สตง. จี้ กสทช. ตรวจสอบผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลอบโอนย้ายผู้ใช้บริการ, ร่างหลักเกณฑ์ประมูลเลขหมายสวย, เตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900, เรื่องร้องเรียนกรณีประสบปัญหาถูกคิดค่าบริการ SMS โดยที่ไม่ได้สมัคร

as6.58

วาระการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 6/2558 วันอังคารที่ 31 มีนาคม 2558 มีหลายวาระที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือแจ้ง กทค. และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ให้ตรวจสอบข้อมูลผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่โอนย้ายเลขหมายผู้ใช้บริการโดยไม่ถูกต้อง เรื่องการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวย เรื่องความคืบหน้าการเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz รวมทั้งเรื่องร้องเรียนกรณีผู้บริโภคประสบปัญหาถูกคิดค่าบริการ SMS โดยที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ

วาระเรื่อง สตง. มีหนังสือแจ้ง กทค. และสำนักงาน กสทช. ให้ตรวจสอบข้อมูลผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โอนย้ายเลขหมายโดยไม่ถูกต้อง
เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีเมื่อ สตง. มีหนังสือลงวันที่ 12 มีนาคม 2558 แจ้ง กทค. และสำนักงาน กสทช. ให้ตรวจสอบข้อมูลและทบทวนบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย เนื่องจากตรวจสอบพบว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสามค่าย คือ โอนย้ายผู้ใช้บริการจากบริษัทในเครือที่ให้บริการ 2G ไปยัง 3G คือจาก AIS ไป AWN, DTAC ไป DTNและ TRUE ไป Real Move โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ได้แสดงเจตนาขอโอนย้ายตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผู้ให้บริการระบบ 2G ทั้งสามค่ายเป็นคู่สัญญาร่วมการงานกับ TOT และ CAT ที่เป็นหน่วยงานรัฐ ดังนั้นการโอนย้ายลักษณะดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งรายได้สัญญาที่ TOT และ CAT ควรได้รับ และอาจทำให้รายได้ลดลงอย่างมาก โดย สตง. ระบุให้สำนักงาน กสทช. ตอบกลับเรื่องนี้ภายใน 60 วัน

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามประกาศ กทช. มีเจตนารมณ์ให้สิทธิผู้ใช้บริการสามารถเปลี่ยนแปลงผู้ให้บริการได้โดยที่ยังคงสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์เดิม แต่กระบวนการและเงื่อนไขของบริการที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ผู้ใช้บริการต้องแสดงเจตนายืนยันความประสงค์ขอโอนย้ายและได้แสดงสถานะความเป็นเจ้าของเลขหมาย ซึ่ง สตง. ตรวจพบว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านการให้บริการระบบ 2G ไปเป็น 3G ที่ผ่านมา น่าจะมีการโอนย้ายผู้ใช้บริการจำนวนมากโดยที่ผู้ใช้บริการไม่ได้แสดงเจตนาขอโอนย้ายตามข้อกำหนด เนื่องจากผู้ให้บริการไม่มีข้อมูลชื่อ-นามสกุล และหมายเลขบัตรประชาชนของผู้ใช้บริการ นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้บริการไม่ได้เป็นฝ่ายแสดงความประสงค์ขอโอนย้าย เพราะหากผู้ใช้บริการแสดงความประสงค์ กระบวนการก็จะต้องเป็นไปตามขั้นตอน กล่าวคือถ้าผู้ใช้บริการรายใดยังไม่ได้ลงทะเบียนซิมการ์ด ก็ต้องมีการลงทะเบียนซิมการ์ดก่อน การโอนย้ายจึงจะสำเร็จ ซึ่งถ้าเป็นไปตามขั้นตอน ผู้ให้บริการก็จะต้องมีข้อมูลของผู้ใช้บริการ

ในการประชุม กทค. ครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จึงนำเสนอเรื่องดังกล่าวเป็นวาระเพื่อทราบ

อันที่จริงความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำนักงาน กสทช. และ กทค. รับรู้มานานแล้ว โดยไม่เพียงแต่ CAT เคยมีหนังสือร้องเรียนตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2556 ขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ให้บริการบางรายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนวทางการโอนย้าย ทางสำนักงาน กสทช. เองก็ได้เคยตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสามค่ายดำเนินการให้บริการคงสิทธิเลขหมายไม่สอดคล้องตามประกาศ โดยได้มีคำสั่งลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 แจ้งให้ผู้ให้บริการดังกล่าวระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไขการให้บริการคงสิทธิเลขหมายให้ถูกต้องภายใน 30 วัน แต่ภายหลังเมื่อผู้ให้บริการทั้งสามค่ายอุทธรณ์คำสั่ง เรื่องนี้ก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆ ไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อ มีเพียงคำอ้างว่ารอบรรจุเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กทค. ดังนั้นเมื่อ สตง. แจ้งเรื่องนี้มายัง กทค. และสำนักงาน กสทช. ก็คงถึงเวลาที่ต้องสางปมปัญหาด้วยการทำความจริงให้กระจ่าง ดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้อง และลงโทษผู้กระทำผิด เพราะทั้ง กทค. และสำนักงาน กสทช. คงไม่สามารถสวมบทบอดใบ้ มองไม่เห็นปัญหาได้อีกต่อไป

