แก้ไขประกาศเยียวยาและการคิดค่าใช้โครงข่ายของ กสท โทรคมนาคม, ร่างประกาศการกระทำที่เป็นเอาเปรียบผู้บริโภค, การบังคับใช้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีแยกประเภทฯ, แนวทางการสร้างท่อร้อยสาย, การยกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์ 3 หลักและ 4 หลัก

asd292557
การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 29/2557 วันอังคารที่ 23 ธันวาคม มีเรื่องที่ที่ประชุมต้องพิจารณาถึง 54 วาระ เหตุผลสำคัญเพราะกว่าเดือนครึ่งที่ผ่านมาไม่มีการประชุมกันเลย แม้จะเคยมีความพยายามนัดประชุมกันหนหนึ่งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน แต่สุดท้ายก็มีการเลื่อนประชุมนัดดังกล่าวออกไป โดยการประชุมนัดหลังสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 ถึงกระนั้นในการนัดประชุมครั้งนี้ มีการกำหนดระยะเวลาประชุมไว้เพียงครึ่งวัน ซึ่งคาดว่าไม่มีทางที่ กทค. จะสามารถพิจารณาวาระได้ครบถ้วนทั้งหมด

สำหรับการประชุม กทค. ครั้งที่ 29/2557 มีประเด็นที่น่าจับตาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่สืบเนื่องจากการประกาศใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 1800 MHz, เรื่องร่างประกาศการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ, เรื่องการบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมฯ, เรื่องแนวทางการสร้างท่อร้อยสายใต้ดิน, เรื่องการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์ 3 หลักและ 4 หลัก

วาระที่สืบเนื่องจากการประกาศใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 1800 MHz (มาตรการเยียวยา)
ในการประชุมหนนี้ มีเรื่องเพื่อพิจารณาที่สืบเนื่องจากการประกาศใช้มาตรการเยียวยาทั้งสิ้น 4 วาระด้วยกัน คือ 1) การดำเนินการเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยา 2) ผลการพิจารณารายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ 3) ขอหารือแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงมาตรการเยียวยา และ 4) แนวทางการพิจารณาค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งเรื่องเพื่อพิจารณาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเคยบรรจุไว้ในวาระการประชุมครั้งที่ 28/2557 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน แต่ถูกถอนออกจากวาระก่อนหน้าที่การประชุมจะเริ่ม กับอีกส่วนหนึ่งเคยบรรจุไว้ในวาระการประชุมครั้งที่ 29/2557 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน แต่มีการเลื่อนประชุมออกไปเสียก่อน

ประเด็นที่น่าจับจ้องชนิดห้ามคลาดสายตาคือ มีข้อเสนอแก้ประกาศมาตรการเยียวยาให้บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด สามารถรับลูกค้ารายใหม่ได้ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรคลื่นอย่างมีประสิทธิภาพและมีรายได้นำส่งรัฐมากขึ้น แต่แนวทางนี้ดูจะสวนทางอย่างชัดเจนกับเจตนารมณ์แรกเริ่มของการออกประกาศที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ให้บริการใช้เป็นช่องทางแสวงหารายได้ แต่เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการเพียงชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่านการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทาน อีกทั้งหากมีการอนุญาตในลักษณะดังกล่าวยังน่าจะขัดกับมาตรา 45 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ต้องได้มาด้วยวิธีการประมูล

ส่วนประเด็นการโอนย้ายเครือข่ายกรณีที่ผู้ใช้บริการบางส่วนยังไม่ได้โอนย้าย ก็มีข้อเสนอขอแก้ไขประกาศว่า หากผู้ให้บริการแจ้งเตือนอย่างน้อย 3 ครั้ง รวมเวลาทั้งสิ้น 75 วัน ถ้ายังไม่มีการโอนย้าย ผู้ให้บริการก็สามารถยกเลิกการให้บริการได้ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า วิธีการนี้เท่ากับเป็นการลงดาบผู้ใช้บริการที่ไม่ได้โอนย้ายให้ต้อง “ซิมดับ” หรือเป็นการเลื่อนเวลาให้ซิมดับเร็วขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะไม่มีการพูดถึงเรื่องประสิทธิภาพของการสื่อสารและการให้ข้อมูลแต่อย่างใด

