มีการนำรายการดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้อยู่แล้ว ดังนั้นคณะทำงานฯ จึงเห็นควรยืนยันแนวทางการคิดคำนวณตามหลักเกณฑ์เดิม และใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการช่วงที่ 2 และช่วงที่ 3 ด้วย

อย่างไรก็ดี วาระที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอให้ที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาในครั้งนี้ ได้หยิบยกผลการพิจารณารายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการตามแนวทางเดิมของคณะทำงานฯ เปรียบเทียบกับแนวทางที่พิจารณาและรับฟังตามเอกสารหลักฐานที่บริษัทชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมของ บจ. ทรู มูฟ โดยผลสรุปการตรวจสอบรายได้ที่ผู้ให้บริการต้องนำส่งรัฐในช่วงที่ 1 หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของคณะทำงานฯ บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 1,069.98 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 627.64 ล้านบาท แต่หากพิจารณาโดยหลักรับฟังเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมจากผู้ให้บริการ บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 684.52 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 627.44 ล้านบาท ส่วนการตรวจสอบรายได้ที่ผู้ให้บริการต้องนำส่งรัฐในช่วงที่ 2 หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของคณะทำงานฯ บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 10,259.99 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 251.95 ล้านบาท แต่หากพิจารณาโดยหลักรับฟังเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมจากผู้ให้บริการ บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 614.38 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 251.95 ล้านบาท และสำหรับการตรวจสอบรายได้ที่ผู้ให้บริการต้องนำส่งรัฐในช่วงที่ 3 หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของคณะทำงานฯ บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 2,659.27 ล้านบาท แต่ บจ. ดิจิตอล โฟน ไม่ต้องนำส่งรายได้เนื่องจากผลประกอบการติดลบ จึงถือว่าไม่มีเงินนำส่งรัฐ แต่หากพิจารณาโดยหลักรับฟังเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมจากผู้ให้บริการ บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 2,403.90 ล้านบาท ส่วน บจ. ดิจิตอล โฟน ไม่ต้องนำส่งรายได้เนื่องจากผลประกอบการติดลบเช่นเดียวกัน

สรุปผลการตรวจสอบรายได้ที่ต้องนำส่งรัฐจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 1800 MHz ยอดเงินรวมทั้ง 3 ช่วงเวลา หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของคณะทำงานฯ บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 13,989.25 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 879.58 ล้านบาท รวมทั้งสองบริษัทเป็นจำนวนเงิน 14,868.83 ล้านบาท แต่หากพิจารณาโดยหลักรับฟังเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมจากผู้ให้บริการ บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 3,088.42 ล้านบาท และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ประมาณ 879.39 ล้านบาท รวมทั้งสองบริษัทเป็นจำนวนเงิน 3,967.82 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผลการคิดคำนวณรายได้ที่ต้องนำส่งรัฐของสองแนวทางนี้มีความแตกต่างกันอย่างมากถึง 10,901.01 ล้านบาท

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลการตรวจสอบรายได้ทั้งสองแนวทางที่สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอให้ กทค. พิจารณานี้ ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายในส่วนค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยังมีข้อพิพาทกันอยู่ด้วย โดย บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้มีหนังสือแจ้งเป็นระยะให้สำนักงาน กสทช. ชำระค่าใช้โครงข่ายสำหรับการให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ นอกจากนี้ ผลจากการบังคับใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ และการตรวจสอบเงินรายได้นำส่งแผ่นดินนี้ ยังนำไปสู่การฟ้องร้องคดีของผู้ให้บริการทั้งสามรายต่อศาลปกครองไม่ต่ำกว่า 6 คดี ทั้งคดีที่ บมจ. กสท โทรคมนาคม ฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศมาตรการเยียวยาฯ และเรียกค่าเสียหายจาก กทค. กสทช. และสำนักงาน กสทช. จำนวนกว่า 275,658.36 ล้านบาท คดีที่ บมจ. กสท โทรคมนาคม ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายจากการใช้โครงข่ายของ บมจ. กสท โทรคมนาคม คดีที่ทั้งสองบริษัทฟ้องเพิกมติและคำสั่งให้บริษัทนำส่งรายได้จากการให้บริการในช่วงที่ 1 และประเด็นที่ บจ. ทรู มูฟ ฟ้องให้สำนักงาน กสทช. คืนเงินค่าธรรมเนียมเลขหมาย ฯลฯ ขณะเดียวกันสำนักงาน กสทช. เอง ก็มีการฟ้อง บจ. ทรู มูฟ และ บจ. ดิจิตอล โฟน กรณีไม่ชำระเงินรายได้นำส่งแผ่นดินช่วงที่ 1

