จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 6/2560

a6.60

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 6/2560 วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องแผนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2310 – 2370 MHz ของ บมจ. ทีโอที เรื่องการดำเนินการคืนเงินคงเหลือในระบบให้แก่ผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดการให้บริการภายใต้ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ เรื่อง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น มีความประสงค์ขอคืนเลขหมายโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่เต็มกลุ่ม และเรื่องข้อหารือของสมาคมโทรคมนาคมฯ เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการให้บริการพร้อมเพย์

วาระแผนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2310 – 2370 MHz ของ บมจ. ทีโอที
วาระนี้เป็นวาระที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอแผนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2310 – 2370 MHz ของ บมจ. ทีโอที ให้ กทค. พิจารณา โดยก่อนหน้านี้ บมจ. ทีโอที ได้เคยขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ 2.4 GHz มายังสำนักงาน กสทช. ซึ่งในการประชุม กทค. ครั้งที่ 27/2558 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 กทค. ได้มีมติอนุญาตให้ บมจ. ทีโอที ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ช่วง 2310 – 2370 MHz จำนวนไม่เกิน 60 MHz เพื่อให้บริการด้านเสียง ข้อมูล และพหุสื่อ ด้วยการใช้เทคโนโลยี LTE และใช้งานได้ทั่วประเทศตามที่ บมจ. ทีโอที เสนอ โดยมีอายุการได้รับอนุญาตตามกรอบระยะเวลาที่เป็นไปตามสิทธิที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิม คือสิ้นสุดวันที่ 3 สิงหาคม 2568 แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าคลื่นความถี่ที่ใช้งานมีจำนวนเกินความจำเป็นหรือมีบางส่วนที่เห็นว่าไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว ก็ขอให้พิจารณาส่งคืนให้ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศต่อไป

สำหรับแผนการใช้งานคลื่นความถี่ของ บมจ. ทีโอที ที่เสนอ กทค. พิจารณานั้น บมจ. ทีโอที ระบุว่ามีความประสงค์จะนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวทั้งหมดจำนวน 60 MHz ไปให้บริการ 3 บริการ ได้แก่ บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband) บริการโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Broadband) และบริการความจุโมบายบรอดแบนด์ให้แก่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 46 กำหนดว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง จะมอบการบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วนหรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้ ขณะที่ประกาศ กสทช. เรื่อง บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน พ.ศ. 2556 ให้ความหมายของการขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ว่าหมายถึงการที่ผู้รับใบอนุญาตขายบริการโทรศัพท์ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) เพื่อนำไปให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้ใช้บริการในนามของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน ดังนั้น หากพิจารณาข้อกฎหมายเหล่านี้ จะพบว่าแผนการนำคลื่นความถี่ไปให้บริการความจุโมบายบรอดแบนด์ให้แก่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ MNO ของ บมจ. ทีโอที จึงมีลักษณะเป็นการนำคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตไปให้ผู้อื่นนำไปใช้เพื่อให้บริการ ซึ่งเข้าลักษณะยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทน ขณะเดียวกันก็ไม่เข้าลักษณะการขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ใช่ผู้ให้บริการแบบโครงข่ายเสมือน ซึ่งจะต้องเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และไม่มีสิทธิในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ทั้งหมดหรือบางส่วนในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามขอบเขตที่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของแผนการใช้งานคลื่นความถี่ของ บมจ. ทีโอที ยังพบด้วยว่า รายได้และจำนวนผู้ใช้บริการ (End User) ส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ที่คาดการณ์ไว้ มาจากการให้บริการความจุโมบายบรอดแบนด์ให้แก่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นบริการหลักของแผนธุรกิจ ดังนั้นหากบริการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย การอนุญาตให้ บมจ. ทีโอที ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ทั้งหมด 60 MHz จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการอนุญาตให้บริษัทใช้คลื่นความถี่โดยไม่มีประสิทธิภาพ และไม่คุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน หาก กทค. พิจารณาแผนการใช้งานคลื่นความถี่แล้วเห็นว่าบริษัทถือครองคลื่นความถี่มากเกินความจำเป็น หรือไม่ได้ใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ กทค. ก็ควรเรียกคืนคลื่นความถี่ตามความเหมาะสม

—————————

วาระการดำเนินการคืนเงินคงเหลือในระบบให้แก่ผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดมาตรการเยียวยาฯ
วาระนี้สืบเนื่องจากในการประชุม กทค. ครั้งที่ 12/2558 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ที่ประชุมเห็นชอบกระบวนการคืนเงินคงเหลือในระบบให้แก่ผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดการให้บริการภายใต้ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีการสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) โดยมีมติให้ผู้ใช้บริการสามารถขอรับเงินคงเหลือในระบบคืนจากผู้ให้บริการได้ภายใน 1 ปี เมื่อครบกำหนดเวลา 1 ปี แล้วเหลือเงินเท่าใด ให้ผู้ให้บริการนำส่งเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่สำนักงาน กสทช. เพื่อที่สำนักงานจะได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

