จับตาวาระ กสทช. ครั้งที่ 15/2560

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 15/2560 วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2560 สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณายุติเรื่องร้องเรียนระหว่างผู้บริโภคกับบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด 2 กรณี

กรณีแรกเป็นเรื่องที่บริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ ยกเลิกการให้บริการช่องรายการในเครือ HBO จำนวน 6 ช่องรายการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้า ซึ่งมีผู้ใช้บริการกล่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิกของบริษัทฯ ร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. และขอให้บริษัทฯ ยกเลิกแพ็กเกจย้อนหลังตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2559 โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการ พร้อมทั้งชดเชยเยียวยาตามความเหมาะสม แม้ในเวลาต่อมา บริษัทฯ จะเสนอมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการเป็นการทั่วไปก็ตาม โดยนำช่องรายการใหม่จำนวน 7 ช่องรายการมาทดแทน พร้อมทั้งปรับระดับสมาชิกให้ได้รับแพ็กเกจสูงขึ้น 1 ระดับ และหากสมาชิกยกเลิกบริการเนื่องจากไม่มีช่องรายการ HBO ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 มกราคม 2560 บริษัทจะคืนเงินให้ตามสัดส่วนของวันที่ใช้บริการตามแพ็กเกจรายเดือนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 จนถึงวันที่แจ้งขอยกเลิก

อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้บริษัทฯ อ้างว่าได้ติดต่อผู้ร้องเรียน แต่ภรรยาผู้ร้องเรียนเป็นผู้รับสายและยินดีรับข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงแพ็กเกจของบริษัทฯ ทว่าทางผู้ร้องเรียนปฏิเสธว่าไม่ได้ให้ความยินยอมในการเปลี่ยนแปลงแพ็กเกจ ดังนั้นจึงยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในแง่กฎหมายว่า ผู้ร้องเรียนได้ยินยอมให้มีการปรับแพ็กเกจหรือไม่ และคู่สัญญาการให้บริการกับบริษัทฯ คือใคร อย่างไรก็ตาม ทั้งที่ข้อเท็จจริงทางกฎหมายยังไม่ชัดเจน ในการประชุมครั้งนี้สำนักงาน กสทช. กลับเตรียมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณายุติเรื่องร้องเรียน โดยระบุว่า หากไม่พอใจในการแก้ไขปัญหา ก็ให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป หรือผู้ร้องเรียนอาจใช้สิทธิในทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้

อนึ่ง ก่อนหน้านี้จากการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. พบว่า บริษัทฯ ได้กระทำผิดเนื่องจากยกเลิกช่องรายการโดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 และประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ พ.ศ. 2555 ขณะที่ในส่วนมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการของบริษัทฯ นั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 ภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้ยุติช่องรายการในเครือ HBO ไปแล้ว จึงเกิดช่องว่างของช่วงเวลาระหว่างการยกเลิกบริการกับมาตรการเยียวยาขึ้น

ส่วนเรื่องร้องเรียนบริษัททรูวิชั่นส์ฯ อีกกรณี เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล True digital HD2 ซึ่งเชื่อมต่อจานรับสัญญาณดาวเทียมระบบ C-Band ประสบปัญหาไม่สามารถรับชมช่องรายการผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียมได้ทุกช่อง โดยมีลักษณะเป็นจอดำ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงาน กสทช. พบว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ร้องเรียนได้ติดตั้งอุปกรณ์จานรับสัญญาณและหัวยิงสัญญาณเป็นของบริษัท PSI โดยนำมาต่อพ่วงกับกล่องรับสัญญาณของบริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ และใช้กล่องรับสัญญาณดาวเทียมของ SUN BOX เป็นจุดรับชมที่สอง ซึ่งมีผลทำให้ต้องมีการปรับค่าสัญญาณดาวเทียมอยู่ทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนค่าดาวเทียมในกล่องทรูวิชั่นส์ โดยเป็นปัญหาในทางเทคนิคที่เมื่อให้ช่างมาดำเนินการปรับหน้าจานรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อแก้ไขให้กล่องทรูวิชั่นส์สามารถรับชมได้ ก็อาจทำให้กล่องรับสัญญาณ SUN BOX ไม่สามารถรับชมได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุที่ผู้ใช้บริการและบริษัทฯ ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยผู้ใช้บริการขอให้บริษัทฯ คืนเงินค่ากล่องรับสัญญาณดาวเทียมจำนวน 1,490 บาท พร้อมทั้งชดเชยเงินเหตุจากไม่สามารถรับชมช่องรายการโทรทัศน์ผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมได้

สำหรับกรณีนี้ สำนักงาน กสทช. เห็นว่าเป็นประเด็นทางด้านเทคนิค ไม่ได้เกิดจากเหตุชำรุดบกพร่องของตัวสินค้า อีกทั้งไม่ปรากฏว่าบริษัทฯ ได้มีการโฆษณาหรือกำหนดเงื่อนไขว่าผู้ใช้บริการจะสามารถรับชมได้ในทุกกรณีที่มีการติดตั้งโดยใช้อุปกรณ์จานรับสัญญาณและหัวยิงสัญญาณที่ต่อพ่วงกันหลายบริษัทในหลายจุดแต่อย่างใด สำนักงาน กสทช. จึงเตรียมเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาเพื่อยุติเรื่องร้องเรียนด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญที่คาดว่าสำนักงาน กสทช. จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในครั้งนี้ด้วย คือเรื่องร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคมแล้วเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 โดยในชั้นคณะอนุกรรมการได้มีการแสดงความคิดเห็นท้วงติงในหลายประเด็น แต่สุดท้ายที่ประชุมเสียงข้างมากก็ลงมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์เพื่อเดินหน้ากระบวนการโดยนำเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณา และนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างหลักเกณฑ์การประมูลได้กำหนดประมูลคลื่น 900 MHz ขนาด 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ใบอนุญาต โดยกำหนดราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท ระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี ส่วนคลื่น 1800 MHz จะนำมาประมูล 45 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้นที่ 37,457 ล้านบาท ระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี