แก้ไขประกาศมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการกรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2558 วันพุธที่ 16 กันยายน 2558 เป็นการนัดประชุมด่วนเพื่อพิจารณาวาระเพียงวาระเดียว คือเรื่องร่างประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับที่ 2 หรือประกาศมาตรการเยียวยาฯ ฉบับแก้ไข ภายหลังจากการผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เนื่องจากการบังคับใช้ประกาศมาตรการเยียวยาบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปแล้วนั้นประสบปัญหามากมาย ทั้งเรื่องการโอนย้ายเลขหมายผู้ใช้บริการโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคงสิทธิเลขหมาย เรื่องการตรวจสอบรายได้และนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้กับรัฐที่ยังคงดำเนินการไม่เสร็จสิ้น และผู้ให้บริการไม่ชำระค่าธรรมเนียมเลขหมาย รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาในการแก้ไขประกาศ เช่นข้อเสนอของผู้ให้บริการที่ต้องการขอคืนเลขหมายแบบไม่เต็มกลุ่มและขอยกเว้นการชำระค่าธรรมเนียมเลขหมาย เป็นต้น

สำหรับประเด็นปัญหาการบังคับใช้ประกาศมาตรการเยียวยาบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานในช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยสังเขป มีดังนี้

เรื่องการโอนย้ายเลขหมายผู้ใช้บริการ สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่า มีการโอนย้ายเลขหมายผู้ใช้บริการโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคงสิทธิเลขหมาย เช่น เป็นการโอนย้ายที่ไม่ได้เกิดจากการร้องขอหรือไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการ ในการโอนย้ายไม่มีการให้ผู้ใช้บริการลงทะเบียนซิมการ์ด มีการตัดเปลี่ยนจากผู้ให้บริการรายเดิมไปรายใหม่โดยไม่ผ่านผู้ให้บริการระบบกลาง มีการโอนย้ายสำเร็จภายในวันที่ยื่นคำขอทันทีหรือมีการโอนย้ายในวันหยุดที่ไม่ใช่วันทำการ รวมทั้งมีการโอนย้ายผ่านระบบ OTA หรือ Over-the-air ก่อนส่งคำขอโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการระบบกลาง เป็นต้น ซึ่งในเวลาต่อมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบพบปัญหานี้เช่นกัน และได้มีหนังสือถึง กสทช. และสำนักงาน กสทช. ให้ชี้แจง เนื่องจากการโอนย้ายเลขหมายในลักษณะดังกล่าว กระทบต่อส่วนแบ่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ควรได้รับ

เรื่องการตรวจสอบรายได้และนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้กับรัฐ พบว่ามีปมอยู่หลายจุด โดยผลการตรวจสอบรายได้ยังไม่ได้รวมถึงค่าใช้โครงข่ายที่ บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอล โฟน ต้องจ่ายให้กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม จึงยังไม่ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติในส่วนของผลการตรวจสอบรายได้ของ บจ. ทรูมูฟ ที่รายได้ไม่ได้ลดลงตามปริมาณผู้ใช้บริการที่ทยอยลดลง โดยพบว่าบางเดือนติดลบ แต่บางเดือนกลับมีรายได้เพิ่มเป็นหลายพันล้านบาท ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงยังไม่มีการนำส่งรายได้ให้กับรัฐเลย

เรื่อง บจ. ทรูมูฟ ไม่ชำระค่าธรรมเนียมเลขหมาย เรื่องนี้ บจ. ทรูมูฟ อ้างว่า ในช่วงของประกาศมาตรการเยียวยาฯ นั้น บริษัทไม่ได้เป็นผู้รับจัดสรรเลขหมายทั่วไปตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 แต่ประเด็นนี้ กทค. และสำนักงาน กสทช. ยืนยันว่า ประกาศมาตรการเยียวยากำหนดไว้ชัดเจนว่า บริษัทสามารถหักต้นทุนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมออกจากรายได้จากการให้บริการก่อนนำส่งรายได้เพื่อตรวจสอบและนำส่งรัฐได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เหตุผลที่บริษัทจะไม่จ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมาย โดย บจ. ทรูมูฟ ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายแก่ กสทช. มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557

อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นเนื้อหาที่ต้องจับตาว่าจะมีการแก้ไขประกาศมาตรการเยียวยาฯ เพื่ออุดช่องโหว่ปัญหาต่างๆ อย่างไรแล้ว สิ่งที่น่าจับตาไม่แพ้กันคือกระบวนการพิจารณาที่ถูกจัดวางไว้อย่างแสนเร่งรีบและรวบรัด กล่าวคือ ทั้งที่ร่างประกาศนี้เพิ่งปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปเมื่อวันศุกร์ที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ก็มีการแจ้งนัดประชุมด่วนในวันบ่ายวันจันทร์ที่ 14 กันยายน โดยกำหนดนัดประชุม กทค. ในเช้าวันพุธที่ 16 กันยายน เวลา 9.00 น. ซึ่งในวันดังกล่าวก็มีการนัดประชุม กสทช. รอบปกติครั้งที่ 9/2558 ประจำเดือนกันยายนอยู่ก่อนแล้ว โดยจะเริ่มประชุมเวลา 9.30 น. นั่นเท่ากับว่าที่ประชุม กทค. มีเวลาพิจารณาวาระนี้เพียง 30 นาทีเท่านั้น ขณะที่ก่อนการประชุมก็แทบไม่มีเวลาได้พิจารณาเนื้อหารายงานจากการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเลย ยิ่งไปกว่านั้น ในการประชุม กสทช. ที่อยู่ต่อเนื่องกับการประชุม กทค. ก็ยังมีการบรรจุระเบียบวาระนี้เพิ่มเติมเข้ามา ทั้งที่ร่างประกาศมาตรการเยียวยาฯ ฉบับแก้ไขยังไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุม กทค. เรื่องนี้จึงแทบไม่อาจตีความเป็นอื่นได้ว่าทุกสิ่งถูกจัดวางและมีธงไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะนำไปบังคับใช้ให้ทันกับกรณีสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ระหว่าง บมจ. ทีโอที กับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2558 นี้

ส่วนในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/2558 นอกจากวาระเรื่องการแก้ไขประกาศมาตรการเยียวยาฯ แล้ว ทางฝั่งกิจการโทรคมนาคมยังมีวาระที่น่าจับตาคือ เรื่องพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ขณะที่ฝั่งกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. มีวาระที่น่าจับตาคือ เรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารการเปลี่ยนแผ่นไปสู่การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล เรื่องร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ รวมทั้งมีวาระเพื่อทราบที่น่าสนใจ ได้แก่ เรื่องผลการจัดสรรเงินจากกองทุนของโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนประเภทที่ 1 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 และเรื่องกรณีเงินเหลือจากเงินประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลงวดที่ 1 หลังหักค่าใช้จ่ายในโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านการรับชมทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (Set Top Box)