รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย และการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงฯ จากเงินรายได้ของผู้รับใบอนุญาตระหว่างมกราคม 2554 – พฤษภาคม 2555

as32.58

การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 32/2558 วันพุธที่ 2 ธันวาคม 2558 มีวาระที่น่าจับตาคือ รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2558 และเรื่องขอรับมอบแนวทางดำเนินการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมจากเงินรายได้ในการประกอบกิจการโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 – 30 พฤษภาคม 2555

นอกจากนี้ คาดว่าน่าจะมีการพิจารณาเรื่องการออกใบอนุญาตให้กับบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz หากมีการนำส่งหนังสือค้ำประกันการชำระเงินประมูลงวดที่สองและสามให้กับสำนักงาน กสทช. เป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งน่าที่จะมีการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องคำขอของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ที่ต้องการชะลอวันสิ้นสุดการให้บริการเป็นการชั่วคราวบนคลื่น 1800 MHz ตามประกาศเยียวยาฯ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน กทค. ได้มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว

วาระเรื่องรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2558
วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 พบว่า การให้บริการคงสิทธิเลขหมายมีแนวโน้มลดลงและต่ำกว่าขีดความสามารถในการให้บริการค่อนข้างมาก ซึ่งในปัจจุบันแต่ละกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีขีดความสามารถในการให้บริการเป็นจำนวน 60,000 เลขหมายต่อวัน หรือ 300,000 เลขหมายต่อวันสำหรับทั้งอุตสาหกรรม โดยในเดือนมิถุนายน 2558 จำนวนการโอนย้ายเลขหมายเฉลี่ยรายวันลดลงไปจนกลายเป็นช่วงเวลาที่มีการโอนย้ายเฉลี่ยต่อวันน้อยที่สุดที่ 2,479 เลขหมายเท่านั้น ซึ่งคาดว่าประสิทธิภาพของการให้บริการคงสิทธิเลขหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถรองรับการใช้งานในระยะยาวได้

สำหรับภาพรวมการให้บริการคงสิทธิเลขหมายนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการให้บริการในเดือนมกราคม 2555 เป็นต้นมา จนสิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 พบว่ามีการโอนย้ายเลขหมายทั้งสิ้นกว่า 50.9 ล้านเลขหมาย โดยในช่วงที่มีการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 2100 MHz ซึ่งเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2556 นั้น ปรากฏว่ามีการโอนย้ายทั้งหมด 49.85 ล้านเลขหมาย โดยประมาณ 97.08 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นการโอนย้ายระหว่างกลุ่มบริษัทในเครือ ขณะที่การโอนย้ายนอกกลุ่มบริษัทเดิมมีเพียง 1.46 ล้านเลขหมาย หรือ 2.92 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนที่มีการโอนย้ายเลขหมายมากที่สุดของกลุ่มบริษัทเอไอเอสและกลุ่มบริษัทดีแทค พบว่ามีการโอนย้ายเลขหมายสูงเกินโควต้าหรือขีดความสามารถสูงสุดในการรองรับการให้บริการคงสิทธิเลขหมายของแต่ละบริษัท นั่นคือ ในเดือนกันยายน 2557 กลุ่มบริษัทเอไอเอสมีการโอนย้ายเลขหมายสูงถึง 1.9 ล้านเลขหมาย ขณะที่ในเดือนมิถุนายน 2557 กลุ่มบริษัทดีแทคมีการโอนย้ายเลขหมายถึง 1.86 ล้านเลขหมาย ซึ่งตามโควต้าของแต่ละกลุ่มบริษัทมีขีดความสามารถสูงสุดในการให้บริการแต่ละเดือนอยู่ที่ 1.8 ล้านเลขหมาย ซึ่งความผิดปกติในการโอนย้ายเลขหมายที่เกิดขึ้นนี้ ปัจจุบันยังคงไม่มีการตรวจสอบถึงสาเหตุความชัดเจนอย่างเป็นระบบ

วาระการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงฯ จากเงินรายได้ของผู้รับใบอนุญาตระหว่างมกราคม 2554 – พฤษภาคม 2555
วาระนี้สืบเนื่องจากในสมัยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้เคยบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตแบบที่ 2 ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองและแบบที่ 3 เป็นผู้รับใบอนุญาตที่มีหน้าที่ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือบริการ USO โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถเลือกดำเนินการจัดให้มีบริการ USO ตามภารกิจและพื้นที่เป้าหมายที่ประกาศกำหนด (Play) หรือจัดสรรรายได้จากการประกอบกิจการในอัตรา 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปีให้แก่กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Pay)

ทว่าในเวลาต่อมามีการประกาศใช้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งมาตรา 50 ของกฎหมายใหม่กำหนดให้ กสทช. จัดทำแผนการจัดให้มีบริการ USO พร้อมทั้งกำหนดค่าใช้จ่ายและเรียกเก็บจากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อนำไปใช้ดำเนินการสนับสนุนการจัดให้มีบริการ USO ตามแผน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวกำหนดไว้เพียงช่องทางเดียวคือวิธีการ Pay อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่กระบวนการแต่งตั้ง กสทช. มาปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ กทช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ก็ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการดำเนินงานจัดให้มีบริการ USO ปี 2554 และร่างแผนการจัดให้มีบริการ USO ประจำปี 2554 แต่ยังไม่ทันที่การดำเนินการแล้วเสร็จ ที่ประชุม กทช. ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ก็ได้มีมติให้จัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2554 – 2559) ขึ้นภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ และเมื่อมีการแต่งตั้ง กสทช. เกิดขึ้น กสทช. ก็ได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทดังกล่าวและนำไปบังคับใช้ ทำให้ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเดือนมกราคม 2554 – พฤษภาคม 2555 นี้ ไม่มีการจัดให้มีบริการ USO ไม่ว่าจะด้วยวิธีการ Play หรือ Pay ก็ตาม พร้อมกับเกิดข้อถกเถียงทางกฎหมายว่า ในช่วงเวลาระยะภายหลังจากที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้แล้ว แต่การประกาศกำหนดแผน USO และค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตเพื่อนำไปใช้ดำเนินการตามแผนยังไม่แล้วเสร็จ การเรียกเก็บค่า USO จากผู้รับใบอนุญาตในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร

ในประเด็นข้อถกเถียงนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เคยมีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือตอบกลับลงวันที่ 11 เมษายน 2557 วินิจฉัยว่า การให้บริการ USO จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ประกอบกัน ดังนั้น กสทช. จึงสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดสรรเงินรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคมได้ อีกทั้งผู้รับใบอนุญาตในตอนนั้นก็ทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่า มีหน้าที่ต้องจัดสรรรายได้จากการประกอบกิจการ 4 เปอร์เซ็นต์ให้แก่กองทุน ซึ่งผู้รับใบอนุญาตย่อมต้องคำนวณค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ในค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคแล้ว จึงไม่น่าที่จะได้รับผลกระทบแต่อย่างใด