หลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz, การจัดทำเอกสารเผยแพร่เรื่องผลกระทบจากคลื่นมือถือ, การนำส่งเงินรายได้ของ CAT และ TOT เข้ารัฐ ฯลฯ

bbbbbbb142558

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 14/2558 ช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตาหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ให้ที่ประชุม กทค. พิจารณา รวมทั้งมีวาระการนำส่งเงินรายได้ของ CAT และ TOT เข้ารัฐ วาระเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่หลายกรณีมีอุทาหรณ์ที่น่าสนใจ และยังมีวาระเพื่อทราบที่น่าสนใจคือเรื่องการจัดทำเอกสารเผยแพร่เรื่องผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นอกจากนั้น ยังมีวาระที่ตกค้างจากการพิจารณาในการประชุมครั้งที่แล้ว คือ เรื่องร่างประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ เรื่องแนวทางการนำคลื่นความถี่ย่าน 2.3 GHz และ 2.6 GHz เพื่อใช้สำหรับประกอบกิจการโทรคมนาคม และเรื่องรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว

วาระพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz
วาระนี้นับเป็นประเด็นร้อนที่ทั้งฝ่ายผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้บริโภคที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เฝ้ารอและจับตาอย่างลุ้นระทึกว่า หลักเกณฑ์การจัดประมูลและเงื่อนไขการให้อนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นี้จะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ สำหรับคลื่นที่จะมีการนำออกประมูลจะมีขนาด 2 X 12.5 MHz จำนวน 2 ชุด โดยประเด็นสำคัญในเรื่องการกำหนดมูลค่าและราคาตั้งต้นในการประมูล ยังคงอ้างอิงมูลค่าและราคาตามที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้เคยเสนอไว้ในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นในปีที่แล้ว ดังนั้น ชุดคลื่นที่จะมีการนำออกประมูลในครั้งนี้ ซึ่งจะมีระยะเวลาการอนุญาต 18 ปี จึงมีมูลค่าประมาณ 16,571 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่ ขณะที่การกำหนดราคาตั้งต้นจะมีการปรับลดมูลค่าคลื่นลง 30 %เหลือ 11,600 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่ อย่างไรก็ดี ในการเตรียมการจัดประมูลหนนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ข้อกำหนดว่า หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับชุดคลื่นความถี่ที่นำออกประมูล ก็จะกำหนดราคาตั้งต้นเท่ากับมูลค่าคลื่นที่มีการประเมินไว้ ซึ่งหลักเกณฑ์นี้คาดว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องไม่มีการแข่งขันในการประมูลคลื่นความถี่ไปได้ แต่ถึงกระนั้นก็มีข้อสังเกตว่า ในการประเมินมูลค่าคลื่นของ ITU ในการเตรียมการจัดประมูลหนที่แล้ว ได้รับเสียงวิจารณ์อย่างหนาหูว่าประเมินมูลค่าคลื่นไว้ต่ำเกินไป เพราะหากเปรียบเทียบกับมูลค่าคลื่นย่าน 1800 MHz ของประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกหลังปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่มีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G นั้น มูลค่าคลื่นย่าน 1800 MHz ที่จะนำออกประมูลในครั้งนี้ควรอยู่ในราว 20,100 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่

สำหรับเรื่องเงื่อนไขความครอบคลุมโครงข่าย หลักเกณฑ์ที่นำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในครั้งนี้ยังคงกำหนดไว้ที่ 40 % ของประชากรภายใน 4 ปี ซึ่งถือว่ากำหนดไว้ค่อนข้างต่ำและอาจทำให้การใช้งานคลื่นไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากถูกใช้งานในพื้นที่จำกัดและไม่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ส่วนการเพิ่มเติมเงื่อนไขข้อกำหนดเรื่องการถือครองคลื่นสูงสุด (Overall Spectrum Cap) ไว้ที่ 60 MHz นั้น พบว่าขาดการประเมินอย่างครบถ้วนว่าปัจจุบันคลื่นความถี่ที่สามารถนำมาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น มีผู้ให้บริการรายใดครอบครองอยู่บ้าง เพราะที่สำนักงาน กสทช. ประเมินเป็นการพิจารณาเพียงคลื่นย่าน 800 MHz, 900 MHz, 1800 MHz, และ 2100 MHz เท่านั้น โดยมิได้พิจารณาถึงการถือครองคลื่นย่าน 2300 MHz และ 2600 MHz ร่วมด้วย ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ย่านที่จะมีการจัดสรรในอนาคต ดังนั้นหากขาดความชัดเจนในเรื่องนี้ ก็อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยภาพรวมได้

วาระการนำส่งเงินรายได้ของ CAT และ TOT เข้ารัฐ
ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 83 วรรคสาม กำหนดว่า เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ต้องนำรายได้จากผลประกอบการในส่วนที่ได้รับจากการให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ หลังหักใช้จ่าย ให้นำส่งเงินจำนวนดังกล่าวกับ กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป ซึ่งกำหนด 3 ปีนั้นครบแล้วเมื่อ 20 ธันวาคม 2556 แต่กระทั่งปัจจุบันทั้ง บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) และ บมจ. (TOT) ก็ยังมิได้นำส่งเงินรายได้มายังสำนักงาน กสทช. แต่อย่างใด

โดยก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. เคยทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเมื่อธันวาคม 2556 เพื่อสอบถามว่า กสทช. มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายได้ที่รัฐวิสาหกิจทั้งสองรายต้องนำส่งด้วยหรือไม่ ซึ่งกระทรวงการคลังมีหนังสือตอบกลับว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่เพียงกำหนดหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย ส่วนขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมาย รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่นำส่งรายได้ให้ กสทช. และ กสทช. มีหน้าที่นำส่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป รวมทั้ง กสทช. มีหน้าที่ในการตรวจสอบการนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายด้วย อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. พยายามยืนกรานมาโดยตลอดว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายระบุให้นำส่งเงินผ่าน กสทช. เท่านั้น อันหมายถึง กสทช. จะรับและนำส่งให้กระทรวงการคลังในลักษณะส่งผ่าน โดยไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องของรายได้และค่าใช้จ่ายจากผลประกอบการดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมทั้งอ้างความเห็นของคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง และสำนักงาน กสทช. ร่วมด้วย ว่าควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่ต้องตรวจสอบ ในการประชุม กทค. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ที่ประชุมจึงมีมติให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือสอบถามกระทรวงการคลังอีกครั้งถึงความชัดเจนของบทบาทและอำนาจหน้าที่ แต่หนนี้ยังไม่มีหนังสือตอบกลับจากกระทรวงการคลัง สุดท้ายเรื่องนี้จึงยังคงสาละวนอยู่กับประเด็นที่ว่าหน่วยงานใดมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเงินรายได้จำนวนดังกล่าวกันแน่ แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงว่า หากรัฐวิสาหกิจทั้งสองรายไม่นำส่งเงินรายได้ตามกฎหมาย หน่วยงานใดจะเป็นฝ่ายไล่เบี้ย ซึ่งในขณะนี้ก็ล่วงเลยเวลามาปีกว่าแล้วที่ทั้ง บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที ยังมิได้นำส่งเงินรายได้เข้ารัฐตามกฎหมายแม้สักบาทเดียว

วาระการจัดทำเอกสารเผยแพร่เรื่องผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
แม้วาระนี้เป็นเพียงวาระเพื่อทราบ แต่ก็น่าจับตาอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมามีประชาชนในหลายพื้นที่คัดค้านการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมในชุมชน เพราะหวั่นเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากเสาส่งสัญญาณ ดังนั้นสำนักงาน กสทช. จึงได้จัดทำเอกสารเผยแพร่เรื่อง “สนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่วิทยุและสุขภาพ คำถามที่พบบ่อย” เพื่อให้ความรู้กับสาธารณะ

แต่ข้อน่าสังเกตคือเอกสารชิ้นนี้มีความพยายามโน้มน้าวว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม และโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมทั้งปฏิเสธความจำเป็นของการใช้หลักมาตรการป้องกันไว้ก่อนเพื่อลดระดับการสัมผัสพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีวิทยุคมนาคม ทั้งที่การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อสุขภาพของมนุษย์ยังเป็นข้อถกเถียงกันในทางวิชาการ คือมีทั้งหลักฐานที่เชื่อมโยงว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพและไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันปรากฏหลักฐานทางวิชาการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีผลกระทบต่อสัตว์ทดลองและสุขภาพของมนุษย์ จนกระทั่งเมื่อปี 2554 องค์การอนามัยโลกได้ยกระดับให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นปัจจัยก่อมะเร็งประเภท 2B คือเป็นตัวกระทำที่อาจเป็นไปได้ในการก่อมะเร็งในมนุษย์ หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าองค์การอนามัยโลกยอมรับแล้วว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อมะเร็ง

