จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 24/2559

untitle24-59

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 24/2559 วันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2559 มีวาระน่าจับตาจำนวนมาก โดยวาระที่น่าสนใจในลำดับต้น ได้แก่ เรื่องแนวทางการบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศ, เรื่องการพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค กรณีดีแทคปฏิเสธคำขอยกเลิกสัญญาใช้บริการ ซึ่งเป็นกรณีแรกที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมมีมติเสนอ กทค. ให้พิจารณานำประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2558 มาบังคับใช้, เรื่องการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) ตามเงื่อนไขปรับปรุง, เรื่องพิจารณาร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560), และเรื่องการจัดประมูลเลขหมายสวยจำนวน 16 เลขหมาย

ส่วนวาระอื่นๆ ที่น่าสนใจในลำดับรองลงมา ได้แก่ เรื่องการเป็นพันธมิตรธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 2100 MHz ระหว่าง บมจ. ทีโอที และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, เรื่องร่างประกาศเรื่องการลดหรือยกเว้นค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก, และเรื่องการแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีผู้ใช้บริการประสบปัญหาการคิดค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานผิดพลาด

วาระแนวทางการบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศ
วาระนี้เป็นเรื่องเพื่อทราบ โดยสำนักงาน กสทช. เตรียมรายงานให้ที่ประชุม กทค. ทราบถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 เกี่ยวกับแนวทางการบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติว่า

1) รับทราบความเป็นมาของการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศและผลการศึกษาเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการดาวเทียมสื่อสารหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินการกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรายงาน โดยไม่รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการภายใต้สัญญาใดๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามสัญญา

2) ส่วนแนวทางการบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยในระยะยาวและในช่วงการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงเปลี่ยนผ่านนั้น ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ รวมทั้งดำเนินการและกำกับดูแลและให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553

สำหรับผลการศึกษาเรื่องแนวทางบริการจัดการดาวเทียมสื่อสารหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินการกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศนั้น มีข้อเสนอที่สำคัญ 2 ประเด็น คือ

1) นโยบายการบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารในระยะยาวภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นผลลง เห็นควรเปิดตลาดให้มีการแข่งขันแบบมีข้อตกลงกับรัฐบาล (Market with Undertaking / Deed of Agreement) โดยใช้ระบบใบอนุญาต (Licensing) เป็นรายระบบดาวเทียมสื่อสาร
2) นโยบายบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารในช่วงเปลี่ยนผ่าน กรณีดาวเทียมไทยคม 4, 5 และ 6 รวมทั้งเอกสารข่ายอื่นๆ ภายหลังสัมปทานสิ้นผลลง และดาวเทียมยังมีอายุใช้งานเหลืออยู่ เห็นควรให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อใช้สิทธิและหน้าที่รักษาวงโคจร รวมถึงการประกอบกิจการดาวเทียมตามระบบใบอนุญาตแบบมีเงื่อนไข ส่วนกรณีดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 รวมทั้งดาวเทียมดวงต่อๆ ไปที่อาจส่งขึ้นก่อนสัญญาสิ้นผล ยังคงมีความผูกพันที่ต้องดำเนินตามเงื่อนไขของสัมปทานฯ ให้ครบถ้วนจนกระทั่งสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในปี 2564
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระแก้ไขเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค กรณีดีแทคปฏิเสธคำขอยกเลิกสัญญาใช้บริการ
วาระนี้เป็นเรื่องผู้ใช้บริการรายหนึ่งของ บจ. ดีแทค ไตรเน็ต ไปแจ้งขอยกเลิกเบอร์ที่ศูนย์บริการแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยนาทตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2557 แต่ในขณะนั้นพนักงานที่ศูนย์บริการปฏิเสธ อ้างว่าไม่สามารถยกเลิกให้ได้ ถ้าต้องการยกเลิกก็ต้องไปติดต่อที่สำนักงานใหญ่เท่านั้น และมีการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่นให้จากเหมาจ่ายรายเดือน 399 บาท เป็นโปรโมชั่นจ่ายรายเดือน 59 บาท เริ่มต้นใช้ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ต่อมาในเดือนธันวาคม ผู้ใช้บริการทำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่หาย จึงแจ้งขอระงับสัญญาณ แต่ปรากฏว่าในเดือนกรกฎาคมปีถัดมากลับได้รับหนังสือทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมาย แจ้งยอดเรียกเก็บค่าบริการ 2,642.89 บาท

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงาน กสทช. ได้รับคำชี้แจงจากบริษัทฯ ว่า ผู้ใช้บริการรายนี้มีค่าบริการค้างชำระในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีการแจ้งขอระงับสัญญาณ คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,181.52 บาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ไม่ได้จัดส่งเอกสารหลักฐานแสดงรายละเอียดการใช้งานมาให้สำนักรับเรื่องร้องเรียนฯ พิจารณาประกอบด้วย ขณะที่ทางด้านผู้ใช้บริการโต้แย้งว่า ทันทีที่ไปแจ้งขอยกเลิกใช้บริการ บริษัทฯ ก็ควรดำเนินการให้ทันที และเรียกเก็บค่าบริการที่เกินรอบบิลมาเพียงเท่านั้น ไม่ใช้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข จนในที่สุดทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรม

สุดท้ายเรื่องนี้ สำนักรับเรื่องร้องเรียนฯ ได้รวบรวมข้อเท็จจริงนำเสนอคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมเพื่อพิจารณา โดยจัดทำความเห็นประกอบการพิจารณาว่า บริษัทฯ มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการทั้งหมดซึ่งเป็นค่าใช้บริการที่เกิดก่อนการแจ้งระงับสัญญาณ แต่ภายหลังที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ พิจารณาแล้ว มีมติที่แตกต่างจากความเห็นของสำนักรับเรื่องร้องเรียนฯ โดยเห็นว่า ในกรณีนี้บริษัทฯ ไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานการใช้บริการได้ มีเพียงการแจ้งยอดเรียกเก็บค่าใช้บริการ ทั้งที่เป็นภาระหน้าที่ที่บริษัทฯ จะต้องพิสูจน์ว่าผู้ใช้บริการมีการใช้งานจริงมากน้อยเพียงใด ดังนั้นในกรณีนี้บริษัทฯ จึงมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการตามโปรโมชั่นรายเดือนเดิม 399 บาทจนถึงวันที่เริ่มต้นใช้โปรโมชั่นรายเดือนใหม่ 59 บาท และหลังจากนั้นมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการรายเดือน 59 บาทจนถึงวันที่ผู้ใช้บริการแจ้งขอระงับสัญญาณ ส่วนในประเด็นที่สำนักงานสาขาของบริษัทฯ ปฏิเสธการขอยกเลิกเลขหมายของผู้ใช้บริการ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ มีมติให้สำนักงาน กสทช. เสนอให้ที่ประชุม กทค. กำหนดให้การปฏิเสธการขอยกเลิกสัญญาใช้บริการเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2558 ด้วย

การพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีนี้นับเป็นเรื่องที่น่าจับตาอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ มีมติแตกต่างจากความเห็นของสำนักรับเรื่องร้องเรียนฯ แต่ยังเป็นครั้งแรกที่มีการเสนอให้ กทค. นำประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นเอาเปรียบฯ มาบังคับใช้ วาระนี้จึงถือเป็นวาระวัดใจ กทค. ทุกท่านเลยก็ว่าได้ ว่ามีความใส่ใจและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการที่ตนกำกับดูแลมากน้อยเพียงใด

หมายเหตุ ผลการพิจารณาวาระนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) ตามเงื่อนไขปรับปรุง
วาระนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2559 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 มีมติเห็นชอบแนวทางการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) ที่สำนักงาน กสทช. เสนอปรับปรุง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยให้มีผลในทางปฏิบัติภายใน 4 เดือน ซึ่งแนวทางการให้บริการคงสิทธิเลขหมายที่ปรับปรุงใหม่นี้ มีการเพิ่มขั้นตอน USSD เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ โดยผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบสถานะด้วยตนเองว่ามีสิทธิโอนย้ายเลขหมายไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ได้หรือไม่ ด้วยการกดขอรหัสจากผู้ให้บริการรายเดิม ซึ่งจะต้องจัดส่งข้อความสั้นตอบกลับภายใน 10 นาที กล่าวคือถ้าข้อมูลเลขหมายโทรศัพท์ตรงกับข้อมูลผู้ใช้บริการที่ได้ลงทะเบียนไว้และไม่มีหนี้ค้างชำระในรอบบิลล่าสุด ผู้ใช้บริการก็จะได้รับรหัสเพื่อนำไปขอโอนย้ายเลขหมายกับผู้ให้บริการรายใหม่ได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่สำนักงาน กสทช. นำแนวทางปฏิบัติใหม่ไปหารือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายเพื่อกำหนดแผนดำเนินการตามเงื่อนไข ปรากฏว่า บมจ. กสท โทรคมนาคม ระบุว่าไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ภายในกรอบเวลา โดยจะสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในเดือนเมษายน 2560 แต่ก็สามารถจัดเตรียมระบบเป็นการชั่วคราวและสามารถเปิดใช้งานได้ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 อย่างไรก็ดี หากเริ่มเปิดให้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ก็เห็นว่าโดยปกติในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีต่อเนื่องถึงช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม จะเป็นช่วงที่มีการใช้งานบริการโทรคมนาคมเพื่อติดต่อสื่อสารในปริมาณสูง จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะไม่ปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนโครงข่าย ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงจัดทำวาระนี้ขึ้นมาเพื่อขอกำหนดวันในการเปิดให้บริการเป็นวันที่ 16 มกราคม 2560 แทน ซึ่งเท่ากับว่าไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่ กทค. เคยมีมติ

นอกจากปัญหาเรื่องการเปิดให้บริการไม่ทันตามกรอบเวลา 4 เดือนแล้ว สำนักงาน กสทช. ยังได้รับหนังสือคัดค้านจาก บจ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น และ บจ. เรียล มูฟ ลงวันที่ 14 กันยายน 2559 ไม่เห็นด้วยกับขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้บริการผ่านระบบ USSD โดยอ้างว่า อาจเป็นช่องทางที่ผู้ให้บริการรายเดิมใช้หน่วงเหนี่ยวหรือกีดกันการโอนย้ายของผู้ใช้บริการ จึงประสงค์ให้ยกเลิกข้อกำหนดนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อคัดค้านของกลุ่มบริษัททรูดูจะฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ว่าอย่างไรเสีย ในการใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย ก็ต้องมีการตรวจสอบสิทธิความเป็นเจ้าของเลขหมายและค่าบริการค้างชำระ ดังนั้นหากบริษัทฯ กังวลว่าอาจมีการใช้ระบบ USSD เป็นช่องทางในการหน่วงเหนี่ยวหรือกีดกันการโอนย้ายของผู้ใช้บริการ แทนที่จะยกเลิกระบบ ก็ควรปรับเพิ่มกระบวนการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นดีกว่าหรือไม่ เช่น เมื่อผู้ใช้บริการกดขอรหัสเพื่อขอตรวจสอบสิทธิจากผู้ให้บริการรายเดิม นอกจากจะต้องมีการส่งสัญญาณเชื่อมต่อข้อมูลไปยังผู้ให้บริการรายเดิมแล้ว ระบบควรมีการส่งสัญญาณเชื่อมต่อข้อมูลดังกล่าวไปยังบริษัทศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ (Clearing House) ควบคู่กันในทุกๆ ครั้งที่มีผู้ใช้บริการกดขอรหัสด้วย นอกจากนั้นผู้ให้บริการรายเดิมต้องจัดเก็บและส่งข้อมูล log file ให้กับบริษัทศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ และสำนักงาน กสทช. ที่ดำเนินการทุกวันอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ตรวจสอบในภายหลังได้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระพิจารณาร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560)
สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กทค. พิจารณาให้ความเห็นต่อร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560) ก่อนที่จะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อให้ทันประกาศบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้

ร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฉบับนี้มีองค์ประกอบของเนื้อหา 4 ส่วนด้วยกัน คือ 1) วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ 2) รายละเอียดการใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และกิจการอื่นๆ 3) แผนการปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Refarming Roadmap) และ 4) ตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า ในส่วนของยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือการปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่นั้น มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเรียกคลื่นความถี่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ก่อนหมดอายุการอนุญาตฯ โดยให้นำมาตรการการทดแทน ชดใช้ หรือการจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่มาสนับสนุน ซึ่งถึงแม้ว่าข้อกำหนดดังกล่าวมีอยู่ใน (ร่าง) พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … แต่ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีกทั้งไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายในปัจจุบัน ขณะเดียวกันประเด็นการกำหนดมาตรการทดแทน ชดเชย หรือการจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่นั้นก็ควรต้องได้รับการพิจารณาอย่างละเอียด เนื่องจากเรื่องดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างในสังคม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ การจ่ายค่าตอบแทนให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่ถือครองคลื่นความถี่โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อาจไม่เหมาะสม

ส่วนประเด็นที่ร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฯ ขาดตกบกพร่องไป เช่น ควรต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อรองรับการใช้งานคลื่นความถี่ร่วมกัน ทั้งการใช้คลื่นความถี่ที่ต้องขออนุญาต (Licensed) และการใช้คลื่นความถี่ที่อนุญาตให้ใช้เป็นการทั่วไปโดยใช้งานร่วมกัน (Unlicensed) โดยต้องกำหนดย่านความถี่ที่ชัดเจนสำหรับบริการ Machine to Machine Communication (M2M) และ Internet of Things (IoT) ที่ปัจจุบันเริ่มมีการใช้งานในประเทศไทยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตอีกด้วยว่า ในการนำเสนอวาระเรื่องร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560) ให้ กทค. พิจารณานั้น สำนักงาน กสทช. ไม่ได้ประเมินการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฉบับที่ผ่านมาว่าการดำเนินการมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีปัญหาหรือข้อจำกัดในการดำเนินการมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางประกอบการปรับปรุงแก้ไขร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฉบับใหม่ ดังนั้น ร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฉบับนี้จึงอาจไม่สามารถตอบโจทย์สถานการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบันได้เท่าที่ควร รวมถึงคงเป็นเรื่องยากที่ กทค. จะพิจารณาด้วยความรอบคอบและครบถ้วน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระการจัดประมูลเลขหมายสวยจำนวน 16 เลขหมาย
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เสนอ กทค. พิจารณาแผนงาน รูปแบบ วิธีการ และเลขหมายสวยจำนวน 16 เลขหมายที่จะนำไปจัดประมูล ทั้งนี้ รูปแบบการจัดประมูลที่สำนักงาน กสทช. เสนอคือ เป็นการจัดประมูลด้วยวิธีการทางวาจา (เคาะไม้) เนื่องจากเลขหมายที่นำออกประมูลมีจำนวน 16 เลขหมายเท่านั้น โดยจะแบ่งเลขหมายสวยออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม Platinum ซึ่งมีลักษณะเลขหมายเหมือนกัน 9 ตัว จำนวน 2 เลขหมาย และกลุ่ม Gold ซึ่งมีลักษณะเลขหมายเหมือนกัน 8 ตัว จำนวน 14 เลขหมาย สำหรับราคาตั้งต้นการประมูลของกลุ่ม Platinum จะเริ่มต้นที่ 20 ล้านบาท หลักประกันเลขหมายละ 2 ล้านบาท ราคาเพิ่มขึ้นของการประมูลในแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท ส่วนราคาตั้งต้นการประมูลของกลุ่ม Gold จะเริ่มต้นที่ 6 ล้านบาท หลักประกันเลขหมายละ 6 แสนบาท ราคาเพิ่มขึ้นของการประมูลในแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 1 หมื่นบาท