ดังนั้น ในการพิจารณาวาระนี้ กทค. คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน และเชื่อแน่ว่าประเด็นการนำส่งรายได้จากการให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ นี้ ไม่ลงเอยอย่างง่ายดายแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันทับซ้อนและขัดแย้งกันหลายฝ่าย

หมายเหตุ วาระเรื่องผลการตรวจสอบรายได้นำส่งรัฐในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ สุดท้ายได้รับการพิจารณาในการประชุม กทค. ครั้งที่ 22/2559 โดยสำนักงาน กสทช. เสนอว่า การคำนวณรายได้ของคณะทำงานฯ ไม่ได้ยึดตามหลักเกณฑ์ที่ กทค. เคยมีมติไว้ จึงนำเสนอผลการตรวจสอบรายได้นำส่งรัฐที่คำนวณใหม่ให้ กทค. พิจารณา โดย บจ. ทรู มูฟ ต้องนำส่งรายได้ ต้องนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จำนวน 2,153.24 ล้านบาท ค่าใช้โครงข่ายที่ต้องจ่ายให้กับ บมจ. กสท จำนวน 645.97 ล้านบาท สรุปยอดเงินที่ต้องนำส่งรัฐ จำนวน 1,507.27 ล้านบาท ส่วน บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องนำส่งรายได้ ต้องนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จำนวน 1,049.17 ล้านบาท ค่าใช้โครงข่ายที่ต้องจ่ายให้กับ บมจ. กสท จำนวน 314.75 ล้านบาท สรุปยอดเงินที่ต้องนำส่งรัฐ จำนวน 734.42 ล้านบาท โดยการประชุม กทค. มีมติเห็นชอบตามผลตรวจสอบรายได้ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอใหม่นี้ แต่มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำเสนอให้กระทรวงการคลังและ สตง. พิจารณาให้ความเห็นประกอบ

—————————————————————————-

วาระแผนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2400 MHz ของ บมจ. ทีโอที
วาระนี้สืบเนื่องจาก กทค. เคยมีมติในการประชุมครั้งที่ 27/2558 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 อนุญาตให้ บมจ. ทีโอที ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2400 MHz (ช่วง 2310 – 2370 MHz) จำนวน 60 MHz และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ติดตามแผนและผลการดำเนินการปรับปรุงคลื่นของ บมจ. ทีโอที เพื่อให้มีการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยในวาระนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เตรียมนำเสนอแผนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2400 MHz ที่ บมจ. ทีโอที จัดส่งให้ กทค. พิจารณา

ทั้งนี้ บมจ. ทีโอที มีแผนขอปรับปรุงคลื่นย่านดังกล่าวเพื่อนำไปให้บริการด้านเสียง ข้อมูล และพหุสื่อด้วยเทคโนโลยี LTE ในการให้บริการโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Wireless Broadband) ในรูปแบบบริการขายส่งและขายปลีก รวมทั้งบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Fixed Wireless Broadband) ด้วยเทคโนโลยี LTE โดยมีแผนการสร้างโครงข่าย (Roll Out Plan) ในปีแรก ด้วยการติดตั้งสถานีฐานหรือสถานีฐานขนาดเล็กให้สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้อย่างน้อย 100,000 ราย และให้บริการขายส่งแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNOs) หลังจากนั้นมีแผนติดตั้งสถานีฐานหรือสถานีฐานขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยในปีที่ 5 หรือระยะสุดท้าย ตั้งเป้าว่าจะสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้อย่างน้อย 900,000 ราย รวมทั้งให้บริการขายส่งแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNOs) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNOs)

อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอวาระนี้มีประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกต เนื่องจากแผนการใช้งานคลื่นความถี่ที่ บมจ. ทีโอที ส่งมาให้พิจารณานั้น เป็นเพียงบทสรุปผู้บริหารที่มีจำนวน 4 หน้าเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดเพียงพอว่าจะนำคลื่นไปใช้อย่างไร เริ่มต้นเมื่อใด มีเงื่อนไขว่าภายในระยะเวลาเท่าใด ที่สำคัญบทสรุปผู้บริหารจำนวน 4 หน้านี้ ไม่สะท้อนความมีประสิทธิภาพในการใช้งานคลื่นความถี่ว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้งานทั้ง 60 MHz เลยหรือไม่ หรือมีความจำเป็นตามความเหมาะสมปริมาณเท่าใด เพราะหากคลื่นส่วนใดที่ บมจ. ทีโอที ไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ที่ กสทช. จะต้องเรียกคืนคลื่นความถี่ส่วนนั้นกลับมาจัดสรรใหม่ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 84 วรรคหนึ่ง วรรคสี่ และมาตรา 83 ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ความจำเป็นของการประกอบกิจการและการใช้คลื่นความถี่ รวมทั้งเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่

นอกจากนี้ ในคราวการประชุม กทค. เพื่อพิจารณาอนุญาตให้ บมจ. ทีโอที ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2400 MHz ครั้งที่ 27/2558 นั้น กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้ลงมติเสียงข้างน้อย โดยเห็นต่างว่าน่าที่จะมีการตรวจสอบสิทธิในการใช้คลื่นย่านนี้ของ บมจ. ทีโอที ให้ชัดเจนเสียก่อน ซึ่งสิทธิแต่เดิมนั้นมีการอนุญาตให้ บมจ. ทีโอที ใช้ในกิจการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบท ดังนั้นการจะอนุญาตให้ บมจ. ทีโอที ปรับปรุงการใช้คลื่นเพื่อให้บริการในเขตกรุงเทพฯ หรือเขตเมืองนั้น สามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ประเภทบริการที่มีการขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ก็ยังเป็นคนละประเภทบริการกับที่ บมจ. ทีโอที ได้รับอนุญาตไว้แต่เดิมด้วย

—————————————————————————-

วาระ บมจ. ทีโอที ขอให้ทบทวนมติ กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. กรณีขอขยายระยะเวลาใช้คลื่น 470 MHz
วาระนี้สืบเนื่องจาก กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. เคยมีมติเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ไม่อนุมัติให้ บมจ. ทีโอที ขยายระยะเวลาใช้คลื่นความถี่ย่าน 470 MHz เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการโทรศัพท์ประจำที่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลระบบมาตรฐาน CDMA 2000 X1 โดยต่อมา บมจ. ทีโอที ได้มีหนังสือขอให้ กสทช. ทบทวนมติ และหลังจากนั้นก็ได้มีการยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2554 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติและคำสั่งทางปกครองที่ไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาใช้คลื่นดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลว่า กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ไม่มีอำนาจในการออกมติหรือคำสั่งใดๆ ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น อีกทั้งมติที่เป็นข้อพิพาทนี้มีเหตุผลที่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพราะ บมจ. ทีโอที ได้นำคลื่นย่านนี้มาให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารตามแนวชายแดนและชายฝั่งทะเล ซึ่งมีผู้ใช้บริการอยู่ประมาณ 26,000 เลขหมาย ขณะเดียวกัน บมจ. ทีโอที ก็ไม่สามารถนำคลื่นย่านอื่นมาใช้งานทดแทนคลื่นย่านนี้ได้ เนื่องจากคลื่นย่านอื่นไม่สามารถส่งสัญญาณโทรคมนาคมได้ครอบคลุมเท่าคลื่นย่าน 470 MHz

