จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 17/2559

as17.59

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 17/2559 วันอังคารที่ 9 สิงหาคม 2559 มีหลายวาระที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องแนวทางการบริหารเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาว, เรื่องการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองกรณี บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค บจ. ดีแทค ไตรเน็ต และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ไม่ปฏิบัติตามตามประกาศหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่, เรื่องรายงานการคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน, เรื่องพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ รวมทั้งเรื่องการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีผู้ให้บริการปรับลดความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่เป็นไปตามมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการ และเรื่องร้องเรียนกรณีเรียกเก็บค่าบริการจากการโทรเลขหมาย 4 ตัวในอัตราพิเศษ

นอกจากนี้ ยังมีวาระที่สำนักงาน กสทช. เพิ่มเติมก่อนที่การประชุมจะเริ่มจำนวน 8 วาระ หนึ่งในนั้นคือเรื่อง แนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 2.1 GHz / 1800 MHz / 900 MHz และเรื่องพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง พ.ศ. … ก่อนที่จะนำร่างประกาศไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งวาระนี้เป็นประเด็นที่สำคัญเนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมในอนาคต รวมถึงมีผลต่ออัตราราคาค่าบริการโทรคมนาคมด้วย

วาระเรื่องแนวทางการบริหารเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาว
วาระนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องจากการนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการเลขหมายโทรคมนาคมและการปรับปรุงแผนเลขหมายโทรคมนาคมเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมระยะยาว โดยสำนักงาน กสทช. ได้เคยเสนอให้ กทค. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 10/2559 เมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น กทค. ได้มีมติให้นำข้อสังเกตของที่ประชุมเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคมก่อน ภายหลังจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้ว สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการเลขหมายโทรคมนาคมและการปรับปรุงแผนเลขหมายมานำเสนอ กทค. อีกครั้งในวาระนี้

สำหรับสถานการณ์การจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมเคลื่อนที่ ณ วันที่ 30 เมษายน 2559 มีจำนวนเลขหมายที่ได้รับการจัดสรรไปแล้วประมาณ 179 ล้านเลขหมาย หากในอนาคตอันใกล้มีการจัดสรรเลขหมายที่สงวนสำหรับประมูลเลขสวยและเลขหมายไม่เต็มกลุ่มที่ได้รับคืนมาอีกประมาณ 53 ล้านเลขหมาย ก็จะมีเลขหมายคงเหลือที่สามารถนำมาจัดสรรในอนาคตได้อีกเพียงประมาณ 88 ล้านเลขหมาย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ประเมินว่าน่าจะยังเพียงพอต่อความต้องการของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างน้อยภายใน 5 ปีนี้

อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอมาตรการระยะสั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเลขหมายในระยะ 5 ปีให้ กทค. ได้พิจารณาด้วย ได้แก่ 1) การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขอรับการจัดสรรเลขหมายจะต้องมีเลขหมายว่างน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 20 ของเลขหมายที่เคยได้รับการจัดสรร จึงจะสามารถได้รับการจัดสรรเลขหมายเพิ่มเติมได้ 2) ส่งเสริมการทำ Number Pooling โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นผู้กำหนดหมายเลขให้กับผู้ใช้บริการเอง หรือเลือกได้อย่างมีข้อจำกัด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถบริหารจัดการเลขหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น 3) เพิ่มหลักเลขหมายสำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวบนอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือ Tablet ต่างๆ และอุปกรณ์ M2M ซึ่งแนวทางนี้จะไม่กระทบต่อผู้ใช้บริการเนื่องจากเป็นเลขหมายประเภทที่ไม่จำเป็นต้องจดจำเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน 4) การปรับลดจำนวนวันของเลขหมายที่ยุติการใช้งานและถูกห้ามนำออกมาใช้งานจาก 90 วัน เหลือ 60 วัน และการปรับลดจำนวนวัน Validity เฉพาะเลขหมายที่ไม่มีการใช้งาน 5) ปรับปรุงกฎเกณฑ์การให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) ให้มีความรวดเร็วและสะดวกขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการใช้เลขหมายอย่างสิ้นเปลืองของผู้ใช้บริการลงได้

ส่วนมาตรการบริหารจัดการเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวนั้น สำนักงาน กสทช. นำเสนอ 3 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 คือ เปลี่ยนเลขหมายนำหลักแรกจากเดิมเลข 0 เป็นเลข 2 ทางเลือกที่ 2 คือ เพิ่มเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่เป็น 10 หลัก โดยเพิ่มเลข 1 หลังเลข 0 และทางเลือกที่สาม คือ เพิ่มเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็น 11 หลัก โดยเพิ่มเลข 1 หลังเลข 0 ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม เห็นว่าทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการเพียงส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบ โดยแนวทางนี้จะทำให้มีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอีก 500 ล้านเลขหมาย และเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่เพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านเลขหมาย แต่จะมีผลกระทบโดยตรงกับ บมจ. ทีโอที ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ โดยจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบชุมสาย ซึ่งในเบื้องต้นสำนักงาน กสทช. ประเมินว่าน่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 6,565 ล้านบาท จึงเห็นสมควรว่าน่าที่จะมีการนำเสนอรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบถึงความจำเป็นในการดำเนินงานเรื่องการปรับปรุงแผนเลขหมายโทรคมนาคม และปัญหาอุปสรรคของ บมจ. ทีโอที ในเรื่องการลงทุน

เรื่องแนวทางการบริหารจัดการเลขหมายโทรคมนาคมและการปรับปรุงแผนเลขหมายนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญที่ต้องเตรียมการล่วงหน้า ซึ่งก็ควรที่จะมีการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล (RIA) และจัดเวทีเปิดกว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาในเชิงนโยบายอย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม และสังคมวงกว้าง ขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ต้องติดตามและจับตากันยาวๆ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระ “เอไอเอส, ดีแทค, ทรู” อุทธรณ์คำสั่งกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองกรณีฝ่าฝืนหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมาย

วาระนี้สืบเนื่องจากการประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2559 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ขอความเห็น กทค. ทุกท่านในประเด็นการพิจารณาจำนวนค่าปรับทางปกครอง กรณีการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองของเลขาธิการ กสทช. กรณี บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค, บจ. ดีแทค ไตรเน็ต, และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ไม่ปฏิบัติตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNP Porting Process Manual)

ทั้งนี้ สาเหตุที่มีการกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งสามราย ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการ โดยมีการโอนย้ายผู้ใช้บริการทั้งที่ผู้ใช้บริการไม่ได้แสดงความประสงค์ขอโอนย้าย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้เคยมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนและปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 เลขาธิการ กสทช. ก็ได้มีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครอง โดยกำหนดให้ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 11,801,567 บาท นับแต่วันที่พ้นกำหนดวันแจ้งเตือนจนถึงช่วงเวลาสิ้นสุดการกระทำฝ่าฝืน จำนวน 41 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 483,864,247 บาท ส่วน บจ. ดีแทค ไตรเน็ต คำสั่งกำหนดให้ต้องชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 6,156,184 บาท จำนวน 17 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 104,655,128 บาท และ บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น กำหนดให้ต้องชำระค่าปรับทางปกครองวันละ 169,244 บาท จำนวน 44 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,446,736 บาท

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครอง ผู้ให้บริการทั้งสามรายก็ได้ยื่นอุทธรณ์ สำนักงาน กสทช. จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2559 เพื่อพิจารณา ซึ่งที่ประชุมก็มีมติให้สำนักงาน กสทช. นำไปสอบถามความเห็นของ กทค. ทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการพิจารณาจำนวนค่าปรับทางปกครอง ซึ่งปรากฏว่ามีกรรมการบางท่านเห็นว่า อัตราค่าปรับทางปกครองที่สำนักงาน กสทช. คำนวณนั้นสูงเกินไป โดยมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบแล้วมาร้องเรียน แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง อีกครั้งการกระทำผิดนี้เป็นการกระทำผิดครั้งแรก จึงควรกำหนดให้สมควรแก่เหตุและสัดส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่กรรมการอีกท่านตั้งข้อสังเกตว่า ประกาศสำนักงานเรื่องกำหนดเกณฑ์การบังคับทางปกครองในกิจการโทรคมนาคมที่เป็นฐานอำนาจในการใช้เป็นเกณฑ์วิธีการคำนวณค่าปรับทางปกครองครั้งนี้ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนอย่างครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงกรณีนี้ช่วงระยะเวลาของการกระทำผิดได้ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งระยะเวลาในการบังคับใช้กฎไม่มีสภาพย้อนหลัง

