ลงทะเบียนซิมของผู้ใช้บริการระบบพรีเพด, การคิดค่าโทรตามจริงโดยไม่ปัดเศษเป็นนาที, ดีแทคขอให้ กสทช. เพิ่มค่าปรับทางปกครองทีโอทีกรณีพิพาทเรื่องการเชื่อมต่อโครงข่าย, ทีโอที ทำแผนเป็นผู้ให้บริการใช้คลื่น 900 MHz ต่อหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน, การพิจารณาร่างประกาศดาวเทียมสื่อสาร

bb

ภายหลังจากที่มีการยกเลิกการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2558 มาเป็นวันอังคารที่ 10 ก.พ. นี้ ปรากฏว่ามีวาระที่น่าจับตาหลายประเด็น ทั้งวาระที่มีการชักเข้าชักออกอย่างเรื่อง บมจ. ทีโอที ทำแผนเป็นผู้ให้บริการใช้คลื่น 900 MHz ต่อหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และเรื่องการพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร ส่วนวาระเดิมที่น่าสนใจมีเรื่องที่บริษัทดีแทคขอให้ กสทช. พิจารณาเพิ่มค่าปรับทางปกครองกรณีที่บริษัททีโอทีฝ่าฝืนการปฏิบัติตามคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งมีประเด็นข้อถกเถียงทางกฎหมายว่า สำนักงาน กสทช. มีอำนาจในการสั่งเพิ่มค่าปรับหรือไม่
ขณะที่วาระการประชุมที่ได้รับการบรรจุเพิ่มเติมในครั้งนี้ มีวาระที่น่าสนใจคือ เรื่องกำหนดให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินลงทะเบียนซิม และเรื่องการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามจริงโดยไม่ปัดเศษเป็นนาที

วาระการลงทะเบียนซิมของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน หรือพรีเพด
แม้เรื่องนี้จะเป็นเพียงวาระเพื่อทราบ แต่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2558 สำนักงาน กสทช. ออกประกาศเรื่องการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เรียกเก็บเงินล่วงหน้า สาระสำคัญของประกาศคือกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดผู้ใช้บริการ หรือลงทะเบียนซิมการ์ด โดยขีดเส้นตายภายในวันที่ 31 ก.ค. นี้ ซึ่งในกรณีที่ผู้ใช้บริการไม่ลงทะเบียนซิมการ์ดภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ให้บริการสามารถดำเนินการระงับบริการได้ทันที โดยในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการระบบเติมเงินหรือพรีเพดกว่า 90 ล้านเลขหมายที่ส่วนใหญ่ล้วนยังไม่ได้ลงทะเบียน

อันที่จริงเรื่องการลงทะเบียนซิมการ์ดของผู้ใช้บริการไม่ใช่มาตรการใหม่ แต่เป็นข้อกำหนดตามประกาศ กสทช. ที่มีมาตั้งแต่ในยุคสมัยของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) อีกทั้ง กทค. ก็เคยมีนโยบายชัดว่า สำนักงาน กสทช. ต้องเริ่มต้นทำเรื่องการลงเบียนซิมการ์ดอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเป็นดินพอกหางหมู เพียงแต่ที่ผ่านมาทั้งผู้ให้บริการและสำนักงาน กสทช. ไม่มีท่าทีสนองตอบเท่าใดนัก โดยในส่วนของสำนักงาน กสทช. ถือว่าเป็นอำนาจของเลขาธิการสำนักงาน กสทช. ที่จะออกคำสั่งบังคับผู้ประกอบการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตอนที่มีการเปิดบริการใหม่ระบบ 3G ก็ควรมีการบังคับให้ลงทะเบียนก่อนเปิดใช้บริการ แต่กลับปล่อยปละละเลย ไม่มีการดำเนินการอะไร

ต่อกรณีนี้ แม้นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะเห็นด้วยกับเรื่องการลงทะเบียนซิมการ์ดและท่าทีที่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ของสำนักงาน กสทช. แต่สำหรับเนื้อหาของประกาศฉบับนี้ กลับมีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยก่อนหน้านี้ได้เคยเปิดเผยความเห็นผ่านสื่อมวลชนมาแล้วว่า มาตรการของประกาศฉบับนี้เป็นการบังคับที่เน้นไปที่ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค แทนที่จะเป็นให้ผู้บริการ ซึ่งกลายเป็นว่าเรื่องนี้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายที่จะถูกลงโทษ เพราะการที่กำหนดให้ผู้ให้บริการสามารถระงับบริการได้หากผู้ใช้บริการไม่ลงทะเบียนซิมการ์ดภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค อีกทั้งสงสัยว่าใช้ฐานอำนาจบนกฎหมายใดในการกำหนดให้มีการระงับบริการ