ในขณะที่เมื่อราวสองสัปดาห์ก่อนก็ปรากฏข่าวว่าคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ประเทศแคนาดา ได้เผยแพร่รายงาน Radiofrequency Electromagnetic Radiation and the Health of Canadians ซึ่งระบุว่า คลื่นวิทยุจากอุปกรณ์สื่อสารไร้สายทั้งหลาย เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไวไฟ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง ปัญหาการสืบพันธุ์ และความบกพร่องของสมองในด้านการเรียนรู้ หรือออทิสซึ่ม พร้อมมีข้อแนะนำว่าในการเผชิญกับเรื่องนี้ควรใช้หลักป้องกันไว้ก่อน ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องที่ว่าควรมีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นวิทยุการสื่อสารในแง่มุมต่างๆ ให้จริงจังมากขึ้น รวมทั้งต้องมีการสื่อสารให้สังคมเกิดความตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงและวิธีลดความเสี่ยง โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคนที่มีความอ่อนไหวอย่างเช่น หญิงตั้งครรภ์ ทารก เด็ก เป็นต้น ดังนั้นเอกสารเผยแพร่ที่สำนักงาน กสทช. เตรียมตีพิมพ์เผยแพร่ดูจะสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับเอกสารชิ้นดังกล่าวของรัฐสภาแคนาดา

เข้าใจว่าการจัดทำเอกสารเผยแพร่เรื่อง “สนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่วิทยุและสุขภาพ คำถามที่พบบ่อย” ของสำนักงาน กสทช. มีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนทั่วไปคลายกังวลถึงผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่วิธีที่ถูกต้องซึ่งสำนักงาน กสทช. ควรทำคือการนำเสนอความจริง เพราะการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้านหรือการพยายามปกปิดความจริงบางส่วนนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้มีเสียงก่นด่าตามมาจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย อันจะทำให้เกิดความไม่เชื่อถือหรือวิกฤตศรัทธาได้ อีกทั้งยังทำให้สังคมตั้งอยู่ในความประมาทและขาดโอกาสในการป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงอีกด้วย

วาระเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค
ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 14/2558 มีกรณีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่นำเสนอให้ที่ประชุมตัดสินทั้งสิ้น 10 วาระ โดยกรณีที่น่าสนใจและสามารถเป็นแนวปฏิบัติให้กับผู้บริโภคได้ คือกรณีผู้บริโภครายหนึ่งไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ตามปกติ โดยสามารถโทรออกและรับสายได้เพียง 5-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมาที่สำนักงาน กสทช. และบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเหตุขัดข้องเกิดจากสาเหตุความผิดของผู้ใช้บริการหรือของผู้ให้บริการ ในเรื่องนี้ทางคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมจึงมีมติผู้ให้บริการไม่มีสิทธิ์เรียกเก็บค่าบริการอันเกิดจากปัญหาคุณภาพสัญญาณไม่ได้มาตรฐาน และผู้บริโภคมีสิทธิ์ยกเลิกบริการ

อีกกรณีเป็นเรื่องผู้บริโภคสมัครใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โปรโมชั่นชำระค่าบริการล่วงหน้า 599 บาทต่อเดือน โทรฟรี 250 นาที และรับสิทธิแลกซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ในราคาพิเศษ กำหนดต้องใช้แพ็คเกจดังกล่าวเป็นระยะ 1 ปี แต่ในระหว่างนั้นผู้บริโภคมีความประสงค์ต้องการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่นในราคาที่ถูกลง กรณีนี้เมื่อมีการร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมวินิจฉัยว่า ผู้บริโภคมีสิทธิเปลี่ยนโปรโมชั่นได้ แต่ต้องชำระส่วนต่างค่าตัวเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญา โดยให้คำนวณจากราคาเครื่องซึ่งเป็นราคาจริงตามท้องตลาดและคิดราคาตามระยะเวลาการใช้งานที่เหลือตามสัญญา

วาระพิจารณาร่างประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ
วาระการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. … เป็นการพิจารณาร่างประกาศดังกล่าวภายหลังจากที่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาแล้วเมื่อ 12 มีนาคม 2558 และมีการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศ โดยรายละเอียดที่น่าสนใจในการปรับปรุงประกาศฉบับนี้คือ มีการเพิ่มเติมในส่วนภาคผนวกเพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำในลักษณะใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งช่วยให้เกิดความชัดเจนในการนำไปบังคับใช้ โดยส่วนใดที่มีการยกตัวอย่างอยู่ในภาคผนวก ก็ไม่จำเป็นต้องมาตีความอีกในภายหลังว่าเข้าข่ายการกระทำที่เอาเปรียบหรือไม่ ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งกับการคุ้มครองผู้บริโภคและแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนของผู้ให้บริการ