แม้ปัญหาการโอนย้ายผู้ใช้บริการโดยไม่ถูกต้องเป็นปัญหาที่รับรู้กันมานาน โดยสำนักงาน กสทช. ก็ได้ยอมรับว่าตรวจพบตั้งแต่ปี 2557 แต่ในเมื่อความเห็นของกรรมการ 2 เสียงใน 4 เสียงออกมาในทิศทางนี้แล้ว คงต้องจับตาว่า มติที่ประชุม กทค. ในวาระนี้จะเป็นเช่นไร สุดท้ายแล้วจะมีการลงโทษผู้ให้บริการที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หรือปล่อยให้ผ่านเลยไป เพราะในอีกด้านหนึ่งคงต้องไม่ลืมด้วยว่า ปัญหานี้ก็เป็นประเด็นที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จับตาอยู่เช่นกัน เนื่องจากเคยมีหนังสือทวงถามให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบในเรื่องนี้เมื่อต้นปี 2558 เนื่องจากไปกระทบสิทธิและส่วนแบ่งรายได้สัญญาร่วมการงานที่ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐควรได้รับ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระรายงานการคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
วาระนี้เป็นวาระเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงานกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ใช้บริการกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้ที่ประชุม กทค. รับทราบ

รายงานชิ้นนี้ระบุข้อมูลว่า ณ วันสิ้นสุดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บจ. ดิจิตอลโฟน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 มีจำนวนเลขหมายคงเหลืออยู่ในระบบ 300 เลขหมาย ในจำนวนนี้มีจำนวน 27 เลขหมายที่มีเงินคงเหลือรวม 5,305.47 บาท ส่วน บจ. ทรูมูฟ มีเลขหมายคงเหลือในระบบ 41,362 เลขหมาย ยอดเงินคงเหลือ 3,841,894.42 บาท อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันสิ้นสุดการให้บริการจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2559 มีผู้มาขอรับเงินคืนแล้ว 261 เลขหมาย คิดเป็นเงิน 215,075.32 บาท นั่นหมายความว่ามีผู้ใช้บริการมาขอรับเงินคืนเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น และยังมีเงินเหลือค้างอยู่ในระบบอีกมากถึงกว่า 3.6 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ กทค. เคยมีมติเมื่อ 23 มิถุนายน 2558 กำหนดให้ผู้ใช้บริการสามารถขอเงินคืนจากผู้ให้บริการได้ภายใน 1 ปีหลังจากสิ้นสุดการให้บริการ หลังจากนั้นผู้ใช้บริการจะถูกตัดสิทธิ์ โดยผู้ให้บริการต้องนำเงินที่เหลือส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป แม้เรื่องนี้อาจต้องยอมรับความจริงว่า มีผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งที่มีเงินค้างอยู่ในระบบจำนวนไม่มากและไม่คิดจะร้องขอเงินคืน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ กทค. และสำนักงาน กสทช. จะนิ่งนอนใจด้วยการทำหน้าที่เพียงรับรู้รับทราบข้อมูลจากผู้ให้บริการ แล้วรอให้ครบกำหนดระยะเวลา 1 ปีโดยที่ไม่ดำเนินการหรือมีมาตรการอื่นใดเลย ซึ่งอย่างน้อยก็ควรติดตามตรวจสอบดูว่าเหตุอันใดจึงมีผู้ขอรับเงินคืนเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีอุปสรรคติดขัดอันใดหรือไม่ รวมถึงควรกำหนดให้บริษัทเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างแพร่หลายถึงสิทธิและระยะเวลาที่จะถูกตัดสิทธิในการขอเงินคืนนี้ด้วย

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์การคืนคลื่น
วาระนี้เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ให้ กทค. พิจารณาอนุมัติก่อนนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

สาระหลักของร่างประกาศฉบับนี้คือ การกำหนดให้ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่มีหน้าที่ในการคืนคลื่นเพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นตามแนวทางและกรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งการกำหนดให้มีการปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามย่านความถี่หรือตามลักษณะประเภทของกิจการหรือการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ มีการเพิ่มเติมเนื้อหาเรื่องการอนุญาตให้ผู้อื่นร่วมใช้งานคลื่นความถี่กับผู้ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่เดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้คลื่นความถี่ และในกรณีที่มีการคืนคลื่นก่อนสิ้นสุดระยะเวลาเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ อาจให้มีมาตรการสนับสนุนหรือชดเชยให้แก่ผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นได้ ซึ่งหลักการทั้งสองประเด็นนี้ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ ขณะเดียวกันร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับใหม่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ อีกทั้งแนวคิดเรื่องการจ่ายชดเชยเมื่อมีการเรียกคืนคลื่นก็เป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ เพราะคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ จึงไม่ควรนำเงินสาธารณะไปให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่ถือครองคลื่นแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นหาก กทค. จะเห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์เพื่อนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจึงเป็นเรื่องที่ทั้งไม่เหมาะสมและไม่ถูกจังหวะเวลา

