เรื่องร้องเรียนปัญหาค่าบริการของ ผอ. สถาบันอิศรา, แนวทางการตรวจสอบค่าบริการ 3จี/4จี, การกำหนดให้คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ฯลฯ

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 10/2559 วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2559 มีวาระที่น่าจับตาหลายประเด็น ได้แก่ เรื่องร้องเรียนกรณีประสบปัญหาถูกคิดค่าบริการเกินกว่ากฎหมายกำหนดของผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา, เรื่องทบทวนคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีเอไอเอสและดีแทคไม่ปฏิบัติตามประกาศอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมประเภทเสียงฯ, บมจ. กสทฯ และเอไอเอสฟ้องประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ ฉบับที่ 2, พิจารณาร่างประกาศขยายระยะเวลาการใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง หรืออัตรา IC อ้างอิง และเรื่องเอไอเอสนำส่งแผน CSR ตามเงื่อนไขการประมูลคลื่น 1800 MHz ฉบับปรับปรุง

นอกจากนี้ คาดว่าสำนักงาน กสทช. อาจมีการบรรจุวาระเพิ่มเติมที่สำคัญอีก 2 วาระ คือ เรื่องแนวทางการตรวจสอบอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตจากการประมูลคลื่น 2100 MHz และหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz กับอีกวาระหนึ่งคือเรื่องการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที

วาระเรื่องร้องเรียนกรณีประสบปัญหาถูกคิดค่าบริการเกินกว่ากฎหมายกำหนดของ ผอ. สถาบันอิศรา
วาระนี้สืบเนื่องจากสำนักงาน กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 กรณีประสบปัญหา บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค คิดค่าบริการเกินกว่าประกาศเรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 กำหนด รวมถึงถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2100 MHz ที่กำหนดให้ต้องลดค่าบริการลง 15 เปอร์เซ็นต์ โดยนายประสงค์ใช้บริการส่งเสริมการขาย iSmart 599 โทรฟรีทุกเครือข่าย 300 นาที และใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ไม่เกิน 1.5 GB แต่เมื่อใช้บริการเกินรายการส่งเสริมการขาย กลับถูกคิดค่าโทรในอัตรา 1.50 บาท ตัวอย่างเช่นใบแจ้งหนี้ที่ออกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 นายประสงค์โทรเกินจากรายการส่งเสริมการขาย 143 นาที แต่ถูกคิดค่าบริการถึง 214.50 บาท ซึ่งผู้ร้องเรียนเห็นว่าเป็นการคิดค่าบริการเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ผู้ร้องเรียนได้ร้องเรียนกรณีปัญหาต่อผู้ให้บริการ และผู้ให้บริการได้คืนเงินส่วนต่างที่เรียกเก็บเกิน จำนวนทั้งสิ้น 2,704.75 บาท ให้กับผู้ร้องเรียนแล้ว แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในคำขอของผู้ร้องเรียนระบุให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงการคิดค่าบริการโทรศัพท์ประเภทเสียงของผู้ให้บริการทั้งหมดว่าคิดค่าบริการเกินกว่ากฎหมายกำหนดหรือไม่ และหากพบว่ามีการคิดค่าบริการเกินกว่าที่กำหนดจริง ก็ขอให้ออกคำสั่งให้ผู้ให้บริการทุกบริษัทชดใช้เยียวยาค่าบริการที่คิดเกินกว่าที่กำหนด ทั้งต่อตัวผู้ร้องเรียนเองและประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งหมดตั้งแต่ต้น รวมทั้งลงโทษผู้ให้บริการที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยเคร่งครัด

ต่อประเด็นคำขอของผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมมีความเห็นเสนอ กทค. ว่า ต้องสั่งให้ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตที่ต้องปฏิบัติตามประกาศเรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมฯ เร่งตรวจสอบว่ามีการคิดค่าบริการจากผู้ใช้บริการเกินกว่าอัตราที่ประกาศกำหนดหรือไม่ จำนวนเท่าใด และหากพบว่ามีการคิดค่าบริการเกินอัตราที่กำหนด กทค. ก็ต้องสั่งการให้บริษัทฯ คืนเงินที่เรียกเก็บเกินแก่ผู้ใช้บริการทั้งหมด และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ก็ควรมีการออกประกาศกำหนดอัตราขั้นสูงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริการ 3G และ 4G ด้วย

วาระทบทวนคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีเอไอเอสและดีแทคไม่ปฏิบัติตามประกาศอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมประเภทเสียงฯ
วาระนี้สืบเนื่องจาก บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ได้รับการกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 โดยมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงในอัตราไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที แต่จากการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. พบว่า ผู้ให้บริการทั้งสองรายไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย จนในที่สุดเลขาธิการ กสทช. จึงได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 กำหนดค่าปรับทางปกครองให้ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ชำระค่าปรับในอัตราวันละ 186,669 บาท และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ชำระวันละ 157,947 บาท จนกว่าจะปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ทั้งสองบริษัทได้มีหนังสืออุทธรณ์คำสั่งกำหนดค่าปรับดังกล่าว โดยประเด็นโต้แย้งที่สำคัญคือ บริษัทไม่ได้มีสถานะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญอีกต่อไป เพราะมีส่วนแบ่งการตลาดลดลงจนน้อยกว่าร้อยละ 25 ขณะเดียวกันสำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2557 คือ 16,098,400 ราย และ 8,458,700 ราย หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16 และร้อยละ 8 ตามลำดับ เนื่องจากภายหลังจากที่ได้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ส่วนแบ่งตลาดในบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้นหากพิจารณาตามเกณฑ์ส่วนแบ่งตลาด จึงถือว่าไม่มีแนวโน้มเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคม 2557 แล้ว

ต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้นำเรื่องนี้เสนอ กทค. พิจารณา โดยที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 22/2559 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 เห็นว่าควรนำเรื่องนี้หารือกับคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. พิจารณาให้ความเห็นประกอบ โดยผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายฯ ชี้ว่า ในเมื่อข้อเท็จจริง ณ วันที่เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองเปลี่ยนแปลงไป คำสั่งดังกล่าวจึงออกโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน และเห็นสมควรที่จะดำเนินการเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

เรื่องนี้นับเป็นโจทย์ที่ย้อนแย้ง เพราะในแง่ประเด็นทางกฎหมาย ด้านหนึ่งในขณะที่มีคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองนั้น กสทช. ยังคงกำหนดให้ทั้งสองบริษัทเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ แต่อีกด้านหนึ่ง สำนักงาน กสทช. ก็ตรวจสอบพบข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไป จึงควรมีการเพิกถอนคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองดังกล่าวหรือไม่ ส่วนในแง่ของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ใช้บริการก็คงคลางแคลงใจว่า แม้สำนักงาน กสทช. จะตรวจสอบพบว่า ทั้งสองบริษัทต่างก็มีส่วนแบ่งการตลาดไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ไม่มีผู้ให้บริการรายใดเลยเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด แต่ข้อเท็จจริงของสภาพตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทย ก็กลับพบว่ามีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 3 รายเท่านั้น อีกทั้งที่ผ่านมาก็พบว่าผู้ให้บริการทั้งสองรายมีการคิดอัตราค่าบริการเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมาโดยตลอด โดยเฉพาะค่าบริการส่วนที่เกินจากรายการส่งเสริมการขาย ดังกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา วาระนี้จึงน่าติดตามว่า กทค. จะมีมติไปในทิศทางใดเพื่อให้เกิดความชัดเจน

วาระเกี่ยวเนื่องกับ บมจ. กสทฯ และเอไอเอสฟ้องประกาศมาตรการเยียวยาฉบับที่ 2
วาระนี้เกี่ยวเนื่องกับกรณีที่ บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ฟ้องศาลปกครองเรื่องประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับที่ 2 (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ ฉบับที่ 2) โดยสำนักงาน กสทช. นำเสนอวาระนี้ต่อที่ประชุม กทค. พิจารณาเพื่อขอรับแนวทางในการสู้คดี ทั้งนี้ ในส่วนของ บมจ. กสทฯ ฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 ในประเด็นที่ประกาศดังกล่าวกำหนดให้ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ในฐานะคู่สัญญาสัมปทานบนคลื่น 1800 MHz ที่กำลังจะสิ้นสุดในปี 2561 ต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการโอนย้ายออกจากระบบไปยังผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่ง บมจ. กสทฯ เห็นว่าผู้รับสัมปทานควรต้องส่งมอบคลื่นความถี่ ผู้ใช้บริการ เลขหมายโทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการของผู้ใช้บริการให้กับทางบริษัท นอกจากนี้ในคำฟ้องยังระบุถึงประเด็นที่ว่า การที่ประกาศกำหนดให้ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น มีหน้าที่ให้บริการต่อไปเป็นการชั่วคราว นั่นก็หมายถึงว่า บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จะไม่สามารถโอนย้ายทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ. กสทฯ ได้ทันที ซึ่งถือเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของบริษัท

ส่วนกรณีของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ฟ้องประกาศดังกล่าวต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ในประเด็นที่ประกาศมาตรการเยียวยาฯ ฉบับที่ 2 ที่ใช้บังคับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส นั้น มีข้อกำหนดแตกต่างจากประกาศมาตรการเยียวยาฯ ฉบับแรกที่ใช้บังคับ บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน โดยเฉพาะในประเด็นที่มีการระบุเพิ่มเติมในประกาศมาตรการเยียวยาฯ ฉบับที่ 2 ว่า “เงินรายได้จากการให้บริการที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละของส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ให้บริการเคยนำส่งภายในสัญญาสัมปทาน ณ วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน” ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

ดูเหมือน กทค. จะเลือกเดินทางผิดตั้งแต่แรกที่เลือกแนวทางประกาศใช้มาตรการเยียวยาฯ แทนที่จะเร่งจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลให้ทันก่อนสัญญาสัมปทานบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 MHz จะสิ้นสุดลง เพราะผลจากการออกประกาศมาตรการเยียวยาฯ สร้างปัญหาตามมาเป็นหางว่าวจนแก้ไขกันไม่จบสิ้น ซึ่งในวาระนี้คงต้องติดตามดูว่า กทค. จะมีแนวทางในการสู้คดีต่อไปอย่างไร

วาระพิจารณาร่างประกาศขยายระยะเวลาการใช้อัตรา IC อ้างอิง
ในวาระนี้เป็นการรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและนำเสนอร่างประกาศขยายระยะเวลาการใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง (อัตรา IC อ้างอิง) เพื่อให้ กทค. พิจารณา

ทั้งนี้ เหตุที่ต้องมีการขอขยายระยะเวลาใช้อัตรา IC อ้างอิง เนื่องจากอัตรา IC อ้างอิงช่วงที่ 2 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ตามประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง พ.ศ. 2557 กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ขณะที่ในระหว่างนี้ สำนักงาน กสทช. อ้างว่าได้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาอัตรา IC อ้างอิงที่เหมาะสมหลังจากมีการเปิดให้บริการโทรศัพท์ในยุค 4G ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถออกประกาศใหม่ได้ในช่วงต้นปี 2560 ระหว่างนี้จึงเห็นควรใช้อัตราเดิมไปพลางก่อน โดยปัจจุบันในส่วนของกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กำหนดอัตรา IC อ้างอิงของบริการ Mobile Call Origination และ Mobile Call Termination อยู่ที่ 0.34 บาท/นาที และบริการ Mobile Call Transit อยู่ที่ 0.04 บาท/นาที ส่วนกิจการโทรศัพท์ประจำที่ กำหนดอัตรา IC อ้างอิงของบริการ Fixed Call Origination และ Fixed Call Termination อยู่ที่ 0.34 บาท/นาที และบริการ Fixed Call Transit อยู่ที่ 0.16 บาท/นาที

สำหรับผลการรับฟังความคิดสาธารณะ มีผู้ให้บริการโทรคมนาคม 8 รายร่วมแสดงความเห็น ทั้งหมดเห็นด้วยกับการขยายระยะเวลาการใช้อัตรา IC อ้างอิงไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยในส่วนของ บมจ. ทีโอที ได้เสนอเพิ่มเติมว่าในระหว่างนี้ ควรเลือกใช้อัตรา IC อ้างอิงที่สำนักงาน กสทช. เคยจ้างที่ปรึกษาศึกษาการกำกับดูแลอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของบริการโทรศัพท์ในยุค 3G ซึ่งศึกษาครอบคลุมถึงปี 2559 โดยผลการศึกษาดังกล่าวนั้น พบว่าต้นทุนการให้บริการ Mobile Call Origination และ Mobile Call Termination ลดลงจาก 0.40 บาท/นาที ในปี 2556 เป็น 0.15 บาท/นาที ในปี 2559 และบริการ Mobile Call Transit ลดลงจาก 0.04 บาท/นาที ในปี 2556 เหลือ 0.02 บาท/นาที ในปี 2559