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของร่างประกาศฉบับนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ควรปรับปรุงให้เกิดความครอบคลุมและสอดคล้องกับปัญหาที่ผู้บริโภคประสบในปัจจุบัน เช่นเรื่องการปัดเศษบริการอินเทอร์เน็ต การขยายเพดานวงเงินโดยอัตโนมัติ รวมถึงเรื่องการห้ามไม่ให้มีการโทรศัพท์หรือส่งข้อความการโฆษณาจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภค ซึ่งพบว่า สำนักงาน กสทช. มีการปรับปรุงหลักการจากร่างประกาศเดิมที่มีลักษณะเป็น opt-in ที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ กลายเป็นหลัก opt-out ซึ่งผู้บริโภคจะต้องแจ้งไม่ยอมรับโทรศัพท์หรือข้อความที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญก่อน เงื่อนไขลักษณะนี้จึงเหมือนเป็นการอนุญาตให้ผู้ให้บริการกระทำการที่เป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญได้ และผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องแจ้งไม่ยอมรับโทศัพท์หรือข้อความนั้นเอง ดังนั้นในส่วนของประเด็นนี้ก็ควรแก้ไขกลับไปใช้หลักของร่างประกาศฉบับเดิม

นอกจากนี้ หลักการที่ต้องกำหนดให้ชัดตั้งแต่ในชั้นนี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นั่นคือ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบการมิให้มีการดำเนินการใดๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการระงับการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น ผู้ที่ใช้สิทธิตามร่างประกาศนี้จึงควรเป็นบุคคลใดก็ได้ที่พบเห็นว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วแจ้งให้ กสทช. ดำเนินการ รวมถึงสำนักงาน กสทช. หรือคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และคณะกรรมการ กสทช. ก็สามารถดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เอง หากเห็นว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการผู้ร้องเรียน

วาระแนวทางการนำคลื่นความถี่ 2.3 GHz และ 2.6 GHz เพื่อใช้สำหรับการประกอบกิจการโทรคมนาคม
จากการที่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 กำหนดให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.3 GHz และ 2.6 GHz ในกิจการโทรคมนาคม แต่ปัจจุบันความถี่ทั้งสองย่านมีการใช้งานของผู้ใช้คลื่นความถี่เดิมอยู่ทั้งในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และกิจการวิทยุคมนาคม ที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 จึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางนำคลื่นความถี่ย่าน 2.3 GHz และ 2.6 GHz มาใช้ในกิจการโทรคมนาคม โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวได้ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ และนำเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาในครั้งนี้ โดยประเด็นที่น่าจับตาคือมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายว่าให้สามารถนำเงินจากการประมูลและกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ มาใช้ชดเชยการโยกย้ายความถี่ได้ ซึ่งประเด็นนี้คงต้องศึกษาแนวทางการดำเนินการและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรัดกุมด้วย เพราะหากการชดเชยไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของคลื่นความถี่ที่เรียกคืน ก็อาจทำให้รัฐเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ได้ นอกจากนี้ ในส่วนข้อเสนอที่จะไปกระทบสิทธิของผู้ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่เดิม เช่น อสมท. ก็จำเป็นต้องจำเป็นต้องรอการพิจารณาให้ความเห็นจากส่วนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือคณะทำงานพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรทัศน์ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบและรอบด้านด้วยเช่นกัน

วาระรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว
วาระนี้เป็นการรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2557 ให้ที่ประชุม กทค. รับทราบ รวมทั้งเสนอให้ที่ประชุมพิจารณากรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ทั้งในกรณีผู้รับใบอนุญาตเป็นบริษัทเอกชนและเป็นรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ รายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2557 ระบุว่า ในปี 2557 มีผู้รับใบอนุญาตที่เข้าข่ายมีหน้าที่ต้องรายงานพฤติการณ์และสถานภาพการครอบงำกิจการให้ กสทช. ทราบ จำนวนทั้งสิ้น 59 ราย แบ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวน 53 ราย และผู้รับสัมปทานจำนวน 6 ราย แต่ปรากฏว่ามีจำนวน 12 รายที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 เนื่องจากไม่จัดส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานหรือจัดส่งมาไม่เพียงพอต่อการพิจารณา ซึ่งเป็นประเด็นที่สำนักงาน กสทช. ต้องติดตามเอกสารหลักฐานและตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าจับตาในวาระนี้คือข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ที่เสนอให้อนุโลมรายงานการตรวจสอบข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าวตามหลักเกณฑ์การพิจารณาการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวตามประกาศกำหนด ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากจะทำให้ขาดข้อมูลที่ครบถ้วนหรือเพียงพอต่อการพิจารณาของสำนักงาน กสทช. ได้ แม้ในทางปฏิบัติประกาศฉบับนี้อาจไม่สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยก็ตาม กล่าวคือ มีการกำหนดกรอบหลักเกณฑ์ลงรายละเอียดถึงในระดับการบริหารงานภายในบริษัท เช่นการห้ามถือหุ้นโดยคนต่างด้าวที่มีสิทธิออกเสียงตั้งแต่กึ่งหนึ่งของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด การห้ามถือหุ้นโดยคนต่างด้าวที่มีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือการห้ามแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดโดยคนต่างด้าว ซึ่งการกำหนดรายละเอียดในลักษณะนี้อาจสร้างความไม่มั่นใจในการลงทุนของต่างชาติได้