พิจารณาคำขอให้มีคำสั่งระงับการเรียกเก็บรายได้ของ CAT และ TOT เพื่อนำส่งรัฐ, ข้อพิพาทการให้เช่าใช้โครงข่ายระหว่าง DTAC กับ TOT, ตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินช่วงมาตรการเยียวยาฯ, การกำกับอัตราค่าบริการด้วยวิธี Price Cap

as17.58

ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 17/2558 วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม 2558 มีหลายวาระที่น่าจับตา ทั้งเรื่องการพิจารณาคำขอให้มีคำสั่งระงับการเรียกเก็บรายได้ของ CAT และ TOT เพื่อนำส่งรัฐ เรื่องข้อพิพาทการให้เช่าใช้โครงข่ายระหว่าง DTAC กับ TOT รวมทั้งวาระสำคัญที่เลื่อนการพิจารณามาจากการประชุม กทค. ครั้งที่แล้ว ได้แก่ เรื่องตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินในช่วงใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ และเรื่องรายงานการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธี Price Cap ส่วนการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในการประชุม กทค. หนนี้ มีทั้งสิ้น 6 เรื่อง พบว่ากรณีทั้งหมดล้วนเป็นวาระเก่าที่ตกค้างมาจากการประชุม กทค. ตั้งแต่เดือนมิถุนายน คือในการประชุม กทค. ครั้งที่ 12/2558 และครั้งที่ 13/2558 ซึ่งคงต้องตามดูกันต่อไปว่าจะมีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคด้วยหรือไม่ หรือจะเลื่อนต่อไปอีก

วาระพิจารณาคำขอให้มีคำสั่งระงับการเรียกเก็บรายได้ของ CAT และ TOT เพื่อนำส่งรัฐ
วาระนี้มีเหตุจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหนังสือด่วนที่สุดมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อขอให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการในกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) มีหนังสือนำเรียน คสช. ให้พิจารณาและมีคำสั่งระงับการปฏิบัติตามมาตรา 84 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่า เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ต้องนำรายได้จากผลประกอบการในส่วนที่ได้รับจากการให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ หลังหักใช้จ่าย ให้นำส่งเงินจำนวนดังกล่าวกับ กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

วาระนี้นับว่าน่าสนใจ เนื่องจากระยะเวลา 3 ปีดังกล่าวนั้นครบกำหนดไปแล้วตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2556 แต่กระทั่งบัดนี้ทั้ง บมจ. กสท และ บมจ. ทีโอที (TOT) ยังมิได้มีการนำส่งเงินรายได้มายังสำนักงาน กสทช. เพื่อส่งต่อเข้ารัฐแต่อย่างใด โดยก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ก็เคยได้รับหนังสือในลักษณะเดียวกันจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ขอให้ กสทช. พิจารณาหนังสือของกลุ่มรวมพลังปฏิรูปทีโอทีที่มีถึงพลเอก ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. เพื่อคัดค้านการนำส่งส่วนแบ่งรายได้จากการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้ กสทช. ซึ่งในครั้งนั้นสำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือตอบกลับว่า ไม่ขัดข้องหากจะมีการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติมาตรา 84 แต่โดยที่ปัจจุบันการแก้ไขกฎหมายในเรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงขอส่งเรื่องดังกล่าวคืน ขณะเดียวกันในการประชุม กทค. ครั้งที่ 14/2558 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม สำนักงาน กสทช. ก็ได้เสนอวาระเพื่อขอรับนโยบายเกี่ยวกับเงินนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 84 วรรคสาม ซึ่งที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งทวง บมจ. กสท และ บมจ. ทีโอที อย่างสม่ำเสมอตามหลักปกครอง พร้อมทั้งแจ้งผลการดำเนินการให้กระทรวงการคลังรับทราบ

งานนี้หากจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมา เป็นเรื่องการจัดเก็บรายได้นำส่งรัฐ หากตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามหน้าที่ ซึ่ง กสทช. เองหรือแม้แต่หน่วยงานใดก็ไม่มีอำนาจในการฉีกกฎหมาย

วาระข้อพิพาทการให้เช่าใช้โครงข่ายระหว่าง DTAC กับ TOT
วาระนี้เป็นการพิจารณาความเห็นทางกฎหมายต่อกรณีศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของ บมจ. กสท โทรคมนาคม โดยห้ามบริษัทดีแทคนำเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ได้มาจากการจัดหาและจัดสร้างตามสัญญาสัมปทานไปให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ใช้ติดตั้งหรือเชื่อมต่อเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคมย่านความถี่ 2.1 GHz รวมถึงให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นใช้ร่วม ไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น