วาระร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวย
วาระการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การจัดประมูลเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวยได้รับการบรรจุเข้าที่ประชุม กทค. อีกครั้ง หลังจากที่การประชุม กทค. คราวที่แล้วมีมติตีกลับให้สำนักงาน กสทช. ไปทบทวนประเด็นทางด้านเทคนิคใหม่ด้วยการจัดโฟกัสกรุ๊ปเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และกลุ่มที่เป็นตัวแทนจำหน่ายหมายเลขสวย แม้ว่า กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา จะเห็นว่ากระบวนการจัดโฟกัสกรุ๊ปสามารถดำเนินการไปพร้อมกับการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะได้ เนื่องจากเป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องชะลอเรื่องการพิจารณาเพื่อจัดกระบวนการโฟกัสกรุ๊ปก่อน เพราะจะทำให้แผนการจัดประมูลของสำนักงาน กสทช. ล่าช้าออกไป

ในการประชุม กทค. ครั้งนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าที่ประชุมจะสามารถพิจารณาและผ่านร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ ก่อนที่จะมีการนำเสนอให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาและนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นลำดับถัดไป หากทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอนนี้โดยไม่สะดุดอีก ก็มีแนวโน้มเป็นไปได้ที่สำนักงาน กสทช. จะสามารถจัดประมูลเลขหมายสวยได้ทันภายในเดือนกรกฎาคมตามที่ได้เคยแถลงข่าวไว้ แต่หาก กทค. เสียงข้างมากยังเล่นบทเขี่ยลูก เรื่องการประมูลเลขหมายสวยก็กลายเป็นโรคเลื่อนแน่นอน

วาระการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz
เป็นประเด็นที่สังคมไทยรอคอยอย่างใจจดใจจ่อว่าเมื่อไรจะมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งล่าสุดสำนักงาน กสทช. ได้จัดแถลงข่าวว่าคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบสำนักงาน กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ทั้งสองย่านแล้ว โดยจะมีการนำรายละเอียดรายงานให้ที่ประชุม กทค. ทราบในครั้งนี้ด้วย โดยคาดว่าจะสามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ได้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 12.5 MHz ส่วนความถี่ย่าน 900 MHz คาดว่าจะสามารถจัดประมูลได้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10.0 MHz ส่วนราคาเริ่มต้นในประมูล สำนักงาน กสทช. ได้มอบหมายให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ทบทวนใหม่ให้เป็นราคาปัจจุบันทั้งสองย่าน และหากจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาต ก็จะยกเลิกประมูล

วาระเรื่องร้องเรียนกรณีผู้บริโภคประสบปัญหาถูกคิดค่าบริการ SMS โดยที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ
การประชุม กทค. ครั้งที่ 6/2558 มีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น 6 วาระ โดยกรณีที่น่าจับเป็นพิเศษเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนว่าถูกคิดค่าบริการ SMS โดยที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ เดือนละ 300 บาท เป็นเวลา 3 – 4 เดือน ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ให้บริการได้ทำเอกสารชี้แจงว่ามีการเรียกเก็บค่าบริการเสริมประเภทรับข้อมูล/ข่าวสาร โดยมียอดเรียกเก็บจำนวน 10 ครั้ง คิดเป็นเงิน 290 บาท แต่ปรากฏว่าข้อมูลที่ผู้ให้บริการแสดงไม่ตรงกับช่วงเวลาที่ผู้บริโภคร้องเรียนว่าประสบปัญหา ในเรื่องนี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม และสำนักงาน กสทช. จึงมีความเห็นว่าผู้ให้บริการไม่ได้ยืนยันความถูกต้องของการเรียกเก็บค่าบริการตามที่ได้มีการร้องเรียน จึงสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บเงินค่าบริการเสริม โดยผู้ให้บริการต้องคืนเงินที่เรียกเก็บตามจำนวนในช่วงเวลาที่มีการร้องเรียน พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยคำนวณนับแต่วันที่เรียกเก็บค่าบริการ

กรณีนี้เป็นที่น่าสนใจ นอกจากเพราะเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดดาษดื่น ชนิดที่ผู้บริโภคแทบทุกคนต่างเคยประสบแล้ว ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนนี้ยังมีประเด็นที่เกิดข้อโต้แย้งขึ้น โดยในชั้นของความเห็นกลั่นกรองเรื่อง มี กทค. บางท่านแสดงจุดยืนโต้แย้งว่าข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม นั้น เป็นการใช้บทตัดพยาน ดังนั้นจึงเป็นที่น่าจับตาว่า กทค. จะมีมติในแนวทางใด

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นที่ชัดเจนว่าผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องของการเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม ข้อ 22 วรรคสอง ระบุไว้ชัดว่า “ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการดังกล่าว และต้องแจ้งข้อมูลให้ผู้ใช้บริการทราบโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากผู้ใช้บริการไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการนั้นสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในจำนวนที่ผู้ใช้บริการได้โต้แย้งนั้น” กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์หลักฐานเชิงระบบว่าผู้บริโภคได้สมัครใช้บริการจริงในช่วงเวลาที่ร้องเรียน ไม่ใช่เพียงทำหนังสือยืนยันความถูกต้องของการเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งย่อมไม่ใช่พยานหลักฐาน ส่วนทางด้านผู้บริโภคนั้นคงไม่สามารถแสดงหลักฐานเชิงระบบได้ แต่มีหน้าที่ต้องแสดงหลักฐานความเสียหายให้ชัดเจน เช่น ใบเสร็จ หรือบิลเรียกเก็บค่าบริการ ส่วนการที่กฎหมายกำหนดกรอบเวลาให้ผู้ให้บริการต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงภายใน 60 วัน ก็เพื่อมิให้มีการประวิงเวลาด้วยการส่งหนังสือชี้แจงไปเรื่อยๆ จนไม่เกิดการแก้ไขปัญหา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องการตัดบทพยาน