CAT ฟ้องประกาศมาตรการเยียวยาฯ, คำพิพากษาศาลปกครองกรณีกำหนดค่าปรับผู้ให้บริการที่ไม่จัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่, การดำเนินคดีกับผู้เปิดให้บริการ WiFi โดยไม่ได้รับอนุญาต, ผลประเมินทางเศรษฐกิจและสังคมของการให้บริการบรอดแบนด์

as33.58

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 33/2558 วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2558 มีการบรรจุวาระการประชุมที่น่าจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ เรื่อง บมจ. กสท โทรคมนาคม ฟ้องศาลปกครองกลางกรณี กสทช. ออกประกาศมาตรการเยียวยาฯ, เรื่องศาลปกครองกลางมีคำพิพากษากรณีสำนักงาน กสทช. มีคำสั่งทางปกครองกำหนดค่าปรับผู้ให้บริการที่ไม่จัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่, เรื่องการดำเนินคดีกับผู้เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) โดยไม่ได้รับอนุญาต, และเรื่องผลประเมินทางเศรษฐกิจและสังคมของการให้บริการบรอดแบนด์

วาระ CAT ฟ้องประกาศมาตรการเยียวยาฯ ตามคำสั่ง คสช. ที่ให้ชะลอการจัดสรรคลื่น
วาระนี้มีเหตุจากที่ บมจ. กสท โทรคมนาคม ฟ้องศาลปกครองกลางกรณี กสทช. ออกประกาศเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) และประกาศเรื่องคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตหรือสัมปทานตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 94/2557 (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ ตามคำสั่ง คสช.) ซึ่ง บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้รับความเสียหายจากการที่ กสทช. ออกประกาศทั้งสองฉบับ โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การแก้คำฟ้อง พร้อมยื่นเอกสารพยานหลักฐานต่อศาลภายในวันที่ 20 ธันวาคมนี้

แม้ บมจ. กสท โทรคมนาคม จะเคยฟ้องการออกประกาศมาตรการเยียวยาฯ ของ กสทช. ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม ด้วยเห็นว่าเมื่อสัญญาสัมปทานบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ บจ. ทรู มูฟ และ บจ. ดิจิตอล โฟน สิ้นสุดลง ทั้งสองบริษัทต้องโอนกรรมสิทธิ์ในโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เกิดจากการจัดหาและจัดสร้างตามสัญญาสัมปทานให้แก่ บมจ. กสท โทรคมนาคม ดังนั้น บมจ. กสท โทรคมนาคม จึงควรมีสิทธิเป็นผู้ให้บริการต่อเนื่องแก่ผู้ใช้บริการหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ในทำนองเดียวกันทั้งสองบริษัทจึงไม่มีสภาพที่จะประกอบกิจการโทรคมนาคมบนคลื่นความถี่นี้ได้ ด้วยเหตุนี้ การที่ กสทช. ออกประกาศมาตรการเยียวยาฯ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุให้บริษัทเกิดความเสียหาย

แต่สำหรับการฟ้องเพิ่มเติมในครั้งนี้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ยกผลของความเสียหายว่าในระหว่างที่ กสทช. ประกาศใช้มาตรการเยียวยาฯ และประกาศมาตรการเยียวยาฯ ตามคำสั่ง คสช. ในเวลาต่อมา โดยในช่วงเวลาดังกล่าว บมจ. กสท โทรคมนาคม ต้องยอมให้ทั้งสองบริษัทใช้เครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมและโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งในช่วง 16 กันยายน 2556 – 15 กันยายน 2557 มีค่าใช้จ่ายจากการใช้เครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมและโครงข่ายโทรคมนาคม เป็นเงินกว่า 23,379 ล้านบาท โดยที่ยังไม่ได้รับการชำระแต่อย่างใด

นอกจากนี้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ยังเห็นว่าเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช. ฉบับนั้น นอกจากต้องการให้ กสทช. ชะลอการจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมออกไปเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว ยังมีเจตนาให้ กสทช. แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม ดังนั้น กสทช. จึงต้องปรับปรุงประกาศมาตรการเยียวยาฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ด้วย ซึ่งที่ผ่านมากลับไม่มีการดำเนินการให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรม

แม้การจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ของ กสทช. จะลงเอยด้วยความสำเร็จและเสียงชื่นชม แต่ปมปัญหาเรื่องประกาศใช้มาตรการเยียวยาฯ น่าจะเป็นเรื่องพิพาทที่คาราคาซังอีกยาวนาน

วาระศาลปกครองกลางพิพากษาข้อพิพาทคำสั่งทางปกครองกรณีกำหนดค่าปรับผู้ให้บริการที่ไม่จัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