ข้อพิพาทนี้สืบเนื่องมาจาก บมจ. กสท อ้างว่า บริษัทดีแทคได้นำเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ได้มาจากการจัดหาและจัดสร้างตามสัญญาสัมปทานซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ บมจ. กสท นั้น ไปให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นร่วมใช้เพื่อให้บริการ อันถือเป็นการปฏิบัติที่ผิดสัญญาสัมปทาน โดยขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในชั้นการแก้ไขปัญหาของคณะอนุญาโตตุลาการ และ บมจ. กสท ได้ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ

สำหรับความเห็นทางกฎหมายของสำนักงาน กสทช. มองว่า กรณีคำสั่งศาลปกครองมิได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการบังคับใช้ประกาศ กสทช. เรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันฯ พ.ศ. 2556 เพราะประกาศฉบับนี้ยังมีผลใช้บังคับในส่วนของโครงข่ายที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. กสท กับบริษัทดีแทค ขณะเดียวกันบริษัทดีแทคก็มีสิทธิปฏิเสธผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่มาขอร่วมใช้โครงข่ายนี้ได้โดยไม่ผิดประกาศดังกล่าว

แม้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองจะไม่กระทบกับการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวของสำนักงาน กสทช. แต่สิ่งที่ควรมองให้ทะลุในฉากถัดไป คือจะกระทบต่อการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้รับใบอนุญาตบนคลื่น 2.1 GHz ให้ล่าช้าออกไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบกับบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมให้บริการครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรภายใน 4 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต โดยในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ กสทช. ต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไขด้วย

วาระตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินในช่วงใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ

นับตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนความถี่ย่าน 1800 MHz (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) มาร่วมเกือบสองปี ปัจจุบันยังคงไม่มีการนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ข้อ 7 ของประกาศมาตรการเยียวยาฯ ระบุว่า “ในช่วงระยะเวลาคุ้มครอง ให้ผู้ให้บริการเป็นผู้รับชำระเงินรายได้จากการให้บริการแทนรัฐ โดยรายได้ที่หักต้นทุนค่าใช้โครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในการให้บริการแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป” ซึ่งผลการพิจารณารายได้และค่าใช้จ่ายของคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ ที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงาน กสทช. นั้น พบว่าในช่วง 1 ปีแรกของการให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ คือตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556 – 15 กันยายน 2557 บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด มีรายได้ที่จะต้องนำส่งรัฐประมาณ 4,649 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการให้บริการของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด จำนวน 4,021 ล้านบาท และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด จำนวน 628 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายของคณะทำงานฯ ดูจะยังไม่ใช่ผลที่สิ้นสุด เพราะดูจะมีปมอยู่ในหลายจุด โดยเฉพาะผลการตรวจสอบดังกล่าวยังไม่ได้รวมถึงค่าใช้โครงข่ายที่ต้องจ่ายให้กับบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งผู้ให้บริการเอกชนทั้งสองรายอ้างว่าไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่บริษัท กสท โทรคมนาคม ในฐานะเจ้าของโครงข่าย กลับเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้มายังสำนักงาน กสทช. เป็นจำนวนสูงมาก นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติในส่วนของผลการตรวจสอบรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ที่พบว่ารายได้ไม่ได้ลดลงตามขั้นบันไดตามปริมาณผู้ใช้บริการที่ทยอยลดลง แต่กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นลดลงไม่เสมอต้นเสมอปลายอย่างผิดสังเกต กล่าวคือในเดือนพฤศจิกายน 2556 และเดือนกรกฎาคม 2557 บริษัท ทรู มูฟ จำกัด มีรายได้ติดลบประมาณ 50 ล้านบาท แต่รายได้ในเดือนก่อนหน้าและภายหลังเดือนดังกล่าวกลับไม่ติดลบ ซ้ำบางเดือนมีรายได้สูงขึ้นเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท และบางเดือนเพิ่มสูงขั้นเป็นหลายพันล้านบาท เป็นต้น

เรื่องนี้ดูจะเป็นหนังม้วนยาวที่ไม่น่าจะจบได้ง่ายๆ ซึ่งยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการนำรายได้นำส่งเป็นเงินแผ่นดินได้เมื่อไร จำนวนเท่าใด หรือจะฝันค้างโดยลงเอยด้วยการเป็นคดีฟ้องร้องพัลวัน

วาระรายงานการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธี Price Cap
สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำหลักเกณฑ์การกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธีการ Price Cap เสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณา ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะนำมาใช้ทดแทนมาตรการกำกับดูแลแบบเดิมที่เป็นการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงในแต่ละหน่วยบริการ โดยวิธีการ Price Cap นี้ เป็นการกำกับค่าบริการโทรคมนาคมจากดัชนีราคา (Price Index) ด้วยการคำนวณจากดัชนีราคาปีก่อนหน้า เงินเฟ้อ และปัจจัยด้านประสิทธิภาพ ดังนั้นหากเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าปัจจัยด้านประสิทธิภาพ ดัชนี Price Cap ก็จะสูงขึ้นด้วย นั่นหมายความว่าผู้ให้บริการสามารถขึ้นราคาค่าบริการได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าดัชนี Price Cap ที่สำนักงาน กสทช. คำนวณขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในแง่กฎหมายก็มีความไม่ชัดเจนว่าการกำกับดูแลค่าบริการโทรคมนาคมด้วยวิธีการ Price Cap นั้น สามารถกระทำได้หรือไม่ เนื่องจากตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ระบุให้คณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการที่ผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บ และในมาตรา 57 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการนอกเหนือหรือเกินกว่าอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการกำหนดในมาตรา 55 ไม่ได้ ซึ่งการกำกับดูแลด้วยวิธีการ Price Cap อาจมิใช่การกำหนดอัตราขั้นสูงตามนัยที่กฎหมายกำหนด

ในขณะที่วิธีการ Price Cap ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอก็ยังค่อนข้างคลุมเครือ เพราะไม่มีการระบุว่าปัจจัยด้านประสิทธิภาพที่เป็นตัวแปรสำคัญนั้นคืออะไร คำนวณอย่างไร ในการคำนวณดัชนีราคา สำนักงาน กสทช. ก็ไม่มีการขอข้อมูลราคาค่าบริการใดๆ จากผู้ให้บริการเลย เป็นเพียงการขอข้อมูลรายได้และปริมาณการใช้มาคำนวณเท่านั้น อีกทั้งกระบวนจัดทำหลักเกณฑ์ที่ผ่านมาก็จัดประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความเห็นเฉพาะจากบริษัทผู้ให้บริการเท่านั้น ไม่เคยพูดคุยหรือรับฟังความเห็นจากตัวแทนกลุ่มผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และที่สำคัญหากมีการนำวิธีการ Price Cap มาใช้จริง ก็ต้องมีการศึกษาต้นทุนการให้บริการ และความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนและราคาค่าบริการใหม่ เพื่อให้ราคาค่าบริการที่จะกำหนดขึ้นในปีแรกของการกำกับดูแลเป็นราคาที่สะท้อนความมีประสิทธิภาพ และการเปลี่ยนแปลงราคาค่าบริการในปีถัดไปสะท้อนความมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงมองไม่ออกเลยว่ารายงานการศึกษาฉบับนี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติและใช้กำกับดูแลราคาค่าบริการโทรคมนาคมที่เหมาะสมและธรรมกับผู้บริโภคได้อย่างไร ที่สำคัญคือการกำหนดที่ไม่ชัดเจน ซึ่งผู้บริโภคไม่อาจตรวจสอบได้ จะทำให้มีปัญหาการบังคับใช้หรือไม่

นอกจากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลอัตราค่าบริการด้วยวิธีการ Price Cap แล้ว ในการประชุมครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ยังเตรียมเสนอหลักเกณฑ์การกำหนดรายการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ใช้บริการขั้นเริ่มต้น (Entry-level Product) สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่มาพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ การกำหนดรายการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ใช้บริการขั้นเริ่มต้นนั้น ก็เพื่อส่งเสริมการใช้บริการโทรคมนาคมให้กับผู้ที่ไม่เคยใช้งานหรือผู้มีรายได้น้อย โดยในเบื้องต้นสำนักงาน กสทช. อาจใช้แนวทางเลือกโปรโมชั่นที่ถูกที่สุดของผู้ให้บริการมาเป็นรายการส่งเสริมการขายขั้นเริ่มต้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่ารายการส่งเสริมการขายดังกล่าวอาจไม่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้มากนัก