ประเด็นนี้นับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการกำหนดอัตรา IC อ้างอิงไว้สูงเกินไป ก็อาจเป็นอุปสรรคในการแข่งขันของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์ประจำที่รายเล็ก ทั้งยังมีผลต่ออัตราค่าบริการปลายทางที่ผู้บริโภคจะต้องแบกรับด้วย

วาระเอไอเอสนำส่งแผน CSR ตามเงื่อนไขการประมูลคลื่น 1800 ฉบับปรับปรุง
วาระนี้เป็นการพิจารณาแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ฉบับปรับปรุงของ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยมีการนำส่งแผนฉบับแรกให้ กทค. พิจารณาแล้วครั้งหนึ่ง โดยที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ได้มีมติให้บริษัทปรับปรุงแผน ในส่วนของแผนบริการสำหรับผู้พิการให้ครอบคลุมกลุ่มผู้พิการทุกประเภท รวมถึงแก้ไขมาตรการในการรับเรื่องร้องเรียนและมาตรการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสมให้สอดคล้องกับประกาศ กทช. เรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ พ.ศ. 2549 และประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ โครงการภายใต้แผน CSR ที่บริษัทนำเสนอ เช่น โครงการคืนแบตคืนโลก ซึ่งเป็นโครงการรับแบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่เสื่อมสภาพไปรีไซเคิล, โครงการรณรงค์การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างถูกต้องในสถานที่ที่เคร่งครัดการใช้, การจัดทำแผนความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว, บริการสำหรับผู้พิการ, มาตรการรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่มีค่าบริการ, มาตรการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แผน CSR ฉบับปรับปรุงที่บริษัทนำเสนอให้ กทค. พิจารณาในครั้งนี้ พบว่ายังคงไม่เป็นไปตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 4/2559 กล่าวคือ มาตรการรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่มีค่าบริการ บริษัทมีการกำหนดให้ผู้ร้องเรียนต้องส่งสำเนาบัตรประชาชนหรือหนังสือรับรองนิติบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณารับเป็นเรื่องร้องเรียน ซึ่งถือเป็นการสร้างเงื่อนไขเกินกว่าที่ประกาศเรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนฯ กำหนด หรือในส่วนมาตรการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสม เช่นการส่ง SMS Spam บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทเลือกใช้แนวทาง Opt-out คือผู้ประกอบการโทรคมนาคมและผู้ให้บริการเสริมสามารถส่งข้อความหาผู้รับได้โดยไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้าจนกว่าจะได้รับการปฏิเสธ ซึ่งขัดกับประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบฯ ที่ห้ามการกระทำดังกล่าวเว้นแต่ได้เคยมีการเปิดใช้บริการ หรือได้รับอนุญาตก่อน

นอกจากนี้ ในการนำเสนอวาระให้ กทค. พิจารณาครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ยังได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมให้ กทค. พิจารณาในส่วนของมาตรการในการรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยนอกจากรับคืนแบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่เสื่อมสภาพเพื่อนำไปรีไซเคิลแล้ว ควรให้ครอบคลุมถึงอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคซื้อไปจากผู้รับใบอนุญาตซึ่งไม่ได้ใช้งานแล้วด้วย เช่น เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต เป็นต้น

วาระทบทวนแนวทางการตรวจสอบอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
วาระเรื่องทบทวนแนวทางการตรวจสอบอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตจากการประมูลคลื่น 2100 MHz และหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz นั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใช้บริการในสังคมว่า แม้จะมีเงื่อนไขกำกับราคาให้ลดลง แต่จากการใช้งานของผู้ใช้บริการจำนวนมากกลับพบว่าอัตราค่าบริการไม่ได้ลดลงจริงตามเงื่อนไขที่ได้มีการกำหนดไว้ โดยในส่วนของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตจากการประมูลคลื่น 2100 MHz กำหนดว่าผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต ส่วนกรณีคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ระบุว่า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ 2100 MHz รวมทั้งต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้จริง

จากการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. พบว่า สาเหตุที่อัตราค่าบริการไม่ได้ปรับลดลงตามเจตนารมณ์ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตและหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น เกิดจากผู้ให้บริการมีการกำหนดรายการส่งเสริมการขาย (โปรโมชั่น) ที่มีอัตราค่าบริการแบบเหมาจ่ายสำหรับสิทธิการใช้งานจำนวนหนึ่งในลักษณะรวมบริการหลายประเภท เช่นบริการเสียงและบริการข้อมูล และมีการกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับการใช้งานส่วนที่เกินสิทธิที่ได้รับแยกต่างหาก นอกจากนี้ ในการตรวจสอบอัตราค่าบริการที่ผ่านมาของสำนักงาน กสทช. ก็ไม่ได้นำอัตราค่าบริการของการใช้งานส่วนที่เกินสิทธิดังกล่าวมาคำนวณ เนื่องด้วยอยู่นอกเหนือโปรโมชั่นหลัก

ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงจัดทำวาระขึ้นมาเสนอ กทค. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนแนวทางการตรวจสอบการกำหนดอัตราค่าบริการเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ดังนี้

1) กรณีโปรโมชั่นเรียกเก็บค่าบริการต่อหน่วย ให้มีการตรวจสอบโดยใช้ผลการคำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยในตลาดเดิมเป็นเพดานในทุกหน่วยบริการ นั่นคือ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2100 MHz อัตราค่าบริการประเภทเสียงไม่เกิน 0.82 บาท/นาที, SMS ไม่เกิน 1.33 บาท/ข้อความ, MMS ไม่เกิน 3.32 บาท/ข้อความ และโมบายอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 0.28 บาท/MB ส่วนบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz อัตราค่าบริการประเภทเสียงไม่เกิน 0.69 บาท/นาที, SMS ไม่เกิน 1.15 บาท/ข้อความ, MMS ไม่เกิน 3.11 บาท/ข้อความ และโมบายอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 0.26 บาท/MB

2) กรณีโปรโมชั่นเหมาจ่าย ให้มีการตรวจสอบอัตราค่าบริการส่วนเกินนั้นโดยใช้ผลการคำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยในตลาดเดิมเป็นเพดาน

3) กรณีบริการโทรคมนาคมบนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz จะต้องเป็นการเรียกเก็บค่าบริการตามการใช้งานจริงทุกโปรโมชั่น โดยการใช้งานประเภทเสียงให้เรียกเก็บค่าบริการในหน่วยวินาทีโดยไม่ปัดเศษ
แน่นอนว่าการปรับปรุงแนวทางการตรวจสอบการกำหนดอัตราค่าบริการเพื่อให้มีความชัดเจนขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่เพียงแต่เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการ แต่ยังลดปัญหาเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นการลดภาระของสำนักงาน กสทช. เองที่จะต้องจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนในภายหลังด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีบริการโทรคมนาคมบนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz เป็นที่รู้กันดีว่า ผู้รับใบอนุญาตมีวัตถุประสงค์นำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย ดังนั้นจึงควรมีการพิจารณากำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องคิดค่าบริการอินเทอร์เน็ตตามการใช้งานจริงโดยไม่มีการปัดเศษด้วย ไม่ใช่กำหนดไว้แต่เพียงการใช้งานประเภทเสียง

วาระการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที
แนวทางเรื่องการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามจริงเป็นวินาที หรือการ “เลิกปัดเศษค่าโทร” ถูกจุดประเด็นจากมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อต้นปี 2558 และได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้ใช้บริการ หลังจากนั้นไม่นาน เลขาธิการ กสทช. ก็ขานรับมติของ สปช. ด้วยการเรียกประชุมผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อขอความร่วมมือ ซึ่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่า ทุกค่ายจะมีรายการส่งเสริมการขายพิเศษคิดค่าโทรตามจริงโดยไม่ปัดเศษเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 และให้รายการส่งเสริมการขายใหม่ทั้งหมดที่ออกหลังวันที่ 1 มีนาคม 2558 ต้องคิดค่าโทรเป็นวินาที แต่ว่าหลังจากนั้นก็ไม่มีการกำกับผู้ให้บริการปฏิบัติตามข้อสรุปดังกล่าวแต่อย่างใด

ต่อมาเมื่อมีการจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz กสทช. ก็ได้กำหนดเงื่อนไขเป็นการล่วงหน้าว่า ในการกำหนดอัตราค่าบริการ จะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ถึงกระนั้น บัดนี้ยังคงไม่ปรากฏให้เห็นในความเป็นจริง มีเพียงการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเท่านั้นว่า อัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที จนกระทั่งล่าสุด คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 เมษายน 2559 ถึงเลขาธิการ กสทช. เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการ พร้อมทั้งเร่งรัดให้มีการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามจริงเป็นวินาทีทั้งระบบโดยเร็ว

ในวาระนี้ สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดทำข้อวิเคราะห์และสรุปแนวทางเลือกเสนอต่อ กทค. เพื่อขอรับนโยบายในเรื่องดังกล่าว ซึ่งข้อวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช. มีประเด็นที่น่าสนใจว่า มีการระบุถึงเหตุผลสนับสนุนการเปลี่ยนวิธีคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทั้งระบบว่า จะก่อให้เกิดความเป็นธรรม กล่าวคือ โทรสั้นจ่ายน้อย โทรนานจ่ายมาก เป็นไปตามการใช้งานจริงของแต่ละคน อันจะทำให้ผู้ใช้บริการที่ถูกปัดเศษในการคิดค่าโทรศัพท์สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ นอกจากนี้ ยังอ้างอิงถึงข้อกำหนดในหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ที่ให้ผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บค่าบริการตามจริงเป็นวินาที อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. ก็ได้มีการวิเคราะห์ถึงอุปสรรคเอาไว้ด้วย เช่นว่า ผู้ให้บริการจำเป็นต้องปรับปรุงระบบ Billing ในการคิดค่าบริการแบบใหม่ทั้งหมด ในแง่สัญญาระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและรายละเอียดการเรียกเก็บอัตราค่าบริการจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย การบังคับใช้เรื่องการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีเป็นการทั่วไปจะต้องดำเนินการออกเป็นประกาศเพื่อกำกับดูแล กระทบต่อความหลากหลายของรายการส่งเสริมการขาย ซึ่งทำให้นวัตกรรมทางการตลาดมีได้โดยจำกัด เป็นต้น

ในเรื่องการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีนี้ น่าจะหมดเวลาที่ กทค. รวมทั้งสำนักงาน กสทช. จะยื้ออีกต่อไป เพราะสังคมจับตาเรื่องนี้มานานกว่าปีครึ่งแล้ว ขณะเดียวกัน เลขาธิการ กสทช. ในฐานะตัวแทนสำนักงาน กสทช. ก็ได้เคยให้คำมั่นเรื่องนี้กับสังคมมาแล้วหลายครั้งหลายคราว ดังนั้น หาก กทค. จะพิจารณาวาระนี้แล้วมีมติอื่นใดในลักษณะที่การเป็นหยิบยกอุปสรรคในแง่กระบวนการดำเนินงานมาฉีกหลักการที่ควรจะเป็น เชื่อว่าคงเป็นเรื่องที่ค้านสายตาของสังคมอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม การพิจารณาวาระนี้ หลักการที่ กทค. ต้องยึดหลักให้มั่นคือ เป้าหมายปลายทางของการดำเนินการปรับเปลี่ยน คือต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ โดยบังคับกับผู้ให้บริการทั้งหมดในตลาด ตลอดจนต้องตระหนักว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการกำหนดอัตราค่าบริการ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงการกำหนดมาตรวัดการคิดค่าบริการให้เป็นหน่วยวินาทีโดยไม่มีการปัดเศษ ซึ่งเป็นวิธีคิดอัตราค่าบริการที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ส่วนในแง่ของการดำเนินการ ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสามารถบังคับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบนคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ได้ทันที ตามหน้าที่ที่ระบุในประกาศหลักเกณฑ์การประมูล ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นๆ สำนักงาน กสทช. ก็คงต้องเร่งรีบจัดทำเป็นประกาศหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลเป็นการทั่วไป