“ต้องเข้าใจว่าการที่คนเขาใช้บริการอยู่แล้วถูกตัดไปเป็นเรื่องที่ละเมิดสิทธิ และส่งผลกระทบมากกว่าการกำหนดเป็นเงื่อนไขให้ดำเนินการก่อนเข้าสู่บริการ ดังนั้นผมยืนยันว่าไม่เห็นด้วยในส่วนที่มีมาตรการบังคับที่ส่งผลเป็นการลงโทษผู้บริโภค” กสทช. ประวิทย์ กล่าว

วาระเรื่องการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามจริงโดยไม่ปัดเศษเป็นนาที
วาระนี้เสนอโดย นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เดิมทีคาดการณ์ว่าจะมีการหยิบยกเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 2/2558 เมื่อปลายเดือนที่แล้ว แต่ก็เพิ่งได้รับการบรรจุเป็นวาระการประชุมในครั้งนี้ โดยเป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ

สำหรับเรื่องการคิดค่าบริการด้วยวิธีปัดเศษวินาทีเป็นนาทีที่ผู้ให้บริการกำหนดเป็นวิธีคิดค่าบริการในปัจจุบันนั้น ที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ทำให้ผู้ใช้บริการต้องแบกรับต้นทุนแฝงจากการใช้บริการอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยมีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การที่ผู้ใช้บริการในประเทศไทยถูกคิดค่าบริการแบบปัดเศษ ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนแฝงจากการใช้บริการในสัดส่วนที่สูงขึ้นประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของค่าบริการทั้งหมด ในขณะที่ผู้ใช้บริการประเภทโทรสั้นต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึงราว 24 เปอร์เซ็นต์ของค่าบริการ ซึ่งในต่างประเทศ ก็มีหลายประเทศที่กำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดค่าบริการเป็นวินาที เช่น ประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศปากีสถาน ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อาร์เจนตินา ซิมบับเว ศรีลังกา เป็นต้น

ส่วน (ร่าง) ประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. … ที่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม กทค. และ กสทช. ไปแล้วก่อนหน้านี้ ร่างประกาศดังกล่าวก็ได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมหรือมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรเอาไว้ด้วย ซึ่งในตอนยกร่างเดิมมีการยกตัวอย่างด้วยซ้ำว่า กรณีการคิดค่าบริการโดยใช้หน่วยเป็นนาที การคิดค่าบริการโดยเฉลี่ยเป็นผลให้ผู้ใช้บริการเสียงค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนั้น ถือเป็นพฤติกรรมที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค แต่ในร่างประกาศที่นำเสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณา มีการตัดข้อความดังกล่าวออกไป อย่างไรก็ดี ในที่ประชุม กสทช. ได้มีการอภิปรายในเรื่องนี้ จนท้ายที่สุดที่ประชุมยอมรับเงื่อนไขในการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมหรือมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรว่าหมายรวมถึงเรื่องการปัดเศษหน่วยการใช้บริการที่เกินกว่าต้นทุนจริงด้วย

วาระเรื่องบริษัทดีแทคขอให้ กสทช. พิจารณาเพิ่มค่าปรับทางปกครองกรณีที่บริษัททีโอทีฝ่าฝืนการปฏิบัติตามคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
วาระนี้มีเหตุจาก บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค มีหนังสือลงวันที่ 15 ก.ย. 2557 ขอให้ กสทช. เพิ่มค่าปรับทางปกครองกรณี บมจ. ทีโอที ฝ่าฝืนคำชี้ขาดข้อพิพาทเรื่องการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

ข้อพิพาทเรื่องนี้ ศาลปกครองกลางได้เคยพิพากษาตั้งแต่ ก.ค. 2555 ว่าคำสั่งของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในเวลาต่อมา สำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือถึง บมจ. ทีโอที ให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดข้อพิพาทโดยทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายกับดีแทค และชำระค่าปรับทางปกครองในอัตรา 20,000 บาทต่อวัน จนกว่าจะทำสัญญาแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม จนแล้วจนรอด บมจ. ทีโอที ก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม กระทั่งดีแทคได้มีหนังสือขอให้ กสทช. เพิ่มค่าปรับทางปกครอง เพื่อบังคับให้อีกฝ่ายดำเนินการ

ประเด็นในวาระนี้จึงเป็นข้อถกเถียงกันในทางกฎหมายว่า สำนักงาน กสทช. หรือเลขาธิการ กสทช. มีอำนาจเพิ่มอัตราค่าปรับทางปกครองแก่ บมจ. ทีโอที หรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กสทช. เห็นว่า คำสั่ง กทช. ที่ออกในตอนนั้น ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 26 วรรคแรก ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 แต่มาตรา 64 ของ พ.ร.บ. เดียวกัน ไม่ได้กำหนดการบังคับทางปกครองกรณีนี้ไว้ เพราะฉะนั้นการบังคับทางปกครองจึงให้เป็นไปตามหลักการบังคับทางปกครองที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งกำหนดค่าปรับได้วันละไม่เกิน 20,000 บาท

แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็มีผู้เห็นว่า การใช้อำนาจของ กทช. เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 26 นั่นหมายถึงต้องพิจารณามาตรา 26 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองประกอบกัน และเมื่อกรณีนี้ถือเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 26 วรรคสองด้วยแล้ว เลขาธิการ กสทช. ก็มีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนตามมาตรา 64 และสามารถสั่งปรับในอัตราที่เกินกว่า 20,000 บาทต่อวันได้ ดังนั้นหากคำสั่งทางปกครองเดิมไม่เพียงพอเพื่อให้มีการปฏิบัติตามหรือเพื่อให้คำสั่งทางปกครองบรรลุผล ก็น่าที่จะมีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองที่เพิ่มขึ้น

ประเด็นถกเถียงในข้อกฎหมายนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องของข้อพิพาทนี้สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการทางปกครองและการบังคับใช้มาตรการทางปกครองของสำนักงาน กสทช. ที่ผ่านมานั้นอ่อนด้อยจนไม่มีสภาพบังคับผู้ฝ่าฝืนได้ เพราะการกระทำผิดก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าค่าปรับที่ต้องจ่ายนั่นเอง

———————————————-

สำหรับวาระเรื่อง บมจ. ทีโอที ทำแผนเป็นผู้ให้บริการใช้คลื่น 900 MHz ต่อหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และเรื่องการพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร ตามที่เคยเปิดเผยไปแล้วก่อนหน้านี้ มีประเด็นที่น่าจับตาคือ

วาระ บมจ. ทีโอที จำกัด ขอแก้เงื่อนไขในการอนุญาตและเสนอแผนการให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz

สืบเนื่องจากสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. ทีโอที และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2558 บมจ. ทีโอที จึงได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อขอแก้เงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 และเสนอแผนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทาน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นฝ่ายนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้บริการต่อไปเอง

อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาในการให้เอกชนเป็นผู้ประกอบการสิ้นสุดลง สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ก็สิ้นสุดลงด้วย ดังนั้นต้องคืนคลื่นความถี่ให้กับ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลต่อไป เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่บัญญัติไว้ให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ นั่นหมายถึง บมจ. ทีโอที ไม่มีสิทธิใช้คลื่นความถี่ต่อไปได้ โดยต้องคืนคลื่นความถี่กลับมาที่ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่

เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีที่สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม กับบริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด สิ้นสุดลง หนนั้น บมจ. กสท โทรคมนาคม ก็ได้ทำแผนขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ถึงสำนักงาน กสทช. ซึ่งที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 11/2556 ก็มีมติชี้ว่า สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม สิ้นสุดลงด้วยเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง หนนี้จึงคาดว่ามติที่ประชุม กทค. ไม่น่าสวนทางแตกต่างออกไป
ที่น่าลุ้นต่อจึงอยู่ที่ว่า สำนักงาน กสทช. จะสามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดด้วยหรือไม่

วาระพิจารณาร่างประกาศดาวเทียมสื่อสาร
วาระที่คลาดสายตาไม่ได้เลยในการประชุม กทค. ครั้งนี้ คือเรื่องการพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร พ.ศ. … ซึ่งเป็นเรื่องที่คาราคาซังมานานและร่างประกาศดังกล่าวจดๆ จ้องๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ กทค. มาหลายระลอก แต่ก็เป็นโรคเลื่อนมาเรื่อยๆ

กิจการดาวเทียมสื่อสารของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาด โดยผู้ให้บริการช่องสัญญาณมีเพียงบริษัทไทยคมเพียงรายเดียว ขณะที่การยกร่างประกาศดังกล่าวก็เต็มไปด้วยข้อถกเถียงมากมาย ทั้งเรื่องหน่วยงานใดกันแน่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการเป็น ITU Administrator เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลวงโคจร เรื่องผู้ประกอบการฝ่ายใดต้องเป็นผู้ประมูลใช้คลื่นความถี่ ระหว่างผู้ประกอบการดาวเทียมที่อยู่ในอวกาศหรือผู้ประกอบการสถานีภาคพื้นดิน รวมถึงนโยบายเรื่อง Landing Rights ก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งถ้าหากอนุญาตให้ผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติสามารถเข้ามาใช้สิทธิวงโคจรของประเทศ หรือสามารถเปิดให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมกับสถานีภาคพื้นดินในประเทศ ก็จะช่วยให้ตลาดบริการโครงข่ายและช่องสัญญาณดาวเทียมเกิดการแข่งขัน ส่งผลให้อัตราค่าบริการถูกลง คุณภาพบริการดีขึ้น การพิจารณาวาระนี้ของที่ประชุม กทค. จึงมีความสำคัญอย่างมาก ว่าจะเป็นการเปิดประตูนำไปสู่การแข่งขันกันมากขึ้น หรือตอกตะปูปิดโลงให้เกิดการผูกขาดในกิจการประเภทนี้กันต่อไป