อย่างไรก็ดี ในประเด็นข้อพิพาทนี้ ถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยศาลวินิจฉัยว่า กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ในขณะนั้นมีอำนาจในการออกมติโดยชอบ ส่วนประเด็นของมติดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่า บมจ. ทีโอที ได้ขอปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบมาตรฐาน CDMA 2000 X1 มาตั้งแต่ปี 2549 แต่จนกระทั่งที่ กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. มีมติ บมจ. ทีโอที ก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยปัจจุบันมีสถานีฐานเพียง 250 สถานี ไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงจำนวนผู้ใช้บริการมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ซึ่งคำพิพากษานี้ สำนักงาน กสทช. ได้เคยรายงานให้ กทค. ทราบแล้วในการประชุมครั้งที่ 9/2559 เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนการนำเสนอวาระให้ กทค. พิจารณาในครั้งนี้ ก็เพื่อขอรับนโยบายในการดำเนินการต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าต้องบังคับให้ บมจ. ทีโอที ส่งคืนคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวกลับมาให้ กสทช. โดยเร็ว เพื่อนำกลับมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อนึ่ง แนวทางการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2558) กำหนดว่าจะนำคลื่นความถี่ย่าน 470 – 510 MHz ไปใช้ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล โดยจะโยกย้ายการใช้คลื่นความถี่ในกิจการประจำที่และกิจการเคลื่อนที่ทางบกภายในปี 2563 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการใช้งานในระดับสากล

—————————————————————————-

วาระพิจารณาความผิดผู้ประกอบการที่นำโครงข่ายกระจายเสียงและโทรทัศน์มาให้บริการอินเทอร์เน็ต
วาระนี้เป็นการพิจารณาความผิดของผู้ประกอบกิจการ 2 ราย ที่นำโครงข่ายกระจายเสียงและโทรทัศน์มาให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่บุคคลทั่วไป โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม รายแรกเป็นบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านทางโครงข่ายสายเคเบิลทีวีเดิมของบริษัทซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการเคเบิลท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนรายที่สองเป็นบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตบนโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์โดยการเช่าใช้โครงข่ายของอีกบริษัทหนึ่งซึ่งมีเพียงใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เช่นเดียวกัน

แม้ว่าที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 26/2558 กรรมการจะเคยมีมติเห็นชอบให้ผู้ประกอบการสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีการใช้หรือเช่าใช้โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ได้ แต่ก็ได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กทค. เนื่องจากในการกำกับดูแลเป็นคณะกรรมการคนละชุดกัน และใช้กฎหมายในออกใบอนุญาตต่างฉบับกัน การที่จะนำใบอนุญาตของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มาบังคับใช้กับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) โดยอาศัยฐานอำนาจทางกฎหมายคนละฉบับกันนั้น ย่อมเป็นการไม่ถูกต้อง ดังนั้นเรื่องนี้จึงชัดเจนว่าผู้ประกอบการกระทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ กทค. ต้องพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ด้วย คือการเปรียบเทียบคดีความผิดตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ว่าเป็นการประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง หรือแบบที่สอง หรือแบบที่สาม ซึ่งความผิดตามใบอนุญาตแต่ละแบบมีอัตราโทษแตกต่างกัน

ในยุคที่เทคโนโลยีสื่อมีลักษณะการหลอมรวมกันมากขึ้น กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นอุทาหรณ์อย่างดีที่อาจมีการกระทำความผิดโดยผู้ประกอบกิจการไม่รู้หรือไม่เข้าใจกฎหมาย หลังจากนี้สำนักงาน กสทช. จึงควรดำเนินการแจ้งและให้ความรู้ผู้ประกอบกิจการที่มีความประสงค์จะใช้โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือบริการโทรคมนาคมว่าต้องยื่นขอรับใบอนุญาตจาก กทค. ให้ถูกต้องด้วย