สำหรับประเด็นเรื่องวิธีการจัดสรรเลขหมายให้กับผู้ชนะการประมูลนั้น สำนักงาน กสทช. จะจัดเลขหมายสวยให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามกลุ่มเลขหมาย หลังจากนั้นผู้ชนะการประมูลสามารถโอนย้ายเลขหมายไปยังผู้ให้บริการที่ประสงค์ใช้งานได้ โดยให้สอดคล้องตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวย พ.ศ. 2558
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระการเป็นพันธมิตรธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 2100 MHz ระหว่าง บมจ. ทีโอที และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เพียงเสนอให้ที่ประชุม กทค. ทราบ โดยเป็นเรื่องสืบเนื่องจาก บมจ. ทีโอที ได้จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การเป็นพันธมิตรธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2100 MHz กับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และบริษัทในเครือ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ต่อมาในกระบวนการจัดทำร่างสัญญาทดสอบระบบการใช้บริการข้ามโครงข่ายเชิงพาณิชย์ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2100 MHz คณะกรรมการของ บมจ. ทีโอที ได้มีมติว่า ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาฯ ให้บริษัทฯ หารือกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเสียก่อนว่า เข้าข่ายจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และขัดต่อมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 หรือไม่ ซึ่งภายหลังสำนักงานคณะกรรมการกฤฎีกาได้ตอบกลับข้อหารือว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในประเด็นตามข้อหารือได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสถาบันอื่นอยู่แล้วตามกฎหมาย หาก บมจ. ทีโอที ยังมีประเด็นข้อสงสัยเพิ่มเติม ก็สามารถหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงาน กสทช. ในส่วนที่หน่วยงานทั้งสองนี้เกี่ยวข้อง

ในการนี้ ไม่ว่าช้าหรือเร็ว กทค. คงต้องพิจารณาเรื่องนี้ สำนักงาน กสทช. จึงควรติดตามให้ บมจ. ทีโอที เร่งจัดส่งบันทึกข้อตกลง (MOU) การเป็นพันธมิตรธุรกิจฯ ร่างสัญญาทดสอบระบบการใช้บริการข้ามโครงข่ายเชิงพาณิชย์ธุรกิจฯ รวมถึงความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาต่อไป
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระร่างประกาศเรื่องการลดหรือยกเว้นค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก
วาระนี้ สำนักงาน กสทช. นำเสนอ กทค. เพื่อพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การลดหรือยกเว้นค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก ก่อนนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยการยกร่างประกาศดังกล่าวอาศัยนั้นอำนาจตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 57 วรรคสอง ที่กำหนดว่า “คณะกรรมการอาจกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมหรือค่าบริหารสำหรับการให้บริการข้อมูลข่าวสารและความรู้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมความรู้ของประชาชนได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด”

สำหรับสาระหลักของร่างประกาศดังกล่าว กำหนดว่า ในกรณีการขอยกเว้นค่าบริการ ผู้ยื่นคำขอจะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ประสงค์จะใช้งานเลขหมายเพื่อให้บริการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่วนในกรณีการขอลดค่าบริการ ผู้ยื่นคำขอจะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ให้บริการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือเป็นผู้ให้บริการให้คำปรึกษาด้านคุณภาพชีวิตหรือความปลอดภัยของประชาชน ได้แก่ บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ครอบครัว ยาเสพติด หรือสวัสดิการสังคม