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระพิจารณาแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน
ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 17/2559 มีการนำเสนอเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาจำนวน 6 วาระ โดยเป็นเรื่องปัญหาคุณภาพสัญญาณ 3 กรณี ปัญหาการคิดอัตราค่าบริการผิดพลาด 2 กรณี และเรื่องผู้บริโภคประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมอีก 1 กรณี ในจำนวนนี้มี 2 กรณีที่มีประเด็นน่าสนใจ

กรณีแรกเป็นเรื่องผู้ใช้บริการรายหนึ่งประสบปัญหาคุณภาพสัญญาณในการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยมีความเร็วต่ำมาก โดยผู้ใช้บริการรายนี้สมัครใช้บริการรายการส่งเสริมการขาย iNet 599 ของผู้ให้บริการรายหนึ่ง รับส่วนลดร้อยละ 50 ค่าบริการรายเดือน 299.50 บาท ใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้ 2 กิกะไบต์ต่อเดือน หลังจากนั้นสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องที่ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 384 กิโลบิตต่อวินาที แต่ปรากฏว่าในการใช้งานจริง ความเร็วอินเทอร์เน็ตในบางช่วงเวลาต่ำมาก แม้แต่ facebook ก็ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ ภายหลังจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้ให้บริการยอมรับว่า ได้มีการปรับลดความเร็วอินเทอร์เน็ตรอบที่สองเหลือ 64 กิโลบิตต่อวินาที เมื่อผู้ใช้บริการใช้อินเทอร์เน็ตเกิน 10 กิกะไบต์ โดยอ้างว่าเป็นนโยบาย “Super Fair”

กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการไม่สามารถกระทำการลักษณะดังกล่าวได้ โดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม มีมติให้บริษัทฯ ปรับปรุงคุณภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ได้มาตรฐานตามที่ได้โฆษณาไว้ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยหากบริษัทฯ จะปรับลดความเร็วลงในลักษณะนั้น ก็ต้องแจ้งเงื่อนไขให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้า นอกจากนี้ บริษัทฯ ต้องเป็นไปตามประกาศ กสทช เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ นั่นคือต้องให้บริการอินเทอร์เน็ตต่อเนื่องตามความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 345 กิโลบิตต่อวินาที

สำหรับกรณีที่สองเป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการถูกเรียกเก็บค่าบริการจากการโทรไปยังเลขหมาย 4 ตัว นาทีละ 1.50 บาท โดยบริษัทฯ ที่เป็นผู้ให้บริการอ้างว่าค่าบริการเลขหมาย 4 หลัก ไม่รวมอยู่ในรายการส่งเสริมการขาย ผู้ใช้บริการจึงร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าการเรียกเก็บค่าบริการเลขหมาย 4 หลักนอกรายการส่งเสริมการขายนั้นถูกต้องหรือไม่ และหากไม่ถูกต้องก็ขอให้มีคำสั่งให้บริษัทฯ คืนเงินที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการทุกราย

กรณีเรื่องร้องเรียนนี้เคยได้รับการเสนอให้ กทค. พิจารณามาแล้วครั้งหนึ่งในการประชุมครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. แสวงหาความจริงเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการตรวจสอบต้นทุนและเงื่อนไขการเรียกเก็บค่าบริการเลขหมาย 4 หลักว่ามีความเหมือนหรือความแตกต่างจากเลขหมายปกติอย่างไร เพราะเอาเข้าจริงคุณลักษณะการใช้งานและตัวบริการแทบจะไม่มีความแตกต่างจากเลขหมายปกติแต่อย่างใด

สุดท้ายการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีนี้ลงเอยโดยที่ทางบริษัทฯ ปรับลดอัตราค่าบริการให้ผู้ร้องเรียน รวมถึงชี้แจงกับทางสำนักงาน กสทช. ว่าได้มีการปรับปรุงการคิดอัตราค่าบริการโทรไปยังเลขหมาย 4 หลัก ให้รวมอยู่ในรายการส่งเสริมการขายในแต่ละรายการแล้ว โดยสามารถใช้งานได้ตั้งแต่ตุลาคม 2558 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องแนวคิดที่จะมีการจัดทำหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าบริการสำหรับบริการโทรคมนาคมเลขหมายโทรศัพท์สั้น 4 หลัก เพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไปนั้น สำนักงาน กสทช. เห็นว่าไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะในปัจจุบันตลาดโทรคมนาคมได้คิดค่าบริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 4 หลักรวมอยู่ในรายการส่งเสริมการขายแล้ว ส่วนเรื่องที่ผู้ร้องเรียนต้องการให้บริษัทฯ คืนเงินที่เรียกเก็บโดยไม่ถูกต้องให้กับผู้ใช้บริการทุกราย คงต้องจับตาว่า กทค. จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาหรือไม่ และจะมีมติอย่างไร

