รับรองผลการประมูลคลื่นความสำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz

as30.58

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 30/2558 วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ช่วงเวลา 16.00 น. – 18.00 น. มีวาระสำคัญที่น่าจับตา คือเรื่องการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ขนาด 2 X 15 MHz จำนวน 2 ชุดคลื่นความถี่ ซึ่งได้มีการจัดประมูลไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 4 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัท ทรู มูฟ เอซ ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด

แม้ว่าในการเตรียมการจัดประมูลครั้งนี้ จะมีหลายฝ่ายกังขาว่า สำนักงาน กสทช. ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของวิธีการประเมินมูลค่าคลื่นต่อสาธารณะอย่างชัดเจน และอาจมีการประเมินมูลค่าคลื่น รวมถึงการกำหนดราคาเริ่มต้นในการประมูลไว้ต่ำเกินไป แต่เมื่อการประมูลเกิดขึ้น ปรากฏว่ามีการแข่งขันกันเคาะราคาถึง 86 รอบ กินเวลากว่า 33 ชั่วโมง นั่นคือการประมูลรอบแรกเริ่มต้น ณ เวลา 10.00 น. ของวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 และการประมูลสิ้นสุดลง ณ เวลา 19.05 น. ของวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งถือได้ว่าการประมูลครั้งนี้มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีผู้เข้าประมูลรายใหม่คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด เข้าร่วมเคาะราคาประมูลอย่างจริงจังจนมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน และทำให้มูลค่าของการประมูลไต่ระดับจากราคาตั้งต้น 2 ชุดคลื่นความถี่ รวม 31,824 ล้านบาท เป็น 80,778 ล้านบาทในท้ายที่สุด โดยผู้ชนะการประมูลชุดคลื่นความถี่แรกคือ บริษัท ทรู มูฟ เอซ ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เสนอราคาสุดท้ายที่ 39,792 ล้านบาท ส่วนผู้ชนะการประมูลชุดคลื่นความถี่ที่สองคือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เสนอราคาสุดท้ายที่ 40,986 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทที่ไม่ชนะการประมูล คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด เสนอราคาสุดท้ายที่ 38,996 ล้านบาท โดยออกจากการประมูลในรอบที่ 84 และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เสนอราคาสุดท้ายที่ 17,504 ล้านบาท โดยออกจากการประมูลไปในรอบที่ 9 แตกต่างจากการจัดประมูลเมื่อคราวประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ที่หนนั้นผู้เข้าร่วมการประมูลแทบไม่มีการเคาะราคากันเลย

สำหรับในเรื่องการรับรองผลการประมูลครั้งนี้ ตามประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz กำหนดให้คณะกรรมการต้องรับรองผลการประมูลภายในวัน 7 วันนับจากวันสิ้นสุดการประมูล และเมื่อมีการรับรองผลการประมูลแล้ว ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินประมูล จากนั้น กสทช. จึงจะออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้แก่ผู้ชนะการประมูลภายหลังจากผู้ชนะได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วนภายใน 90 วัน นับจากวันที่ผู้ชนะการประมูลได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล อย่างไรก็ดี ในส่วนของขั้นตอนการรับรองผลการประมูล สำนักงาน กสทช. ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้มีการรับรองผลในเย็นวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้เลย โดยในการเสนอวาระรับรองผลการประมูลครั้งนี้ มีประเด็นน่าสนใจว่า สำนักงาน กสทช. ได้จัดส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงรายละเอียดการเคาะราคาของการประมูลคลื่นความถี่ให้กับ กทค. ทุกท่านได้พิจารณาด้วย โดยเป็นไปตามที่ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้มีบันทึกข้อความร้องขอ ทั้งนี้เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและตรวจสอบอย่างรอบคอบ