วาระนี้สืบเนื่องจากกรณีพิพาทที่สำนักงาน กสทช. กำหนดค่าปรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ไม่ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ Pre-paid ให้ครบถ้วน ตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริการเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 โดยสำนักงาน กสทช. มีคำสั่งลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 กำหนดค่าปรับทางปกครองผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ไม่ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดผู้ใช้บริการในอัตราวันละ 80,000 บาท แต่ในเวลาต่อมา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งห้ารายในขณะนั้นได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว

คดีความนี้ยืดเยื้อยาวนาน จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาคดีที่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ฟ้องคัดค้านคำสั่งทางปกครองของสำนักงาน กสทช. โดยศาลพิพากษาว่าคำสั่งทางปกครองดังกล่าวไม่ชอบและให้เพิกถอน เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ได้พิจารณาความขัดข้องของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ทั้งที่ได้รับแจ้งจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมเรื่อยมาว่าไม่สามารถนำข้อกำหนดไปปฏิบัติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของซิมการ์ดประเภทเติมเงินที่จำหน่ายไปแล้วก่อนประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริการเลขหมายโทรคมนาคมจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดผู้ใช้บริการถือเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก อีกทั้งการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหลายอย่างแก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการเกินไป

ประเด็นของวาระนี้ที่ต้องจับตาคือ กทค. และสำนักงาน กสทช. จะอุทธรณ์คำพิพากษาคดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ และจะมีแนวทางในการสู้คดีต่อไปอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่ายังมีคดีพิพาทในลักษณะเดียวกันของผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นอีก คือ บจ. ทรูมูฟ บจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งอยู่ระหว่างตุลาการเจ้าของสำนวนสรุปข้อเท็จจริงเพื่อกำหนดวันพิจารณาคดี

วาระการดำเนินคดีกับผู้เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) โดยไม่ได้รับอนุญาต
วาระนี้เป็นเรื่องที่มีกลุ่มบุคคลในจังหวัดพะเยาร่วมกันเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือสัญญาณ WiFi แก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. ซึ่งสำนักงาน กสทช. ถือเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. เขต 3 (ลำปาง) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนภายหลังที่คดีหมดอายุความไปแล้ว ซึ่งคดีมีอายุความ 1 ปี ถึงกระนั้นวาระนี้มีข้อน่าสังเกตว่ากลุ่มบุคคลที่กระทำความผิดอ้างเหตุเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่เข้าใจข้อกฎหมาย เช่นเข้าใจว่าคลื่น WiFi ประชาชนสามารถใช้ได้ โดยไม่รู้ว่าการนำมาให้บริการโดยเรียกเก็บค่าบริการนั้นผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. ต้องเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนด้วย ขณะเดียวกันก็ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติระหว่างคนรวยกับคนจน ดังเช่นกรณีโรงแรมหรือสถานบริการทั้งหลายที่มีการให้บริการสัญญาณ WiFi โดยเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งน่าที่จะถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเช่นเดียวกัน

วาระผลประเมินทางเศรษฐกิจและสังคมของการให้บริการบรอดแบนด์
วาระนี้เป็นวาระเพื่อทราบ โดยเป็นการรายงานผลการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการให้บริการบรอดแบนด์ผ่านทางโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) ที่สำนักงาน กสทช. ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการดำเนินโครงการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการให้บริการบรอดแบนด์ผ่านทางโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband)

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการให้บริการอินเทอร์เน็ตทางโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ในปี 2556 มีผลกระทบสุทธิเท่ากับ 468,768.32 ล้านบาท โดยสาขาการลงทุนและการเงินในส่วนของการประกันความเสี่ยงได้รับผลประโยชน์มากที่สุดเป็นมูลค่า 142,071.57 ล้านบาท ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและการสาธารณสุขได้รับประโยชน์เป็นอันดับที่สองและสาม คิดเป็นมูลค่า 59,875.00 ล้านบาท และ 55,778.69 ล้านบาท ขณะที่ผลกระทบเชิงบวกจากการให้บริการเทคโนโลยี 4G ต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในปีแรกหลังการประมูล ประเมินว่าจะมีมูลค่าเกิดขึ้น 168,136.00 ล้านบาท และในปีที่สองมีมูลค่า 265,274.00 ล้านบาท ส่วนผลกระทบเชิงบวกของเทคโนโลยี 4G ในระดับจุลภาค พบว่า มิติต่างๆ อันได้แก่การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การศึกษา และการสาธารณสุข มีโอกาสเติบโตขึ้นได้อีก แต่ยังขาดข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินมูลค่าที่แน่ชัดได้

สำหรับนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดผลกระทบเชิงบวก ซึ่งถือเป็นภารกิจของ กสทช. คือ การส่งเสริมโครงข่ายและบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้งานด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ควบคุมราคาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและลดช่องว่างทางดิจิตอล สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เกิดเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) รวมทั้งส่งเสริมนโยบายสิทธิแห่งทางเพื่อช่วยลดต้นทุนในการขยายโครงข่ายการสื่อสารให้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศโดยเร็ว