อนึ่ง เรื่องร้องเรียนทั้งสองกรณีนี้นับเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับผู้ใช้บริการ โดยหากผู้ใช้บริการคนใดประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ ก็สามารถยืนยันสิทธิของตนกับบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการหรือร้องเรียนปัญหามายังสำนักงาน กสทช. ได้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระพิจารณาร่างประกาศอัตรา IC อ้างอิง

วาระนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เสนอ กทค. ให้พิจารณาเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง พ.ศ. … เพื่อนำร่างประกาศไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ได้ว่าจ้างบริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด ศึกษาการกำกับดูแลอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (อัตรา IC) ในยุค 4G (LTE) และ NGN เพื่อนำมาใช้เป็นอัตรา IC อ้างอิงใหม่ ทดแทนอัตราเดิมที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 และมีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2559

ทั้งนี้ อัตรา IC อ้างอิงตามร่างประกาศนี้ จะนำมาใช้เป็นอัตราอ้างอิงสำหรับกิจการโทรคมนาคมประเภทโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์ประจำที่ ซึ่งให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมด้วยทราฟฟิกประเภทเสียง (Voice) ผ่านจุดเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ไม่ได้เป็นอัตราอ้างอิงสำหรับกิจการโทรคมนาคมที่ให้บริการเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต

ประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตอย่างมากคือ อัตรา IC ที่กำหนดในร่างประกาศโดยที่สำนักงาน กสทช. อ้างอิงมาจากผลการศึกษาของบริษัท เดเทคอนฯ นั้น ปรากฏว่าเป็นอัตราที่สูงกว่าผลการคำนวณที่สำนักงาน กสทช. เคยว่าจ้างบริษัทเดียวกันนี้ศึกษาเรื่องอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์ในยุค 3G เมื่อปี 2556 ซึ่งคราวนั้นผลการคำนวณต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาวของการเชื่อมต่อโครงข่ายสำหรับบริการ Mobile Call Termination ในปี 2560 และปี 2561 เท่ากับ 0.20 บาท/นาที และ 0.15 บาท/นาที ตามลำดับ แต่ผลการคำนวณครั้งใหม่นี้กลับสูงขึ้นเป็น 0.21 บาท/นาที และ 0.19 บาท/นาที ตามลำดับ โดยที่ไม่มีคำชี้แจงที่ชัดเจนว่าเป็นเพราะเหตุใด

อีกประเด็นหนึ่งคือการกำหนดอัตรา IC อ้างอิง โดยใช้ต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาวของผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพที่สมมติขึ้นมานั้น พบว่ามีอัตราสูงกว่าต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาวของ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในกรณีของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสูงกว่า บจ. ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ ในกรณีของบริการโทรศัพท์ประจำที่ จึงเกิดข้อชวนสงสัยว่าเหตุใดสำนักงาน กสทช. จึงไม่ใช้ต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาวของบริษัทที่มีต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาวต่ำที่สุดในแต่ละบริการ โดยถือว่าผู้ประกอบการที่มีต้นทุนในการให้เชื่อมต่อโครงข่ายต่ำที่สุดเป็นผู้ให้บริการที่ประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละบริการ แทนที่จะใช้ค่าที่มีที่มาจากการตั้งสมมติฐาน

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการถ่ายโอนต้นทุนจากการประมูลคลื่นความถี่มายังค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่าย ซึ่งส่งผลให้อัตรา IC อ้างอิงมีอัตราสูง ทั้งที่โดยหลักการแล้วไม่ควรนำต้นทุนจากการประมูลคลื่นความถี่มาคำนวณ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ชนะการประมูลผลักภาระต้นทุนจากการประมูลไปให้กับผู้ใช้บริการ อีกทั้งการกำหนดอัตรา IC อ้างอิงที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ก็จะเป็นอุปสรรคในการแข่งขันของผู้ให้บริการขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ให้บริการประเภทโครงข่ายเสมือน (MVNO)

วาระนี้จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม และราคาค่าบริการปลายทางที่ผู้บริโภคจะต้องแบกรับด้วย จึงต้องติดตามดูว่า กทค. จะเห็นข้อบกพร่องเหล่านี้หรือไม่ และสุดท้ายจะมีมติไปในทิศทางใด