จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 32/2559

32-59

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 32/2559 ช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2559 มีวาระที่น่าจับตาอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคจำนวนมากมักถูกเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว นั่นคือปัญหาการถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริมจากข้อความสั้นหรือ SMS ทั้งที่ไม่ได้มีเจตนาสมัครใช้บริการ

วาระนี้สืบเนื่องจากผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบชำระค่าบริการรายเดือนของ บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ได้ร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 ว่า ถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริมจากการรับข้อความสั้น (SMS) ข่าว ดูดวง เฟสบุ๊ก สาระบันเทิง รวมทั้งสิ้น 7 เดือน เป็นจำนวนเงิน 1,890 บาท โดยที่ไม่เคยสมัครใช้บริการแต่ประการใด แต่ได้ชำระค่าบริการไปแล้ว เนื่องจากใช้วิธีการชำระค่าบริการผ่านการตัดบัตรเครดิตและไม่เคยตรวจสอบค่าใช้บริการที่เรียกเก็บจากใบแจ้งหนี้ จึงถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริงไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้ตัวและติดต่อ Call Center ของบริษัทฯ เพื่อขอเงินคืน ก็ได้รับการปฏิเสธ

ภายหลังที่สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (รท.) สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ผู้บริโภครายนี้ได้รับการเชิญชวนให้สมัครใช้บริการเสริม SMS HORO Daily ของ บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งทดลองให้ใช้บริการฟรี 7 วัน เมื่อใกล้วันครบกำหนด จะมีข้อความแจ้งเตือนล่วงหน้าว่า หากไม่ต้องการใช้บริการต่อให้โทรแจ้งยกเลิกบริการ ซึ่งผู้ใช้บริการไม่ได้โทรแจ้งยกเลิก จึงเข้าสู่ระบบใช้บริการดังกล่าว โดยได้รับข้อความพยากรณ์ดวงชะตาวันละ 3 ข้อความ ข้อความละ 3 บาท ผู้ร้องเรียนเห็นว่าการเสนอขายบริการในลักษณะนี้ไม่เป็นธรรม เพราะบริษัทฯ ใช้วิธีเชิญชวนในลักษณะเดียวกันหลายล้านเลขหมาย บางรายอาจมีการตอบตกลงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือตัดความรำคาญเนื่องจากเป็นการรบกวน

สำหรับการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมได้พิจารณาและมีมติเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 ว่า บจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการ เพราะไม่มีหลักฐานการสมัครใช้บริการที่ชัดเจน และให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบว่าปัจจุบันยังมีการกระทำในลักษณะดังกล่าวอยู่อีกหรือไม่ หากยังมีการกระทำดังกล่าวอยู่ ให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งให้บริษัทฯ ระงับการกระทำทันที เพราะถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการเอาเปรียบผู้บริโภคตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ แต่ปรากฏว่าในชั้นการพิจารณาของ กทค. ในการประชุมครั้งที่ 21/2559 วันที่ 13 กันยายน 2559 ที่ประชุมกลับเห็นว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน โดยมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และนำกลับมาเสนอ กทค. พิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่งรวมถึงให้ตรวจสอบประเด็นข้อกฎหมายด้วยว่าการสมัครทดลองใช้บริการถือเป็นการทำสัญญาระหว่างบริษัทฯ กับผู้ใช้บริการหรือไม่

ทั้งนี้ ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนั้น กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ได้มีหนังสือสอบถามความเห็นทางกฎหมายจากสำนักกฎหมายโทรคมนาคม (มท.) สำนักงาน กสทช. ซึ่ง มท. ก็ได้ให้ความเห็นว่า ตามข้อกำหนดในประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคมฯ กำหนดว่าสัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกันโดยชัดแจ้ง กรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการ จะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ ดังนั้นบริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการเสริม นอกจากนี้ สำนักกฎหมายโทรคมนาคมยังมีข้อสังเกตด้วยว่า การที่ผู้ให้บริการเสนอให้ผู้ใช้บริการทดลองใช้บริการเสริมฟรี 7 วัน และผู้ใช้บริการตอบรับทดลองใช้บริการเสริมดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงเจตนาเพื่อตกลงทดลองใช้บริการในช่วงที่ไม่มีค่าใช้จ่ายเท่านั้น มิได้เป็นการแสดงเจตนาตกลงสมัครใช้บริการเสริมโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ผู้ให้บริการจึงไม่สามารถอ้างว่า การไม่ได้แจ้งยกเลิกการทดลองใช้บริการเสริมภายในระยะเวลาดังกล่าว ถือเป็นการแสดงเจตนาตกลงใช้บริการเสริมต่อเนื่องไป ส่วนประเด็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ สำนักกฎหมายโทรคมนาคมมีความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวมีลักษณะที่เข้าข่ายความผิดตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ เพราะมีเจตนามุ่งหมายที่จะให้ผู้ใช้บริการต้องผูกพันใช้บริการเสริมดังกล่าว กล่าวคือเป็นการกำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้บริโภคต้องใช้บริการโทรคมนาคมโดยผู้บริโภคไม่ประสงค์จะใช้บริการนั้นและเป็นเหตุให้ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าบริการที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่ทางด้าน รท. มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมด้วยการเชิญฝ่ายผู้ให้บริการมาชี้แจง และหลังจากนั้นก็ได้จัดทำข้อวิเคราะห์เสนอต่อที่ประชุม กทค. ในครั้งนี้ว่า บริษัทฯ ได้แสดงหลักฐานว่าผู้ร้องเรียนได้ตอบรับการสมัครบริการเสริม พร้อมแสดงรายละเอียดการใช้บริการ ซึ่งก็คือการส่งข้อความสั้นไปให้ผู้ใช้บริการ ประกอบกับการที่บริษัทฯ มีการแจ้งการเรียกเก็บค่าบริการผ่านใบแจ้งหนี้และผู้ร้องเรียนมีการชำระค่าบริการมาอย่างต่อเนื่อง นั่นแสดงว่าบริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการโดยถูกต้อง ส่วนบริการส่งดวงรายวันเป็นบริการของ บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ ทั้งนี้ ในการนำเสนอวาระของ รท. ต่อ กทค. ในรอบใหม่นี้ มิได้นำพาต่อความเห็นทางกฎหมายของ มท. แต่อย่างใด

วาระนี้นับว่าน่าจับตาอย่างมากว่า กทค. จะพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคไปในทิศทางใด เพราะไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่มีความเห็นขัดแย้งกันเองระหว่างหน่วยปฏิบัติภายในสำนักงาน กสทช. แต่ยังเป็นปัญหายอดฮิตที่มีผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน โดยที่ผ่านมาถูกปล่อยปละและไม่มีการแก้ไขจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. เลย