แนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม, รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่

ggggg8.59

การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 8/2559 วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2559 มีวาระที่น่าจับตา คือ เรื่องแนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคมหรือเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งจะมีการแยกกระบวนการออกใบอนุญาตออกจากกระบวนการร้องเรียน และรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2558

วาระแนวทางปฏิบัติการออกใบอนุญาตตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม
วาระนี้เป็นวาระที่สำนักงาน กสทช. เสนอ กทค. พิจารณายกเลิกแนวทางปฏิบัติของสำนักงานในการตรวจสอบการขออนุญาตตั้งเสาสถานีวิทยุคมนาคมของผู้ประกอบการภายใต้มาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับการเครื่องวิทยุคมนาคม ตามมติ กทช. ครั้งที่ 18/2553 และเห็นชอบแนวทางปฏิบัติใหม่ที่แยกกระบวนการออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมออกจากกระบวนการร้องเรียน นั่นคือ สำนักงาน กสทช. จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมแก่ผู้ประกอบการได้ทันทีที่มีการยื่นคำขอและแนบเอกสารหลักฐานมาครบถ้วน โดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบว่ามีการร้องเรียนหรือไม่ แต่หากพบว่าภายหลังจากการออกใบอนุญาตแล้วมีผู้ร้องเรียน ก็จึงค่อยให้ดำเนินการทำความเข้าใจกับประชาชน หรือเพิกถอนและพักใช้ใบอนุญาต แต่ทั้งนี้ในการจัดประชุมทำความเข้าใจกับประชาชน ให้กำหนดสัดส่วนผู้เข้าร่วมประชุม โดยใช้หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ คือชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์มหาชนกับประโยชน์ของเอกชนที่เสียไป

วาระนี้ไม่เพียงแค่น่าจับตา แต่เป็นประเด็นที่น่าหวั่นใจด้วยว่า จะสร้างความขัดแย้งและผูกปมปัญหาในกระบวนการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมให้รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากหากไม่มีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนก่อนที่จะมีการออกใบอนุญาต แล้วหากภายหลังพบว่ามีผู้ร้องเรียนอยู่ก่อนแล้วหรือเกิดกรณีร้องเรียนขึ้น และในขั้นตอนการจัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน มีการลงมติไม่ยอมให้ตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม กรณีเช่นนี้สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะเลือกฝืนมติประชาชนในพื้นที่ หรือเพิกถอนใบอนุญาตซึ่งผู้ประกอบการได้ลงทุนติดตั้งเสาส่งสัญญาณไปแล้ว ไม่ว่าเลือกทางใดก็เสียหาย เนื่องจากได้ตัดทางเลือกในลักษณะป้องกันออกไปเสียแล้ว

นอกจากนี้ แนวทางการจัดประชุมทำความเข้าใจกับประชาชนที่ให้กำหนดสัดส่วนผู้เข้าร่วมประชุมโดยใช้หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบนั้น ก็คลุมเครือว่าจะเป็นการจัดประชุมในลักษณะใด มีการกำหนดสัดส่วนผู้เข้าร่วมประชุมอย่างไร สุดท้ายประชาชนในฐานะผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่จะมีส่วนร่วมตัดสินใจมากน้อยเพียงใด เพราะดูเหมือนการเสนอเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติดังกล่าวมีความพยายามกีดกันเสียงของประชาชนออกตั้งแต่เริ่มแรกเสียด้วยซ้ำ

วาระรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ปี 2558
วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ระบุ ทั้งสองไตรมาสที่ผ่านมามีการให้บริการคงสิทธิเลขหมายทั้งสิ้น 3,081,612 เลขหมาย แบ่งเป็นการโอนย้ายเลขหมายในไตรมาสที่ 3 จำนวน 1,288,162 เลขหมาย และไตรมาสที่ 4 จำนวน 1,793,450 เลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 2.93 และร้อยละ 3.31 ของขีดความสามารถในการโอนย้ายทั้งหมดตามลำดับ โดยกลุ่มบริษัทเอไอเอสใช้ขีดความสามารถไปมากสุด คือร้อยละ 4.19 อย่างไรก็ดี ค่าเฉลี่ยการโอนย้ายตลอดทั้งปี 2558 พบว่าลดลงค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 โดยในปี 2557 จำนวนเลขหมายโอนย้ายต่อวันอยู่ที่ 16,789 เลขหมาย ขณะที่ปี 2558 จำนวนเลขหมายโอนย้ายต่อวันมีเพียง 4,549 เลขหมาย ดังนั้นประสิทธิภาพของการให้บริการคงสิทธิเลขหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงมีมากพอที่น่าจะสามารถรองรับการใช้งานระยะยาวได้

สำหรับภาพรวมการให้บริการคงสิทธิเลขหมายนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่าน 2100 MHz ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 จนถึงธันวาคม 2558 พบว่า มีการโอนย้ายเลขหมายทั้งสิ้นกว่า 52.93 ล้านเลขหมาย โดยสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 96.4 เป็นการโอนย้ายภายในกลุ่มบริษัทในเครือที่มีการให้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz หรือเป็นการโอนย้ายจากระบบ 2G (สัมปทาน) มาสู่ 3G (ใบอนุญาต) ภายในกลุ่มบริษัทเดียวกันนั่นเอง

ส่วนกรณีการยุติการให้บริการของบริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟนบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ภายใต้ระบบสัมปทานเดิมนั้น หากย้อนดูสถิติการโอนย้ายเลขหมาย พบว่า กรณีของบริษัทดิจิตอลโฟน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 เป็นต้นมาจนสิ้นสุดการให้บริการในเดือนธันวาคม 2558 มีการโอนย้ายเลขหมายออกทั้งสิ้น 69,451 เลขหมาย โดยการโอนย้ายสูงสุดเกิดขึ้นเดือนกันยายน 2556 จำนวนกว่า 20,000 เลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 29 ของการโอนย้ายเลขหมายทั้งหมด ส่วนบริษัททรูมูฟ ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการโอนย้ายเลขหมายออกทั้งสิ้น 6,253,274 เลขหมาย โดยการโอนย้ายสูงสุดเกิดขึ้นเดือนตุลาคม 2556 จำนวนกว่า 906,000 เลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของการโอนย้ายเลขหมายทั้งหมด