ข้อเสนอเอไอเอสเรื่องประมูลคลื่น 900, การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม, ดีแทคแจ้งแผนปรับปรุงระบบจัดเก็บเงิน, การบังคับใช้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีแยกประเภทฯ, การพิจารณาแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคม

asd12558

เปิดศักราช 2558 ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 1/2558 วันอังคารที่ 6 มกราคม มีหลายวาระที่น่าจับตา ได้แก่ ข้อเสนอของเอไอเอสในการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz, การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปรับปรุงมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม, และดีแทคแจ้งแผนปรับปรุงระบบจัดเก็บเงิน ส่วนวาระเก่าที่ค้างพิจารณาจากการประชุมหนที่แล้ว แต่มีประเด็นน่าสนใจคือ เรื่องการบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมฯ, และเรื่องการให้ความเห็นชอบแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมของบริษัท เรียล มูฟ จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด

วาระข้อเสนอของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz
มีการเตรียมนำข้อเสนอของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เข้าสู่ที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณา ซึ่งบริษัทมีหนังสือลงวันที่ 23 กันยายน 2556 ขอให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการเปิดประมูลการใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2558 เพื่อเป็นการเปิดเสรีทางโทรคมนาคมและเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่จะสามารถวางแผนการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของไทยให้ก้าวหน้า

ต่อเรื่องนี้ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มีความเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอของบริษัท โดยมองว่า กสทช. มีหน้าที่ดำเนินการที่ต้องคำนึงถึงการใช้คลื่นความถี่อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่จึงสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอให้สิ้นสุดระยะเวลาในการใช้คลื่นแต่อย่างใด ขณะที่หากชักช้าอาจทำให้ประเทศประสบปัญหาการขาดแคลนคลื่นความถี่สำหรับใช้งานในอนาคตได้ ส่วนเรื่องปัญหาคุณภาพการให้บริการในคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz หาใช่ว่าสภาพตลาดโทรคมนาคมของไทยยังไม่พร้อมในการประมูลคลื่นความถี่ไม่ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. โดยตรงที่จะต้องตรวจสอบคุณภาพการให้บริการเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ

“ถ้ามีการเตรียมประมูลล่วงหน้า ก็ไม่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ เหมือนเช่นกรณีที่สัมปทานคลื่น 1800 MHz สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นประกาศที่ผมเห็นว่า กสทช. ออกโดยไม่มีฐานอำนาจของกฎหมาย และถือเป็นการแทรกแซงการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” กสทช. ประวิทย์กล่าว

อย่างไรก็ดี การพิจารณาวาระนี้ไม่น่ามีการพลิกโผ กล่าวคือที่ประชุม กทค. น่าที่จะเห็นชอบให้มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ล่วงหน้าก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด เพราะก่อนหน้านี้ กสทช. ก็เคยมีแผนจัดประมูลคลื่นความถี่ย่านนี้ล่วงหน้า โดยตั้งใจว่าจะจัดให้มีการประมูลในเดือนพฤศจิกายน 2557 แต่ภายหลังมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ให้ชะลอการจัดประมูลคลื่นออกไป 1 ปี และให้ปรับปรุงระเบียบและคำสั่งต่างๆ เพื่อรองรับการจัดประมูลให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ดังนั้นประเด็นที่น่าจับตากันต่อไปในเรื่องนี้คือเรื่องเงื่อนไขและกติกาการจัดประมูลมากกว่า ซึ่งยังคงมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประการ ทั้งเรื่องความครอบคลุมโครงข่ายที่เงื่อนไขเดิมกำหนดไว้ค่อนข้างต่ำที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ภายใน 4 ปี การแบ่งบล็อกคลื่นสำหรับนำไปประมูลที่มีการแบ่งเป็น 2 x 17.5 MHz ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการทางเทคนิคและความเหมาะสมในการใช้งาน ตลอดจนเรื่องราคาตั้งต้นในการประมูลที่กำหนดไว้ต่ำเกินไป