การกำหนดหลักเกณฑ์การลดหรือยกเว้นค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้นให้มีความชัดเจนจึงถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยลดภาระและส่งเสริมให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้เข้าถึงและได้รับประโยชน์จากการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรในบริการที่กำหนด ซึ่งสำนักงาน กสทช. ประเมินว่า หากมีการประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ จะมีผู้ใช้บริการได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าบริการจากผู้ให้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 4 หลัก เพิ่มเติมจำนวน 54 เลขหมาย จากที่ในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าบริการจากผู้ให้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลักจำนวน 5 เลขหมาย และแบบสั้น 4 หลักจำนวน 127 เลขหมาย
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วาระแก้ไขเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค กรณีผู้ใช้บริการประสบปัญหาการคิดค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานผิดพลาด
วาระนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการรายหนึ่งประสบปัญหาการคิดค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานผิดพลาด โดยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ผู้ใช้บริการไปชำระค่าบริการโทรศัพท์ที่เคาเตอร์เซอร์วิสของ บจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น แต่ปรากฏว่าไม่สามารถชำระค่าบริการได้ โดยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ว่าได้ชำระเงินเกินไว้

เรื่องนี้สืบเนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ผู้ใช้บริการได้ชำระค่าบริการเกินไว้ โดยเดือนถัดมา ระบบได้หักค่าบริการจากยอดเกินในระบบ จนถึงเดือนมกราคม 2559 ที่มียอดเงินเกินในระบบคงเหลือ 31.31 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้คืนยอดเงินนี้ให้กับผู้ใช้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แต่ครั้นเมื่อผู้ใช้บริการต้องการไปชำระค่าบริการ กลับไม่สามารถชำระได้ จึงมาร้องเรียนที่สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงาน กสทช. เพื่อขอให้บริษัทฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงและรายละเอียดการชำระค่าบริการที่บริษัทฯ ระบุว่าได้ชำระเกินไว้และปฏิเสธความประสงค์ชำระค่าบริการในเดือนกุมภาพันธ์ โดยหลังจากนั้น ในเดือนถัดๆ มา ผู้ใช้บริการก็ไม่ได้ชำระค่าบริการ จนเป็นเหตุให้ถูกตัดสัญญาณในเดือนพฤษภาคม 2559 ผู้ใช้บริการจึงร้องขอเพิ่มเติมให้บริษัทฯ ยกเลิกการระงับบริการ รวมทั้งยกเว้นค่าบริการในเดือนที่อยู่ระหว่างที่มีข้อพิพาทร้องเรียน

เรื่องนี้สะท้อนความขาดประสิทธิภาพของระบบการรับชำระค่าบริการและการให้ข้อมูลกับผู้ใช้บริการของบริษัทฯ จนเป็นเหตุให้เกิดความสับสนและสร้างปัญหายุ่งยากให้กับผู้ใช้บริการ รวมถึงสะท้อนความล่าช้าในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของสำนักรับเรื่องร้องเรียนฯ ที่ไม่สามารถประสานความเข้าใจระหว่างผู้ใช้บริการกับบริษัทฯ จนสุดท้ายผู้ใช้บริการถูกระงับสัญญาณ ถึงกระนั้นในประเด็นที่ผู้ใช้บริการขอยกเว้นค่าบริการในระหว่างที่มีข้อพิพาทนั้น คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมมีมติว่า “หากผู้ร้องเรียนมีการใช้งานจริง จะต้องชำระค่าบริการให้แก่บริษัทฯ ส่วนกรณีค่าใช้บริการที่เกิดขึ้นหลังจากถูกระงับการใช้บริการ บริษัทฯ ไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ร้องเรียนได้”

แม้กรณีร้องเรียนนี้จะเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจผู้ใช้บริการ แต่ผู้ใช้บริการคงไม่สามารถอ้างเหตุขอยกเว้นค่าบริการในเดือนที่อยู่ระหว่างที่มีข้อพิพาทร้องเรียนได้