ทั้งนี้ ตามรายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงานกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการคืนเงินคงเหลือในระบบให้แก่ผู้ใช้บริการฯ ระบุว่า ในกรณีของ บจ. ดิจิตอล โฟน ซึ่งสิ้นสุดการให้บริการในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 กระบวนการขอรับเงินคงเหลือในระบบคืนจากผู้ให้บริการภายในระยะ 1 ปี จึงเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ไปจนถึงวันที่ 25 พฤศจิการยน 2559 โดยปัจจุบันไม่มีเงินของผู้ใช้บริการคงเหลือในระบบแล้ว ส่วนในกรณีของ บจ. ทรู มูฟ ซึ่งสิ้นสุดการให้บริการในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 กระบวนการขอรับเงินคงเหลือในระบบคืนจากผู้ให้บริการภายในระยะ 1 ปี จึงเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 ไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2559 โดยปัจจุบันมีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีเงินคงเหลือในระบบจำนวนทั้งสิ้น 41,085 หมายเลข รวมเป็นเงิน 3,602,074.55 บาท

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 มีความเห็นว่า เมื่อมีการยกเลิกการให้บริการ ถึงแม้ว่าผู้ใช้บริการจะไม่มาแสดงตนเพื่อขอรับเงินในระบบคืนก็ตาม แต่ผู้ให้บริการย่อมมีหน้าที่จะต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้เพื่อคืนเงินนั้นเมื่อผู้ใช้บริการมาขอรับเงินคืน และไม่มีสิทธิที่จะนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะเป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้ของประชาชนผู้ใช้บริการ ส่วนประเด็นเรื่องการนำส่งเงินเป็นรายได้แผ่นดินนั้น โดยหลักการแล้วจะต้องมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนอย่างเช่นกรณี พ.ร.บ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ที่กำหนดว่าเงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัล ถ้าผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลไม่มาขอรับเงินภายในเวลากำหนด ก็ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงนำความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯ เสนอที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาในครั้งนี้ พร้อมกับเสนอทางเลือกที่น่าสนใจให้กรรมการพิจารณาด้วยว่า สามารถนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการวางทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับการคืนเงินคงเหลือในระบบให้แก่ผู้ใช้บริการได้ โดยการกำหนดให้ บจ. ทรู มูฟ ในฐานะลูกหนี้ นำเงินคงเหลือในระบบจำนวนดังกล่าวไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ โดยแสดงเจตนาสละสิทธิในการถอนทรัพย์ และจัดให้มีการประชาสัมพันธ์เป็นการทั่วไปต่อสาธารณะ ซึ่งการวางทรัพย์นี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการที่เป็นเจ้าของเงินคงเหลือในระบบมาขอรับเงินคงเหลือคืนได้เป็นระยะเวลา 10 ปี อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการตามอายุความของกฎหมาย

—————————

วาระ DTAC ขอคืนเลขหมายโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่เต็มกลุ่ม
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เสนอ กทค. พิจารณากรณี บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น มีความประสงค์ขอคืนเลขหมายโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่เต็มกลุ่ม จำนวน 10,988,600 เลขหมาย อย่างไรก็ดี ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ได้เคยมีมติอนุมัติแนวปฏิบัติหลักเกณฑ์และวิธีการคืนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่เต็มกลุ่มไว้ โดยกำหนดว่า “ผู้ให้บริการที่มีความประสงค์จะคืนเลขหมายที่ไม่เต็มกลุ่มสามารถคืนกลุ่มเลขหมายดังกล่าวได้ โดยจะต้องเป็นเลขหมายว่างที่มิได้มีการใช้งานและว่างจากการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และไม่กระทบสิทธิของผู้ใช้บริการ” ซึ่งปรากฏว่ากลุ่มเลขหมายที่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ประสงค์จะคืนนั้น มีจำนวนเลขหมายที่มีผู้ใช้บริการจำนวน 1,790,736 เลขหมาย และจำนวนเลขหมายว่างเพื่อรองรับการให้บริการจนสิ้นสุดสัมปทานจำนวน 2,890,839 เลขหมาย ทำให้การคืนเลขหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องตามแนวปฏิบัติหลักเกณฑ์และวิธีการคืนเลขหมาย ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงเสนอ กทค. ไม่พิจารณารับคืนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น