—————————————————————————-

วาระ บจ. ทรู มูฟ เอชฯ ร้องเรียนผู้ให้บริการเครือข่ายอื่นกีดกันผู้ใช้บริการโอนย้ายเลขหมาย
วาระนี้มีเหตุจาก บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ทำหนังสือร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ร้องเรียนกรณีที่ได้รับแจ้งจาก Call Center ของบริษัทฯ ว่าผู้ใช้บริการในเครือของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ที่ประสงค์จะขอใช้บริการเปลี่ยนผู้ให้บริการจากเครือข่ายเดิมมาใช้บริการของ บจ. ทรู มูฟ เอชฯ ผ่านบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNP) โดยผู้ใช้บริการโทรออกไปยัง Call Center ของ บจ. ทรู มูฟ เอชฯ ที่หมายเลข 1331 แต่ปรากฏว่าไม่สามารถโทรออกไปยังเลขหมายดังกล่าวได้ หรือต้องรับฟังข้อความโฆษณาของผู้ให้บริการปัจจุบันก่อน

ภายหลังการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีนี้ สำนักงาน กสทช. พบว่า อัตราการโทรออกสำเร็จของทั้งสองเครือบริษัทไปยังหมายเลข 1331 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยมีอัตราสูงกว่าประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียงที่กำหนดไว้ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ส่วนประเด็นที่ต้องรับฟังข้อความโฆษณา สำนักงาน กสทช. เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการประชาสัมพันธ์ตามแผนดำเนินการภายใต้มาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้ข้อความเพียงวันเดียวเท่านั้น และหากผู้ใช้บริการไม่ประสงค์ที่จะได้ยินข้อความดังกล่าว ก็สามารถกดปฏิเสธการรับฟังได้โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด หลังจากนั้นสัญญาณโทรศัพท์จะเชื่อมต่อไปยังเลขหมายปลายทางตามปกติ ซึ่งบางกรณีที่ไม่สามารถติดต่อเลขหมายปลายทางได้ อาจเป็นเพราะปลายทางสายไม่ว่าง นอกจากนี้ยังไม่พบการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการในกรณีนี้แต่อย่างใด ดังนั้นจากผลการตรวจสอบ สำนักงาน กสทช. วิเคราะห์ว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไม่มีมูลเพียงพอ และเห็นควรให้ยุติเรื่องร้องเรียนนี้

แม้เรื่องร้องเรียนกรณีนี้จะไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่ามีการกีดกันไม่ให้ผู้ใช้บริการโทรออกไปยัง Call Center ของ บจ. ทรู มูฟ เอชฯ แต่ที่ผ่านมาพอเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ใช้บริการทั่วไปของทุกเครือบริษัทต่างประสบปัญหาเรื่องการใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่จริง ดังจะเห็นได้จากจำนวนเรื่องร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นมาก ทั้งในประเด็นการยกเหตุปฏิเสธการโอนย้าย ระยะเวลาการโอนย้ายที่นานเกินกว่า 3 วันทำการตามที่หลักเกณฑ์ปัจจุบันกำหนด รวมถึงการให้บริการโอนย้ายที่ไม่ถูกขั้นตอน ในการนี้เพื่อให้การบริการคงสิทธิเลขหมายเป็นไปอย่างถูกต้อง และไม่ทำให้ผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน ก็น่าที่จะมีการติดตามกำชับให้ทุกบริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการคงสิทธิเลขหมายอย่างเคร่งครัดด้วย

—————————————————————————-

วาระพิจารณาแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ
วาระการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการในการประชุม กทค. ครั้งที่ 18/2559 นี้ ส่วนใหญ่เป็นวาระที่ค้างการพิจารณามาจากการประชุมครั้งก่อนหน้านี้ โดยกรณีร้องเรียนที่มีประเด็นน่าสนใจและน่าจับตามี 2 เรื่องด้วยกัน คือ

กรณีแรกเป็นเรื่องผู้ใช้บริการรายหนึ่งประสบปัญหาคุณภาพสัญญาณในการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยมีความเร็วต่ำมาก โดยผู้ใช้บริการรายนี้สมัครใช้บริการรายการส่งเสริมการขาย iNet 599 ของผู้ให้บริการรายหนึ่ง รับส่วนลดร้อยละ 50 ค่าบริการรายเดือน 299.50 บาท ใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้ 2 กิกะไบต์ต่อเดือน หลังจากนั้นสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องที่ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 384 กิโลบิตต่อวินาที แต่ปรากฏว่าในการใช้งานจริง ความเร็วอินเทอร์เน็ตในบางช่วงเวลาต่ำมาก แม้แต่ facebook ก็ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ ภายหลังจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้ให้บริการยอมรับว่า ได้มีการปรับลดความเร็วอินเทอร์เน็ตรอบที่สองเหลือ 64 กิโลบิตต่อวินาที เมื่อผู้ใช้บริการใช้อินเทอร์เน็ตเกิน 10 กิกะไบต์ โดยอ้างว่าเป็นนโยบาย “Super Fair”

กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการไม่สามารถกระทำการลักษณะดังกล่าวได้ โดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม มีมติให้บริษัทฯ ปรับปรุงคุณภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ได้มาตรฐานตามที่ได้โฆษณาไว้ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยหากบริษัทฯ จะปรับลดความเร็วลงในลักษณะนั้น ก็ต้องแจ้งเงื่อนไขให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้า นอกจากนี้ บริษัทฯ ต้องเป็นไปตามประกาศ กสทช เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ นั่นคือต้องให้บริการอินเทอร์เน็ตต่อเนื่องตามความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 345 กิโลบิตต่อวินาที

สำหรับกรณีที่สองเป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการถูกเรียกเก็บค่าบริการจากการโทรไปยังเลขหมาย 4 ตัว นาทีละ 1.50 บาท โดยบริษัทฯ ที่เป็นผู้ให้บริการอ้างว่าค่าบริการเลขหมาย 4 หลัก ไม่รวมอยู่ในรายการส่งเสริมการขาย ผู้ใช้บริการจึงร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าการเรียกเก็บค่าบริการเลขหมาย 4 หลักนอกรายการส่งเสริมการขายนั้นถูกต้องหรือไม่ และหากไม่ถูกต้องก็ขอให้มีคำสั่งให้บริษัทฯ คืนเงินที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการทุกราย
กรณีเรื่องร้องเรียนนี้เคยได้รับการเสนอให้ กทค. พิจารณามาแล้วครั้งหนึ่งในการประชุมครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. แสวงหาความจริงเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการตรวจสอบต้นทุนและเงื่อนไขการเรียกเก็บค่าบริการเลขหมาย 4 หลักว่ามีความเหมือนหรือความแตกต่างจากเลขหมายปกติอย่างไร เพราะเอาเข้าจริงคุณลักษณะการใช้งานและตัวบริการแทบจะไม่มีความแตกต่างจากเลขหมายปกติแต่อย่างใด

สุดท้ายการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีนี้ลงเอยโดยที่ทางบริษัทฯ ปรับลดอัตราค่าบริการให้ผู้ร้องเรียน รวมถึงชี้แจงกับทางสำนักงาน กสทช. ว่าได้มีการปรับปรุงการคิดอัตราค่าบริการโทรไปยังเลขหมาย 4 หลัก ให้รวมอยู่ในรายการส่งเสริมการขายในแต่ละรายการแล้ว โดยสามารถใช้งานได้ตั้งแต่ตุลาคม 2558 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องแนวคิดที่จะมีการจัดทำหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าบริการสำหรับบริการโทรคมนาคมเลขหมายโทรศัพท์สั้น 4 หลัก เพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไปนั้น สำนักงาน กสทช. เห็นว่าไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะในปัจจุบันตลาดโทรคมนาคมได้คิดค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 4 หลักรวมอยู่ในรายการส่งเสริมการขายแล้ว ส่วนเรื่องที่ผู้ร้องเรียนต้องการให้บริษัทฯ คืนเงินที่เรียกเก็บโดยไม่ถูกต้องให้กับผู้ใช้บริการทุกราย คงต้องจับตาว่า กทค. จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาหรือไม่ และจะมีมติอย่างไร

เรื่องร้องเรียนทั้งสองกรณีนี้นับเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับผู้ใช้บริการ โดยหากผู้ใช้บริการคนใดประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ ก็สามารถยืนยันสิทธิของตนกับบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการหรือร้องเรียนปัญหามายังสำนักงาน กสทช. ได้