กสทช. ประวิทย์ เปิดเผยว่า เงื่อนไขเดิมที่กำหนดความครอบคลุมโครงข่ายไว้ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ภายใน 4 ปี เป็นระดับความครอบคลุมที่อาจน้อยเกินไป เนื่องจากคลื่นย่าน 900 MHz เป็นคลื่นที่มีลักษณะทางเทคนิคในการให้ความครอบคลุมได้ดี (Coverage Band) ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจึงควรมีสิทธิในการใช้คลื่นความถี่นี้ และควรครอบคลุมในเขตเมืองและชุมชนที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นทั้งหมด ส่วนเรื่องการแบ่งบล็อกคลื่น ควรมีการนำคลื่นย่าน 900 MHz ออกประมูลทั้งหมด โดยแบ่งบล็อกคลื่นเป็น 2 X 20 MHz เนื่องจากหากนำคลื่นออกประมูลในปริมาณที่น้อย ก็อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับคุณภาพบริการไม่เต็มประสิทธิภาพ

“การจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ระบบใบอนุญาต ไม่ควรเป็นเพียงการนำคลื่นความถี่ตามสัญญาสัมปทานมาจัดสรรตามเดิมทั้งในมิติของขนาดคลื่นความถี่และจำนวนใบอนุญาต โดยไม่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพตลาดโทรคมนาคมและเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่สามารถปรับช่วงความกว้างคลื่นย่าน 900 MHz เพิ่มเป็น 2 X 20 MHz ด้วยการลดขนาด Guard Band ลง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดสรรคลื่นความถี่ และทำให้การแบ่งช่วงคลื่นความถี่ในการประมูลทำได้เหมาะสมยิ่งขึ้น และควรต้องพิจารณาขนาดบล็อกคลื่นความถี่ตามเทคโนโลยีที่มีการใช้งานจริงในวงการอุตสาหกรรมปัจจุบัน ซึ่งบล็อกละ 5 MHz จะทำให้ใช้งานคลื่นความถี่ได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งหากปรับช่วงความกว้างคลื่นเป็น 2 x 20 MHz จะสามารถแบ่งชุดคลื่นเป็น 2 ใบอนุญาตในขนาดเท่าๆ กัน และควรกำหนดให้แต่ละรายประมูลเพียง 1 ใบอนุญาต เพื่อสนับสนุนการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม” กสทช. ประวิทย์ กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องราคาตั้งต้นที่เงื่อนไขเดิมกำหนดอัตราคิดลดไว้ที่ 30 เปอร์เซ็นต์จากราคาคลื่นที่มีการประมาณการ กสทช. ประวิทย์ เห็นว่า การกำหนดราคาตั้งต้นควรกำหนดให้ใกล้เคียงกับมูลค่าคลื่นที่ประมาณได้ เพื่อมิให้รัฐและสังคมเป็นฝ่ายเสียประโยชน์

“จากข้อมูลที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU ) ศึกษา พบว่าการกำหนดอัตราคิดลดเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการร่วมประมูลแต่อย่างใด อีกทั้งอัตราดังกล่าวยังใกล้เคียงกับรายงานของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยศึกษาเมื่อครั้งที่มีการเตรียมการจัดประมูลคลื่น 2100 MHz ว่า หากมีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 3 ราย ราคาประมูลจะเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเพียงประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนี้ ในตอนการประมูลทีวีดิจิตอล กสทช. ก็กำหนดให้ราคาประเมินมูลค่าคลื่นความถี่เป็นราคาขั้นต่ำที่ยอมรับได้และเป็นราคาตั้งต้น ซึ่งถือเป็นการประกันความเสียหายจากความล้มเหลวของการแข่งขันในการประมูลได้ดีกว่า”

วาระแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม
มีการเสนอวาระแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เพื่อทำหน้าที่ปรับปรุงประกาศ กทช. 2 ฉบับ คือ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม

เจตนารมณ์ในการแก้ไขประกาศทั้งสองฉบับนับว่าเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ เพราะปัจจุบันสังคมไทยมีความตื่นตัวเรื่องความเสี่ยงอันตรายจากการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่และแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่กันมากขึ้น อีกทั้งต่างประเทศในหลายประเทศก็มีการปรับค่ามาตรฐานความปลอดภัยให้เข้มข้นขึ้นโดยยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อน แต่แนวทางปฏิบัติการตั้งเสาส่งสัญญาณของบ้านเราที่ผ่านมา กลับพบว่าบางแห่งมีการตั้งเสาสัญญาณโดยไม่ได้รับอนุญาต บางแห่งมีการตั้งเสาสัญญาณติดกับบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นสถานที่เปราะบาง มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบสูง รวมถึงกระบวนการทำความเข้าใจกับประชาชนบางครั้งก็ทำแค่การปิดประกาศ ทำให้หลายชุมชนมีการต่อต้านการตั้งเสาสัญญาณ โดยปัญหาที่ว่านี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าปัญหานี้ไม่ใช่เพียงปัญหาเชิงเทคนิค แต่เป็นปัญหาเชิงสังคมด้วย วาระนี้จึงน่าจับตาอย่างยิ่งว่า การตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขประกาศ ซึ่งองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการล้วนแล้วแต่เป็นนักเทคนิค จะมีการประมวลบทเรียนจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเพื่อปรับปรุงแก้ไขประกาศดังกล่าวนี้อย่างไร และจะทันการณ์ต่อปัญหาเพียงใด หรือจะเป็นเพียงอีก ๑ อนุกรรมการท่ามกลางที่ตั้งไว้มากมายของ กสทช.

วาระดีแทคแจ้งแผนปรับปรุงระบบจัดเก็บเงิน (Billing System)
บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด แจ้งแผนการปรับปรุงระบบจัดเก็บเงิน (Billing System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ โดยปัจจุบันระบบบิลลิ่งของดีแทคเป็นระบบ Offline Charging ซึ่งต้องรอรับข้อมูลการใช้งานของลูกค้าจากระบบชุมสายเพื่อใช้คำนวณค่าบริการ ทำให้การคำนวณค่าบริการระหว่างรอบบิลจะถูกปรับหลังการใช้งานแล้ว 15 นาที ในขณะที่ระบบใหม่เป็นระบบ Online Charging สามารถคำนวณค่าบริการระหว่างรอบบิลได้ทันที การปรับปรุงระบบของดีแทค คาดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการ เพราะทำให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบค่าบริการระหว่างรอบบิลได้ใกล้เคียงกับการใช้งานจริง ณ ขณะนั้นได้

วาระการบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม
สืบเนื่องจากมีการประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการที่มีอำนาจเหนือตลาด ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ต้องจัดทำและนำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทปี 2554 ภายใน 150 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ซึ่งก็คือวันที่ 1 มิถุนายน 2555 โดยมาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการทั้งสองรายไม่ได้นำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนด จนกระทั่งวันที่ 12 มีนาคม 2557 สำนักงาน กสทช. ก็ได้มีคำสั่งปรับทางปกครองในอัตราวันละ 140,000 บาท จนกว่าจะมีการนำส่งรายงานที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองบริษัทก็ยังไม่สามารถนำส่งรายงานที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ได้ แต่กลับยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งปรับทางปกครองแทน