อย่างไรก็ตาม วาระนี้มีข้อน่าสังเกตว่า กรณี บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น มีความประสงค์ขอคืนเลขหมายไม่เต็มกลุ่มจำนวน 10,988,600 เลขหมาย แต่ในเมื่อมีกลุ่มเลขหมายที่ไม่สอดคล้องตามแนวปฏิบัติหลักเกณฑ์และวิธีการคืนเลขหมายจำนวน 4,681,575 เลขหมาย สำนักงาน กสทช. และ กทค. ก็ควรที่จะพิจารณารับคืนกลุ่มเลขหมายที่สามารถรับคืนได้จำนวน 6,307,025 เลขหมาย เพื่อให้การจัดสรรและใช้ทรัพยากรเลขหมายโทรคมนาคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มิใช่ปฏิเสธคำขอส่งคืนเลขหมายจำนวนทั้งหมด นอกจากนี้ กทค. อาจยังจำเป็นต้องระมัดระวังการใช้ดุลยพินิจในการเลือกใช้หลักเกณฑ์ของสำนักงาน กสทช. ที่อาจก่อให้เกิดข้อครหาว่ามีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมได้ในภายหลัง เพราะในคราวการพิจารณากรณี บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ขอส่งคืนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่เต็มกลุ่ม ซึ่งได้มีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 32/2559 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ไปแล้วนั้น ไม่ปรากฏว่าสำนักงาน กสทช. หยิบยกแนวปฏิบัติหลักเกณฑ์และวิธีการคืนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่เต็มกลุ่มตามมติ กทค. ครั้งที่ 1/2559 มาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเหมือนเช่นครั้งนี้แต่อย่างใด ดังนั้น กทค. จึงต้องให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจนด้วย

—————————

วาระพิจารณาข้อหารือของสมาคมโทรคมนาคมฯ เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการให้บริการพร้อมเพย์
วาระนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 28/2559 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 มีมติเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ประสานธนาคารแห่งประเทศไทยในการเพิ่มข้อความการให้ความยินยอม โดยให้มีการขออนุญาตผู้ใช้บริการและผู้ใช้บริการต้องแสดงความยินยอมก่อน เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถเปิดเผยสถานการณ์การใช้บริการกับธนาคารพาณิชย์ได้

อย่างไรก็ดี ต่อมติดังกล่าว ทางสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อหารือหลักการปฏิบัติของกฎหมายเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการให้บริการพร้อมเพย์ เนื่องจากตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีความประสงค์ที่จะประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการที่อยู่ในการครอบครองจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการ และต้องกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้การให้บริการพร้อมเพย์ถือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ และสามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้บริการต่อธนาคารได้หรือไม่ นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องรูปแบบและขั้นตอนการขอความยินยอมนั้น ในกรณีของการขอความยินยอมเปิดเผยข้อมูลสำหรับผู้ใช้บริการในระบบ Postpaid สามารถแก้ไขใบสมัครใช้บริการให้ครอบคลุมถึงการให้บริการพร้อมเพย์ได้ แต่ในกรณีระบบ Prepaid ในทางปฏิบัติผู้ใช้บริการไม่ได้ลงนามให้ความยินยอมในใบสมัครใช้บริการใดๆ ทั้งสิ้น จึงมีประเด็นว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะดำเนินการอย่างไรให้ถูกต้อง เพื่อไม่ขัดต่อประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

สำหรับวาระนี้ กทค. จำเป็นต้องพิจารณาข้อหารือของสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ และสร้างความชัดเจนทั้งในประเด็นข้อกฎหมาย รวมทั้งรูปแบบขั้นตอนการขอความยินยอมจากผู้ใช้บริการในการเปิดเผยข้อมูล นอกเหนือไปจากนั้น กทค. ควรต้องพิจารณาปรับปรุงแก้ไขประกาศ กทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมฯ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมไปถึงบริบททางเศรษฐกิจและสังคมด้วย เช่น การกำหนดลำดับชั้นของข้อมูลส่วนบุคคล ว่าข้อมูลส่วนบุคคลใดสามารถเปิดเผยหรือส่งต่อได้หากมีการร้องขอ หรือข้อมูลส่วนบุคคลใดอยู่ขั้นความลับที่ต้องมีการเก็บรักษาอย่างเข้มงวด การกำหนดมาตรการขั้นต่ำที่มีรายละเอียดทางเทคนิคในการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในปัจจุบัน รวมไปถึงข้อกำหนดการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างอุตสาหกรรมหรือระหว่างประเทศ เช่น ข้อกำหนดที่ระบุว่าผู้ให้บริการจะถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลให้กับอุตสาหกรรมหรือประเทศที่มีมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าเท่านั้น เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น