ในขณะที่ผลการตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยา พบว่า นับตั้งแต่ประกาศใช้มาตรการเยียวยาจนถึงเดือนสิงหาคม 2557 รวมทั้งสิ้น 11 เดือน 15 วัน บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด มีรายได้ที่จะนำส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ประมาณ 2,300 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการให้บริการของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด จำนวน 1,666 ล้านบาท และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำนวน 634 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่ได้รวมถึงค่าใช้โครงข่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม ไว้ด้วย ซึ่งผู้ให้บริการทั้งสองรายอ้างว่าไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่บริษัท กสท โทรคมนาคม ในฐานะเจ้าของโครงข่าย แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงถึง 14,141 ล้านบาท และเรียกเก็บค่าใช้โครงข่ายมายังสำนักงาน กสทช. ดังนั้น โจทย์หินของเรื่องนี้คือ ใครคือผู้ที่ต้องชำระค่าใช้โครงข่ายให้กับบริษัท กสท โทรคมนาคม กันแน่ ผู้ให้บริการทั้งสองรายควรต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับบริษัท กสท โทรคมนาคม ก่อนนำเงินส่งสำนักงาน กสทช. หรือไม่ แล้วต้นทุนค่าใช้โครงข่ายที่แท้จริงคือจำนวนเท่าไร เนื่องจากตัวเลขที่บริษัท กสท โทรคมนาคม ทวงถามมาที่สำนักงาน กสทช. ก็มียอดสูงกว่าผลการตรวจสอบรายได้ที่ผู้ให้บริการต้องนำส่งหลายเท่า แล้วสุดท้ายหากสำนักงาน กสทช. เป็นฝ่ายต้องควักกระเป๋าจ่าย คำถามคือว่า แล้วจะไปไล่เบี้ยเรียกเก็บเงินจากใคร

วาระเรื่องร่างประกาศการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ
ในฐานะผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรคมนาคม หลายคนตั้งตารอประกาศฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการกระทำที่เอารัดเอาเปรียบของผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะในลักษณะของการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ รวมถึงคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ในการออกประกาศดังกล่าวอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (13) และมาตรา 31 วรรคสอง ขณะเดียวกันภายใต้แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมก็กำหนดให้ต้องมีการจัดทำหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งปัจจุบันกระบวนการออกประกาศถือว่าล่าช้ามาก ขณะที่ทางฟากกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้ออกประกาศในลักษณะเดียวกันนี้มาตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2555 แล้ว

สำหรับร่างประกาศที่เตรียมนำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาหนนี้ มีข้อที่น่าสังเกตคือ มีการตัดเนื้อหาบางประเด็นจากที่เคยมีการยกร่างไว้ก่อนหน้านี้ออกไปอย่างน่าเสียดาย เช่น การให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะต้องร่วมรับผิดกับผู้ร่วมให้บริการเสริมด้วยในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น เงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการยัดเยียดการให้บริการ เงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการขายพ่วงที่ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าบริการเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากร่างประกาศฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุม กทค. ก็จะมีการนำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหวังว่าจะมีการปรับปรุงให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

วาระการบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม
วาระนี้สืบเนื่องจากมีการประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการที่มีอำนาจเหนือตลาด ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ต้องจัดทำและนำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทปี 2554 ภายใน 150 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ซึ่งก็คือวันที่ 1 มิถุนายน 2555 โดยมาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการทั้งสองรายไม่ได้นำส่งรายงานบัญชีแยกประเภทตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนด จนกระทั่งวันที่ 12 มีนาคม 2557 สำนักงาน กสทช. ก็ได้มีคำสั่งปรับทางปกครองในอัตราวันละ 140,000 บาท จนกว่าจะมีการนำส่งรายงานที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองบริษัทก็ยังไม่สามารถนำส่งรายงานที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ได้ แต่กลับยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งปรับทางปกครองแทน โดยวาระที่เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมในครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. โยนเผือกร้อนกลับมาให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาทบทวนคำสั่งปรับทางปกครองที่ได้มีผลสั่งปรับไปแล้ว และขอให้ทบทวนเจตนารมณ์ของประกาศเสียใหม่ โดยให้เหตุผลว่า ประกาศดังกล่าวเป็นข้อกำหนดที่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง อีกทั้งที่ผ่านมาภายหลังจากที่สำนักงาน กสทช. สั่งปรับทางปกครอง ผู้ประกอบการทั้งสองรายก็ให้ความร่วมมือในการจัดส่งรายละเอียดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากเดิมที่ให้ความร่วมมือน้อยมาก นอกจากนั้น ณ เวลานี้หากทั้งสองบริษัทจะนำส่งข้อมูลครบถ้วนตามประกาศก็ตาม ก็ไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันได้อีกต่อไปแล้ว