สำหรับวาระที่เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมในครั้งนี้ เป็นการโยนเผือกร้อนของสำนักงาน กสทช. กลับมาให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาทบทวนคำสั่งปรับทางปกครองที่ได้มีผลสั่งปรับไปแล้ว และขอให้ทบทวนเจตนารมณ์ของประกาศเสียใหม่ โดยให้เหตุผลว่า ประกาศดังกล่าวเป็นข้อกำหนดที่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง อีกทั้งที่ผ่านมาภายหลังจากที่สำนักงาน กสทช. สั่งปรับทางปกครอง ผู้ประกอบการทั้งสองรายก็ให้ความร่วมมือในการจัดส่งรายละเอียดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากเดิมที่ให้ความร่วมมือน้อยมาก นอกจากนั้น ณ เวลานี้หากทั้งสองบริษัทจะนำส่งข้อมูลครบถ้วนตามประกาศก็ตาม ก็ไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันได้อีกต่อไปแล้ว

ก็ต้องตามดูกันต่อไปว่า ประกาศฉบับนี้จะเป็นเพียงเสือกระดาษ ส่วนคำสั่งปรับที่ลั่นวาจาไปแล้วจะเป็นเพียงปรับลมหรือไม่ แล้วเอวังในลักษณะที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หยวนๆ กันไป” เช่นนั้นหรือเปล่า

วาระเรื่องการให้ความเห็นชอบแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมของบริษัท เรียล มูฟ จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด
วาระการพิจารณาแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมของบริษัท เรียล มูฟ จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด มีประเด็นที่น่าจับตาคือ เรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการที่จะขอระงับการใช้บริการชั่วคราว ซึ่งยังมีข้อถกเถียงกันอยู่

ทั้งนี้ ในแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมที่เสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณา ระบุเงื่อนไขเรื่องการขอระงับใช้บริการชั่วคราวว่า “ในกรณีมีเหตุจำเป็น ผู้ใช้บริการมีสิทธิขอระงับการใช้บริการชั่วคราวได้ครั้งละไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน…” อย่างไรก็ตาม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้ให้สิทธิผู้ใช้บริการสามารถระงับบริการชั่วคราวได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน แต่ต่อมาภายหลังเมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้มีการออกประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ได้ให้สิทธิผู้ใช้บริการในการขอระงับบริการชั่วคราวได้เช่นกัน เพียงแต่ในการนี้ มีการกำหนดเพิ่มเติมว่า “ให้ผู้ให้บริการจะกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำหรือขั้นสูงที่ยินยอมให้ผู้ใช้บริการระงับการให้บริการโทรคมนาคมชั่วคราวไว้ในแบบสัญญาด้วยก็ได้” ขณะเดียวกัน พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ เองก็ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้นำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคมาประกอบการพิจารณาสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคมด้วย”

จากข้อเท็จจริงข้างต้น จึงเกิดการตีความกฎหมายไปใน 2 แนวทาง แนวทางแรกมองว่า ประกาศทั้งสองฉบับมีความขัดแย้งกัน จึงควรยึดตามประกาศ กทช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเฉพาะ โดยให้สิทธิแก่ผู้ให้บริการเป็นผู้กำหนดระยะเวลาในการระงับการใช้บริการชั่วคราว ขณะที่แนวทางที่สองเห็นว่า ประกาศทั้งสองฉบับไม่ได้ขัดแย้งกัน นั่นคือเป็นการให้สิทธิผู้ใช้บริการสามารถระงับบริการชั่วคราวได้ ดังนั้นในการพิจารณาอนุมัติแบบสัญญาก็ควรคำนึงถึง พ.ร.บ คุ้มครองผู้บริโภคฯ ด้วย ซึ่งก็คือกำหนดให้สามารถขอระงับบริการชั่วคราวได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน เรื่องนี้จะตีความกฎหมายไปในทิศทางใดก็อาจต้องตระหนักด้วยว่าแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมที่ได้รับความเห็นชอบจะเป็นแบบสัญญาที่ใช้บังคับกันระหว่างบริษัทกับผู้ใช้บริการ ดังนั้นเนื้อหาของสัญญาจึงเกี่ยวพันกับประโยชน์ของผู้ใช้บริการโดยตรง ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม