แก้ประกาศมาตรการเยียวยา, ขอขยายเวลาบังคับใช้หลักเกณฑ์วิทยุสมัครเล่น, เรื่องร้องเรียน 3G ไม่ได้ลด 15 เปอร์เซ็นต์?, ขอขยายเวลาปฏิบัติงานอนุฯ คุ้มครองผู้บริโภค

asdasdadad

วาระการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 28/2557 วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน มีหลายประเด็นที่น่าจับตา ทั้งเรื่องขอหารือแนวทางในการแก้ไขมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 เรื่องการขอขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น รวมถึงการพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีที่มีผู้ร้องว่าค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรายเดือนบนย่านความถี่ 2100 MHz มิได้ปรับลดอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ตามที่บอร์ด กทค. เคยมีมติไว้

วาระการขอหารือแนวทางในการแก้ไขมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (มาตรการเยียวยา)
สำนักงาน กสทช. เตรียมชง 4 ประเด็นหารือบอร์ด คือ 1) เรื่องรายได้จากการให้บริการ ซึ่งเสนอให้ผู้ให้บริการสามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เพื่อนำไปให้บริการ และให้มีการรับผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ 2) เรื่องการนำส่งรายได้เข้าแผ่นดิน กสทช. สามารถออกหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดจำนวนเงินรายได้ที่ต้องนำส่งในอัตราร้อยละ 30 ก่อนหักค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ 3) การกำหนดมาตรการให้ผู้ใช้บริการโอนย้ายเครือข่ายให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด 75 วัน โดยนับย้อนหลังจากวันที่ครบกำหนดเวลา 1 ปีตามคำสั่ง คสช. ที่ได้มีการชะลอประมูลคลื่นออกไป และ 4) การกำหนดบทลงโทษผู้ให้บริการกรณีฝ่าฝืนไม่ทำการแยกบัญชีการรับเงินจากการให้บริการไว้เป็นการเฉพาะ ไม่รายงานจำนวนเงินรายได้แดอกผลที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษ คือข้อเสนอที่ให้ผู้ให้บริการสามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพื่อนำไปให้บริการ และให้มีการรับผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ เนื่องจากมีข้อสังเกตว่าน่าจะขัดกับเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช. ที่ให้ยืดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการออกไป ไม่ใช่ให้แสวงหารายได้ เพราะการอนุญาตให้ผู้ให้บริการรับผู้ใช้บริการรายใหม่ได้โดยมีการให้บริการเต็มรูปแบบก็เท่ากับว่าเป็นอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ต้องประมูล ซึ่งขัดกับมาตรา 45 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ส่วนเรื่องการนำส่งรายได้เข้าแผ่นดินในอัตราร้อยละ 30 ก่อนหักค่าใช้จ่าย รวมทั้งส่วนที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว ในทางปฏิบัติก็ดูจะยังมีอุปสรรค เพราะที่ผ่านมา ผู้ให้บริการอ้างมาโดยตลอดถึงผลประกอบการที่ติดลบ ในขณะที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ในฐานะเจ้าของโครงข่าย ก็ระบุว่าตนเองเป็นผู้เสียหายเพราะยังไม่เคยได้รับค่าเช่าใช้โครงข่ายตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดสะสมกว่า 2.3 พันล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลจากเงื่อนปมที่ผูกไว้นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการชั่วคราวฯ แทนการเร่งจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ที่หมดอายุสัมปทาน

วาระเรื่องการขอขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2557
เหตุที่มีการเสนอขอขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศ เนื่องจากข้อ 14 ของประกาศ กำหนดให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นต้องมีสถานะเป็นสมาชิกขององค์กรวิทยุสมัครเล่นที่จดทะเบียนนิติบุคคลเป็นสมาคมที่ กสทช. รับรอง แต่ในปัจจุบันองค์กรวิทยุชุมชนสมัครเล่นที่มีคุณสมบัติดังกล่าวยังมีไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด และหลายสมาคมยังไม่มีความพร้อมในการรับสมัครสมาชิก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีร้องเรียนเข้ามาที่ กสทช. ว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการรับฟังความเห็นของพนักงานวิทยุสมัครเล่นทั่วๆ ไป ทั้งที่เป็นประกาศที่มีผลกระทบโดยตรงต่อพวกเขา เพราะถูกบังคับให้ต้องสังกัดสมาคมที่ กสทช. รับรองเท่านั้น โดยมองว่าที่ผ่านมาพนักงานวิทยุสมัครเล่นทั่วไปทำงานด้วยจิตอาสา ส่วนใหญ่ช่วยเหลืองานสังคมเป็นหลัก และมีลักษณะเป็นการรวมกลุ่มกันเองด้วยความสมัครใจ ซึ่งโดยปกติก็มีภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่ประกาศฉบับใหม่ดังกล่าว ถือเป็นการบังคับให้ต้องสังกัดโดยที่ไม่ได้สมัครใจ และยังมีภาระที่ต้องเสียค่าสมาชิกให้กับสมาคมเพิ่มขึ้นอีก โดยที่กระบวนการเรื่องการรับรองสมาคมของ กสทช. ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการความโปร่งใสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมหรือตรวจสอบได้อย่างไร

วาระการร้องเรียนของผู้บริโภคกรณีค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรายเดือนบนย่านความถี่ 2100 MHz มิได้ปรับลดอย่างน้อยร้อยละ 15 ตามกติกา
เรื่องร้องเรียนที่น่าจับตาในการประชุมครั้งนี้ หนีไม่พ้นกรณีที่มีผู้ร้องว่าค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรายเดือนบนย่านความถี่ 2100 MHz ของผู้ให้บริการรายหนึ่ง มิได้มีการปรับลดค่าบริการลงตามที่บอร์ด กทค. เคยมีมติเรื่องแนวทางการกำกับดูแลค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2100 MHz ว่าต้องมีการปรับลดอัตราค่าบริการลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15

โดยกรณีนี้ผู้บริโภคระบุว่า เดิมเคยเป็นผู้ใช้บริการบนคลื่นระบบ 2G ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่ง เมื่อบริษัทในเครือของผู้ให้บริการรายนั้นเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ก็ได้ใช้สิทธิโอนย้ายโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงโปรโมชั่น แต่กลับต้องจ่ายค่าบริการในอัตราเท่าเดิม ซึ่งจากการตรวจสอบกรณีร้องเรียนดังกล่าว ปรากฏว่าสำนักงาน กสทช. มีความเห็นแตกต่างจากคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงานเห็นว่ากรณีของผู้ร้องรายนี้ ผู้ให้บริการมีการเพิ่มสิทธิการใช้งานเพิ่มเติม จึงถือเป็นโปรโมชั่นใหม่ ซึ่งเมื่อนำอัตราค่าบริการไปเปรียบเทียบกับอัตราค่าบริการเฉลี่ยที่มีการให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ผู้ให้บริการได้รับใบอนุญาต ถือว่าค่าบริการลดลงเกิน 15 เปอร์เซ็นต์แล้ว ในขณะที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมเห็นต่างว่า การที่ผู้ให้บริการเพิ่มสิทธิการใช้งานเองโดยที่ผู้บริโภคไม่ได้ขอเปลี่ยนโปรโมชั่น จึงถือว่าเป็นโปรโมชั่นเดิม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่ผู้ให้บริการไม่ได้ปรับลดอัตราค่าบริการลงอย่างน้อยร้อยละ 15 และการตีความของสำนักงาน กสทช. นั้นก็มีปัญหาด้วย จึงน่าติดตามว่า กทค. จะรับฟังประเด็นของผู้ร้องเรียนและคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม หรือเลือกตีความแบบสำนักงาน กสทช.

วาระการขยายระยะเวลาปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม
วาระนี้เป็นการเสนอโดย กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เพื่อขอขยายวาระการดำรงตำแหน่งของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดวาระลงในวันที่ 18 พ.ย. 2557 โดยที่ก่อนหน้านี้ กสทช. ประวิทย์ได้ทำหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อสำนักงาน กสทช. แล้ว ระบุให้เร่งดำเนินการ เนื่องจากเป็นคณะอนุกรรมการที่ถูกกำหนดโดยกฎหมาย พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ให้ต้องมี ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ถือปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการนี้ขึ้นทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดช่องว่าง อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่าในระเบียบวาระการประชุม กทค. ครั้งที่ 28/2557 ในวันที่ 5 พ.ย. นี้ ยังไม่มีการเสนอวาระดังกล่าว กสทช. ประวิทย์จึงยื่นเรื่องนำเสนอวาระด้วยตนเอง ด้วยเหตุว่าหากไม่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวในการประชุม กทค. ครั้งนี้ ก็จะไม่ทันการณ์ เพราะในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนั้นต้องผ่านการพิจารณาทั้งของที่ประชุม กทค. และ กสทช. ซึ่งบอร์ด กสทช. ก็ได้นัดหมายวันประชุมไว้แล้วคือวันที่ 12 พ.ย.

ทั้งนี้ตามหนังสือถึงประธาน กทค. เพื่อให้บรรจุเรื่องนั้น กสทช. ประวิทย์ ระบุว่า “เนื่องจาก ม. 31 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติให้ กสทช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นสองคณะโดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ กสทช. กำหนด เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติข้างต้น จึงเห็นสมควรให้มีการบรรจุวาระการขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะอนุกรรมการฯ เป็นวาระการประชุม กทค. ครั้งที่ 28/2557 ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ทันนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ต่อไป ก่อนที่วาระของคณะอนุกรรมการดังกล่าวจะหมดลง ซึ่งอาจทำให้ กสทช. เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้”