ร้องเรียนการออกอากาศรายการทีวีช่อง PEACE TV ช่อง 24 TV ช่องฟ้าวันใหม่ และช่อง 1 TV , (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาตฯ ,การชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ,ผลการแจกคูปองดิจิตอลทีวี,ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซั่น 2 เนื้อหาไม่เหมาะสมต่อเด็ก เยาวชน

จับตาวาระ กสท. เตรียมลงโทษ 4 ช่องการเมือง ผิดมาตรา 37 และออกร่างประกาศรวมกลุ่มวิชาชีพสื่อ

วันนี้ (15 พ.ย.57) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 17 พ.ย. นี้ การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 50/2557 มีวาระสำคัญน่าจับตาได้แก่ วาระเรื่องร้องเรียนจากคณะทำงานติดตามสื่อในกองทัพบก กรณี การออกอากาศรายการโทรทัศน์ของช่อง PEACE TV ช่อง 24 TV ช่องฟ้าวันใหม่ และช่อง 1 TV เข้าข่ายการกระทำความผิดที่ฝ่าฝืนมาตรา 37 ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ.2551 เนื่องจากออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหา ได้พิจารณาเสนอลงโทษปรับทั้ง 4 ช่องทีวีการเมือง ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า เรื่องนี้ กสท. ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เพราะกระทบต่อบรรยากาศสิทธิเสรีภาพสื่อภาพรวมในมิติสังคมการเมืองวัฒนธรรมที่อยู่ในภาวะถดถอย อึมครึมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับการปลดผู้ดำเนินรายการ ทางสถานีไทยพีบีเอสที่เป็นทีวีสาธารณะ สะท้อนให้เห็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวและการเซ็นเซอร์ตนเองสูงขึ้นทุกวัน จนส่งผลให้สื่อไทยไม่กล้าทำข่าวเจาะลึกเรื่องการเมือง แต่อาจหันไปทำข่าวชาวบ้านตามกระแส จนมีผลกระทบต่อโอกาสในการรับรู้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องใช้ข้อมูลและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

“จริงอยู่ สื่อดาวเทียมทั้ง 4 ช่องดังกล่าว ปัจจุบันนี้กล้าพูดการเมืองมากกว่าฟรีทีวีทั่วไป และมีลักษณะเลือกข้างอยู่ แต่ถ้ายังอยู่ในกรอบการแสดงความคิดเห็นที่ยังไม่เกินกรอบกฎหมาย ก็ยังไม่ควรผิดมาตรา 37 ในประเด็นความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อย เว้นแต่กรณีที่เป็นสารที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ดังนั้น ก่อนที่ กสท. จะตัดสินว่าผิด ควรต้องมีการวางกรอบ กติกาที่ชัดเจนล่วงหน้า และควรให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักวิชาการ วิชาชีพสื่อ ผู้บริโภคมาช่วยวิเคราะห์ เพราะอาจถูกมองได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ เพราะในที่สุดแล้วเสรีภาพไม่อาจถูกควบคุมด้วยความกลัว วันหนึ่งจะระเบิดออกมา แต่ต้องทำให้เสรีภาพเกิดคู่กับ จิตสำนึกและความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมแทนการสั่งการ” นางสาวสุภิญญา กล่าว

นอกจากนี้ ในการประชุม เตรียมพิจารณาวาระ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … ซึ่งมีเจตจำนงในการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ให้มีมาตรฐานทางจรรยาบรรณ โดยที่ กสทช. จะมีมาตรการส่งเสริมในมิติต่างๆ เช่น งบประมาณ และอื่นๆ หลังจากที่ร่างนี้ถูกคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพสื่อ ว่าอาจถูกแทรกแซงจาก กสทช. มากเกินไป ทาง สำนักงานได้นำมาตราที่มีปัญหาดังกล่าวออกแล้ว แต่จะได้ข้อสรุปอย่างไรนั้น ต้องจับตา ซึ่งถ้าร่างนี้ผ่านมติ กสท. รอบแรกก็จะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนอีกครั้ง

ส่วนวาระอื่นๆ น่าจับตา ได้แก่ การชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาต มาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้แก่ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง7) และ บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (ช่อง3) ผู้ได้รับสัมปทานรายเดิมทีวีแอนาล็อก พร้อมกันนี้ กสท.เตรียมพิจารณา รวมทั้ง การพิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2558 ด้านสายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และวาระเพื่อทราบน่าจับตา ได้แก่ การรายงานผลการแจกคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลทีวีและแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรค และ วาระเรื่องร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบละครเรื่อง ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซั่น ๒ มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งติดตามผลการประชุมทั้งหมดได้วันจันทร์นี้…