ก็ต้องตามดูกันต่อไปว่า ประกาศฉบับนี้จะเป็นเพียงเสือกระดาษ ส่วนคำสั่งปรับที่ลั่นวาจาไปแล้วจะเป็นเพียงปรับลมหรือไม่ แล้วเอวังในลักษณะที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หยวนๆ กันไป” เช่นนั้นหรือเปล่า

วาระเรื่องแนวทางการสร้างท่อร้อยสายใต้ดิน
วาระนี้เป็นการขอความเห็นชอบจากที่ประชุม กทค. เพื่อให้ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เป็นผู้สร้างท่อร้อยสายใต้ดินกับโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานของรัฐเผื่อสำหรับผู้ประกอบการรายอื่น โดยเรื่องนี้สืบเนื่องจากกรณีการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเดินสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงหรือสายส่งสัญญาณต่างๆ บนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งกรมทางหลวงชนบทกำหนดหลักเกณฑ์ว่าผู้ยื่นคำขออนุญาตปักเสา พาดสาย วางท่อในเขตทางหลวงชนบทต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค แต่เนื่องจาก พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ไม่ได้กำหนดให้สำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่จำต้องดำเนินการโดยตนเอง ในขณะที่ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ที่เดิมแม้เคยเป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อน แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว ซึ่งมีสถานะเป็นเพียงผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายหนึ่งเช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นๆ เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การที่ กทค. จะอนุญาตให้ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการสร้างท่อร้อยสายและเป็นผู้ให้เช่าใช้ท่อร้อยสายกับผู้ประกอบการรายอื่นในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ก็อาจเกิดปัญหาในเรื่องการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อสิทธิของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นได้

วาระเรื่องการชำระค่าธรรมเนียมและการพิจารณายกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก และ 4 หลัก
วาระนี้เป็นการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องการยกเว้น หรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก และ 4 หลัก ของผู้ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายจำนวน 368 เลขหมาย ซึ่งตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายต้องชำระค่าธรรมเนียมสำหรับเลขหมายแบบสั้น 3 หลัก ในอัตรา 100,000 บาท/เลขหมาย/เดือน และแบบสั้น 4 หลัก ในอัตรา 10,000 บาท/เลขหมาย/เดือน แต่ประกาศดังกล่าวก็ได้ให้อำนาจ กสทช. ในการพิจารณายกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมหากเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 77 ซึ่งในเรื่องนี้ความเห็นของสำนักงาน กสทช. สอดคล้องกับความเห็นของส่วนงาน กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ชี้ว่าต้องพิจารณาทั้งสถานะของหน่วยงานผู้ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายและวัตถุประสงค์การใช้งานให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ

กรณีการยกเว้นค่าธรรมเนียม ต้องเข้าเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ 1) เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะตามที่กำหนด คือ หน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยไม่แสวงหากำไร และ 2) ลักษณะการใช้งาน คือ จะต้องใช้ในภารกิจพิเศษ ใช้ในราชการ ความมั่นคงของรัฐ การทหาร และผู้นำประเทศ หรือใช้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

กรณีการลดหย่อนค่าธรรมเนียม ซึ่งสามารถลดหย่อนได้ร้อยละ 50 ของค่าธรรมเนียม ต้องเข้าเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ 1) เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะตามที่กำหนด คือ หน่วยงานราชการและองค์กรอื่นๆ ที่จัดทำประโยชน์สาธารณะ และ 2) ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้รับแจ้งเหตุ ช่วยเหลือทั่วไป บริการข่าวสาร และรับเรื่องร้องเรียน

ส่วนมติที่ประชุม กทค. ในวาระนี้จะเป็นเช่นไร คงต้องจับตา เพราะนั่นหมายถึงบรรทัดฐานการพิจารณาเรื่องการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้นที่ได้รับการจัดสรร ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีกต่อไปในอนาคตด้วย

----------------------------------.-29.57